- Home
- Thaireform
- สารคดีเชิงข่าว
- แรงงานและคุณภาพชีวิต
- ‘ลิฟท์’ รถไฟฟ้าบีทีเอส กว่าคนพิการ-คนชราจะได้ขึ้น ต้องรอเงก
‘ลิฟท์’ รถไฟฟ้าบีทีเอส กว่าคนพิการ-คนชราจะได้ขึ้น ต้องรอเงก
กทม.เดินหน้าแผนติดตั้ง ‘ลิฟท์’ เพิ่มเติม 19 สถานี 56 ตัว คาดเสร็จสิ้น พ.ย. 58 เอื้อประโยชน์ผู้พิการ ด้าน ‘มนุษย์วีลแชร์’ เห็นใจบ้านใกล้ประสบปัญหา บดบังทัศนียภาพ เชื่อเกิดประโยชน์ทุกกลุ่ม รปภ.สถานีอโศก รับ ‘บีทีเอส’ ไม่มีนโยบายเปิด ‘ลิฟท์’ ตลอดเวลา ยันปฏิบัติตามกฎเกณฑ์
21 มกราคม 2558 นับเป็นวันแห่งชัยชนะของคนพิการ เมื่อศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษากลับคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นสั่งให้กรุงเทพมหานคร ติดตั้งลิฟท์ พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการในระบบสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส ทั้ง 23 สถานี
จากเดิมได้ติดตั้งและเปิดให้บริการลิฟท์สำหรับผู้พิการ ในสายสุขุมวิท 5 สถานี รวม 11 ตัว
ส่วนต่อขยายสายสีลม 2 สถานี รวม 8 ตัว
และส่วนต่อขยายสายสุขุมวิท (ตากสิน – บางหว้า) 4 สถานี รวม 16 ตัว
แต่เมื่อมีคำพิพากษา ให้กทม.ติดตั้งเพิ่มให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี
ล่าสุด นายอมร กิจเชวงกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ยืนยันว่า เตรียมแผนติดตั้งลิฟท์เพิ่มขึ้นอีก 19 สถานี รวม 56 ตัว ซึ่งมีการลงนามในสัญญาจ้างและเริ่มติดตั้งแล้ว คงเหลือเพียง 8 ตัว ที่ยังไม่ได้ดำเนินการ เนื่องจากประชาชนที่มีบ้านเรือนในบริเวณดังกล่าวไม่ยินยอม เพราะบดบังทัศนียภาพ
พร้อมกันนี้ ยังคาดว่า หากมีการเจรจาข้อตกลงโดยเร็ว จะติดตั้งลิฟท์ได้ครบทั้ง 56 ตัว ภายใน พ.ย. 2558 ตลอดจนการจัดทำจุดพักคอยสำหรับผู้พิการด้วย
ศูนย์ข่าวนโยบายสาธารณะ สำนักข่าวอิศรา พาลงพื้นที่สำรวจความคิดเห็นต่อนโยบายดังกล่าวกับผู้พิการ ในฐานะผู้ใช้บริการที่ได้รับผลกระทบก่อนใคร
"ผักกาด โพธิ์ศรี" หญิงพิการวัย 45 ปี ที่อาศัยวีลแชร์ไฟฟ้าพาตัวเองไปยังสถานที่ต่าง ๆ แทนขาทั้งสองข้าง ปัจจุบันมีอาชีพเป็นตัวแทนจำหน่ายวีลแชร์และเป็นอาสาสมัครผู้พิการ ศูนย์การดำรงชีวิตอิสระพญาไท (พญาไทไอแอล) ที่สำคัญ ยังเป็นหนึ่งในผู้พิการที่ออกมารณรงค์เคลื่อนไหวเรื่องนี้
เธอเล่าถึงปัญหาในการสัญจรว่า ที่ผ่านมาการเดินทางค่อนข้างลำบาก จากบ้านที่อยู่แถวบ่อนไก่ จะต้องขึ้นรถไฟฟ้าใต้ดินสถานีสีลม และต่อรถไฟฟ้าสถานีศาลาแดง เพื่อไปลงปลายทางที่สถานีช่องนนทรี ซึ่งมี ‘ลิฟท์’
ส่วนสาเหตุที่เธอไม่ยอมนั่งรถโดยสารประจำทาง เพราะกว่าจะถึงก็หลายป้าย
