ตามไปดูพิพิธภัณฑ์ 9/11 บทบาทสื่อในเหตุการณ์-รู้ไหมนักข่าวสายไหนรายงานกลุ่มแรก?
“…เหตุการณ์วันนั้นมีกลุ่มนักข่าวอยู่ในนิวยอร์คค่อนข้างมาก แต่ไม่ใช่นักข่าวสายการเมือง หรือสงคราม หรือไม่ใช่สาย ‘Hard News’ แต่เป็นนักข่าวสายบันเทิง-วัฒนธรรม ที่มาเกาะติดการเดินแฟชั่นวีคส์ระดับโลกของแบรนด์ดังแห่งหนึ่ง และเมื่อเกิดเหตุการณ์เหล่านี้ขึ้น นักข่าวสายบันเทิงพวกนี้ คือกลุ่มแรกที่จะต้องแจ้งข่าวไปยังต้นสังกัด และในวันต่อมา สื่อทั่วโลกหลายพันฉบับ รายงานข่าวเกี่ยวกับกรณีนี้ ทั้งหมดเป็นข่าวระดับ ‘พาดหัวไม้’ แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของเหตุการณ์นี้ …”
ผมอยู่นิวยอร์ค สหรัอเมริกา เป็นวันที่ 4 แล้ว (หากนับตอนช่วงอยู่วอชิงตัน ดี.ซี. ด้วยคือประมาณ 7-8 วัน) หลังจากการประชุมงานง่วนกันมา 2-3 วันแรก ในที่สุดเมื่อวันที่ 14 ก.ค. 2018 (ที่ไทยล่วงเข้าวันที่ 15 ก.ค. 2018 ไปแล้ว) มีโอกาสได้หยุดพักผ่อนสูดกลิ่นอายเมืองแฟชั่น-เศรษฐกิจระดับโลกบ้าง
หลายคนที่มานิวยอร์ค อาจมาเพื่อชอปปิ้ง เนื่องจากเป็นแหล่งรวมสินค้าต่าง ๆ แบรนด์ดังทั่วโลกมากมายให้เลือกสรร หรือมาชมทัศนียภาพเมืองจากมุมสูง ที่สวยสุดลูกหาลูกตาสมฉายา ‘ป่าคอนกรีต’ หรืออาจหย่อนใจนั่งเรือยลโฉม ‘เทพีเสรีภาพ’ สัญลักษณ์ของเมืองนี้
แต่หากยังจำกันได้เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2001 หรือเกือบ 17 ปีก่อน เมืองนี้ถูกกลุ่มก่อการร้ายจี้เครื่องบิน 2 ลำพุ่งชนตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ ‘Landmark’ ของเมืองนี้ จนพังทลายลงทั้งสองตึก ปรากฏเป็นข่าวคึกโครมทั่วโลก จนทำให้เปลี่ยนแปลงทุกอย่างในสหรัฐฯไปอย่างสิ้นเชิง ตั้งแต่เรื่องการเมือง เศรษฐกิจ ความมั่นคง จนถึงรากระบบคิดของพลเมืองมะกัน
ในฐานะสื่อมวลชน ผมค่อนข้างสนใจเหตุการณ์นี้ เนื่องจากขณะนั้นผมยังเป็นเด็กไม่ประสีประสา เห็นภาพผ่านโทรทัศน์เท่านั้น แต่มันยังตราตรึงในใจผมอยู่ว่า เหตุการณ์ดังกล่าวพลิกโฉมหน้าสหรัฐฯไปในทิศทางไหนบ้าง ?
อาคาร One World Center ถูกสร้างขึ้นมาบริเวณการพังทลายลงของตึกเวิลด์เทรดทั้ง 2 ตึก (1 North Worldtrade Center และ 2 South Worldtrade Center) ส่วนเศษซากที่ยังหลงเหลืออยู่ของตึกเวิลด์เทรดดังกล่าว รัฐบาลสหรัฐฯได้เปลี่ยนให้เป็นส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑ์ National September 11 Memorial Museum เปิดให้ผู้ชม ทั้งพลเมืองสหรัฐฯ และนักท่องเที่ยวทั่วไป เข้ามารำลึกเหตุการณ์นี้ มีการสลักชื่อบุคคลที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ดังกล่าวไว้ครบถ้วน (เว้นบุคคลที่สูญหาย แม้ผ่านมาเกือบ 18 ปีแล้ว ก็ยังตามหาไม่เจอ) หากวันใดตรงกับวันเกิดของผู้เสียชีวิต จะมีการนำดอกไม้มาปักไว้ตรงชื่อบุคคลนั้นเพื่อแสดงความรำลึกด้วย
(บอร์ดเล่าเหตุการณ์เครื่องบิน บินจากสนามบินใด บินผ่านเมืองไหนบ้าง ก่อนไปพุ่งชนตึกเวิลด์เทรด)
(ผู้เยี่ยมชน ตั้งใจฟังบันทึกโทรศัพท์ของชาวนิวยอร์คหลังเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว)
สำหรับพิพิธภัณฑ์ National September 11 Memorial Museum (ขออนุญาตเรียกสั้น ๆ ว่า พิพิธภัณฑ์ 9/11) แบ่งโซนการเข้าชมเป็น 3 โซนหลักด้วยกัน คือ
หนึ่ง โซนเปิดฉายสารคดีที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้ วันที่ผมไปมีฉายอยู่ 2 เรื่อง ได้แก่ 1.สารคดีเล่าที่มาที่ไปของเหตุการณ์นี้ว่าเกิดขึ้นจากสถานการณ์อะไรบ้าง โดยเฉพาะเรื่องการเมือง และความมั่นคงของรัฐ 2.สารคดีเล่าความเห็นของบุคคลสำคัญว่า เหตุการณ์นี้ ‘Change the World’ หรือเปลี่ยนแปลงโลกไปขนาดไหน (สารภาพว่าผมไม่มีโอกาสได้ดู เพราะสนใจโซนที่สอง และที่สาม จะเล่าให้ฟังบรรทัดถัดจากนี้มากกว่า)
สอง โซนเปิดให้เข้าชม Exhibition Hall หรือโซนจัดนิทรรศการ นำเศษซากที่ยังหลงเหลืออยู่ของตึกเวิลด์เทรด มาตั้งให้ผู้เข้าชมรับทราบถึงความยิ่งใหญ่ในอดีตของตึกนี้ โดยเฉพาะภาพถ่ายสุดท้ายของตึกแห่งนี้ ถ่ายเมื่อเวลา 08.30 น. วันที่ 9 ก.ย. 2001 (เครื่องบินชนตึกนี้เวลาประมาณ 08.46 น. วันเดียวกัน) ขณะเดียวกันในโซนนี้เปิดเทปบันทึกเสียงทางโทรศัพท์ผู้คนที่พยายามติดต่อกันในวันที่เกิดเหตุการณ์เหล่านั้นให้ผู้ชมได้รับฟังถึงความอลหม่าน ความวุ่นวาย ความหวัง-สิ้นหวัง โดยได้รับอนุญาตจากบุคคลเหล่านั้นแล้ว
“No day shall erase you from the memory of time” คำให้กำลังใจประจำตึกนี้ เป็นคำแปลมาจากภาษาละตินของนวนิยายเรื่อง The Aeneid ที่เล่าถึงวีรบุรุษในตำนานปกรณัมกรีก เสียดแทงเข้าไปในหัวใจผมทันที เมื่อเดินลงไปในโซนที่สอง หากภาษาอังกฤษแบบ snake snake fish fish ของผมไม่อ่อนเปลี้ยไปกว่านี้ (ส่วนใหญ่จะเป็นเช่นนั้น) อธิบายเป็นภาษาไทยได้ประมาณว่า “ไม่มีวันใดที่คุณจะลบความทรงจำออกไปจากช่วงเวลาเหล่านี้ได้”
(งานใน Exhibition Hall ด้านซ้ายเป็นกำแพงคอนกรีตกันน้ำกัดเซาะฐานตึก ด้านขวาเป็นเสาเข็มต้นเดียวที่หลงเหลือหลังเหตุการณ์นี้)
สาม โซนปิด เปิดให้ผู้ชมเข้าได้ แต่ห้ามถ่ายภาพ หรือคุยเสียงดังเด็ดขาด โซนนี้น่าสนใจมาก เพราะเป็นการไล่ไทม์ไลน์ว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นมาได้ยังไง เล่าประวัติคร่าว ๆ ของสงครามระหว่างสหรัฐฯ และกลุ่มอัล-กออิดะห์ (Al-Qaeda) ที่ถูกกล่าวหาว่าอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์นี้ จนนำไปสู่การล่า Osama Bin Laden ผู้นำกลุ่ม Al-Qaeda และทำสงครามกับกลุ่มนี้ในอัฟกานิสถาน
