กางข้อกม.พระราชทานเครื่องราชฯ เหรียญลูกเสือสดุดี ก่อนพบชื่อผู้ขอมีปัญหาเพียบ684ราย
"...หลังจากที่มีการนำเสนอผลการตรวจสอบรายชื่อไม่ผ่านเกณฑ์การพิจารณาขอรับเหรียญพระราชทาน จำนวนมากถึง 684 ราย ต่อที่ประชุม คณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ เมื่อวันที่ 25 มิ.ย.2561 ที่ผ่านมา ได้สร้างความไม่พอใจให้กับ นพ.ธีระเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกระบวนการตรวจสอบรายชื่อของสำนักงานลูกเสือแห่งชาติก่อนเสนอชื่อเข้ามาให้พิจารณา ซึ่งอาจจะมีช่องโหว่ที่ทำให้เกิดความไม่โปร่งใสได้ จึงเตรียมที่จะส่งเรื่องให้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เข้ามาตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องนี้ ว่ามีความไม่ชอบมาพากลอะไรเกิดขึ้นหรือไม่ต่อไปด้วย..."
กลายเป็นประเด็นร้อนที่อยู่ในความสนใจของสาธารณชนขึ้นมาทันที ต่อกรณีที่ประชุมคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ เมื่อวันที่ 25 มิ.ย.2561 ที่ผ่านมา ได้มีการพิจารณารับรองผลการตรวจสอบรายชื่อผู้เสนอขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นสิริยิ่งรามกีรติ ลูกเสือสดุดีชั้นพิเศษ และเหรียญลูกเสือสดุดีชั้น 1-3 ตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติลูกเสือ พ.ศ.2551 และประกาศคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ ว่าด้วยหลักเกณฑ์การขอพระราชทานเหรียญลูกเสือสดุดีชั้นที่ 1 ชั้นที่ 2 และชั้นที่ 3 พ.ศ.2531
โดยผลปรากฎว่า ผู้ขอรับพระราชทานเหรียญลูกเสือสดุดีชั้นที่ 1-3 จำนวนรายชื่อที่มาเสนอมา 894 ราย ผ่านเกณฑ์การพิจารณาอนุมัติเพียงแค่ 210 ราย ส่วนที่เหลืออีก 684 ราย ไม่ผ่านเกณฑ์การพิจารณา ส่วน ผู้ขอรับพระราชทานเหรียญลูกเสือสดุดีชั้นพิเศษ ที่ค้างการพิจารณาตั้งแต่ปี 2556 -2559 ทั้งสิ้น 43 ราย ผ่านการพิจารณาจำนวน 36 ราย
ขณะที่สำนักข่าวอิศรา ได้รับการยืนยันข้อเท็จจริงจากแหล่งข่าวในกระทรวงศึกษาธิการว่า การเสนอรายชื่อผู้ขอรับพระราชทานเหรียญลูกเสือสดุดีชั้นที่ 1-3 ของสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ ถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องความเหมาะสมมานานหลายปีแล้ว เนื่องจากไม่ค่อยมีการเปิดเผยกระบวนการขั้นตอนตรวจสอบข้อมูลรายชื่อผู้ขอรับพระราชทาน ขณะที่รายชื่อที่เสนอเข้ามาแต่ละปีก็มีจำนวนมาก และก็มีการอนุมัติให้อยู่ตลอด จนกระทั่งในช่วงที่ หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล เข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้รับแจ้งข้อมูลเรื่องนี้ และพบมีสงสัยว่าทำไมรายชื่อที่เสนอเข้ามามีจำนวนมากผิดปกติ จึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการกลั่นกรองรายชื่อขึ้น โดยมีศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ เป็นประธาน เข้ามาทำการตรวจสอบคัดกรองรายชื่อ ด้วยการพิจารณาเอกสารหลักฐานผลงานประกอบ จนกระทั่งผลการตรวจสอบแล้วเสร็จในปัจจุบัน พบว่า ในจำนวนรายชื่อ 894 ราย ที่เสนอมา มีเพียงแค่ 210 ราย ที่ผ่านเกณฑ์การพิจารณาเท่านั้น ส่วนผู้ที่ไม่ผ่านเกณฑ์มีจำนวนมากถึง 684 ราย
