Change in action (9) กม.สอบสวนใหม่แจ้งความสน.ไหนก็ได้ - เอกสารหายแจ้งที่เดียว/ สถานะ ตม.รอผลศึกษา
คณะกรรมการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ตำรวจฯประชุมครั้งที่ 9 เย็นวานนี้ช่วงจากบ่ายสี่โมงครึ่งจนถึงสองทุ่มครึ่ง มีมติให้จัดทำกฎหมายกลางเพื่อกำหนดกฎเกณฑ์ในการสอบสวน เพื่อให้ประชาชนมีความสะดวกและได้รับความเป็นธรรมมากขึ้น
โดยหลักการสำคัญ ๆ ที่จะได้รับการบรรจุไว้มีอาทิ
- ให้ประชาชนสามารถแจ้งความได้ในทุกสถานี ไม่เฉพาะแต่ในสถานีท้องที่เกิดเหตุเท่านั้น สถานีที่รับแจ้งความหากมิใช่สถานีท้องที่เกิดเหตุจะเป็นผู้ส่งรายละเอียดไปยังสถานีท้องที่เกิดเหตุเอง
- ให้ทุกสถานีมีอำนาจสอบสวนคดีที่ไม่ได้เกิดในท้องที่ของตนได้ด้วย เช่น คดีที่เกิดขึ้นในขบวนรถไฟที่เคยอยู่ในเขตอำนาจของตำรวจรถไฟ คดีที่เกิดขึ้นในทางหลวงแผ่นดินสายที่เป็นเขตอำนาจของตำรวจทางหลวง
- กรณีประชาชนทำเอกสารหายไม่จำเป็นต้องไปแจ้งความเพื่อลงบันทึกประจำวันแล้วนำบันทึกประจำวันนั้นไปยังหน่วยงานผู้ออกเอกสารเพื่อให้ออกเอกสารใหม่ให้อีกต่อไป แต่จะกำหนดให้สามารถไปแจ้งที่หน่วยงานผู้ออกเอกสารนั้นที่เดียวได้เลย
- ในคดีที่ต้องอาศัยความรู้ความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ อาจตั้งเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษนั้น ๆ เป็นผูช่วยพนักงานสอบสวน หรือที่ปรึกษาพนักงานสอบสวน
- หลักเกณฑ์การเข้ามาร่วมสอบสวนของพนักงานอัยการ
- กำหนดให้ต้องพิจารณารวบรวมพยานหลักฐานของผู้ถูกกล่าวหาไว้ในสำนวนคดีตั้งแต่ต้นด้วย ไม่ใช่เฉพาะพยานหลักฐานที่ปรักปรำผู้ถูกกล่าวหาเท่านั้น
- ฯลฯ
ส่วนประเด็นภารกิจของหน่วยตำรวจตรวจคนเข้าเมืองว่าควรจะยังอยู่ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติต่อไปเหมือนเดิมหรือถ่ายโอนภารกิจให้หน่วยงานอื่น หลังรับฟังข้อมูลอย่างรอบด้านจากผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อาทิ บช.สตม., บช.ส., บก.ตท. และผู้แทนจากกระทรวงมหาดไทยแล้ว ที่ประชุมเห็นควรให้รอการพิจารณาไว้ก่อน
เพื่อรอผลความคืบหน้าในการศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เรื่องภาพรวมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกิจการคนเข้าเมืองทั้งระบบ
ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีได้มีมติมอบหมายให้ก.พ.ร.ศึกษาตั้งแต่เมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2560
___________
อนึ่ง ที่ประชุมได้มีมติให้พักการประชุมคณะกรรมการไว้ 1 สัปดาห์ เพื่อให้ฝ่ายเลขานุการและคณะทำงานที่ได้รับมอบหมายไปจัดทำร่างกฎหมายและร่างกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่ได้ตกลงกันมาตลอดการประชุมทั้ง 9 ครั้งนับตั้งแต่เมื่อวันที่ 20 เม.ย. เพื่อนำมาพิจารณากันในรายละเอียดต่อไป
อ่านประกอบ :
Change in action (8) ยกเลิกตำรวจรถไฟ /กำหนดระยะเวลาการโอนงานจรจรให้ท้องถิ่น!
Change in action (7) โอนงานจราจรบางส่วนให้กทม.
Change in action (6) ก.พ.ค.ตร. - คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมตำรวจ !
Change in action (5) ก.ตร. และระบบการให้คะแนน !
Change in action (4) อำนาจสั่งคดีในแต่ละสถานี
Change in action (3) แยกงานสอบสวนเป็นสายงานเฉพาะ-อิสระ
Change in action (2) ภารกิจและการถ่ายโอนภารกิจ !
Change in action ! ปฏิรูปตำรวจทั้งระบบ สังคมไทยจะได้เห็นอะไรบ้าง?
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก Thai Police Reform