การไล่ไทม์ไลน์ยังลงลึกไปถึงว่า เริ่มต้นของเหตุการณ์ตั้งแต่เวลาประมาณ 08.46 น. วันที่ 11 ก.ย. 2018 ที่เครื่องบินพุ่งชนตึกเวิลด์เทรดเหนือ (ตึก 1) ทำให้สารพัดรายการข่าวที่ออกอากาศทั้งสด และไม่สด ต้องตัดมาเข้ารายการสดเพื่อรายงานสถานการณ์ดังกล่าวทันที ก่อนจะไล่ไปว่าตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ใต้ (ตึก 2) โดนเครื่องบินอีกลำมาชน กระทั่งช่วงเวลา 10.00 น. เศษ ตึก 1 พังทลายลงมา ก่อนที่ตึก 2 จะพังทลายตามลงมาด้วยเช่นกัน
ชาวสหรัฐฯหลายรายที่อยู่ในเหตุการณ์นี้ เล่าให้ฟังว่า เหตุการณ์วันนั้นมีกลุ่มนักข่าวอยู่ในนิวยอร์คค่อนข้างมาก แต่ไม่ใช่นักข่าวสายการเมือง หรือสงคราม หรือไม่ใช่สาย ‘Hard News’ แต่เป็นนักข่าวสายบันเทิง-วัฒนธรรม ที่มาเกาะติดการเดินแฟชั่นวีคส์ระดับโลกของแบรนด์ดังแห่งหนึ่ง และเมื่อเกิดเหตุการณ์เหล่านี้ขึ้น นักข่าวสายบันเทิงพวกนี้ คือกลุ่มแรกที่จะต้องแจ้งข่าวไปยังต้นสังกัด และในวันต่อมา สื่อทั่วโลกหลายพันฉบับ รายงานข่าวเกี่ยวกับกรณีนี้ ทั้งหมดเป็นข่าวระดับ ‘พาดหัวไม้’ แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของเหตุการณ์นี้
ที่ชวนให้สลดหดหู่ไปอีกคือ นักข่าวการเมือง หรือสาย ‘Hard News’ จำนวนไม่น้อยติดอยู่ในตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ และเสียชีวิตลงในวันดังกล่าว
(ภาพแสดงใบปลิวตามหาคนหายหลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว ปัจจุบันยังหาไม่เจออีกเป็นจำนวนมาก)
ชาวสหรัฐฯที่ผ่านเหตุการณ์นี้ เล่าอีกว่า นิวยอร์ควันดังกล่าว วุ่นวายมาก เพราะตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ บนดาดฟ้าจะเป็นเสาขนาดยักษ์ไว้แพร่สัญญาณโทรศัพท์ และโทรคมนาคมเกือบทุกประเภท เมื่อตึกถูกชนทำให้สัญญาขัดข้อง ระบบโทรศัพท์มือถือล่มทั้งเมือง ผู้คนไม่สามารถติดต่อกันได้ผ่านทางโทรศัพท์มือถือ เกิดเหตุโกลาหลมาก
“บางคนสับสน ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น พวกเขาก็คิดกันว่า มันเกิดการก่อการร้าย หรือว่ามีขีปนาวุธจากประเทศใดประเทศหนึ่งมาโจมตีสหรัฐฯหรือเปล่า จะเป็นสงครามไหม วันนั้นวุ่นวายที่สุดในชีวิตแล้วเท่าที่เคยเจอมา”
โซนที่สามนี้ ยังเล่าถึงประวัติบุคคลต่าง ๆ ที่มาเป็น ‘ฮีโร่’ ช่วยเหลือคนที่ติดอยู่ในตึกตอนเกิดเหตุการณ์ เพื่อนร่วมเดินทางของผมคนหนึ่ง ทักษะภาษาอังกฤษดีกว่าผมมาก อธิบายให้ฟังว่า มีกรณีเด็กหนุ่มคนหนึ่งที่ทำงานบนตึกนี้ ผูกผ้าเช็ดหน้าสีแดงไว้บนใบหน้าเพื่อป้องกันควัน เขาเข้าช่วยเหลือผู้คนให้ออกจากตึกไปได้จำนวนไม่น้อย อย่างไรก็ดีท้ายสุดตอนตึกแห่งนี้พังทลายลง ร่างของเขาถูกฝังอยู่ใต้ซากตึก และไม่มีใครเลยรับรู้ กระทั่งผ่านไปถึงเดือน มี.ค. 2002 มีการกู้ซากตึกและเจอผ้าเช็ดหน้าสีแดงใบนี้บนร่างของเขา ทำให้สื่อขุดคุ้ย กระทั่งพบว่า เขาคือ ‘ฮีโร่’ ที่ช่วยเหลือประชาชนในวันนั้น
หรือกรณีนักดับเพลิงแห่งนิวยอร์ค (NYFD) ที่ขึ้นบันไดเข้าตึกไปช่วยเหลือผู้คนออกมา แต่สุดท้ายตึกถล่ม เขาเสียชีวิตภายในซากตึกนี้ คนที่ได้รับความช่วยเหลือต่างสรรเสริญเขาว่า “พวกเราถูกช่วยให้พ้นจากความตาย แต่เขากำลังปีนขึ้นไปสู่ความตาย”
(คำให้กำลังใจประจำตึกนี้ มาจากภาษาละติน ในหนังสือเรื่อง The Aeneid)
หลังจากการไล่ไทม์ไลน์เหตุการณ์ดังกล่าวไปแล้ว หลังจากนั้นมีการจัดโชว์ภาพ หรือของต่าง ๆ ในยุคเวิลด์เทรดยุครุ่งเรือง บางแห่งที่ยังไม่พังจากการพังทลายของตึก จนกระทั่งถึงทางออก
ยอมรับโดยดุษณีว่า ในช่วงท้าย ๆ ผมดูไม่หมด ไม่ใช่เพราะของเยอะ แต่มัน ‘สลดใจ’ อย่างมาก แม้จะพยายามข่มจิตใจไว้แล้ว แต่บางภาพ หรือบางคำพูดที่อ่านเจอ ชวนให้หดหู่ถึงที่สุด จนไม่อาจคิดได้ว่าเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นบนโลกมนุษย์ด้วยหรือ ?