แหล่งข่าวรายเดิมยังยืนยันด้วยว่า "หลังจากที่มีการนำเสนอผลการตรวจสอบรายชื่อไม่ผ่านเกณฑ์การพิจารณาขอรับเหรียญพระราชทาน จำนวนมากถึง 684 ราย ต่อที่ประชุม คณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ เมื่อวันที่ 25 มิ.ย.2561 ที่ผ่านมา ได้สร้างความไม่พอใจให้กับ นพ.ธีระเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกระบวนการตรวจสอบรายชื่อของสำนักงานลูกเสือแห่งชาติก่อนเสนอชื่อเข้ามาให้พิจารณา ซึ่งอาจจะมีช่องโหว่ที่ทำให้เกิดความไม่โปร่งใสได้ จึงเตรียมที่จะส่งเรื่องให้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เข้ามาตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องนี้ ว่ามีความไม่ชอบมาพากลอะไรเกิดขึ้นหรือไม่ต่อไปด้วย" (อ่านประกอบ : พบชื่อผู้ขอเครื่องราชฯลูกเสือ มีปัญหา684 ราย-รมว.ศึกษา ชง ปปท.สอบหวั่นไม่ชอบมาพากล)
ทั้งนี้ เพื่อให้สาธารณชนรับทราบข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการขั้นตอนการขอรับพระราชทานเหรียญลูกเสือสดุดีชั้น ที่ 1 - 3 และเหรียญลูกเสือสดุดีชั้นพิเศษ มากขึ้น
สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบข้อเท็จจริงในพระราชบัญญัติลูกเสือ พ.ศ.2551 พบว่า มีการระบุข้อมูล เหรียญลูกเสือสดุดีชั้น ที่ 1 - 3 และเหรียญลูกเสือสดุดีชั้นพิเศษ ไว้ในหมวดที่ 5 เรื่องเหรียญลูกเสื้อ และการยกย่องเชิดชูเกียรติ
โดยในมาตรา 58 ระบุว่า ให้มีเหรียญลูกเสือสดุดีเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ไว้สําหรับพระราชทาน แก่บุคลากรทางการลูกเสือและบุคคลอื่นบรรดาที่มีอุปการคุณต่อการลูกเสือถึงขนาด หรือที่ได้อุทิศ กําลังกายหรือกําลังความคิดในการประกอบกิจการให้ บังเกิดคุณประโยชน์แก่การลูกเสือตามที่บัญญัติไว้ ในมาตรา 60
มาตรา 59 ระบุว่า เหรียญลูกเสือสดุดีเป็นเหรียญเงิน มีลักษณะกลมรีขนาดกว้าง 2.5 เซนติเมตร ยาว 3.2 เซนติเมตร ด้านหน้าตรงกลาง มีตราหน้าเสือประกอบวชิระ ริมขอบส่วนบนมีอักษรว่า “ลูกเสือ” และส่วนล่างมีอักษรว่า “เสียชีพอย่าเสียสัตย์” ตราหน้าเสือประกอบวชิระและตัวอักษร ให้ทำเป็นลายดุน ด้านหลังเป็นพื้นเกลี้ยงจารึกนามของผู้ ซึ่งได้รับพระราชทานและวันที่พระราชทาน ที่ขอบส่วนบนของเหรียญมีห่วงห้อยแพรแถบ ขนาดกว้าง 2.4 เซนติเมตร มีริ้วสีเหลือง กว้าง 1.2 เซนติเมตร อยู่กลาง ริมทั้งสองข้างมีริ้วสีดํากว้าง 6 มิลลิเมตร ประดับที่อกเสื้อเหนือ ปกกระเป๋าเบื้องซ้าย
