- Home
- Thaireform
- สารคดีเชิงข่าว
- สืบค้นประวัติ พระสุทธิสารวินิจฉัย-พล.ต.ท.โต๊ะ อินทามระ สู่บรรทัดฐานยกที่ดินให้สาธารณะ
สืบค้นประวัติ พระสุทธิสารวินิจฉัย-พล.ต.ท.โต๊ะ อินทามระ สู่บรรทัดฐานยกที่ดินให้สาธารณะ
“แม้เรื่องการใช้ชื่อถนนในคดีนี้อาจดูเหมือนว่า ไม่น่าจะเกี่ยวข้องและเป็นประโยชน์กับประชาชนทั่วไปเท่าไรนัก แต่ถือได้ว่าเป็นบรรทัดฐานสำคัญที่แสดงว่า ผู้อุทิศที่ดินเพื่อเป็นถนนสาธารณะและประโยชน์แก่บุคคลทั่วไปสมควรจะได้รับการยกย่อง หากปล่อยผ่านไปต่อไปในอนาคตอาจเป็นเรื่องยากที่จะมีผู้อุทิศที่ดินเพื่อยกให้เป็นทางสาธารณะและประโยชน์แก่สาธารณชน”
จากกรณีศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษาให้กรุงเทพมหานครพิจารณาการเปลี่ยนชื่อถนนและซอยบริเวณถนนสุทธิสารวินิจฉัยและซอยอินทามระเสียใหม่ให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงและหลักเกณ์ของกฎหมายนั้น (อ่านประกอบ: ผอ.เขตพญาไท ยังไม่เห็นหนังสือสั่งการ หลังศาลปค.ให้ กทม. เปลี่ยนชื่อ ถ.สุทธิสารฯเป็น ‘อินทามระ' และกทม.โต้ยังไม่เปลี่ยนชื่อถนน ทราบผลพิจารณาสัปดาห์หน้า)
คำถามที่สำคัญ คือ ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์เป็นอย่างไร และหลักเกณฑ์ของกฎหมายระบุไว้เช่นไร
ผู้สื่อข่าวอิศราสืบค้นประวัติ โดยเริ่มจากประวัติของที่มาของชื่อถนนและซอยทั้งสองชื่อที่กำลังเป็นประเด็นพิพาท
@ พล.ต.ท. โต๊ะ อินทามระ เจ้ากองคลังกรมตำรวจ ผู้บุกเบิกที่จัดสรรกรมตำรวจ
หนังสืออนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพพลตำรวจโทโต๊ะ อินทามระ ระบุว่า พล.ต.ท. โต๊ะ เกิดเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2438 ที่ตำบลปลายนาใต้อำเภอเสนากลาง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มณฑลอยุธยา เป็นบุตรนายอินและนางฟู อินทามระ มีพี่น้องรวมกัน 6 คน เมื่ออายุ 9 ปี เริ่มต้นการศึกษาที่โรงเรียนวัดเสากระโดงทอง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ต่อมาเมื่ออายุได้ 14 ปี ได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กในพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหมื่นพิศาลบวรศักดิ์ ซึ่งโปรดให้เรียนหนังสือที่โรงเรียนวัดมหาธาตุ เมื่อเสด็จสวรรคต จึงได้ไปอยู่กับนายพันโทพระพินิจสาท สังกัดกรมสัสดี ย้ายมาเรียนที่โรงเรียนวัดสามจีนใต้ (ปัจจุบันชื่อวัดไตรมิตรวิทยาราม กรุงเทพมหานคร) และต่อมาได้ย้ายมาเรียนที่โรงเรียนสุขุมมาลัย จนจบชั้นประถมปีที่ 3 ตามระบบการศึกษาในสมัยนั้น แล้วเข้าเป็นนักเรียนนายร้อยทหารเรือ แต่ปรากฎว่าป่วยหนักมากทำให้หลังโก่ง ต้องกลับไปรักษาตัวที่บ้านเดิมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ก่อนรับราชการเป็นตำรวจพลตำรวจโทโต๊ะ อินทามระ เคยรับราชการเป็นเสมียนแผนกสรรพากร อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ก่อนมาดำรงตำแหน่งเป็นรองสมุห์บัญชีอำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ปี 2457 ได้เริ่มเข้ารับราชการตำรวจ เป็นผู้ช่วยสมุห์บัญชีมณฑลอยุธยา จังหวัดสระบุรี ก่อนเป็นสมุห์บัญชี จังหวัดอ่างทอง จังหวัดสิงห์บุรี จังหวัดสุราษฎร์ธานี มณฑลสุราษฎร์ธานี มณฑลอุบลราชธานี มณฑลนครศรีธรรมราช ตามลำดับ
ในระหว่างนั้น ปี 2463 ได้สมรสกับนางสาวตั้งใจ สุขพิบูลย์ มีบุตรธิดารวม 8 คน โดยนามสกุล อินทามระ เป็นนามสกุลพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานในปี 2464
พลตำรวจโทโต๊ะ อินทามระ เข้ามาดำรงตำแหน่งประจำกองคลังเงิน กรมตำรวจ ตั้งแต่ปี 2471 เป็นต้นมา โดยดำรงตำแหน่งสูงสุดคือหัวหน้ากองคลัง กรมตำรวจ จนกระทั่งครบกำหนดเกษียณอายุในปี 2492 ตามกฎหมายในปีนั้นที่กำหนดไว้ที่ 55 ปี หลังจากนั้นมีการต่ออายุราชการ 3 ครั้ง ก่อนเกษียณอายุในปี 2500 ด้วยวัย 62 ปี
เมื่อวัย 84 ปี พลตำรวจโทโต๊ะ อินทามระได้ถึงแก่อนิจกรรมด้วยความชรา ณ บ้านเลขที่ 43 สุขุมวิทซอย 16 กรุงเทพมหานคร ในวันพุธที่ 8 มีนาคม 2521 โดยได้รับพระราชทานเพลิงศพ ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส
สำหรับความเกี่ยวข้องกับบริเวณพิพาท ทายาทเปิดเผยในคำฟ้องต่อศาลปกครองชั้นต้นว่า “พลตำรวจโทโต๊ะเป็นผู้บุกเบิกพัฒนาที่ดินบริเวณสุทธิสารและสะพานควายให้เป็นที่อยู่อาศัยของข้าราชการตำรวจซึ่งสำเร็จตามนโยบายของพลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ ต่อมาพลตำรวจเอก เผ่า ได้ขออนุญาตนำนามสกุลอินทามระของพลตำรวจโทโต๊ะ มาตั้งเป็นชื่อถนน”
@ พระสุทธิสารวินิจฉัย ผู้บริจาคที่ดิน
ขณะที่ในหนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพพระสุทธิสารวินิจฉัย ระบุว่า พระสุทธิสารวินิจฉัย (มะลิ บุนนาค) เป็นบุตรคนที่สองของนายราชจินดา (อรุณ บุนนาค) และ ม.ล. หญิงแฉล้ม อิศรางกูร ณ อยุธยา เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ 25 กรกฎาคม 2439 ณ กรุงเทพมหานคร มีพี่น้อง 4 คน
พระสุทธิสารวินิจฉัยจบชั้นมัธยมปลายภาคภาษาไทยและจบมัธยม 6 พิเศษภาคภาษาอังกฤษที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ ก่อนเข้าศึกษากฎหมายในโรงเรียนกฎหมายของกระทรวงยุติธรรม โดยผ่านการสอบข้อเขียนทั้งหมดตั้งแต่อายุ 16 ปี แต่เสด็จในกรมพระสวัสดิ์ ฯ แม่กองสอบไล่ทรงเห็นว่า มีอายุน้อยเกินไปจึงไม่ทรงอนุญาตให้สอบปากเปล่า จึงสามารถสอบไล่ได้ในปี 2456 ขณะมีอายุได้ 17 ปี
ในปี 2463 ได้สมรสกับนางสาวผ่องศรี เวภาระ ธิดาขุนหลวงพระยาไกรสีห์ (เปล่ง เวภาระ) มีบุตรธิดารวมกัย 3 คน หนึ่งในนั้นคือ นายมารุต บุนนาค อดีตประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานตุลาการัฐธรรมนูญ และรัฐมนตรีหลายกระทรวง
