เรื่องเล่าของ "คนกลับบ้าน" กับปากคำอดีตคนในขบวนการ "อุดมการณ์พาตัวไม่รอด"
การจัดงานโชว์ความสำเร็จ "โครงการพาคนกลับบ้าน" ของ พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 1 ก.พ. และวันศุกร์ที่ 2 ก.พ.61 นั้น ไฮไลท์ของงานอยู่ที่การเปิดหน้า เปิดตัว "คนกลับบ้าน" รวมทั้งครอบครัว ให้สื่อมวลชนได้พูดคุยสัมภาษณ์กันแบบเต็มอิ่ม
นอกจากนั้นยังมีบุคคลที่อ้างตัวว่าเป็นสมาชิกขบวนการบีอาร์เอ็น และพูโล สวมหมวกไอ้โม่งปิดบังใบหน้า มานั่งเรียงแถวให้สัมภาษณ์นักข่าวด้วย เพราะพวกเขาจะเข้าโครงการในรอบหน้า
เรื่องเล่าเบื้องหลังชีวิตของผู้ที่เข้าร่วมโครงการ "พาคนกลับบ้าน" มีทั้งที่ยืนยันว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับขบวนการอ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน และที่ยอมรับว่าเป็นสมาชิกขบวนการฯ แต่เรื่องราวของแต่ละคน ดูจะมีชะตากรรมไม่ต่างกัน
ตากใบ-หมายจับ-มาเลย์-ยกฟ้อง
ฮารง (สงวนนามสกุล) หนึ่งในผู้ที่ถูกออกหมายจับในคดีความมั่นคงที่ จ.นราธิวาส บอกว่า จุดเริ่มต้นที่ทำให้ต้องหนี มาจากเหตุการณ์ตากใบ (การสลายการชุมนุมที่หน้า สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อ 25 ต.ค.47 ทำให้มีผู้เสียชีวิตช่วงสลายการชุมนุม 5 ราย และช่วงเคลื่อนย้ายไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี อีก 78 ราย สาเหตุจากการถูกจับเรียงซ้อนกันหลายๆ ชั้นจนขาดอากาศหายใจ)
"แรกๆ พี่ชายผมถูกจับในเหตุการณ์ตากใบ จากนั้นเจ้าหน้าที่ปล่อยตัวมา ไม่นานก็ถูกจับอีก เจ้าหน้าที่ก็ปล่อยตัวอีก แต่วันหนึ่งระหว่างเดินทางกลับบ้าน เขาถูกยิงตาย จากนั้นปี 50 ก็มีคนหน้าแปลกๆ มาวนเวียนแถวบ้าน ทำให้รู้สึกกลัว ประกอบกับเศรษฐกิจไม่ดี จึงเข้าไปรับจ้างกรีดยางที่รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย โดยขอวีซ่าแบบ 1 เดือน พอครบก็กลับมาจ๊อบพาสปอร์ตทีหนึ่ง แล้วเข้าไปใหม่ ทำแบบนี้ได้ประมาณ 3-4 เดือนก็ออกไม่ได้ เลยเข้าไปข้างใน น้องสาวโทรบอกแฟนว่ามีหมายจับ ก็รู้สึกตกใจ แฟนจึงพาลูกตามไปอยู่ที่มาเลเซีย อยู่ได้ประมาณ 10 ปีก็ตัดสินใจเข้ามาร่วมโครงการพาคนกลับบ้าน ตอนนี้คดีที่เคยถูกออกหมายจับ ศาลยกฟ้อง"
ชีวิตเหมือนตกนรกทั้งเป็น
ด้านภรรยาของฮารง ซึ่งมาร่วมกิจกรรมด้วย เล่าเสริมเรื่องราวของสามี...