ข้อเท็จจริง-บทวิเคราะห์-ทฤษฎีต่าง ๆ เกี่ยวกับเหตุการณ์นี้หลายคนคงอาจรับทราบไปแล้ว ผมจะไม่ขอเอ่ยถึงอีก เพราะไม่เชี่ยวชาญ แต่ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจในเรื่องนี้คือ สื่อมีอิทธิพลอย่างมากในการรายงานข่าววันดังกล่าว เพราะอย่างที่ผมเล่าให้ฟังไปแล้วว่า ระบบโทรศัพท์มือถือล่มทั้งเมือง หากไม่มีสื่อ คงไม่มีใครทราบเหตุการณ์ หรือข้อเท็จจริงเรื่องนี้ได้เลย
ประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับสื่ออีกอย่างคือ สื่อที่รายงานข่าวเหตุการณ์วันนั้น ส่วนใหญ่เป็น ‘สื่อบันเทิง’ แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการทำงานข่าวของสื่อในสหรัฐฯว่า ไม่ว่าจะเป็นข่าวประเภทไหน พวกเขาสามารถทำให้มันเป็นข่าวได้ โดยไม่อิดออด หรืออ้างว่าไม่ตรงสายงาน เหมือนกับบางประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ?
นักข่าวสืบสวนสอบสวน ‘รุ่นเดอะ’ ผลงานมากมายจนไม่อาจนับด้วยนิ้วมือได้ หนึ่งในรุ่นพี่ที่ผมเคารพรักสุดหัวใจ เคยบอกผมเป็นประโยคสั้น ๆ แต่ได้ใจความว่า “เป็นนักข่าว ไม่จำเป็นต้องจำกัดตัวเองว่าเราทำข่าวเฉพาะด้าน หรือแบบไหน แต่นักข่าวที่แท้จริงคือ เวลามีเหตุการณ์เกิดขึ้น ต้องสามารถทำได้ทุกข่าว ทุกสถานการณ์”
นักข่าวบันเทิงในสหรัฐฯที่รายงานข่าวเหตุการณ์ 9/11 ในวันนั้นอาจตอบคำถามได้อย่างดีว่า ‘นักข่าวมีไว้ทำไม’ ?
อ่านประกอบ :
อนาคตเสรีภาพสื่อไทยในสายตา CPJ องค์กรปกป้องสิทธินักข่าว-ความท้าทาย'โลกหมุนขวา'
เปิดภาพชุด นสพ.สหรัฐฯ-ทั่วโลกพร้อมใจตีข่าวช่วย‘ทีมหมูป่า’
ทำความรู้จักกลุ่มระดมทุนหาเสียงสหรัฐฯ-รู้ยัง‘ทรัมป์’ไม่ยื่นแบบภาษีให้สังคมตรวจสอบ?
เมื่อคนอเมริกันถามแต่เรื่อง'ถ้ำหลวง' ไขคำตอบทำไมข่าวนี้โด่งดังข้ามโลก?
ชำแหละขบวนการ‘ล็อบบี้ยิสต์’ เมื่อสื่อเต็มใจตกเป็นเครื่องมือกลุ่มทุน-การเมือง?
เลาะ‘ดี.ซี.’เล่าฉากหลัง 4สถานที่ประวัติศาสตร์-ตามไปดู รร.ต้นกำเนิดล็อบบี้ยิสต์