พระสุทธิสารวินิจฉัยได้รับราชการในกระทรวงยุติธรรมตั้งแต่ปี 2456 โดยเริ่มจากเป็นเสมียนฝึกหัดในศาลฎีกา ก่อนได้รับแต่งตั้นให้เป็นผู้พิพากษารอง ศาลเมืองของแก่น และเป็นผู้พิพากษาศาลพระราชอาญาตามลำดับ ในปี 2463 ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระศรีวิกรมาทิตย์ ดำรงตำแหน่งปลัดซ้ายของพระยามโนปกรณ์นิติาดา ซึ่งเป็นพระสมุหนิติศาสตร์ในขณะนั้น
ปี 2465 ย้ายไปเป็นอธิบดีผู้พิพากษาศาลจังหวัดตรัง และในปีต่อมาได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ เปลี่ยนบรรดาศักดิ์จากพระศรีวิกรมานิตย์ เป็นพระสุทธิสารวินิจฉัย ให้ตรงกับตำแหน่งผู้พิพากษาทางกระทรวงยุติธรรม
พระสุทธิสารวินิจฉัยออกจากราชการด้วยอายุเพียง 28 ปีด้วยเหตุผลทางสุขภาพ โดยถึงแก่อนิจกรรมในปี 2520 รวมอายุได้ 81 ปีเศษ
ในหนังสือเล่มเดียวกันนี้ ยังได้ระบุว่า พระสุทธิสารวินิจฉัยได้บริจาคที่ดินริมถนนพหลโยธิน ตอนสี่แยกสพานควายให้เป็นสมบัติของทางราชการ โดยยกให้เป็นถนนสาธารณะในปี 2499 และทางราชการได้ให้เกียรติตั้งชื่อถนนว่า "ถนนสุทธิสารวินิจฉัย"
@เดิมใช้สองชื่อ สุทธิสารวินิจฉัย-อินทามระ
ผู้สื่อข่าวอิศราได้สนทนากับทายาทพระสุทธิสารวินิจฉัย พบว่า ข้อเท็จจริงเรื่องที่มาของชื่อถนนสอดคล้องกับคำฟ้องของนายกฤษฎา อินทามระ โดยระบุว่า ถนนใกล้สถานีตำรวจบางซื่อและใกล้สี่แยกสะพานควายในปัจจุบัน สร้างขึ้นเมื่อประมาณปี 2499 มีจุดเริ่มต้นตั้งแต่ถนนพหลโยธินไปทางทิศตะวันออก ตัดผ่านถนนวิภาวดีรังสิต บริเวณสถานีดับเพลิงและกู้ภัยสุทธิสาร ผ่านถนนรัชดาภิเษกที่สี่แยกรัชดา-สุทธิสาร ไปบรรจบกับซอยลาดพร้าว 64 ระยะทางรวม 4.5 กิโลเมตร
ก่อนที่จะมีถนนสุทธิสารวินิจฉัย กรมตำรวจได้มีโครงการจัดสรรที่ดินเพื่อข้าราชการตำรวจ แต่เนื่องจากเป็นหน่วยงานราชการ เพื่อความคล่องตัว พลตำรวจโทโต๊ะ อินทามระ หัวหน้ากองคลัง กรมตำรวจขณะนั้นจึงเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งที่ดินจัดสรรของกรมตำรวจในขณะนั้นไม่มีเส้นทางสู่ถนนสาธารณะ ที่ดินด้านทิศตะวันออกยังไม่มีถนนวิภาวดีรังสิต ส่วนที่ดินด้านทิศตะวันตกติดที่ดินของพระสุทธิสารวินิจฉัย พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจในขณะนั้นจึงได้เจรจากับศาสตราจารย์มารุต บุญนาค ทายาทผู้เป็นบุตร ขอซื้อที่ดินเพื่อเป็นทางออกสู่ถนนพหลโยธิน บุตรทั้งสามได้ตกลงยกที่ดินให้เป็นทางสาธารณะเพื่อเป็นทางออกสู่ถนนพหลโยธิน โดยขอให้ใช้ชื่อว่าถนนสุทธิสารวินิจฉัย ซึ่งเป็นราชทินนามของอดีตผู้พิพากษาผู้ถึงแก่อนิจกรรมแล้ว เพื่อเป็นอนุสรณ์
มติที่ประชุม อ.ก.พ. กรมตำรวจปี 2503 จึงเห็นควรเป็นชื่อถนนสุทธิสารวินิจฉัย ตอนตั้งแต่ถนนพหลโยธินเข้าไป 500 เมตร และตอนต่อไปให้ใช้ชื่อถนนอินทามระ
@ ข้อพิพาท การตั้งชื่อถนน-ซอยควรยึดหลักสากลหรือที่มาทางประวัติศาสตร์?
