- Home
- Thaireform
- ในกระแส
- ผอ.เขตพญาไท ยังไม่เห็นหนังสือสั่งการ หลังศาลปค.ให้ กทม. เปลี่ยนชื่อ ถ.สุทธิสารฯเป็น ‘อินทามระ'
ผอ.เขตพญาไท ยังไม่เห็นหนังสือสั่งการ หลังศาลปค.ให้ กทม. เปลี่ยนชื่อ ถ.สุทธิสารฯเป็น ‘อินทามระ'
ศาลปกครองสูงสุดพิพากษากลับคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้น เป็นให้ กรุงเทพมหานคร พิจารณาดำเนินการในเรื่องการกำหนดและเปลี่ยนแปลงชื่อถนนและซอยบริเวณถนนสุทธิสารวินิจฉัย และซอยอินทามระทั้ง 59 ซอยให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงและหลักเกณฑ์ของกฎหมายต่อไป ทั้งนี้ภายใน 180 วันนับแต่วันที่คดีถึงที่สุด
เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2560 ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้ กทม. ดำเนินการเปลี่ยนชื่อ "ถนนสุทธิสารวินิจฉัย" เป็น "ถนนอินทามระ" เพื่อให้ตรงตามประวัติศาสตร์
โดยคดีนี้ ศาลปกครองสูงสุดพิพากษากลับคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้น เป็นให้ผู้ถูกฟ้องทั้ง 5 ประกอบด้วยกรุงเทพมหานคร ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ปลัดกรุงเทพมหานคร ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ผู้อำนวยการเขตพญาไท ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 และผู้อำนวยการเขตดินแดง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5 พิจารณาดำเนินการในเรื่องการกำหนดและเปลี่ยนแปลงชื่อถนนและซอยบริเวณถนนสุทธิสารวินิจฉัย และซอยอินทามระทั้ง 59 ซอยให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงและหลักเกณฑ์ของกฎหมายต่อไป ทั้งนี้ภายใน 180 วันนับแต่วันที่คดีถึงที่สุด
ที่มาของเรื่องนี้
เมื่อปี 2503 กรมตำรวจมีมติให้ตั้งชื่อถนนตัดใหม่ (ถนนสุทธิสารช่วงสะพานควายปัจจุบัน) ในที่ดินจัดสรรข้างสถานีตำรวจนครบาลบางซื่อ โดยให้แบ่งเป็นสองตอน คือ
1.ที่ดินตอนหน้าของนายมารุต บุนนาค บุตรของพระสุทธิสารวินิจฉัย ให้ตั้งชื่อว่า ถนนสุทธิสารวินิจฉัย มีระยะจากถนนพหลโยธิน (สะพานควาย) เข้าไป 500 เมตร
2.ที่ดินตอนหลังของ พล.ต.ท.โต๊ะ อินทามระ ให้ตั้งชื่อว่า ถนนอินทามระ มีระยะต่อจากถนนสุทธิสารวินิจฉัยเป็นต้นไป
แต่ในปี 2547 ตอนที่ กทม. จะทำการปรับปรุงระบบเรียกชื่อถนน ตรอก ซอย ตามมาตรฐานสากลให้เหมือนกันทั้ง 50 เขต นั้น พบว่า มีป้ายชื่อถนนสุทธิสารวินิจฉัย ไม่มีป้ายชื่อถนนอินทามระ แต่มีซอยอินทามระ 1 ถึงซอยอินทามระ59
กทม.เห็นว่าประชาชนรู้จักแต่ชื่อถนนสุทธิสารฯ มานาน จึงให้ชื่อถนนทั้งสาย คือ ถนนตั้งแต่แยกสะพานควายถึงซอยลาดพร้าว 64 เป็นชื่อถนนสุทธิสารวินิจฉัยทั้งหมด โดยคงไว้แต่ชื่อซอยอินทามระเท่านั้น
ขณะที่ลูกหลานของตระกูลอินทามระ โดยนายกฤษฎา อินทามระ เป็นทายาทของพลตำรวจโท โต๊ะ อินทามระ ซึ่งเป็นผู้บุกเบิกพัฒนาที่ดินบริเวณสุทธิสารและสะพานควายให้เป็นที่อยู่อาศัยของข้าราชการตำรวจ ผู้ฟ้องคดี ไม่ยอม จึงได้ฟ้องศาลจนศาลมีคำพิพากษาให้เปลี่ยนชื่อ
ในคำพิพากษา ผู้ฟ้องคดีขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 5 คน ติดตั้งป้ายชื่อถนน อินทามระ และถนนสุทธิสารวินิจฉัยให้ถูกต้องตรงประวัติความเป็นมาตามทะเบียนประวัติถนน พ.ศ.2503
สำหรับตามทะเบียนประวัติถนน พ.ศ.2503 ระบุว่า
- ถนนสุทธิสารวินิจฉัยเริ่มตั้งแต่ถนนพหลโยธินไปทางตะวันออก ถึงสะพานควายตอนต้น ของถนนอินทามระ เข้าไป 500 เมตร
- และถนนอินทามระเริ่มตั้งแต่ถนนพหลโยธินไปทางทิศตะวันออกตอนสะพานควายต่อจากถนนสุทธิสารวินิจฉัยไปถึงบริเวณที่จัดสรรกรมตำรวจ
ประกอบกับมติที่ประชุม อ.ก.พ.กรมตำรวจปี พ.ศ.2503 ให้ตั้งชื่อถนนในที่ดินจัดสรรหลังสถานีตำรวจนครบางซื่อว่า ที่ตอนหน้าเป็นของนายมารุต บุนนาค ให้ใช้ชื่อบิดาของนายมารุต (พระสุทธิสารวินิจฉัย) เป็นชื่อถนน ส่วนที่ข้างในยังเป็นที่ของกรมตำรวจ ก็ให้ใช้นามสกุลของหัวหน้ากองคลัง กรมตำรวจ (พลตำรวจโท โต๊ะ อินทามาระ) เป็นชื่อถนน จึงเห็นควรให้ใช้ชื่อถนนสุทธิสารวินิจฉัย ตั้งแต่ถนนพหลโยธิเข้าไป 500 เมตร และตอนต่อไปใช้ชื่อ ถนนอินทามระ
ทั้งนี้ปัจจุบันมีเพียงป้ายชื่อถนนสุทธิสารวินิจฉัยตลอดถนน ไม่มีป้ายชื่ออินทามระ มีเพียงชื่อซอยอินทามระ รวม 59 ซอยเท่านั้น ครอบคลุมบริเวณพื้นที่เขตพญาไท และเขตดินแดง
ด้านนางกนกรัตน์ พันธ์นรา ผู้อำนวยการเขตพญาไท กล่าวกับสำนักข่าวอิศราว่า คดีนี้เกิดมาตั้งแต่ปี 2547 ก่อนมารับตำแหน่ง ซึ่งกำลังรอหนังสือสั่งการว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ปัจจุบันยังไม่เห็นหนังสือสั่งการส่งมาที่เขตพญาไท ซึ่งต้องรอผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ดำเนินการตามระเบียบขั้นตอนก่อน โดยหน่วยงานที่ดูแลเรื่องนี้ คือสำนักงานปกครองและทะเบียน