ศาลสั่งรื้ออาคารสูงซอยร่วมฤดี บทเรียนที่ใครต้องรับผิดชอบ
“ในทางปฏิบัติที่ผ่านมาเวลาสั่งให้มีการรื้อหรือทุบทิ้ง เป็นเรื่องที่ยากมากๆ ศาลตัดสิน แต่พอถึงเวลาปฏิบัติบอกตรงๆ เลยว่า ยาก เอาง่ายๆ ผ่านมา 18 ปี ตึกชอปปิ้งมอลล์ที่บางลำพูก็ยังอยู่กลายเป็นตึกร้าง ไม่มีใครทุบหรือรื้อทิ้ง กรณีนี้ก็คงเหมือนกัน ”
วันที่ 2 ธันวาคม 2557 ศาลปกครองสูงสุด พิพากษา ให้ประชาชนซอยร่วมฤดี ชนะคดีกรณีอนุญาตให้ก่อสร้างอาคารสูงในซอยถนนกว้างไม่ถึง 10 เมตรตลอดแนว ทำให้สำนักงาเขตปทุมวัน และกรุงเทพมหานคร ต้องสั่งรื้ออาคารสูงภายในระยะเวลา 60 วัน (อ่านประกอบ :ผิดพ.ร.บ.ควบคุมอาคารฯ ศาลปกครองสูงสุดสั่งรื้ออาคารสูงในซอยร่วมฤดี 60 วัน )
ศาสตราภิชาน มานพ พงศทัต ที่ปรึกษาสมาคมการขายและการตลาดอสังหาริมทรัพย์ ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา ถึงผลของคดีดังกล่าวว่า ถือเป็นตัวอย่างที่ดี นำมาซึ่งการสร้างบรรทัดฐานในอนาคตเรื่องของการจะอนุญาตก่อสร้างอาคารบนถนนว่า แท้จริงแล้วต้องวัดถนนกันอย่างไร
ขณะนี้มีคำสั่งศาลออกมาแล้ว ก็ต้องเป็นไปตามคำสั่งศาล คือ ให้รื้อ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่ในทางปฏิบัติว่าใครจะเป็นคนรื้อ
"ที่ผ่านมาเมื่อศาลมีคำสั่งออกมาแล้วว่า ให้รื้อกลายเป็นปัญหาว่า ใครจะรื้อ พอไม่มีใครรื้อกลายเป็นเรื่องคาราคาซัง เช่นกรณีชอปปิ้งมอลล์ที่บางลำภู ต่อเติมอาคารผิดกฎหมาย เมื่อศาลมีคำพิพากษามาว่า ให้รื้อถอน แต่เจ้าของอาคารไม่รื้อ ที่นี่ก็เป็นหน้าที่ของฝ่ายราชการที่จะต้องทำหน้าที่ในการรื้อถอน แต่ก็ไม่กล้าอีก เพราะกลัวทรัพย์สินส่วนอื่นเสียหาย ดังนั้นกรณีของโรงแรมดิเอทัส ก็น่าจะมีลักษณะคล้ายๆ กับที่บางลำภู"
ศาสตราภิชาน มานพ มองว่า กรณีนี้คงเหนื่อย โดยเฉพาะเวลาปฏิบัติเรื่องรื้อถอน ใครจะมาปฏิบัติ ฝ่ายกทม.หรือจะเข้าไปทำ จะกล้าเข้าไปรื้อหรือ
สำหรับแนวทางปฏิบัติที่จะแก้ปัญหาในอนาคต เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอย เช่นนี้อีก นักวิชาการด้านอสังหาริมทรัพย์ เสนอให้มีการสร้างมาตรฐานรังวัดสอบเขตทางของซอย หรือมาตรฐานสอบเขตทางสาธารณประโยชน์ โดยเฉพาะเรื่องการวัดถนนในซอย ความยาวจากหัวซอยไปถึงท้ายซอย ซึ่งแม้กลางซอยอาจจะขาดไปบ้าง ตรงนี้ต้องมาดูการตีความว่า จะเป็นแบบเฉลี่ยตลอดสายหรือไม่ หรือจะสร้างมาตรฐานแบบไหนเพื่อไม่ให้มีการตีความ แตกต่างกัน
"บางคนตีความว่า ผิด อีกคนบอก ไม่ผิด หรือการใช้วิธีการจำกัดความว่า ยื่นเกินมาเพียงครึ่งเมตรผิดไหม ถ้าหัวซอยท้ายซอยกำหนดมาตรฐานไว้ที่ 8 เมตร แล้วมีการล้ำเข้ามาจะตีความอย่างไร หรือหากศาลตีความว่า ผิดก็คือผิด แล้วจะเอาแบบที่ศาลสั่งทุกครั้งหรือไม่ เนื่องจากในปัจจุบันนี้มีหลายถนนที่เป็นปัญหาคล้ายๆกรณีที่เกิดขึ้นเช่นนี้"
เมื่อส่วนคำถามว่าใครจะต้องรับผิดชอบในการรื้อตามคำสั่งศาลนั้น ศาสตราภิชาน มานพ เห็นว่า โดยปกติจะเป็นหน้าที่ของราชการ ซึ่งเท่าที่ผ่านมา ก็ไม่มีใครกล้าเข้าไปรื้อหรือทุบตึกตามคำสั่งเลย
“ในทางปฏิบัติที่ผ่านมาเวลาสั่งให้มีการรื้อหรือทุบทิ้ง จึงเป็นเรื่องที่ยากมากๆ แม้ศาลจะตัดสิน แต่พอถึงเวลาปฏิบัติบอกตรงๆเลยว่า ยาก เอาง่ายๆผ่านมา 18 ปี ตึกชอปปิ้งมอลล์ที่บางลำพู ก็ยังอยู่กลายเป็นตึกร้างไม่มีใครทุบหรือรื้อทิ้งเลย กรณีนี้ก็คงเหมือนกัน ”
ขอบคุณภาพจากthinkofliving.com