“แต่ละครั้งที่ต้องใช้บริการรถไฟฟ้า ใช้ระยะเวลายาวนานมากสำหรับการเดินทาง เพราะบ้านไม่อยู่ใกล้สถานีรถไฟฟ้าที่ติดตั้งลิฟท์ ทำให้อ้อมโลกไปใช้บริการสถานีรถไฟฟ้าที่มีลิฟท์แทน ซึ่งหากเป็นคนมีสภาพร่างกายปกติ คงเดินไปนิดเดียวก็ถึงแล้ว แต่คนพิการต้องพึ่งลิฟท์เท่านั้น”
แม้จะไปใช้บริการสถานีรถไฟฟ้าที่มีลิฟท์ แต่ ‘ผักกาด’ กลับพบว่า จะต้องรอให้เจ้าหน้าที่ประจำสถานีลงมาเปิดประตูลิฟท์ให้
ฉะนั้น นอกจากเธอต้องยอมเดินทางอ้อมโลกแล้ว ยังต้องมารอคนลงมาเปิดให้อีก บุคลากรก็มีจำนวนน้อยและแต่ละคนต้องทำหน้าที่หลายๆ อย่าง
บางกรณีที่จำเป็นต้องใช้บริการสถานีรถไฟฟ้าที่ไม่มีลิฟท์ เธอเล่าว่าจะได้รับการช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ประจำสถานี "ยก" เราขึ้นไป ซึ่งต้องเปลี่ยนไปนั่งวีลแชร์ธรรมดา เพราะวิลแชร์ไฟฟ้าหนัก ไม่เอื้อต่อการยกขึ้นได้ ทำให้ต้องจัดท่านั่งใหม่ ย้ายไปย้ายมา สร้างความลำบากมากยิ่งขึ้น
“เคยลองไม่ให้เจ้าหน้าที่ประจำสถานีเปลี่ยนเราให้ไปนั่งบนวีลแชร์ธรรมดา เพราะต้องการให้เขาได้เรียนรู้วิธีช่วยเหลือผู้พิการที่นั่งวีลแชร์ไฟฟ้า” เธอให้ข้อมูล แต่สุดท้ายเจ้าหน้าที่ประจำสถานียืนยันให้เธอต้องเปลี่ยน เธอจึงตัดสินใจกลับบ้าน และไม่ใช้บริการที่สถานีแห่งนั้นอีกเลย
ทั้งนี้ การติดตั้งลิฟท์เพิ่มส่งผลกระทบต่อชาวบ้านที่อยู่ใกล้เคียงด้วย เพราะบดบังทัศนียภาพ ‘ผักกาด’ บอกว่า เธอเข้าใจประเด็นนี้ เพราะเกี่ยวกับเรื่องปากท้อง ค้าขายมานาน อยู่ ๆ จะมีลิฟท์บดบังหน้าร้านค้าขาย เป็นเรื่องยากที่ใครจะยอมรับ
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เธอร่วมรณรงค์เรียกร้องไม่ต้องการเอื้อประโยชน์ต่อผู้พิการที่นั่งวีลแชร์เท่านั้น แต่ครอบคลุมถึงผู้พิการด้านอื่น ๆ คนชรา เด็ก และผู้เจ็บป่วยด้วย
เห็นได้ชัดว่า เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม...สิ่งเหล่านี้อธิบายกันยาก เพราะเป็นวิถีชีวิตของชาวบ้านแถวนั้น...จริง ๆ เราก็ต้องเข้าใจ
คนชราเป็นอีกหนึ่งกลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับอานิสงส์จากการติดตั้งลิฟท์ในสถานีรถไฟฟ้าเพิ่มเติมครั้งนี้ โดย 'คุณตา' รายหนึ่ง วัย 70 ปี บอกว่า ใช้บริการลิฟท์เป็นประจำ เพราะที่ผ่านมาเดินทางไปไหนมาไหนคนเดียว ไม่มีคนคอยติดตามดูแล ทั้งนี้ มีอาการเจ็บเข่าอยู่แล้ว จึงไม่สามารถเดินขึ้นบันไดได้
คุณตา ใช้บริการลิฟท์ที่สถานีรถไฟฟ้า ‘อโศก’ อยู่บ่อยครั้ง ถ้าใช้บริการจากระบบขนส่งมวลชนอื่น ยกตัวอย่าง รถโดยสารประจำทาง ขสมก. จะเจอกับปัญหารถติด บางครั้งขึ้นลำบาก ด้วยพนักงานขับรถบางคนไม่สนใจคนชรากำลังขึ้น นึกจะขับออกไปก็ออก แม้ค่าโดยสารจะมีราคาถูกก็ตาม ส่วนมอเตอร์ไซค์รับจ้างมีราคาค่าโดยสารสูงและขับขี่เร็วจนน่ากลัว
