ผ่าปมปัญหาขั้นตอนขอพระราชทานเครื่องราชฯเหรียญลูกเสือ-สะพัดชื่อไม่เหมาะสมปะปนเพียบ?
"...ที่ผ่านมามักปรากฎเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในกลุ่มครู หรือบุคคลากรที่เกี่ยวข้องกับลูกเสือแห่งชาติ ว่า แต่ละปี จะมีรายชื่อบุคคลภายนอกที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับลูกเสือเข้ามาปะปนเพื่อขอพิจารณารับเหรียญรวมอยู่ด้วยจำนวนมาก โดยใช้เส้นสายของคนในสำนักงานลูกเสือแห่งชาติฝากชื่อเข้ามา บางคนก็ใช้วิธีการบริจาคเงินเข้ามาแทน แต่วงเงินไม่ถึงเกณฑ์ที่กำหนดไว้ กลับได้รับการพิจารณาด้วย ส่วนเงินที่บริจาคเข้ามาก็ไม่มีใครทราบว่าแต่ละปีมีจำนวนเท่าไรกันแน่..."
ยังคงเป็นประเด็นสำคัญที่สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ให้ความสนใจติดตามตรวจสอบข้อมูลอย่างต่อเนื่อง
สำหรับกรณีผลการประชุมคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ เมื่อวันที่ 25 มิ.ย.2561 ที่ผ่านมา ซึ่งมีการพิจารณารับรองผลการตรวจสอบรายชื่อผู้เสนอขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นสิริยิ่งรามกีรติ ลูกเสือสดุดีชั้นพิเศษ และเหรียญลูกเสือสดุดีชั้น 1-3 ตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติลูกเสือ พ.ศ.2551 และประกาศคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ ว่าด้วยหลักเกณฑ์การขอพระราชทานเหรียญลูกเสือสดุดีชั้นที่ 1 ชั้นที่ 2 และชั้นที่ 3 พ.ศ.2531 โดยผลปรากฎว่า ผู้ขอรับพระราชทานเหรียญลูกเสือสดุดีชั้นที่ 1-3 จำนวนรายชื่อที่มาเสนอมา 894 ราย ผ่านเกณฑ์การพิจารณาอนุมัติเพียงแค่ 210 ราย ที่เหลืออีก 684 ราย ไม่ผ่านเกณฑ์การพิจารณา ส่วนผู้ขอรับพระราชทานเหรียญลูกเสือสดุดีชั้นพิเศษ ที่ค้างการพิจารณาตั้งแต่ปี 2556 -2559 ทั้งสิ้น 43 ราย ผ่านการพิจารณาจำนวน 36 รายชื่อ
ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากในการประชุมคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ ครั้งที่ 6/2560 เมื่อวันที่ 27 ก.ย.2560 มีมติเห็นชอบให้ ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ เป็นประธานคณะอนุกรรมการกลั่นกรองรายชื่อผู้สมควรได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นสิริยิ่งรามกีรติ ลูกเสือสดุดีชั้นพิเศษ และเหรียญลูกเสือสดุดี พร้อมแต่งตั้งคณะอนุกรรมการกลั่นกรองรายชื่อผู้สมควรได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นสิริยิ่งรามกีรติ ลูกเสือสดุดีชั้นพิเศษ และเหรียญลูกเสือสดุดี ตามคำสั่งคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ ที่ 25/2560 ลงวันที่ 1 พ.ย.2560
ขณะที่ผลจากการที่คณะอนุกรรมการฯ พิจารณาเอกสารหลักฐานผลงานของผู้เสนอขอพระราชทานเหรียญลูกเสือสดุดีชั้นที่ 1-3 ตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ใน พระราชบัญญัติลูกเสือ พ.ศ.2551 และประกาศคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ ว่าด้วยหลักเกณฑ์การขอพระราชทานเหรียญลูกเสือสดุดีชั้นที่ 1 ชั้นที่ 2 และชั้นที่ 3 พ.ศ.2531 รวมจำนวน 894 ราย พบว่าผ่านเกณฑ์การพิจารณาจำนวน 210 ราย ไม่ผ่านเกณฑ์การพิจารณาจำนวน 684 ราย ส่วนผู้ขอรับพระราชทานขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นสิริยิ่งรามกีรติ ลูกเสือสดุดีชั้นพิเศษ ซึ่งค้างการพิจารณาประจำปี 2556-2559 ทั้งสิ้น 43 ราย ผ่านการพิจารณา 36 รายดังกล่าว (อ่านประกอบ : พบชื่อผู้ขอเครื่องราชฯลูกเสือ มีปัญหา684 ราย-รมว.ศึกษา ชง ปปท.สอบหวั่นไม่ชอบมาพากล, กางข้อกม.พระราชทานเครื่องราชฯ เหรียญลูกเสือสดุดี ก่อนพบชื่อผู้ขอมีปัญหาเพียบ684ราย, เผยวาระพิจารณาผู้ขอเครื่องราชฯลูกเสือ มีปัญหา684 ราย คกก.ชุด ธงทอง ระบุชัดหลักฐานผลงานไม่ผ่าน, ชื่อไหนมีปัญหา'ธงทอง'รู้ดีที่สุด! เลขาฯ ลูกเสือ รับขั้นตอนขอเหรียญสดุดีไม่กลั่นกรองก่อน)
ล่าสุดสำนักข่าวอิศรา สุ่มตรวจสอบรายชื่อบุคคลที่ผ่านการพิจารณาได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นสิริยิ่งรามกีรติ เหรียญลูกเสือสดุดีชั้นพิเศษ และเหรียญลูกเสือสดุดี ในสมัยรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2557 และแพร่ประกาศทางราชกิจจานุเบกษาเป็นทางการเมื่อวันที่ 20 ม.ค.2558 รวมจำนวนทั้งสิ้น 2,696 ราย แยกเป็น ผู้ได้รับพระราชทาน เหรียญลูกเสือสดุดีชั้นพิเศษ ประจำปี 2554-2557 จำนวน 13 ราย ได้รับพระราชทาน เหรียญลูกเสือสดุดีชั้น 1-3 ประจำปี 2554-2555 จำนวน 2,683 ราย แยกเป็นชั้นที่ 1 จำนวน 863 ราย ชั้นที่ 2 จำนวน 816 ราย และชั้นที่ 3 จำนวน 1,004 ราย เพื่อติดต่อไปสอบถามรายละเอียดขั้นตอนการเสนอเรื่องขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นสิริยิ่งรามกีรติ เหรียญลูกเสือสดุดีชั้นพิเศษ และเหรียญลูกเสือสดุดี (ุดูรายชื่อทั้งหมด ที่นี่ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2558/B/004/1.PDF)
เบื้องต้น ได้รับการยืนยันข้อมูลจากผู้ผ่านการพิจารณารายหลายตรงกันว่า ส่วนใหญ่บุคคลที่จะได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นสิริยิ่งรามกีรติ เหรียญลูกเสือสดุดีชั้นพิเศษ และเหรียญลูกเสือสดุดี จะประกอบด้วยบุคคล 4 กลุ่ม คือ 1. ครูในโรงเรียนที่รับผิดชอบการเรียนการสอนวิชาที่เกี่ยวข้องกับลูกเสือ 2. ผู้บริหารสถานศึกษา ในฐานะผู้สนับสนุนการเรียนการสอนวิชาที่เกี่ยวข้องกับลูกเสือในโรงเรียน 3. ผู้บริหารสำนักงานองค์กรที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานลูกเสือแห่งชาติ และ 4.กลุ่มคนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการฝึกอบรมลูกเสือ แต่มีการบริจาคมอบเงินและสิ่งของให้แทน
ส่วนการได้อนุมัติรับพระราชทานเหรียญ จะแบ่งเป็นชั้น ๆ เริ่มตั้งแต่ชั้น 3 ไล่ไปจนถึงชั้น ที่ 2 และ 1 และชั้นพิเศษ โดยมีหลักเกณฑ์การพิจารณาอนุมัติตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง เช่น เกณฑ์ชั้นที่ 3 ผู้ได้รับการพิจารณาอนุมัติจะต้องฝึกอบรมผู้บังคับบัญชาลูกเสือ ระดับที่ 1 วิชาผู้กำกับลูกเสือ ขั้นความรู้เบื้องต้น หรือขั้นความรู้ชั้นสูง โดยอยู่ประจำตลอดการฝึกอบรมไม่น้อยกว่า 25 ครั้ง
แต่เมื่อจะยกระดับขอชั้นที่ 2 จะกำหนดว่า ต้องผ่านการฝึกอบรมวิชาผู้บังคับบัญชาลูกเสือ ขั้นผู้ช่วยผู้ให้การฝึกอบรมวิชาผู้กำกับลูกเสือหรือขั้นหัวหน้าผู้ให้การฝึกอบรมวิชาผู้กำกับลูกเสือ โดยอยู่ประจำตลอดการฝึกอบรมไม่น้อยกว่า 10 ครั้ง ส่วนเกณฑ์ชั้นที่ 2 ก็จะพัฒนาขึ้นเป็น ฝึกอบรมผู้บังคับบัญชาลูกเสือ ระดับที่ 1 วิชาผู้กำกับลูกเสือ ขั้นความรู้เบื้องต้น หรือขั้นความรู้ชั้นสูง โดยอยู่ประจำตลอดการฝึกอบรมไม่น้อยกว่า 50 ครั้ง หรือระดับที่ 2 การให้การฝึกอบรมวิชาผู้บังคับบัญชาลูกเสือ ขั้นผู้ช่วยผู้ให้การฝึกอบรมวิชาผู้กำกับลูกเสือหรือขั้นหัวหน้าผู้ให้การฝึกอบรมวิชาผู้กำกับลูกเสือ โดยอยู่ประจำตลอดการฝึกอบรมไม่น้อยกว่า 20 ครั้ง เป็นต้น
สำหรับบุคคลภายนอก ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนหรือการฝึกอบรมลูกเสือ จะพิจารณาเกณฑ์การบริจาคมอบเงินและสิ่งของให้แทน ในชั้นที่ 3 จะกำหนดการ บริจาคเงินหรือทรัพย์สิ่งของตาง ๆ ครั้งเดียว หรือหลายครั้งรวมกันเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 50,000 บาท หรือเป็นเจ้าของโครงการ หรือผู้ที่รับผิดชอบโครงการในการหาทุนสนับสนุนกิจการลูกเสือ ซึ่งอาจจะเป็นโครงการเดียวหรือหลายโครงการ รวมกันวงเงินไม่น้อยกว่า 250,000 บาท แต่ถ้าจะขึ้นเป็นชั้น 2 กำหนดการบริจาคเงินหรือทรัพย์สิ่งของตาง ๆ ครั้งเดียว หรือหลายครั้งรวมกันเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 100,000 บาท หรือเป็นเจ้าของโครงการ หรือผู้ที่รับผิดชอบโครงการในการหาทุนสนับสนุนกิจการลูกเสือ ซึ่งอาจจะเป็นโครงการเดียวหรือหลายโครงการ รวมกันวงเงินไม่น้อยกว่า 500,000 บาท
ทั้งนี้ ผู้ที่เคยผ่านการพิจารณาเหรียญ ลูกเสือสดุดีชั้น 3 ที่มีการประกาศรายชื่อเป็นทางการเมื่อวันที่ 20 ม.ค.2558 รายหนึ่ง ให้ความเห็นว่า ในส่วนของกลุ่มครูที่สอนหรืออบรมวิชาที่เกี่ยวข้องกับลูกเสือ ส่วนใหญ่จะไปสิ้นสุดชั้นที่ 3 เพราะเกษียณอายุก่อน ส่วนกลุ่มที่ได้เหรียญชั้นพิเศษ มักจะเป็นผู้บริหารในสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ หรือคณะกรรมการบริหารสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ อย่างเช่น รัฐมนตรี ที่เข้ามาดูแลรับผิดชอบงานลูกเสือแห่งชาติ ก็จะมีการมอบให้เป็นเกียรติเพื่อตอบแทนความเสียสละในการทำงาน
ส่วนขั้นตอนการเสนอชื่อ สำหรับผู้ที่อยู่ในต่างจังหวัด จะมีการกรอกแบบฟอร์มแนบเอกสารหลักฐานประกอบไปยังสำนักงานลูกเสือจังหวัด เพื่อให้ส่งเรื่องเข้ามาที่ส่วนกลาง ส่วนผู้ที่อยู่ในกทม. สามารถยื่นเรื่องผ่านไปยังสำนักงานลูกเสือแห่งชาติส่วนกลางโดยตรง
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมามักปรากฎเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในกลุ่มครู หรือบุคคลากรที่เกี่ยวข้องกับลูกเสือแห่งชาติ ว่า แต่ละปี จะมีรายชื่อบุคคลภายนอกที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับลูกเสือเข้ามาปะปนเพื่อขอพิจารณารับเหรียญรวมอยู่ด้วย โดยใช้เส้นสายของคนในสำนักงานลูกเสือแห่งชาติฝากชื่อเข้ามา บางคนก็ใช้วิธีการบริจาคเงินเข้ามาแทน แต่วงเงินไม่ถึงเกณฑ์ที่กำหนดไว้ กลับได้รับการพิจารณาด้วย ส่วนเงินที่บริจาคเข้ามาก็ไม่มีใครทราบว่าแต่ละปีมีจำนวนเท่าไรกันแน่
"ในช่วงที่ผมไปรับพระราชทานเหรียญ ลูกเสือสดุดีชั้น 3 ที่มีการมอบให้ครั้งล่าสุดช่วงต้นปี 2558 คนในวงการลูกเสือ ก็มีการพูดคุยกันอยู่เหมือนกันว่าทำไมจำนวนคนถึงมีเยอะมากเป็นพันคนแบบนี้ด้วย "
อนึ่งก่อนหน้านี้ สำนักข่าวอิศรา รายงานไปแล้วว่า ในยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ มีการประกาศรายชื่อผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นสิริยิ่งรามกีรติ เหรียญลูกเสือสดุดีชั้นพิเศษ และเหรียญลูกเสือสดุดี มาแล้ว 1 ครั้ง เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2557 (แพร่ประกาศทางราชกิจจานุเบกษาเป็นทางการเมื่อวันที่ 20 ม.ค.2558) รวมจำนวนทั้งสิ้น 2,696 ราย แยกเป็น ผู้ได้รับพระราชทาน เหรียญลูกเสือสดุดีชั้นพิเศษ ประจำปี 2554-2557 จำนวน 13 ราย ได้รับพระราชทาน เหรียญลูกเสือสดุดีชั้น 1-3 ประจำปี 2554-2555 จำนวน 2,683 ราย แยกเป็นชั้นที่ 1 จำนวน 863 ราย ชั้นที่ 2 จำนวน 816 ราย และชั้นที่ 3 จำนวน 1,004 ราย
อย่างไรก็ตาม หากนับรวมการอนุมัติครั้งล่าสุด วันที่ 25 มิ.ย.2561 ที่รอประกาศราชกิจจานุเบกษาจำนวน 246 (เหรียญลูกเสือสดุดีชั้นพิเศษ 36 ราย, เหรียญลูกเสือสดุดีชั้น 1-3 จำนวน 210 ราย) จะมีจำนวนรวมทั้งสิ้น 2,942 ราย มากกว่าทุกยุคสมัยที่ผ่านมา
ขณะที่การอนุมัติครั้งแรก เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2557 จำนวนผู้ขอเหรียญลูกเสือสดุดีชั้นที่ 3 มีจำนวนมากที่สุดถึง 1,004 ราย (อ่านประกอบ : เช็คยอดผู้ขอพระราชทานเครื่องราชฯเหรียญลูกเสือ จาก 'ทักษิณ-บิ๊กตู่' ยุคไหนเสนอชื่อมากสุด?)
ส่วนรายชื่อผู้ขอรับพระราชทานครั้งล่าสุด ที่ไม่ผ่านการคัดเลือก ทั้งในส่วนของ เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นสิริยิ่งรามกีรติ ลูกเสือสดุดีชั้นพิเศษ และเหรียญลูกเสือสดุดีชั้น 1-3 รวมจำนวนกว่า 720 รายนั้น
ก่อนหน้านี้ นายประเสริฐ บุญเรือง เลขาธิการคณะกรรมการลูกเสือแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์ยืนยันสำนักข่าวอิศราว่า ไม่สามารถให้รายชื่อผู้ที่ไม่ผ่านการพิจารณาได้ เนื่องจากเป็นอำนาจของนายธงทอง จันทรางศุ ประธาน คณะอนุกรรมการกลั่นกรองรายชื่อผู้สมควรได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นสิริยิ่งรามกีรติ ลูกเสือสดุดีชั้นพิเศษ และเหรียญลูกเสือสดุดี ตามคำสั่งคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ ที่ 25/2560 ลงวันที่ 1 พ.ย.2560 ที่จะพิจารณาเรื่องการเปิดเผยรายชื่อของผู้ที่ไม่ผ่านการพิจารณา และนายธงทองก็เป็นผู้รู้รายละเอียดดีที่สุดว่ามีหลักเกณฑ์ในการคัดผู้ที่มีความเหมาะสมอย่างไรบ้าง
อ่านประกอบ :
พบชื่อผู้ขอเครื่องราชฯลูกเสือ มีปัญหา684 ราย-รมว.ศึกษา ชง ปปท.สอบหวั่นไม่ชอบมาพากล
กางข้อกม.พระราชทานเครื่องราชฯ เหรียญลูกเสือสดุดี ก่อนพบชื่อผู้ขอมีปัญหาเพียบ684ราย
เผยวาระพิจารณาผู้ขอเครื่องราชฯลูกเสือ มีปัญหา684 ราย คกก.ชุด ธงทอง ระบุชัดหลักฐานผลงานไม่ผ่าน
ชื่อไหนมีปัญหา'ธงทอง'รู้ดีที่สุด! เลขาฯ ลูกเสือ รับขั้นตอนขอเหรียญสดุดีไม่กลั่นกรองก่อน
เช็คยอดผู้ขอพระราชทานเครื่องราชฯเหรียญลูกเสือ จาก 'ทักษิณ-บิ๊กตู่' ยุคไหนเสนอชื่อมากสุด?
เปิดหมดชื่อผู้ผ่านเกณฑ์ขอพระราชทานเครื่องราชฯเหรียญลูกเสือชั้นพิเศษ+1-3 จำนวน 246 ราย