พลิกแฟ้มคดีดัง! ‘ดิเอทัส-ถ.สุทธิสารฯ-ลิฟต์บีทีเอส’ เทียบเคียงกรณีป้าทุบรถ
หยิบยก 3 คดีดัง ‘ดิเอทัส-ถ.สุทธิสารฯ-ลิฟต์บีทีเอส’ เทียบเคียงกรณีป้าทุบรถ กับความล่าช้าในการบังคับคดีตามคำสั่งศาลปกครอง
‘ป้าทุบรถ’ เป็นคดีแรกที่ศาลปกครองใช้โทษปรับ ผอ.เขตประเวศ เป็นจำนวนเงิน 5,000 บาท โดยให้จ่ายภายใน 30 วัน นับจากวันที่ได้รับแจ้งคำสั่งศาล หลังจากไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษา จนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
สะท้อนให้เห็นว่า การบังคับคดีไม่เป็นไปตามคำสั่งของศาลปกครอง ซึ่งสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า ที่ผ่านมาอาจไม่ได้มีเพียงคดีเดียวเท่านั้น
กรณีหนึ่ง คือ การบังคับคดีตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด เมื่อปี 2557 ที่สั่งให้กทม.และผอ.เขตปทุมวัน รื้อถอน ‘โรงแรมดิเอทัส’ ซ.ร่วมฤดี สูง 18 ชั้น และ 24 ชั้น เหลือไม่สูงเกินกว่า 8 ชั้น หรือ 23 เมตร ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 33 พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 กำหนดว่า ซอยที่มีความกว้างเขตทางสาธารณะไม่เกิน 10 เมตร จะก่อสร้างอาคารสูงเกิน 8 ชั้น หรือ 23 เมตรไม่ได้
โดยผ่านมากว่า 3 ปีแล้ว แต่ปรากฎว่าปัจจุบันการบังคับคดีตามคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดยังไม่มีการรื้อถอนเสร็จสิ้น ซึ่งความคืบหน้าล่าสุด ทีมโฆษกศาลปกครอง ระบุ โรงแรมดิเอทัส จะรื้อสุ่มสี่สุ่มห้าไม่ได้ เนื่องจากโครงสร้างอาคารเป็นคอนกรีตอัด เหตุผลรับฟังได้ ศาลฯ จึงยกเลิกคำสั่งปรับ
ปัจจุบันได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาราคาการรื้อถอนและวางแผน และจัดทำร่างทีโออาร์การจัดซื้อจัดจ้างผู้รับเหมารื้อถอนภายใน 90 วัน และกำหนดระยะเวลารื้อถอนให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ 20 มิ.ย. 2560 ซึ่งร่างทีโออาร์การจัดซื้อจัดจ้างฯ เสร็จเรียบร้อยแล้ว
ทั้งนี้ จะสังเกตว่า คดีเกี่ยวกับการควบคุมอาคารนั้น คำพิพากษาของศาลจะไม่ได้สั่งรื้ออาคารที่ก่อสร้างผิดกฎหมายโดยตรง แต่ศาลจะสั่งให้มีการบังคับคดีออกประกาศตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 เพื่อให้รื้ออาคารแทน เพราะกฎหมายให้อำนาจไว้เช่นนั้น จึงทำให้ดูเหมือนเป็นไปอย่างล่าช้า
อนึ่ง ผู้ฟ้องคดี ไม่ได้ฟ้องให้สั่งรื้ออาคาร แต่ทุกคดีจะฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐละเลยการใช้อำนาจยับยั้งการก่อสร้างอาคารที่ผิดกฎหมาย ซึ่งอำนาจในการยับยั้งอยู่ในอำนาจการบังคับคดีของรัฐทั้งสิ้น
กรณีต่อมา คือ คดีเปลี่ยนชื่อถนนสุทธิสารวินิจฉัยเป็นถนนอินทามระ โดยศาลปกครองสูงสุดพิพากษากลับคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้น เป็นให้ผู้ถูกฟ้องทั้ง 5 ประกอบด้วยกรุงเทพมหานคร, ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร, ปลัดกรุงเทพมหานคร, ผู้อำนวยการเขตพญาไท และผู้อำนวยการเขตดินแดง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1- 5 พิจารณาดำเนินการในเรื่องการกำหนดและเปลี่ยนแปลงชื่อถนนและซอยบริเวณถนนสุทธิสารวินิจฉัย และซอยอินทามระทั้ง 59 ซอยให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงและหลักเกณฑ์ของกฎหมาย ภายใน 180 วันนับแต่วันที่คดีถึงที่สุด