ดังนั้น ‘คุณตา’ จึงมองว่า การใช้บริการรถไฟฟ้ามีความปลอดภัยมากที่สุดและรวดเร็ว
เขาบอกว่า จะพบข้อเสียเพียงทุกครั้งที่ใช้บริการ ‘ลิฟท์’ ต้องกดปุ่มสัญญาณเรียกเจ้าหน้าที่ประจำสถานีลงมาไขกุญแจประตู ทำให้ต้องยืนรอ บางครั้งลงมาเร็ว บางครั้งลงมาช้า ทำให้เสียเวลา
“เพราะเหตุใดสถานีรถไฟฟ้าจึงไม่เปิด ‘ลิฟท์’ ไว้ตลอดเวลา เพื่อบริการให้คนทั่วไปด้วย โดยไม่จำเป็นต้องรอเจ้าหน้าที่ประจำสถานีมาเปิดให้” เป็นคำถามที่ส่งตรงถึงผู้บริหารระดับสูง ‘บีทีเอส’
ด้านเจ้าหน้าที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ บีทีเอส ให้เหตุผลที่ไม่สามารถเปิดลิฟท์ได้ตลอดเวลาว่า เพื่อความปลอดภัย ของผู้มาใช้บริการ
ส่วนเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยหญิง สถานีรถไฟฟ้าอโศก ซึ่งทำหน้าที่ไขกุญแจประตูลิฟท์ ยอมรับว่า บีทีเอสไม่มีนโยบายเปิดประตูลิฟท์ให้ผู้ใช้บริการตลอดเวลา จะต้องรอให้เจ้าหน้าที่ประจำสถานีเปิดให้เท่านั้น ซึ่งตัวเองได้ทำหน้าที่ตามที่กำหนด
ทั้งนี้ ในแต่ละวันจะมีผู้ใช้บริการมากที่สุด คือ กลุ่มคนวัยชรา เฉลี่ย 7-10 คน/วัน ส่วนใหญ่จะถือไม้เท้าหรืออุปกรณ์อื่นช่วยในการเดิน ส่วนผู้พิการนั่งวีลแชร์ใช้บริการเฉลี่ย 1-2 คน/วัน และยังมีกลุ่มผู้พิการด้านอื่น ๆ ด้วย แต่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้พิการทางสายตา
ฝ่ายผู้สร้าง เพจ wheel go round นามแฝง ‘ลิปดา’ บอกว่า เพจนี้สร้างขึ้นโดยมีจุดประสงค์เพื่อให้ผู้พิการนั่งวีลแชร์ได้เข้ามาแบ่งปันข้อมูล เกี่ยวกับสิ่งอำนวยความสะดวกในการใช้รถไฟฟ้า และรถไฟใต้ดิน ระบุรถไฟฟ้าไม่มีลิฟท์ครบทุกสถานี ทำให้ผู้พิการบางรายต้องเลือกใช้บริการรถไฟใต้ดินแทน ซึ่งมีลิฟท์คอยบริการครบทุกสถานี
เธอ ยังยกตัวอย่างผู้พิการใช้บริการที่สถานีรถไฟฟ้าช่องนนทรีว่า ลิฟท์ที่นี่ตั้งอยู่เกาะกลางถนน ทำให้เมื่อใช้บริการขึ้นลงต้องเดินข้ามถนนไป หรือในบางสถานีรถไฟฟ้าที่มีทางลาดเอียง แต่กลับพบพื้นไม่เรียบเสมอ บ้างชำรุด หรือมีความยาวมากเกินไป ทำให้ได้รับความลำบาก ทั้งหมดจึงเป็นอุปสรรคที่ทำให้ผู้พิการไม่อยากใช้บริการ
ดังนั้น ‘ลิฟท์’ ที่กรุงเทพฯ กำลังดำเนินการติดตั้งใหม่ต้องอยู่ในพื้นที่เหมาะสม ปรับปรุงทางขึ้นลงให้ได้รับความสะดวก ไม่ใช่ต้องข้ามถนน หรือทางม้าลาย ไปใช้บริการ เพราะค่อนข้างอันตราย
คอยจับตาการดำเนินงานของกรุงเทพฯ อย่างใกล้ชิด สุดท้าย จะติดตั้ง ‘ลิฟท์’ และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ ทันตามกำหนด 1 ปี หรือไม่ หากละเลย ล่าช้า หรือเลือกปฏิบัติ จะแสดงถึง ‘ความไม่จริงใจ’...แล้วเราจะคาดหวังอะไรจากท่านได้อีก .