"แรกๆ น้องแฟนโทรมาบอกว่าแฟนมีหมายจับ ก็ตกใจมาก แฟนอยู่มาเลย์ แต่ทำไมมีหมายจับ จากนั้นก็เลยพาลูกไปอยู่กับแฟน ตอนนั้นลูกชายอายุ 6 เดือน แฟนรับจ้างกรีดยาง แรกๆ เจ้าของไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่พอเขารู้ว่าแฟนมีหมายจับ กลับบ้านไม่ได้ เขาก็เอาเปรียบทุกอย่าง โกงเรา ไม่ให้เงินค่ายางที่เรากรีดได้ จะไปไหนก็ไมได้ ลูกไม่สบาย อยากพาไปหาหมอ แต่เราพาไปไม่ได้"
"ชีวิตตอนนั้นเหมือนตกนรกทั้งเป็น จะทำอะไรก็ไม่ได้ ต้องอยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ แถมยังโดนเจ้าของสวนยางซึ่งเป็นคนมาเลย์โกงเราอีก ต่อหลังได้ดูทีวี เห็นว่ามีโครงการพาคนกลับบ้าน มีเบอร์แม่ทัพให้โทรสายตรงได้ด้วย ก็เลยคุยกับแฟนและลองโทรไป ปรากฏว่าแม่ทัพรับสายเองจริงๆ ก็เลยบอกว่าเป็นแฟนของนายฮารง หนี อยู่มาเลย์ ขอกลับบ้าน แม่ทัพบอกว่าอีก 2-3 วันจะโทรกลับไปหาเอง แล้วท่านก็โทรจริงๆ ตามที่ท่านบอกไว้"
การโทรศัพท์ติดต่อกลับไปของแม่ทัพปิยวัฒน์ ทำให้ชีวิตครอบครัวของฮารงเปลี่ยนไปแบบหน้ามือเป็นหลังมือ
"เราได้กลับมาอยู่พร้อมหน้า สามารถใช้ชีวิตประจำวันเหมือนคนทั่วไป เราไปส่งลูกๆ ที่โรงเรียนได้ ทำอะไรได้ปกติ ตอนนี้มีความสุขมาก เพราะเราไม่ต้องหลบซ่อนอีกแล้ว ปัจจุบันมีลูก 2 คน คนโตเป็นผู้ชาย อายุ 11 ปี และคนเล็กเป็นผู้หญิง อายุ 8 ปี สามารถไปโรงเรียนได้ปกติ" ภรรยาของฮารง เล่าด้วยสีหน้าคลายทุกข์
"ตอนนี้ไม่ติดใจอะไรแล้ว ไม่สงสัยแล้วว่าทำไมสามีถึงถูกคดี ก่อนหน้านี้สงสัยมาตลอด แต่ตอนนี้ขอแค่ได้กลับมาอยู่กันพร้อมหน้าปกติเหมือนคนอื่นๆ ก็พอแล้ว"
ขณะที่ลูกชายวัย 11 ปีของฮารง ซึ่งมากับพ่อแม่ด้วย บอกว่า ตอนที่อยู่มาเลย์ไม่ชอบเลย เพราะไม่ได้เรียนหนังสือ ไปไหนก็ไม่ได้ วันนี้ทั้งตนและน้องสาวได้ไปโรงเรียนเหมือนคนอื่นๆ แล้ว
สู้คดีชนะยังติดบัญชีดำลบไม่ออก
อีกคนที่มาร่วมบอกเล่าเรื่องราวของชีวิต คือ ฮากิม (สงวนนามสกุล) เขาถูกจับเมื่อปี 48 ในคดีลอบวางระเบิดใน อ.เมืองนราธิวาส สู้คดีมา 3 ปี 6 เดือน สุดท้ายศาลยกฟ้อง จึงกลับมาอยู่บ้าน แต่ก็ไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ
"มีวันหนึ่ง ผมขับรถจะไปทำธุระ เจอด่านตรวจของเจ้าหน้าที่ เขาก็ขอดูบัตรประชาชน ผมก็ให้ดู รวมทั้งบัตรสิ้นสุดคดี (เพื่อยืนยันว่าคดีความมั่นคงสิ้นสุดแล้ว) แต่ปรากฏว่าเมื่อเจ้าหน้าที่นำชื่อไปเทียบ กลับยังมีชื่อในแบล็คลิสต์ (บัญชีดำ) ก็เลยถามเจ้าหน้าที่ว่าจะทำอย่างไรถึงจะจบ เจ้าหน้าที่บอกว่าให้เข้าร่วมโครงการพาคนกลับบ้าน ก็เลยตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ"