หากแต่เมื่อต้นปี 2561 กทม.ได้เปิดเผยข้อสรุปจะไม่มีการเปลี่ยนชื่อถนนและซอยถนนสุทธิสารวินิจฉัยและซอยอินทามระทั้ง 59 ซอย ตามคำสั่งของศาลปกครองสูงสุด ซึ่งครบกำหนดไปแล้วเมื่อ 24 ม.ค. 2561
กทม.ระบุเหตุผลว่า จากการสำรวจประชาชนในพื้นที่เขตพญาไทและดินแดง กว่า 1 หมื่นครัวเรือน ปรากฎว่า ประชาชนร้อยละ 75 เห็นควรคงไว้ชื่อถนนเช่นเดิม พร้อมได้รวบรวมข้อมูลแจ้งผลการดำเนินงานไปยังศาลปกครองแล้ว และยืนยันไม่ถือเป็นการขัดคำสั่งของศาลปกครอง
ขณะที่ก่อนหน้าที่ กทม.จะยืนยันไม่เปลี่ยนชื่อถนนนั้น นายกฤษฎา อินทามระ ทายาทตระกูลอินทามระ แสดงความเห็นว่า กทม. จะอ้างเพียงเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน และไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลไม่ได้ มิฉะนั้นกระบวนการยุติธรรมจะไม่มีที่สิ้นสุด และจะดำเนินการฟ้องในคดีอาญาต่อไป
สุดท้าย คดีเมื่อปี 2558 กรณีที่ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาสั่งกทม.และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ทำลิฟท์คนพิการและเครื่องอำนวยความสะดวกสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส 23 สถานี ให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี
จากนั้นผ่านมา 2 ปี การติดตั้งลิฟท์และเครื่องอำนวยความสะดวกไม่มีความคืบหน้า ทำให้เมื่อต้นปี 2560 กลุ่มผู้พิการจึงยื่นฟ้องต่อศาลแพ่ง เรียกค่าเสียหายกว่า 3 แสนบาท ภายหลังกทม.ออกมาชี้แจงถึงสาเหตุของความล่าช้าเกิดจากบางสถานีมีพื้นที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการก่อสร้างลิฟท์ เนื่องจากมีระบบสาธารณูปโภค เช่น ท่อประปา ท่อไฟฟ้า จึงต้องใช้เวลาในการรื้อย้าย
ทั้งนี้ ฝ่ายสื่อสารองค์กรของบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ยืนยันว่า ปัจจุบันกทม.ได้ติดตั้งลิฟท์ในสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสตามคำสั่งของศาลปกครองสูงสุด ครบ 23 สถานีแล้ว
ส่วนการติดตั้งลิฟท์แล้ว สถานีใดยังคงปิดลิฟท์ และเปิดเมื่อผู้ใช้บริการกดกริ่ง หรือรอเจ้าหน้าที่มาช่วยอำนวยความสะดวกให้ ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ต้องแก้ไขและเรียกร้องกันต่อไป
ผอ.เขตพญาไท ยังไม่เห็นหนังสือสั่งการ หลังศาลปค.ให้ กทม. เปลี่ยนชื่อ ถ.สุทธิสารฯเป็น ‘อินทามระ'
สืบค้นประวัติ พระสุทธิสารวินิจฉัย-พล.ต.ท.โต๊ะ อินทามระ สู่บรรทัดฐานยกที่ดินให้สาธารณะ
ศาลปค.มีคำสั่งบังคับคดีตามคำพิพากษาโดยเคร่งครัด รื้อตึกรร.ดิเอทัส ซ.ร่วมฤดี
คนซอยร่วมฤดีร้องเขตปทุมวันไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลเหตุรื้อถอนรร.ดิเอทัส
วสท.คาดรื้ออาคารดิเอทัส ตามคำสั่งศาลใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปี
ผิดพ.ร.บ.ควบคุมอาคารฯ ศาลปกครองสูงสุดสั่งรื้ออาคารสูงในซอยร่วมฤดี 60 วัน
ศาลสั่งรื้ออาคารสูงซอยร่วมฤดี บทเรียนที่ใครต้องรับผิดชอบ
1 ปีให้เสร็จ! ศาลปค.พิพากษาสั่งกทม.ทำลิฟท์เพื่อคนพิการบน BTS
‘ลิฟท์’ รถไฟฟ้าบีทีเอส กว่าคนพิการ-คนชราจะได้ขึ้น ต้องรอเงก
ภาพประกอบ:โรงเเรมดิเอทัส โดยผู้จัดการ