เปิดหลักเกณฑ์ขอพระราชทานเครื่องราชฯลูกเสือใหม่-หาทุนสนับสนุน1ล.รับเหรียญสดุดีชั้นที่ 1
"...หากเปรียบเทียบกับหลักเกณฑ์ตามประกาศคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ ว่าด้วยหลักเกณฑ์การขอพระราชทานเหรียญลูกเสือสดุดีชั้นที่ 1 ชั้นที่ 2 และชั้นที่ 3 พ.ศ.2531 จะพบว่ามีรายละเอียดที่รัดกุมและรอบคอบมากขึ้น ขณะที่การขอพระราชทานเหรียญชั้นที่ 1 ในร่างประกาศใหม่ เปิดโอกาสให้ บุคคลเป็นเจ้าของโครงการหรือผู้ที่รับผิดชอบโครงการในการหาทุนสนับสนุนกิจการลูกเสือ อาจจะเป็นโครงการเดียวหรือหลายโครงการ รวมกันวงเงินไม่น้อยกว่า 1,000,000 บาท หรือ ดำรงตำแหน่งกรรมการลูกเสือโลกหรือกรรมการลูกเสือภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี หรือ เป็นผู้ให้การช่วยเหลือและส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างคณะลูกเสือไทยกับคณะลูกเสือต่างประเทศ หรือมีส่วนในการต้อนรับหรือรับรองคณะลูกเสือต่างประเทศที่เข้าร่วมกิจกรรมลูกเสือในประเทศไทยหรือเป็นผู้ที่ทำกิจกรรมลูกเสือจนได้รับรางวัลจากสำนักงานลูกเสือโลกหรือสำนักงานลูกเสือภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก ได้รับการพิจารณา เพิ่มเติมขึ้นมาจากร่างเดิมด้วย..."
ร่างประกาศคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ ว่าด้วยหลักเกณฑ์การขอการขอพระราชทานเหรียญลูกเสือสดุดี ชั้นที่ 1 ชั้นที่ 2 และชั้นที่ 3 เป็นอย่างไร?
คือข้อมูลสำคัญอีกชุด ต่อกรณีที่ประชุมคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ เมื่อวันที่ 25 มิ.ย.2561 ที่ผ่านมา มีการพิจารณารับรองผลการตรวจสอบรายชื่อผู้เสนอขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นสิริยิ่งรามกีรติ ลูกเสือสดุดีชั้นพิเศษ และเหรียญลูกเสือสดุดีชั้น 1-3 ตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติลูกเสือ พ.ศ.2551 และประกาศคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติว่าด้วยหลักเกณฑ์การขอพระราชทานเหรียญลูกเสือสดุดีชั้นที่ 1 ชั้นที่ 2 และชั้นที่ 3 พ.ศ.2531 ผลปรากฎว่า ผู้ขอรับพระราชทานเหรียญลูกเสือสดุดีชั้นที่ 1-3 จำนวนรายชื่อที่มาเสนอมา 894 ราย ผ่านเกณฑ์การพิจารณาอนุมัติเพียงแค่ 210 ราย ที่เหลืออีก 684 ราย ไม่ผ่านเกณฑ์การพิจารณา ส่วนผู้ขอรับพระราชทานเหรียญลูกเสือสดุดีชั้นพิเศษ ที่ค้างการพิจารณาตั้งแต่ปี 2556 -2559 ทั้งสิ้น 43 ราย ผ่านการพิจารณาจำนวน 36 รายชื่อ รวมจำนวนรายชื่อผู้ไม่ผ่านการพิจารณาทั้งหมด 720 ราย ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากในการประชุมคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ ครั้งที่ 6/2560 เมื่อวันที่ 27 ก.ย.2560 มีมติเห็นชอบให้ ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ เป็นประธานคณะอนุกรรมการกลั่นกรองรายชื่อผู้สมควรได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นสิริยิ่งรามกีรติ ลูกเสือสดุดีชั้นพิเศษ และเหรียญลูกเสือสดุดี พร้อมแต่งตั้งคณะอนุกรรมการกลั่นกรองรายชื่อผู้สมควรได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นสิริยิ่งรามกีรติ ลูกเสือสดุดีชั้นพิเศษ และเหรียญลูกเสือสดุดีชั้น 1-3 ตามคำสั่งคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ ที่ 25/2560 ลงวันที่ 1 พ.ย.2560 ที่ยังไม่มีการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณชนเป็นทางการ (อ่านประกอบ :ผ่าปมปัญหาขั้นตอนขอพระราชทานเครื่องราชฯเหรียญลูกเสือ-สะพัดชื่อไม่เหมาะสมปะปนเพียบ?)
ขณะที่นายประเสริฐ บุญเรือง เลขาธิการคณะกรรมการลูกเสือแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์ยืนยันสำนักข่าวอิศรา ว่า ถ้าหากมีการประกาศใช้ร่างประกาศคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ ว่าด้วยหลักเกณฑ์การขอการขอพระราชทานเหรียญลูกเสือสดุดี ชั้นที่ 1 ชั้นที่ 2 และชั้นที่ 3 ใหม่ จะช่วยทำให้กระบวนการขั้นตอนการเสนอรายชื่อผู้ขอรับพระราชทาน เหรียญลูกเสือสดุดี รัดกุมรอบคอบมากขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเก็บเงิน เกิดการทุจริตได้ (อ่านประกอบ:ชื่อไหนมีปัญหา'ธงทอง'รู้ดีที่สุด! เลขาฯ ลูกเสือ รับขั้นตอนขอเหรียญสดุดีไม่กลั่นกรองก่อน)
ล่าสุดสำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบข้อมูลรายละเอียดในร่างประกาศคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ ว่าด้วยหลักเกณฑ์การขอพระราชทานเหรียญลูกเสือสดุดี ชั้นที่ 1 ชั้นที่ 2 และชั้นที่ 3 ที่คณะอนุกรรมการกลั่นกรองรายชื่อฯ ชุดที่มีศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ เป็นประธาน นำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ เมื่อวันที่ 25 มิ.ย.2561 ที่ผ่านมา พบว่ามีรายละเอียดดังต่อไปนี้
ร่างประกาศใหม่มีรายละเอียดประกอบไปด้วย 7 ส่วน 18 ข้อ ดังต่อไปนี้
ส่วนที่ 1 การขอพระราชทานเหรียญสดุดี ชั้นที่ 1 จะพระราชทานแก่ผู้ที่มีอุปการคุณต่อกิจการลูกเสือโดยคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
ข้อที่ 1 ผู้ทำหน้าที่กรรมการสภาลูกเสือไทย กรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ ผู้อำนวยการลูกเสือจังหวัด รองผู้อำนวยการลูกเสือจังหวัด ผู้ช่วยผู้อำนวยการลูกเสือจังหวัด หรือผู้อำนวยการลูกเสือเขตพื้นที่การศึกษามาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน
ข้อที่ 2 ผู้ที่ทำหน้าที่บริหารกิจการลูกเสือ ได้แก่รองผู้อำนวยการลูกเสือเขตพื้นที่การศึกษา ผู้อำนวยการลูกเสือโรงเรียน รองผู้อำนวยการลูกเสือโรงเรียน หรือผู้บริหารหน่วยงานอื่น ทั้งรัฐและเอกชนที่มีกิจการลูกเสือมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี
ผู้ขอพระราชทานจะต้องดำเนินการ ดังนี้ (1) ระบุตำแหน่งและช่วงเวลาที่ได้ทำหน้าที่บริหารกิจการลูกเสือ และ (2) แสดงให้เห็นว่าได้อุทิศกำลังกาย หรือความคิดเพื่อเป็นประโยชน์แก่กิจการลูกเสือ
ข้อที่ 3 ผู้ที่ทำหน้าที่ฝึกอบรมได้แก่ (1) ผู้กำกับกลุ่มลูกเสือหรือผู้กำกับกองลูกเสือ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าได้อุทิศตนทำงานในหน้าที่ผู้ที่การฝึกอบรม หรือจัดกิจกรรมลูกเสือในสถานศึกษาเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี โดยประกอบกิจกรรมที่ดีเด่นและได้รับประโยชน์แก่การลูกเสือเป็นพิเศษ (2) วิทยากรให้การฝึกอบรมลูกเสือหรือบุคลากรทางการลูกเสือของสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ สำนักงานลูกเสือจังหวัด สำนักงานลูกเสือเขตพื้นที่การศึกษา สมาคมสโมสรลูกเสือ สโมสรลูกเสือหรือหน่วยงานอื่นเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี
ข้อที่ 4 ผู้ทำหน้าที่สนับสนุนกิจการลูกเสือได้แก่ (1) ผู้ตรวจการลูกเสือ กรรมการลูกเสือจังหวัด กรรมการลูกเสือเขตพื้นที่การศึกษา หรือบุคคลทั่วไปที่ได้กระทำการหรือเป็นกำลังสำคัญในการประกอบกิจอันบังเกิดคุณประโยชน์แก่กิจการลูกเสือต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 5 ปี และเฉลี่ยปีหนึ่งๆไม่น้อยกว่า 10 ครั้ง หรือ (2) เป็นผู้บริจาคเงินหรือทรัพย์สิ่งของต่างๆครั้งเดียวหรือหลายครั้งรวมกันเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 200,000 บาท โดยต้องมีหลักฐานประกอบ เช่นใบเสร็จรับเงิน หรือใบอนุโมทนาบัตรเป็นต้น หรือ(3) เป็นเจ้าของโครงการหรือผู้ที่รับผิดชอบโครงการในการหาทุนสนับสนุนกิจการลูกเสือ อาจจะเป็นโครงการเดียวหรือหลายโครงการ รวมกันวงเงินไม่น้อยกว่า 1,000,000 บาท (4) ดำรงตำแหน่งกรรมการลูกเสือโลกหรือกรรมการลูกเสือภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี (5) เป็นผู้ให้การช่วยเหลือและส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างคณะลูกเสือไทยกับคณะลูกเสือต่างประเทศ หรือมีส่วนในการต้อนรับหรือรับรองคณะลูกเสือต่างประเทศที่เข้าร่วมกิจกรรมลูกเสือในประเทศไทยหรือเป็นผู้ที่ทำกิจกรรมลูกเสือจนได้รับรางวัลจากสำนักงานลูกเสือโลกหรือสำนักงานลูกเสือภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก
ส่วนที่ 2 การขอพระราชทานเหรียญสดุดี ชั้นที่ 2 จะพระราชทานแก่ผู้ที่มีอุปการคุณต่อกิจการลูกเสือโดยคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
ข้อที่ 6 ผู้ที่ทำหน้าที่บริหารกิจการลูกเสือ ได้แก่รองผู้อำนวยการลูกเสือเขตพื้นที่การศึกษา ผู้อำนวยการลูกเสือโรงเรียน รองผู้อำนวยการลูกเสือโรงเรียน หรือผู้บริหารหน่วยงานอื่น ทั้งรัฐและเอกชนที่มีกิจการลูกเสือมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี
ผู้ขอพระราชทานจะต้องดำเนินการ ดังนี้ (1) ระบุตำแหน่งและช่วงเวลาที่ได้ทำหน้าที่บริหารกิจการลูกเสือ และ (2) แสดงให้เห็นว่าได้อุทิศกำลังกาย หรือความคิดเพื่อเป็นประโยชน์แก่กิจการลูกเสือ
ข้อที่ 7 ผู้ที่ทำหน้าที่สนับสนุนกิจการของลูกเสือ ได้แก่ (1) เป็นผู้ช่วยเหลืออย่างดีในการฝึกอบรมผู้บังคับบัญชาลูกเสือ ได้แก่ ก.ระดับที่หนึ่ง การฝึกอบรมวิชาผู้กำกับลูกเสือขั้นความรู้เบื้องต้นหรือขั้นความรู้ขั้นสูง โดยอยู่ประจำตลอดการฝึกอบรมไม่น้อยกว่า 50 ครั้ง หรือ ข.ระดับที่สอง การให้การฝึกอบรมแก่ผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมวิชาผู้กำกับลูกเสือแล้ว โดยอยู่ประจำตลอดการฝึกอบรมไม่น้อยกว่ายี่สิบครั้ง
(2) เป็นผู้ช่วยเหลือกิจการลูกเสือด้านอื่นๆ รวมทั้งกิจกรรมลูกเสือในสถานศึกษาจนเกิดผลดีแก่การลูกเสือมาไม่น้อยกว่า 5 ปี และเฉลี่ยปีหนึ่งๆไม่น้อยกว่าสิบครั้ง (3)เป็นผู้บริจาคเงินหรือทรัพย์สิ่งของต่างๆครั้งเดียวหรือหลายครั้งรวมกันเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 100,000 บาท โดยต้องมีหลักฐานประกอบ เช่นใบเสร็จรับเงิน หรือใบอนุโมทนาบัตรเป็นต้น หรือ(4) เป็นเจ้าของโครงการหรือผู้ที่รับผิดชอบโครงการในการหาทุนสนับสนุนกิจการลูกเสือ อาจจะเป็นโครงการเดียวหรือหลายโครงการ รวมกันวงเงินไม่น้อยกว่า 500,000 บาท (5) เป็นผู้ให้การช่วยเหลือและส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างคณะลูกเสือไทยกับคณะลูกเสือต่างประเทศไม่น้อยกว่าหกครั้ง เช่น เป็นผู้แทนคณะลูกเสือไทยเข้าร่วมการประชุมหรืองานชุมนุมในต่างประเทศ หรือมีส่วนในการต้อนรับหรือรับรองคณะลูกเสือต่างประเทศที่เข้าร่วมกิจกรรมลูกเสือในประเทศไทย
ส่วนที่ 3 การขอพระราชทานเหรียญสดุดี ชั้นที่ 3 จะพระราชทานแก่ผู้ที่มีอุปการคุณต่อกิจการลูกเสือโดยคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
ข้อที่ 8 บริจาคเงินหรือทรัพย์สิ่งของต่างๆครั้งเดียวหรือหลายครั้งรวมกันเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 50,000 บาท โดยต้องมีหลักฐานประกอบ เช่นใบเสร็จรับเงิน หรือใบอนุโมทนาบัตรเป็นต้น หรือ
ข้อที่ 9 เป็นเจ้าของโครงการหรือผู้ที่รับผิดชอบโครงการในการหาทุนสนับสนุนกิจการลูกเสือ อาจจะเป็นโครงการเดียวหรือหลายโครงการ รวมกันวงเงินไม่น้อยกว่า 250,000 บาท
ข้อที่ 10 เป็นผู้ช่วยเหลืออย่างดีในการฝึกอบรมผู้บังคับบัญชาลูกเสือ ได้แก่ ก.ระดับที่หนึ่ง การฝึกอบรมวิชาผู้กำกับลูกเสือขั้นความรู้เบื้องต้นหรือขั้นความรู้ขั้นสูง โดยอยู่ประจำตลอดการฝึกอบรมไม่น้อยกว่า 25 ครั้ง หรือ ข.ระดับที่สอง การให้การฝึกอบรมแก่ผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมวิชาผู้กำกับลูกเสือแล้ว โดยอยู่ประจำตลอดการฝึกอบรมไม่น้อยกว่าสิบครั้ง
ข้อที่ 11 เป็นผู้ช่วยเหลืออย่างดีในการฝึกอบรมวิชานายหมู่ลูกเสือ วิชาพิเศษลูกเสือชาวบ้าน หรือวิชาลูกเสือประเภทต่างๆ โดยอยู่ประจำตลอดการฝึกอบรมครั้งละสามวัน ไม่น้อยกว่าห้าสิบครั้ง
ข้อที่ 12 เป็นผู้ช่วยเหลือกิจการลูกเสือด้านอื่นๆ รวมทั้งกิจกรรมลูกเสือในสถานศึกษาจนเกิดผลดีแก่การลูกเสือมาไม่น้อยกว่า 3 ปี และเฉลี่ยปีหนึ่งๆไม่น้อยกว่าห้าครั้ง
ข้อที่ 13 เป็นผู้ให้การช่วยเหลือและส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างคณะลูกเสือไทยกับคณะลูกเสือต่างประเทศไม่น้อยกว่าสามครั้ง เช่น เป็นผุ้แทนคณะลูกเสือไทยเข้าร่วมการประชุมหรืองานชุมนุมในต่างประเทศ หรือมีส่วนในการต้อนรับหรือรับรองคณะลูกเสือต่างประเทศที่เข้าร่วมกิจกรรมลูกเสือในประเทศไทย
ส่วนที่ 4 การขอพระราชทานเหรียญลูกเสือสดุดี สำหรับบุคลากรของสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ หรือสำนักงานลูกเสือจังหวัด
ข้อที่ 14 บุคลากรของสำนักงานลูกเสือแห่งชาติหรือสำนักงานลูกเสือจังหวัด มีสิทธิขอรับพระราชทานเหรียญลูกเสือสดุดีได้ ดังต่อไปนี้ (1) บุคลากรที่ทำงานติดต่อกันมาเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่าสิบปีมีสิทธิขอรับพระราชทานเหรียญลูกเสือสดุดีขั้นที่ 1 (2) บุคลากรที่ทำงานติดต่อกันมาเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่าห้าปีมีสิทธิขอรับพระราชทานเหรียญลูกเสือสดุดีขั้นที่ 2 (1) บุคลากรที่ทำงานติดต่อกันมาเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่าสามปีมีสิทธิขอรับพระราชทานเหรียญลูกเสือสดุดีขั้นที่ 3
ส่วนที่ 5 การรับรองผลการปฏิบัติงาน
ข้อที่ 15 ผู้ขอพระราชทานเหรียญลูกเสือสดุดีด้านฝึกอบรมจะต้องมีผู้รับรองเป็นหลักฐาน (1)หนังสือรับรองผลการปฏิบัติงานโดยผู้อำนวยการฝึกอบรมแต่ละครั้งเป็นผู้รับรอง และการรับรองเช่นนั้นต้องตรงความเป็นจริง (2)ให้มีคำสั่งแต่งตั้งวิทยากรฝึกอบรมหรือหนังสือเชิญเป็นวิทยากร
ข้อที่ 16 ผู้ขอพระราชทานเหรียญลูกเสือสดุดี เพราะได้บริจาคหรือสนับสนุนกิจการลูกเสือด้านอื่นๆ จะต้องมีผู้รับรองเป็นหลักฐานดังนี้ (1) สำหรับส่วนกลาง ให้เลขาธิการสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ หรือกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ หรืออธิบดี หรือตำแหน่งที่เทียบเท่า หรือหัวหน้าหน่วยงานที่มีฐานะเทียบเท่ากรม หรือผู้อำนวยการสำนักเลขาธิการสำนักงานลูกเสือแห่งชาติแล้วแต่กรณี เป็นผู้รับรอง (2)สำหรับส่วนภูมิภาค ให้ผู้อำนวยการลูกเสือจังหวัด หรือผู้อำนวยการลูกเสือเขตพื้นที่การศึกษา เป็นผู้รับรอง (3) สำหรับกรุงเทพมหานคร ให้ผู้อำนวยการลูกเสือกรุงเทพมหานคร เป็นผู้รับรอง
ส่วนที่ 6 การเสนอขอพระราชทานเหรียญลูกเสือสดุดี
ข้อที่ 17 การขอพระราชทานเหรียญลูกเสือสดุดี ต้องดำเนินการ ดังนี้ (1) สำหรับส่วนกลาง ให้สำนักงานลูกเสือแห่งชาติ เป็นผู้รวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องเสนอไปยังคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติเพื่อพิจารณา
สมาคมสโมสรลูกเสือหรือสโมสรลูกเสือในส่วนกลางให้รายงานการขอพระราชทานมายังสำนักงานลูกเสือแห่งชาติและต้องได้รับคำรับรองจากเลขาธิการสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ
(2)สำหรับส่วนภูมิภาค ให้ผู้อำนวยการลูกเสือจังหวัด เป็นผู้รวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องเสนอไปยังเลขาธิการสำนักงานลูกเสือแห่งชาติและคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติเพื่อพิจารณาตามลำดับ
สมาคมสโมสรลูกเสือหรือสโมสรลูกเสือในส่วนภูมิภาคให้รายงานการขอพระราชทานมายังสำนักงานลูกเสือแห่งชาติโดยผ่านสำนักงานลูกเสือจังหวัดซึ่งรับรองโดยผู้อำนวยการลูกเสือจังหวัด
ส่วนที่ 7 การขอเลื่อนขั้นเหรียญลูกเสือสดุดี
ข้อที่ 18 การขอพระราชทานเหรียญลูกเสือสดุดีเลื่อนขั้นให้สูงขั้นต้องปฏิบัติ ดังนี้
(1) ได้รับพระราชทานเหรียญลูกเสือสดุดีชั้นเดิมมาแล้วไม่น้อยกว่าสองปี
(2) ผลงานที่นำเสนอประกอบการพิจารณาต้องเป็นผลงานใหม่ ไม่ใช่ผลงานที่เคยเสนอมาแล้ว (ดูเอกสารร่างประกาศประกอบท้ายเรื่อง)