เหรียญลูกเสือสดุดี มีลําดับเป็นสามชั้น ดังต่อไปนี้
ชั้นที่หนึ่ง มีเข็มวชิระ ทําด้วยโลหะเงิน ประดับที่แพรแถบตรงกึ่งกลางในแนวทางดิ่งหนึ่งเข็ม
ชั้นที่สอง มีเข็มหน้าเสือ ทําด้วยโลหะเงิน ประดับที่แพรแถบตรงกึ่งกลางในแนวทางดิ่งหนึ่งเข็ม
ชั้นที่สาม ไม่มีเข็มวชิระและเข็มหน้าเสือประดับที่แพรแถบ
(ภาพประกอบจาก http://nakhonsawan-scout.blogspot.com/p/boy-scout-citation-medal.html)
มาตรา 60 ระบุว่า เหรียญลูกเสือสดุดีชั้นที่หนึ่ง จะพระราชทานแก่ผู้ที่มีอุปการคุณต่อการลูกเสือ ถึงขนาด หรือที่ได้อุทิศกําลังกาย หรือกําลังความคิดในการประกอบกิจการให้ บังเกิดคุณประโยชน์ แก่การลูกเสืออย่างยิ่งตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติกําหนด
เหรียญลูกเสือสดุดีชั้นที่สอง จะพระราชทานแก่ผู้ ที่มีอุปการคุณต่อการลูกเสืออย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
(1) บริจาคเงินหรือทรัพย์สิ่งของต่าง ๆ ครั้งเดียวหรือหลายครั้ง รวมกันเป็นจํานวนเงิน ไม่น้อยกว่าที่คณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติกําหนด
(2) ช่วยเหลือเป็นอย่างดีในการฝึกอบรมผู้ บังคับบัญชาลูกเสือระดับที่หนึ่งวิชาผู้ กํากับลูกเสือ ขั้นความรู้ เบื้องต้นหรือขั้นความรู้ชั้นสูง โดยอยู่ประจําตลอดการฝึกอบรมไม่น้อยกว่าห้าสิบครั้ง หรือระดับที่สอง การให้การฝึกอบรมแก่ผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมวิชาผู้ กํากับลูกเสือแล้ว โดยอยู่ประจํา ตลอดการฝึกอบรมไม่น้อย อยกว่ายี่สิบครั้ง
(3) ช่วยเหลือกิจการลูกเสือด้านอื่น ๆ จนเกิดผลดีแก่การลูกเสือติดต่อกันมาไม่น้อยกว่าห้าปี และปีหนึ่ง ๆ ไม่น้อยกว่าสิบครั้ง
(4) ช่วยเหลือและส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างคณะลูกเสือไทยกับคณะลูกเสือต่างประเทศ เป็นอย่างดียิ่ง
เหรียญลูกเสือสดุดีชั้นที่สาม จะพระราชทานแก่ผู้ที่มีอุปการคุณต่อการลูกเสืออย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
(1) บริจาคเงินหรือทรัพย์สิ่งของต่าง ๆ ครั้งเดียวหรือหลายครั้ง รวมกันเป็นจํานวนเงิน ไม่น้อยกว่าที่คณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติกําหนด
(2) ช่วยเหลือเป็นอย่างดีในการฝึกอบรมผู้บังคับบัญชาลูกเสือระดับที่หนึ่งวิชาผู้กํากับลูกเสือ ขั้นความรู้ เบื้องต้นหรือขั้นความรู้ ชั้นสูง โดยอยู่ประจําตลอดการฝึกอบรมไม่น้อยกว่ายี่สิบห้าครั้ง หรือระดับที่สอง การให้การฝึกอบรมแก่ผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมวิชาผู้กํากับลูกเสือแล้ว โดยอยู่ประจํา ตลอดการฝึกอบรมไม่น้อยกว่าสิบครั้ง
(3) ช่วยเหลือเป็นอย่างดีในการฝึกอบรมวิชานายหมู่ ลูกเสือหรือวิชาลูกเสือประเภทต่าง ๆ โดยอยู่ประจําตลอดการฝึกอบรมครั้งละสามวัน ไม่น้อยกว่าห้าสิบครั้ง
(4) ช่วยเหลือกิจการลูกเสือด้านอื่น ๆ จนเกิดผลดีแก่การลูกเสือติดต่อกันไม่น้อยกว่าสามปี และปีหนึ่ง ๆ ไม่น้อยกว่าห้าครั้ง
(5) ช่วยเหลือและส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างคณะลูกเสือไทยกับคณะลูกเสือต่างประเทศ เป็นอย่างดี
สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับ ลูกเสือสดุดี ชั้นพิเศษ นั้น ระบุว่าใน มาตรา 53 ว่า ให้ มีเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นสิริยิ่งรามกีรติ ลูกเสือสดุดี ชั้นพิเศษ ไว้สําหรับพระราชทานแก่ผู้ที่ได้รับพระราชทานเหรียญลูกเสือสดุดีชั้นที่หนึ่งและได้ มีอุปการคุณ ช่วยเหลือกิจการลูกเสืออย่างต่อเนื่องมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี นับแต่วันที่ได้ รับพระราชทานเหรียญ ลูกเสือสดุดีชั้นที่หนึ่ง
โดยเครื่องราชอิสริยาภรณ์ดังกล่าว เป็นดวงตรา ด้านหน้ามีลักษณะเป็นรูปไข่ พื้นลงยาสีน้ําเงิน ขนาดกว้าง 2.5 เซนติเมตร ยาว 3.3 เซนติเมตร กลางดวงตรามีตราหนhาเสือ ประกอบวชิระเงินล้อมด้วยเม็ดไข่ปลาสีทองและมีรัศมีเงินโดยรอบแปดแฉกคั่นด้วยกระจังสีทอง เบื้องบนมีพระมหามงกุฎรัศมีฉลุโปร่งและเลข “9” สีทอง ด้านหลังกลางดวงตราเป็นดุม พื้นลงยาสีม่วง มีรูปตราของคณะลูกเสือโลก เบื้องล่างมีอักษรสีเงินว่า “เราจะทํานุบํารุงกิจการลูกเสือสืบไป” ที่ขอบส่วนบนของดวงตรามีห้วงห้อยแพรแถบสําหรับคล้องคอ ขนาดกว้าง 4 เซนติเมตร มีริ้วสีเหลืองกว้าง 2.2 เซนติเมตร อยู่กลางริมทั้งสองข้าง มีริ้วสีขาวกว้าง 3 มิลลิเมตร และริ้วสีดํา กว้าง 6 มิลลิเมตร
(ภาพประกอบจาก วิกีพิเเดีย)
ขณะที่ในมาตรา 63 ระบุว่า เมื่อคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติพิจารณาเห็นว่า ผู้ใดสมควรได้ รับ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นสิริยิ่งรามกีรติลูกเสือสดุดีชั้นพิเศษ เหรียญลูกเสือสรรเสริญ เหรียญลูกเสือสดุดี และเหรียญลูกเสือยั่งยืน ให้ นําความขึ้นกราบบังคมทูลขอรับพระราชทานต่อไป และให้ประกาศนามในราชกิจจานุเบกษาด้วย (มาตรา 64) และให้เป็นสิทธิแก่ผู้รับได้รับพระราชทาน เมื่อผู้ได้รับพระราชทานวายชนม์ให้ตกทอดแก่ทายาทเพื่อรักษาไว้เป็นที่ระลึก (มาตรา 65)
ขณะที่ประกาศคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ ว่าด้วยหลักเกณฑ์การขอพระราชทานเหรียญลูกเสือสดุดี ชั้นที่ 1 ชั้นที่ 2 และชั้นที่ 3 กำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณาการขอพระราชทานเหรียญลูกเสือสดุดี ชั้นที่ 1 ชั้นที่ 2 และชั้นที่ 3 ดังนี้
เหรียญลูกเสือสดุดี ชั้นที่ 1
จะพระราชทานให้แก่ผู้มีอุปการคุณต่อกิจการลูกเสือถึงขนาด หรือได้อุทิศกำลังกาย หรือกำลังความคิดในการประกอบกิจให้บังเกิดคุณประโยชน์แก่การลูกเสืออย่างยิ่ง คือ
(1) ผู้ทำหน้าที่ฝ่ายบริหารกิจการลูกเสือ ซึ่งได้แก่ ผู้อำนวยการลูกเสือจังหวัด อำเภอ โรงเรียน หรือหน่วยงานอื่น ผู้รายงานขอจะต้องระบุตำแหน่ง และเวลาที่ตนได้ทำหน้าที่ผู้บริหารกิจการลูกเสือ กับแสดงให้เห็นว่านอกจากการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติแล้ว ตนได้ประกอบกิจอันใดเป็นพิเศษซึ่งแสดงว่าเป็นการอุทิศกำลังกาย หรือกำลังความคิด ในการประกอบกิจให้บังเกิดคุณประโยชน์แก่การลูกเสือเป็นอย่างยิ่ง เช่น ได้ดำเนินการสร้างค่ายลูกเสือ หรือได้ส่งเสริมให้มีการฝึกอบรมวิชาผู้กำกับลูกเสือหรือวิชาลูกเสือเป็นพิเศษ หรือได้จัดให้มีการชุมนุมลูกเสือ หรือได้จัดตั้งทุนถาวรสำหรับส่งเสริมกิจการลูกเสือ หรือได้จัดหาอุปกรณ์สำหรับฝึกอบรมผู้บังคับบัญชาลูกเสือ หรือลูกเสือ (เช่น เต็นท์ หรือเครื่องดนตรี ฯลฯ) ฯลฯ เป็นต้น
(2) ผู้ทำหน้าที่ฝ่ายฝึกอบรม ซึ่งได้แก่ ผู้กำกับกลุ่มลูกเสือ ผู้กำกับกองลูกเสือ และคณะกรรมการ ให้การฝึกอบรมของเขตการศึกษา จังหวัด อำเภอ หรือหน่วยงานอื่นสำหรับผู้ที่เป็นผู้กำกับกลุ่มลูกเสือ หรือผู้กำกับกองลูกเสือ จะต้องแสดงให้เห็นว่าได้อุทิศตนทำงานในหน้าที่ผู้ให้การอบรมเป็นระยะเวลานาน โดยประกอบกิจกรรมที่ดีเด่น และได้ประโยชน์แก่การลูกเสือเป็นพิเศษ ส่วนผู้ที่อยู่ในคณะผู้ให้การฝึกอบรมของเขตการศึกษา จังหวัด อำเภอ หรือหน่วยงานอื่น จะต้องระบุให้ชัดเจนว่าได้เป็นกำลังสำคัญในการฝึกอบรมอะไร ที่ไหน และเมื่อใด โดยเรียงลำดับ วัน เดือน ปี ของการฝึกอบรมและจำนวนผู้เข้ารับการฝึกอบรมแต่ละครั้งด้วย
(3) ผู้ทำหน้าที่ฝ่ายสนับสนุนกิจการลูกเสือ ซึ่งได้แก่ ผู้ตรวจการลูกเสือ เจ้าหน้าที่ลูกเสือ กรรมการลูกเสือจังหวัด หรืออำเภอ หรือบุคคลทั่วไป ควรระบุกิจกรรมสำคัญที่ได้กระทำหรือได้เป็นกำลังสำคัญในการประกอบกิจ อันบังเกิดคุณประโยชน์แก่การลูกเสือเป็นอย่างยิ่ง และถ้าเป็นการบริหารเงินหรือสิ่งของ ก็ควรมีรายงานอย่างละเอียด และหลักฐานประกอบ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเป็นการอุปการคุณถึงขนาด สมควรได้รับการยกย่องเป็นพิเศษ
เหรียญลูกเสือสดุดี ชั้นที่ 2
จะพระราชทานแก่ผู้ที่มีอุปการคุณต่อกิจการลูกเสือ ดังต่อไปนี้
(1) บริจาคเงินหรือทรัพย์สิ่งของตาง ๆ ครั้งเดียว หรือหลายครั้งรวมกันเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 100,000 บาท หรือเป็นเจ้าของโครงการ หรือผู้ที่รับผิดชอบโครงการในการหาทุนสนับสนุนกิจการลูกเสือ ซึ่งอาจจะเป็นโครงการเดียวหรือหลายโครงการ รวมกันวงเงินไม่น้อยกว่า 500,000 บาท
ในการหาทุนสนับสนุนกิจการลูกเสือ อาจจะมีผู้ให้ความช่วยเหลือหลายคน ในกรณีนี้ผู้รับผิดชอบโครงการอาจเสนอให้ผู้ร่วมงานได้รับพระราชทานเหรียญลูกเสือสดุดี เฉพาะผู้ที่เป็นกำลังสำคัญในการหาทุนของโครงการนั้น ๆ
(2) ช่วยเหลือเป็นอย่างดีในการฝึกอบรมผู้บังคับบัญชาลูกเสือ ระดับที่ 1 วิชาผู้กำกับลูกเสือ ขั้นความรู้เบื้องต้น หรือขั้นความรู้ชั้นสูง โดยอยู่ประจำตลอดการฝึกอบรมไม่น้อยกว่า 50 ครั้ง หรือระดับที่ 2 การให้การฝึกอบรมวิชาผู้บังคับบัญชาลูกเสือ ขั้นผู้ช่วยผู้ให้การฝึกอบรมวิชาผู้กำกับลูกเสือหรือขั้นหัวหน้าผู้ให้การฝึกอบรมวิชาผู้กำกับลูกเสือ โดยอยู่ประจำตลอดการฝึกอบรมไม่น้อยกว่า 20 ครั้ง
(3) ช่วยเหลือกิจการลูกเสือด้านอื่น ๆ จนเกิดผลดีแก่การลูกเสือ ติดต่อกันมาไม่น้อยกว่า 5 ปี และปีหนึ่ง ๆ ไม่น้อยกว่า 10 ครั้ง หรือ
(4) ช่วยเหลือและส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างคณะลูกเสือไทย กับคณะลูกเสือต่างประเทศเป็นอย่างดียิ่ง
เหรียญลูกเสือสดุดี ชั้นที่ 3
จะพระราชทานแก่ผู้ที่มีอุปการคุณต่อกิจการลูกเสือ ดังต่อไปนี้
(1) บริจาคเงินหรือทรัพย์สิ่งของตาง ๆ ครั้งเดียว หรือหลายครั้งรวมกันเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 50,000 บาท หรือเป็นเจ้าของโครงการ หรือผู้ที่รับผิดชอบโครงการในการหาทุนสนับสนุนกิจการลูกเสือ ซึ่งอาจจะเป็นโครงการเดียวหรือหลายโครงการ รวมกันวงเงินไม่น้อยกว่า 250,000 บาท
ในการหาทุนสนับสนุนกิจการลูกเสือ อาจจะมีผู้ให้ความช่วยเหลือหลายคน ในกรณีนี้ผู้รับผิดชอบโครงการอาจเสนอให้ผู้ร่วมงานได้รับพระราชทานเหรียญลูกเสือสดุดี เฉพาะผู้ที่เป็นกำลังสำคัญในการหาทุนของโครงการนั้น ๆ
(2) ช่วยเหลือเป็นอย่างดีในการฝึกอบรมผู้บังคับบัญชาลูกเสือ ระดับที่ 1 วิชาผู้กำกับลูกเสือ ขั้นความรู้เบื้องต้น หรือขั้นความรู้ชั้นสูง โดยอยู่ประจำตลอดการฝึกอบรมไม่น้อยกว่า 25 ครั้ง หรือระดับที่ 2 การให้การฝึกอบรมวิชาผู้บังคับบัญชาลูกเสือ ขั้นผู้ช่วยผู้ให้การฝึกอบรมวิชาผู้กำกับลูกเสือหรือขั้นหัวหน้าผู้ให้การฝึกอบรมวิชาผู้กำกับลูกเสือ โดยอยู่ประจำตลอดการฝึกอบรมไม่น้อยกว่า 10 ครั้ง
(3) ช่วยเหลือเป็นอย่างดีในการฝึกอบรมวิชานายหมู่ลูกเสือ หรือวิชาลูกเสือประเภทต่าง ๆ โดยอยู่ประจำตลอดการฝึกอบรมครั้งละ 3 วัน ไม่น้อยกว่า 50 ครั้ง
(4) ช่วยเหลือกิจการลูกเสือด้านอื่น ๆ จนเกิดผลดีแก่การลูกเสือ ติดต่อกันมาไม่น้อยกว่า 3 ปี และปีหนึ่ง ๆ ไม่น้อยกว่า 5 ครั้ง หรือ
(5) ช่วยเหลือและส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างคณะลูกเสือไทย กับคณะลูกเสือต่างประเทศเป็นอย่างดียิ่ง
สำหรับการรับรองผลการปฏิบัติงาน ระบุว่า ผลการปฏิบัติงานในการช่วยเหลือสนับสนุนกิจการลูกเสือทุก ๆ ด้านของผู้บังคับบัญชาลูกเสือ หรือบุคคลทั่วไปจะต้องมีผู้รับรองเป็นหลักฐาน ดังนี้
1. ด้านการฝึกอบรม ให้ผู้อำนวยการฝึกอบรมแต่ละครั้งเป็นผู้รับรอง
2. ด้านการบริจาค และสนับสนุนกิจการลูกเสือด้านอื่น ๆ
2.1 ส่วนกลาง