ฮากิม มีภูมิลำเนาอยู่ใน จ.นราธิวาส เช่นเดียวกับฮารง เขาโดนคดีเพราะถูกซัดทอดว่าเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ตากใบ เพียงเพราะไปเปิดร้านขายของต่อจากเจ้าของเก่าที่เสียชีวิตนเหตุการณ์สลายม็อบครั้งนั้น
ชะตาชีวิตของฮากิม คล้ายๆ กับ อับดุลเลาะ (สงวนนามสกุล) ชาว จ.ปัตตานี ซึ่งโดนหมาย พ.ร.ก. ต่อมาอัยการสั่งไม่ฟ้องคดี แต่ก็ยังใช้ชีวิตปกติสุขไม่ได้
"อยู่ๆ ก็มีเจ้าหน้าที่มาที่บ้าน บอกว่ามีหมาย พ.ร.ก. คุยไปคุยมาบอกว่ามีหมาย ป.วิอาญา คดีระเบิดโรงพักสายบุรี (สภ.สายบุรี จ.ปัตตานี) เมื่อปี 52 ก็ต่อสู้คดีมา สุดท้ายอัยการสั่งไม่ฟ้อง กลับมาใช้ชีวิตปกติที่บ้าน แต่ก็ยังมีเจ้าหน้าที่มาหา บอกมีหมาย พ.ร.ก.อีก ก็เลยถามว่าจะทำอย่างไรให้จบ เจ้าหน้าที่บอกต้องเข้าร่วมโครงการพาคนกลับบ้าน ก็เลยเข้าร่วมโครงการ"
"ผมไม่กลัวเลยที่จะเข้าโครงการ เพราะไม่ผิด ไม่เคยทำอะไร ผมบริสุทธิ์ แต่ยังมีเจ้าหน้าที่มาตลอด ไม่เคยจบ ถ้าเข้าโครงการแล้วจบ ก็เลยเข้า" อับดุลเลาะ กล่าว
"ของจริง"ตรงข้ามกับที่ถูกปลูกฝัง
อีกกลุ่มหนึ่งที่สร้างความสนใจให้กับสื่อมวลชนอย่างมาก คือ ชาย 4 คน สวมหมวกไอ้โม่งปิดบังใบหน้า อ้างตัวว่าเป็นอดีตสมาชิกขบวนการบีอาร์เอ็น 1 คน และอดีตสมาชิกองค์การพูโลอีก 3 คน โดยทั้งหมดตัดสินใจเข้าร่วมโครงการพาคนกลับบ้านในรอบหน้า เพราะเชื่อมั่นในตัวแม่ทัพปิยวัฒน์ และเป็นห่วงครอบครัว เนื่องจากต้องหลบหนีไปอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านแบบไร้ตัวตน เพราะไม่มีเอกสารหลักฐานใดๆ
ชายที่อ้างว่าเป็นอดีตสมาชิกบีอาร์เอ็น บอกว่าสาเหตุที่ออกจากขบวนการ เพราะรัฐไทยไม่ได้เลวร้ายอย่างที่เคยถูกปลูกฝัง
"ผมมีหน้าที่อยู่ฝ่ายการเมือง คอยเป็นธุระให้กับขบวนการในระดับอำเภอ และยังทำหน้าที่ครูฝึกเยาวชน ที่เรียกว่า 'สต๊าฟ เปอมูดอ' ผมรับผิดชอบสอนอาร์เคเคชั้น 2 (มีทั้งหมด 4 ชั้น) โดยชั้น 1 และ 2 เป็นช่วงศึกษาในตำรา ยังไม่ฟิตร่างกาย ยังไม่ได้ฝึกอะไร แต่ถ้าเป็นพวกออกปฏิบัติการ จะต้องอยู่ชั้น 4 คือเตรียมจะจบแล้ว" อดีตสมาชิกบีอาร์เอ็น เล่าถึงภารกิจที่เขาเคยรับผิดชอบ
"จุดเริ่มต้นของการเข้าขบวนการ เกิดจากอุดมการณ์ โดยเฉพาะการปลดปล่อยเพื่อให้ได้เอกราช และความคึกคะนองในช่วงที่เป็นวัยรุ่น เดิมทีมีคนชวนเข้าขบวนการแต่ยังไม่ไป แต่เมื่อคนรอบข้างในพื้นที่เขาเข้าร่วมกันไปแล้ว ผมก็กลัวว่าจะกลายเป็นแกะดำ สุดท้ายจึงเข้าร่วม แต่พออยู่ไปๆ ตำแหน่งสูงขึ้น พบว่าความจริงไม่ได้เป็นอย่างที่เรารับข้อมูลหรือศึกษามา โดยเฉพาะถ้าจะประกาศสงครามตามหลักศาสนา คือรัฐไทยต้องไม่อนุญาตให้ปฏิบัติศาสนกิจสใดๆ ถึงจะประกาศได้ แต่ที่อยู่ทุกวันนี้ก็ยังละหมาดได้ เรียนศาสนาได้ ทำได้ทุกสิ่งเหมือนคนไทยพุทธทั่วไป"
อุดมการณ์พาตัวเองไม่รอด!