ในปี 2547 เมื่อกรุงเทพมหานครจะเปลี่ยนชื่อป้ายบอกถนนสายนี้เป็น “ถนนสุทธิสาร” แต่นายมารุต บุนนาคผู้เป็นทายาทได้ส่งหนังสือร้องขอให้คงชื่อ “สุทธิสารวินิจฉัย” ไว้ ทั้งนี้ ไม่ปรากฏว่า มีป้ายถนนอินทามระ ปรากฏเพียงป้ายซอยอินทามระจำนวน 59 ซอย
ปี 2548 กรุงเทพมหานครได้จัดทำโครงการปรับปรุงเลขหมายประจำบ้าน โดยได้แต่งตั้งคณะกรรมการกลางตั้งชื่อถนน ตรอก ซอย วงเวียน ทางแยก คลอง สะพาน และสถานที่สำคัญในเขตกรุงเทพมหานครขึ้น คณะกรรมการพิจารณาแล้วมีมติให้ใช้ชื่อถนนทั้งสายเป็นถนนสุทธิสารวินิจฉัย เปลี่ยนชื่อซอยอินทามระเป็นซอยสุทธิสารวินิจฉัยตามชื่อถนน เพราะพิจารณาว่า พลตำรวจโทโต๊ะ อินทามระ เป็นเพียงผู้พัฒนาที่ดินตามนโยบายพลตำรวจเองเผ่า ศรียานนท์ มิใช่ผู้อุทิศที่ดินเช่นพระสุทธิสารวินิจฉัย การกำหนดให้มีวงเล็บชื่ออินทามระท้ายป้ายซอยแต่ละซอยนั้น เพียงพอต่อการระลึกถึงคุณงามความดีแล้ว
หากทายาทก็เห็นว่า ข้อพิพาทเรื่องชื่อของถนนทั้งสองสายได้มีการตกลงร่วมกันระหว่างผุ้อุทิศที่ดินและกรมตำรวจโดยได้รับการรับรองจากนายกเทศมนตรีนครกรุงเทพตั้งแต่ปี 2503 แล้ว สมควรจะยึดตามข้อตกลงนั้น กรุงเทพมหานครทราบข้อนี้ดีแต่ละเลยไม่ดำเนินการปรับเปลี่ยนให้ตรง จึงเป็นที่มาของการฟ้องร้อง
ด้านกรุงเทพมหานคร เห็นว่า การให้ถนนสายเดียวกันมีชื่อสองชื่อนั้นไม่เป็นไปตามหลักสากล จึงพิจารณาให้มีชื่อเดียว และชื่อซอยจำเป็นจะต้องเป็นไปตามชื่อถนน หาไม่แล้วจะทำให้ประชาชนสับสนได้
@ ศาลชี้ กทม.ยังดำเนินการไม่ครบถ้วน
อย่างไรก็ตาม จากคำพิพากษาให้พิจารณาเรื่องชื่อของถนนและซอยในบริเวณดังกล่าวตามข้อเท็จจริงและหลักเกณฑ์ของกฎหมายนั้น ผู้สื่อข่าวอิศราเปิดคำพิพากษา พบว่า มีการอ้างอิงระเบียบสำนักทะเบียนกลาง ว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2535 ข้อ 15 กำหนดว่า “ในกรณีที่ตรอกหรือซอยเดียวกันมีชื่อเดิมหลายชื่อไม่เหมือนกัน ให้เลือกใช้ชื่อตรอกหรือซอยนั้นแต่ชื่อเดียว โดยใช้ชื่อที่ประชาชนนิยม หรือในกรณีที่มีตรอกหรือซอย 2 สายมาบรรจบกัน ให้เลือกใช้ชื่อตรอกหรือซอยนั้นแต่ชื่อเดียว โดยถือหลักใช้ชื่อของตรอกหรือซอยที่มีระยะยาวกว่าหรือชื่อที่ประชาชนนิยม ...”
