พบชื่อผู้ขอเครื่องราชฯลูกเสือ มีปัญหา684 ราย-รมว.ศึกษา ชง ปปท.สอบหวั่นไม่ชอบมาพากล
เผยผลสอบคกก.กลั่นกรองชุด 'ธงทอง จันทรางศุ' พบรายชื่อผู้เสนอขอรับพระราชทานเครื่องราชฯ ลูกเสือแห่งชาติ ปี 56-59 จำนวน 894 ราย ไม่ผ่านเกณฑ์พิจารณาเพียบ 684 ราย รมว.ศึกษา หวั่นมีช่องโหว่ไม่โปร่งใส เตรียมส่งเรื่อง ปปท. ลุยสอบหาความไม่ชอบมาพากล ด้าน 'ประเสริฐ บุญเรือง' ยันทำงานเต็มที่ ไร้ปัญหาทุจริตแน่นอน
การพิจารณารายชื่อผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นสิริยิ่งรามกีรติ ลูกเสือสดุดีชั้นพิเศษ และเหรียญลูกเสือสดุดี ประจำปี 2556-2559 ของสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ กำลังถูกจับตามอง เมื่อปรากฏข้อมูลว่า ในการประชุมคณะกรรมการบริหาร (บอร์ด) ลูกเสือแห่งชาติ เมื่อวันที่ 25 มิ.ย.2561 ที่ผ่านมา ได้มีการพิจารณารับรองผลการตรวจสอบรายชื่อผู้เสนอขอพระราชทานเหรียญลูกเสือสดุดีชั้นที่ 1-3 ตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติลูกเสือ พ.ศ.2551 และประกาศคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ ว่าด้วยหลักเกณฑ์การขอพระราชทานเหรียญลูกเสือสดุดีชั้นที่ 1 ชั้นที่ 2 และชั้นที่ 3 พ.ศ.2531 รวมจำนวน 894 ราย พบว่ารายชื่อที่เสนอมาทั้งหมด ผ่านเกณฑ์การพิจารณาอนุมัติเพียงแค่ 210 ราย ส่วนที่เหลืออีก 684 ราย ไม่ผ่านเกณฑ์การพิจารณา
นายประเสริฐ บุญเรือง รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และเลขาธิการสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่า เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 2561 ที่ผ่านมา มีการประชุมคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2561 โดยมี นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุม ซึ่งมีวาระการพิจารณารายชื่อผู้เสนอขอพระราชทานเหรียญลูกเสือสดุดีชั้นที่ 1-3 หรือเหรียญพระราชทาน เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นศิริยิ่งรามกีรติ ลูกเสือสดุดีชั้นพิเศษและเหรียญลูกเสือสดุดี ปี 2556-2559
โดยเหรียญพระราชทานชั้นที่ 1 มีการส่งรายชื่อมาให้พิจารณาทั้งหมด 153 ราย แต่อนุมัติรายชื่อให้ จำนวน 99 ราย ชั้น 2 มีการส่งรายชื่อทั้งหมด 162 ราย อนุมัติรายชื่อให้จำนวน 22 ราย ชั้น 3 ส่งรายชื่อมาทั้งสิ้น 369 อนุมัติ 89 รายชื่อ รวมยอดรายชื่อผู้เสนอขอพระราชทานเหรียญลูกเสือสดุดีชั้นที่ 1-3 ที่เสนอมาทั้งหมดอยู่ที่ 894 ราย แต่ได้รับอนุมัติเหรียญพระราชทานจริงจำนวน 210 ราย ไม่ผ่านเกณฑ์พิจารณาจำนวน 684 ราย
สำหรับหลักเกณฑ์การพิจารณารายชื่อผู้ขอพระราชทานเหรียญลูกเสือสดุดีชั้นที่ 1-3 นั้น นายประเสริฐ กล่าวว่า "จะดูว่าได้ทำความดี สนับสนุนกิจการของลูกเสือมากี่ปี มีหลักฐานสนับสนุนการทำความดีอะไรบ้าง อาทิ ถ้าทำความดี 5 ปี ก็จะเข้าเกณฑ์ได้รับเหรียญขั้นที่ 3 เป็นต้น โดยขั้นตอนการเสนอขอพระราชทานนั้น ผู้ที่ประสงค์จะเข้ารับเหรียญพระราชทานจะเป็นผู้ทำเรื่องขอเข้ามาด้วยตนเอง"