ขณะที่อดีตสมาชิกพูโล เปิดใจว่า อุดมการณ์ทำให้พาตัวเองไม่รอด สุดท้ายต้องตัดสินใจเข้าร่วมโครงการพาคนกลับบ้าน
"เมื่อมีเหตุการณ์แล้ว ผมหลบหนีไปอยู่ประเทศเพื่อนบ้าน ต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก กรีดยาง เก็บปาล์มน้ำมัน บางคนก็เป็นบาบอสอนหนังสือ (ครูสอนศาสนา) ประกอบกับเจ้าหน้าที่ฝั่งโน้นก็ไม่ได้สนับสนุนให้อยู่ เมื่อมีโอกาสได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่ไทยให้กลับมาพัฒนาบ้านเมือง ก็รู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ดี"
อดีตสมาชิกพูโล ยืนยันว่า ปัจจุบันขบวนการของเขาไม่มีการเคลื่อนไหวก่อเหตุรุนแรงแล้ว เพราะได้ยุติปฏิบัติการไปตั้งแต่ปี 2001 (ปี 44) คงมีแต่บีอาร์เอ็นและอาร์เคเค ที่ยังปฏิบัติการอยู่ ประกอบกับสมาชิกพูโลด้วยกันทุกวันนี้ก็อายุมาก ตั้งแต่ 50 ปีจนถึง 80 ปี ทราบว่าขณะนี้มีอีก 72 ครอบครัวที่พร้อมจะกลับมา
นี่คือ "ความในใจ" และ "เรื่องเล่า" ของ "คนกลับบ้าน" ที่หากสังเคราะห์ออกมาดีๆ แล้ว อาจจะทำให้ได้รู้ "ต้นตอไฟใต้" ที่แท้จริง ว่าเกิดจากอะไรกันแน่!!!
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 และ 3 กลุ่มที่เตรียมเข้าโครงการพาคนกลับบ้าน อ้างตัวว่าเป็นอดีตสมาชิกขบวนการบีอาร์เอ็นและพูโล
2 ฮารง กับภรรยา
อ่านประกอบ :
รัฐโชว์ผลงาน "พาคนกลับบ้าน" ผู้เห็นต่างฯส่งมอบปืน ผบ.ทบ.
ต้องหนีเพียงเพราะรัฐเข้าใจผิด...อีกหนึ่งความจริงของ "คนกลับบ้าน"
ลงพื้นที่ปะนาเระตามดู "หมู่บ้านคนกลับบ้าน" ที่แท้ใช้พื้นที่นิคมฮาลาลฯ
วิเคราะห์ 4 ปัจจัยใต้ป่วน...ตอบโต้ความสำเร็จ"พาคนกลับบ้าน"?
แจงงบ 106 ล้านสร้าง "หมู่บ้าน" รองรับ "คนกลับบ้าน"
เปิดงบโครงการพาคนกลับบ้าน ปีเดียว 106 ล้าน!
ตัวเลข "คนกลับบ้าน" จ่อครึ่งหมื่น!
ดราม่าคนกลับบ้าน! แม่ทัพขึ้น ฮ.บินรับมอบตัวผู้ต้องหาคดีความมั่นคง
"รับฟังเสียงที่แตกต่าง-พาคนกลับบ้าน" วิสัยทัศน์ดับไฟใต้ของแม่ทัพภาค 4 คนใหม่
80สมาชิกป่วนใต้ถกแม่ทัพภาค4 เสนอปลด "หมายจับ" แลกวางปืน
แม่ทัพ4พร้อมเลิก พ.ร.ก.รับกลุ่มป่วนใต้วางมือ แย้ม "สะแปอิง-มะแซ"รอดูท่าที
เปิดใจ"อาร์เคเค"กลับใจ "ลูก-เมีย"เงื่อนไขนักรบวางปืน
สำรวจความเห็น"ชาวบ้าน-แนวร่วมพันธุ์ใหม่" เชื่อ-ไม่เชื่อ 93 สมาชิกป่วนใต้ยุติรุนแรง
เปิดตัวเลข "ผู้เห็นต่าง" เข้าร่วมโครงการ "พาคนกลับบ้าน" 983 ราย
วงถก400ผู้เห็นต่างฯ ชงรื้อข่าวกรอง-เลิกหมายจับ–ตั้งนิคมรองรับกลับบ้าน
อดีตผู้ต้องสงสัยฯงงถูกเกณฑ์พบ"ประวิตร" เหมาร่วม"พาคนกลับบ้าน" เบี้ยเลี้ยง200