ทั้งหมดนี้ คือ สาระสำคัญในร่างประกาศคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ ว่าด้วยหลักเกณฑ์การขอการขอพระราชทานเหรียญลูกเสือสดุดี ชั้นที่ 1 ชั้นที่ 2 และชั้นที่ 3 ที่มีการนำเสนอต่อคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ เมื่อวันที่ 25 มิ.ย.2561 ที่ผ่านมา หากเปรียบเทียบกับหลักเกณฑ์ตามประกาศคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ ว่าด้วยหลักเกณฑ์การขอพระราชทานเหรียญลูกเสือสดุดีชั้นที่ 1 ชั้นที่ 2 และชั้นที่ 3 พ.ศ.2531 จะพบว่ามีรายละเอียดที่รัดกุมและรอบคอบมากขึ้น ขณะที่การขอพระราชทานเหรียญชั้นที่ 1 ในร่างประกาศใหม่ เปิดโอกาสให้ บุคคลเป็นเจ้าของโครงการหรือผู้ที่รับผิดชอบโครงการในการหาทุนสนับสนุนกิจการลูกเสือ อาจจะเป็นโครงการเดียวหรือหลายโครงการ รวมกันวงเงินไม่น้อยกว่า 1,000,000 บาท หรือ ดำรงตำแหน่งกรรมการลูกเสือโลกหรือกรรมการลูกเสือภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี หรือ เป็นผู้ให้การช่วยเหลือและส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างคณะลูกเสือไทยกับคณะลูกเสือต่างประเทศ หรือมีส่วนในการต้อนรับหรือรับรองคณะลูกเสือต่างประเทศที่เข้าร่วมกิจกรรมลูกเสือในประเทศไทยหรือเป็นผู้ที่ทำกิจกรรมลูกเสือจนได้รับรางวัลจากสำนักงานลูกเสือโลกหรือสำนักงานลูกเสือภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก ได้รับการพิจารณา เพิ่มเติมขึ้นมาจากร่างเดิมด้วย (อ่านประกอบ : กางข้อกม.พระราชทานเครื่องราชฯ เหรียญลูกเสือสดุดี ก่อนพบชื่อผู้ขอมีปัญหาเพียบ684ราย)
ขณะที่ นายประเสริฐ บุญเรือง เลขาธิการคณะกรรมการลูกเสือแห่งชาติ ยืนยันกับสำนักข่าวอิศราว่า ถ้าหากร่างประกาศดังกล่าวคณะกรรมการบริหารเห็นชอบ ไม่มีการแก้ไขอะไร ก็จะส่งเรื่องให้กับ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการลงนามเพื่อให้ประกาศมีผลบังคับใช้ต่อไป ซึ่งคาดว่าน่าจะใช้เวลาไม่เกิน 1 เดือน ร่างประกาศดังกล่าวก็น่าจะมีผลบังคับใช้ได้ และหลังจากนั้นการพิจารณารายชื่อผู้ที่มีความเหมาะสมกับการพระราชทานเหรียญสดุดีก็น่าจะมีความชัดเจนและรอบคอบมากขึ้น
และนับเป็นข้อมูลสำคัญอีกชุดหนึ่ง ต่อกรณีการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นสิริยิ่งรามกีรติ ลูกเสือสดุดีชั้นพิเศษ และเหรียญลูกเสือสดุดีชั้น 1-3 ที่สำนักข่าวอิศรา นำมาเปิดเผยให้สาธารณชนได้รับทราบล่าสุด
อ่านประกอบ :
พบชื่อผู้ขอเครื่องราชฯลูกเสือ มีปัญหา684 ราย-รมว.ศึกษา ชง ปปท.สอบหวั่นไม่ชอบมาพากล
กางข้อกม.พระราชทานเครื่องราชฯ เหรียญลูกเสือสดุดี ก่อนพบชื่อผู้ขอมีปัญหาเพียบ684ราย
เผยวาระพิจารณาผู้ขอเครื่องราชฯลูกเสือ มีปัญหา684 ราย คกก.ชุด ธงทอง ระบุชัดหลักฐานผลงานไม่ผ่าน
ชื่อไหนมีปัญหา'ธงทอง'รู้ดีที่สุด! เลขาฯ ลูกเสือ รับขั้นตอนขอเหรียญสดุดีไม่กลั่นกรองก่อน
เช็คยอดผู้ขอพระราชทานเครื่องราชฯเหรียญลูกเสือ จาก 'ทักษิณ-บิ๊กตู่' ยุคไหนเสนอชื่อมากสุด?
เปิดหมดชื่อผู้ผ่านเกณฑ์ขอพระราชทานเครื่องราชฯเหรียญลูกเสือชั้นพิเศษ+1-3 จำนวน 246 ราย
ผ่าปมปัญหาขั้นตอนขอพระราชทานเครื่องราชฯเหรียญลูกเสือ-สะพัดชื่อไม่เหมาะสมปะปนเพียบ?
ผอ.สนง.ลูกเสือฯ แจงเหตุคนตกอนุมัติรับพระราชทานเครื่องราชฯ720ราย-ส่งเอกสารตามเกณฑ์ใหม่ไม่ทัน
เจาะแบบฟอร์มขอพระราชทานเหรียญลูกเสือสดุดีปี 56-59 ก่อน คกก. ชุด ธงทอง คัดชื่อทิ้ง720 ราย