ให้เลขาธิการคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ หรือคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ หรืออธิบดี หรือตำแหน่งที่เทียบเท่า หรือหัวหน้าหน่วยงานที่มีฐานะเทียบเท่ากรม หรือผู้อำนวยการกองการลูกเสือ แล้วแต่กรณี เป็นผู้รับรอง
2.2 ส่วนภูมิภาค
ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือศึกษาธิการเขต หรือศึกษาธิการจังหวัด หรือนายอำเภอ หรือศึกษาธิการอำเภอ แล้วแต่กรณี เป็นผู้รับรอง
การเสนอขอพระราชทานเหรียญลูกเสือสดุดี
ข้อปฏิบัติในการเสนอขอพระราชทานเหรียญลูกเสือสดุดี ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค มีดังนี้
1.ส่วนกลาง ให้อธิบดี หรือตำแหน่งที่เทียบเท่า หรือหัวหน้าหน่วยงานที่มี ฐานะเทียบเท่ากรม หรือกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ แล้วแต่กรณี รายงานการขอพระราชทานต่อเลขาธิการคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ เพื่อเสนอไปยังประธานคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ ตามลำดับ
2. ส่วนภูมิภาค ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด รายงานการขอพระราชทานต่อเลขาธิการคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ เพื่อเสนอไปยังประธานคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ ตามลำดับ
การขอเลื่อนชั้นเหรียญลูกเสือสดุดี
ผู้ที่จะเลื่อนชั้นเหรียญลูกเสือสดุดีให้สูงขึ้น จะต้องมีระยะเวลานับจากวันที่ได้รับพระราชทานมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี และต้องชี้แจ้งผลการปฏิบัติงานใหม่โดยละเอียด
ทั้งหมดนี้ คือ ข้อมูลข้อกฎหมายเกี่ยวกับการขอรับพระราชทานเหรียญลูกเสือสดุดีชั้นที่ 1-3 และเหรียญลูกเสือสดุดีชั้นพิเศษ ที่กำลังมีปัญหาเรื่องการตรวจสอบรายชื่อผู้ไม่ผ่านการพิจารณาจำนวนมาก โดยเฉพาะในส่วนของผู้ขอรับพระราชทานเหรียญลูกเสือสดุดีชั้นที่ 1-3 ที่ถูกเสนอรายชื่อมาจำนวยกว่า 894 ราย แต่ผ่านเกณฑ์การพิจารณาอนุมัติเพียงแค่ 210 ราย ส่วนจำนวนผู้ที่ไม่ผ่านเกณฑ์มีมากถึง 684 ราย
ทั้งที่ ข้อกำหนดกระบวนการขั้นตอนก็มีการระบุไว้เป็นลายลักษณ์อักษรที่ชัดเจนอยู่แล้ว และเป็นผลทำให้ นพ.ธีระเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ออกอาการไม่พอใจเรื่องนี้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกระบวนการตรวจสอบรายชื่อของสำนักงานลูกเสือแห่งชาติก่อนเสนอชื่อเข้ามาให้พิจารณา ซึ่งอาจจะมีช่องโหว่ที่ทำให้เกิดความไม่โปร่งใสได้ จึงเตรียมที่จะส่งเรื่องให้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เข้ามาตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องนี้เป็นทางการ ว่ามีความไม่ชอบมาพากลอะไรเกิดขึ้นหรือไม่
ผลการตรวจสอบจะออกมาเป็นอย่างไร ต้องติดตามต่อไปแบบห้ามกระพริบตาโดยเด็ดขาด!