นายประเสริฐ กล่าวด้วยว่า "สำนักงานลูกเสือแห่งชาติ แม้ว่าจะอยู่ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ แต่ก็ไม่ได้ขึ้นตรงกับสังกัดไหน ดังนั้น จึงไม่มีหน่วยงานใดสามารถเสนอรายชื่อผู้ที่มีความเหมาะสมจะรับเหรียญพระราชทานกับสำนักงานลูกเสือแห่งชาติได้ ขั้นตอนการขอรับเหรียญพระราชทานนั้น จะมีการทำเรื่องขอเข้ามาด้วยตัวเอง ส่วนหลักเกณฑ์การพิจารณา ผู้ที่จะเสนอตัวเองได้ ก็คือ ผู้ที่ผ่านการอบรมเป็นลูกเสือจากสำนักงานลูกเสือแห่งชาติเท่านั้น จากการนั้น คณะกรรมการก็จะพิจารณาความเหมาะสม อย่างไรก็ดี การพิจารณารายชื่อครั้งนี้ เป็นไปตามผลการนำเสนอของคณะอนุกรรมการกลั่นกรองรายชื่อชุดที่มีศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ เป็นประธาน ซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้เข้ามาตรวจสอบข้อมูลผู้เสนอรายชื่อ ที่เสนอเรื่องมาปี 56-59 และหลังจากที่มีการตรวจสอบเอกสารหลักฐานแล้ว พบว่า มีผู้ผ่านการพิจารณาเพียงแค่ 210 ราย จากรายชื่อที่เสนอมาทั้งหมด 894 ราย"
นายประเสริฐ ยังกล่าวด้วยว่า นับตั้งแต่ปี 2554 มีการค้างการอนุมัติวุฒิบัตรการอบรมประมาณ 24,000 ราย ซึ่งนับตั้งแต่ นพ.ธีระเกียรติ เข้ามารับตำแหน่งรมว.ศึกษาธิการ ก็มอบหมายให้ตนทำหน้าที่เป็นเลขาธิการคณะกรรมการลูกเสือแห่งชาติ เมื่อเดือน พ.ค.2560 ที่ผ่านมา ตนก็เข้ามาสะสางเรื่องนี้ จนในที่สุดเมื่อวันที่ 25 มิ.ย. ก็ได้มีการอนุมัติวุฒิบัตรการอบรมจากสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ ในระดับ 2 ท่อน จำนวน 7,497 ราย ในระดับ 3 ท่อน มีการอนุมัติไป 371 ราย ขณะนี้ยังเลยค้างการอนุมัติใบวุฒิบัตรอบรมอีกจำนวน 17,000 ราย ตนจะต้องเร่งอนุมัติให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือนหลังจากนี้ ทั้งนี้ ขอยืนยันว่า ตั้งแต่เข้ามาทำหน้าที่เป็นเลขาธิการฯ ไม่มีเรื่องการทุจริตในการมอบเหรียญหรือการทำหน้าที่ต่างๆอย่างแน่นอน
ขณะที่แหล่งข่าวจากกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา ว่า การเสนอรายชื่อผู้ขอรับพระราชทานเหรียญลูกเสือสดุดีชั้นที่ 1-3 ของสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ ถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องความเหมาะสมมานานหลายปีแล้ว เนื่องจากไม่ค่อยมีการเปิดเผยกระบวนการขั้นตอนตรวจสอบข้อมูลรายชื่อผู้ขอรับพระราชทาน ขณะที่รายชื่อที่เสนอเข้ามาแต่ละปีก็มีจำนวนมาก และก็มีการอนุมัติให้อยู่ตลอด จนกระทั่งในช่วงที่ หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล เข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้รับแจ้งข้อมูลเรื่องนี้ และพบมีสงสัยว่าทำไมรายชื่อที่เสนอเข้ามามีจำนวนมากผิดปกติ จึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการกลั่นกรองรายชื่อขึ้น โดยมีศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ เป็นประธาน เข้ามาทำการตรวจสอบคัดกรองรายชื่อ ด้วยการพิจารณาเอกสารหลักฐานผลงานประกอบ จนกระทั่งผลการตรวจสอบแล้วเสร็จในปัจจุบัน ซึ่งพบว่า ในจำนวนรายชื่อ 894 ราย ที่เสนอมา มีเพียงแค่ 210 ราย ที่ผ่านเกณฑ์การพิจารณาเท่านั้น ส่วนผู้ที่ไม่ผ่านเกณฑ์มีจำนวนมากถึง 684 ราย
"หลังจากที่มีการนำเสนอผลการตรวจสอบรายชื่อไม่ผ่านเกณฑ์การพิจารณาขอรับเหรียญพระราชทาน จำนวนมากถึง 684 ราย ต่อที่ประชุม คณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ เมื่อวันที่ 25 มิ.ย.2561 ที่ผ่านมา ได้สร้างความไม่พอใจให้กับ นพ.ธีระเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกระบวนการตรวจสอบรายชื่อของสำนักงานลูกเสือแห่งชาติก่อนเสนอชื่อเข้ามาให้พิจารณา ซึ่งอาจจะมีช่องโหว่ที่ทำให้เกิดความไม่โปร่งใสได้ จึงเตรียมที่จะส่งเรื่องให้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เข้ามาตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องนี้ ว่ามีความไม่ชอบมาพากลอะไรเกิดขึ้นหรือไม่ต่อไปด้วย" แหล่งข่าวระบุ