การที่กรุงเทพมหานครอ้างว่า ใช้ชื่อถนนเป็นสุทธิสารวินิจฉัย และมีความเห็นให้เปลี่ยนชื่อซอยอินทามระเป็นซอยสุทธิสารวินิจฉัยโดยวงเล็บชื่อเดิมไว้ เนื่องจากประชาชนในพื้นที่รู้จักชื่อถนนสุทธิสารวินิจฉัยมาเป็นเวลานานแล้ว หากเปลี่ยนชื่อจะสร้างปัญหาให้แก่ประชาชน แต่กลับไม่มีข้อเท้จจริงปรากฏว่า ได้มีการดำเนินการสอบถามความคิดเห็นประชาชนว่าประสงค์จะเปลี่ยนชื่อซอยเป็นสุทธิสารวินิจฉัยหรือไม่ จึงถือว่าผู้ถูกฟ้องไม่ได้ดำเนินการพิจารณาให้ครบถ้วนตามหน้าที่ จึงกำหนดให้ดำเนินการพิจารณากรรีดังกล่าวภายใน 180 วันนับแต่คดีสิ้นสุด
@หวั่นไม่มีใครยกที่ให้สาธารณะอีก
ด้านนายรุจิระ บุนนาค ทายาทชั้นหลานของพระสุทธิสารวินิจฉัย กล่าวว่า ในคดีนี้ทายาทของพระสุทธิสารวินิจฉัยไม่ถูกฟ้องคดี และไม่ได้ถูกเรียกเข้ามาเป็นคู่ความในคดีทำให้ข้อเท็จจริงสำคัญบางส่วนคลาดเคลื่อน และขาดหายไปจนเป็นเหตุให้ศาลปกครองกลางได้พิพากษาให้ยกฟ้อง แต่คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดให้เปลี่ยนแปลงชื่อถนนและซอยให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ภายใน 180 วัน หมายความว่า กรุงเทพมหานครอาจจะต้องเปลี่ยนแปลงชื่อถนนดังกล่าว ให้เป็นไปตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามมติที่ประชุม อ.ก.พ. กรมตำรวจเมื่อปี พ.ศ. 2503 ที่ให้ใช้ชื่อถนนสุทธิสารวินิจฉัยตั้งแต่ถนนพหลโยธินเข้าไป 500 เมตรและตอนต่อไปให้ใช้ชื่อถนนอินทามระ
กรณีที่ถนนสายเดียวกันแต่ใช้ชื่อต่างกันมีปรากฎอยู่ เช่น ถนนสุขุมวิท ถนนเพลินจิต ถนนพระราม 1 ล้วนแต่เป็นถนนสายเดียวกันตลอด
ทายาทชั้นหลานของพระสุทธิสารวินิจฉัย เสริมด้วยว่า “หากกรุงเทพมหานครไม่ดำเนินการตามข้อเท็จจริงนี้ มีความเป็นไปได้ที่ทายาทของพระสุทธิสารวินิจฉัยจะใช้สิทธิทางศาลปกครองต่อไป”
พร้อมเขายังทิ้งท้ายว่า “แม้เรื่องการใช้ชื่อถนนในคดีนี้อาจดูเหมือนว่าไม่น่าจะเกี่ยวข้องและเป็นประโยชน์กับประชาชนทั่วไปเท่าไรนัก แต่ถือได้ว่าเป็นบรรทัดฐานสำคัญที่แสดงว่า ผู้อุทิศที่ดินเพื่อเป็นถนนสาธารณะและประโยชน์แก่บุคคลทั่วไปสมควรจะได้รับการยกย่อง หากปล่อยผ่านไปต่อไปในอนาคตอาจเป็นเรื่องยากที่จะมีผู้อุทิศที่ดินเพื่อยกให้เป็นทางสาธารณะและประโยชน์แก่สาธารณชน”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง