- Home
- South
- เรื่องเด่น-ภาคใต้
- 80สมาชิกป่วนใต้ถกแม่ทัพภาค4 เสนอปลด "หมายจับ" แลกวางปืน
80สมาชิกป่วนใต้ถกแม่ทัพภาค4 เสนอปลด "หมายจับ" แลกวางปืน
80 สมาชิกขบวนการแบ่งแยกดินแดนรวมตัวพบแม่ทัพภาค 4 บ่ายวันที่ 11 ก.ย.หลังต้องการวางปืน กลับมาใช้ชีวิตในสังคมตามปกติ แต่ติดปัญหามีหมาย พ.ร.ก.-ป.วิอาญาติดตัว เสนอ 3 ข้อให้รัฐพิจารณา ย้ำต้องคุ้มครองความปลอดภัย แกนนำเผยถ้าปลดล็อคตรงนี้ได้ยังมีกลุ่มออกจากป่าอีกเยอะ แย้ม "แวอาลีคอปเตอร์" ร่วมทีมด้วย
กลุ่มที่อ้างตัวว่าเป็นสมาชิกขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่เคยเคลื่อนไหวต่อสู้กับรัฐไทย จำนวน 80 คน จะรวมตัวกันเข้าพบและหารือกับ พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 ในวันอังคารที่ 11 ก.ย.2555 เวลา 14.00 น.ที่สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส เพื่อค้นหาแนวทางการกลับมาอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างปกติสุข
กลุ่มดังกล่าวมี นายมุคตาร์ ซีกะจิ โฆษกพรรคประชาธรรม (ซึ่งอดีตหัวหน้าพรรคคือ นายมุคตาร์ กีละ ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อปลายปีที่แล้ว) เป็นผู้ประสานงาน โดยสมาชิกขบวนการ 80 คนนั้น มีพื้นที่ปฏิบัติการอยู่ใน จ.นราธิวาส ทั้ง อ.ศรีสาคร อ.รือเสาะ อ.ระแงะ จำนวนหนึ่งมีหมายจับติดตัว ทั้งที่เป็นหมายที่ออกตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) โดยในจำนวนนี้มี นายแวอาลีคอปเตอร์ วาจิ แกนนำคนสำคัญใน จ.นราธิวาส รวมอยู่ด้วย
นายมุคตาร์ กล่าวว่า กลุ่มเหล่านี้เป็นกลุ่มที่ต้องการวางมือ เพราะเข้าร่วมขบวนการมานานหลายปี ต้องพบกับความลำบาก ต้องหลบๆ ซ่อนๆ อยู่ในป่า ไม่ได้อยู่กับครอบครัว แต่เมื่อเวลาผ่านมาระยะหนึ่งเริ่มเห็นว่าแนวทางที่ต่อสู้อยู่น่าจะไม่ใช่แนวทางที่ถูกต้อง และอยากวางมือ หันหลังให้กับป่า กลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติสุขกับครอบครัว
อย่างไรก็ดี ปัญหาสำคัญก็คือแต่ละคนมีหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กับ หมาย ป.วิอาญา จึงต้องการหารือกับแม่ทัพผ่านไปยังรัฐบาลว่า จะสามารถช่วยอะไรได้บ้างในเรื่องที่กลุ่มคนเหล่านี้ไม่สบายใจ
ประเด็นสำคัญ 3 ประเด็นที่ต้องการเสนอและหารือร่วมกับแม่ทัพ คือ 1.คนที่มีหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จะทำอย่างไร 2.คนที่ถูกออกหมายจับตาม ป.วิอาญา จะทำอย่างไร และ 3.แนวทางการใช้ชีวิตอย่างปกติสุข ปลอดภัย มีงานทำ รัฐจะช่วยดูแลอย่างไร
"คนที่พร้อมออกมายังมีอีกเป็นร้อยๆ คน เป็นคนที่ต้องหลบหนีเพราะถูกออกหมาย บางคนเข้าๆ ออกๆ มาเลเซีย ไม่สามารถทำงานประกอบอาชีพได้ ทุกคนอยากออกมาอยู่ในที่สว่าง มีงานทำเลี้ยงดูครอบครัว และที่สำคัญที่สุดคือมีความปลอดภัย ถ้ารัฐให้ในสิ่งเหล่านี้ได้ จะมีคนวางมือและออกมาอีกมาก" นายมุคตาร์ ระบุ
ด้านแหล่งข่าวจากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) กล่าวว่า ความเคลื่อนไหวของสมาชิกขบวนการแบ่งแยกดินแดนกลุ่มนี้ เป็นผลมาจากนโยบาย "พาคนกลับบ้าน" ของแม่ทัพภาคที่ 4 คนกลุ่มนี้แสดงท่าทีและยอมพูดคุยกับฝ่ายทหารมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ติดปัญหาว่าไม่สามารถกลับมาใช้ชีวิตปกติในสังคมได้ เพราะแต่ละคนถูกออกหมายจับ จึงมีการเสนอแนวทางการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข และส่งสารไปถึงรัฐบาลว่าจะช่วยเหลือคนกลุ่มนี้อย่างไร
"เมื่อรัฐบาลมีนโยบายพูดคุยกับกลุ่มที่เห็นต่าง (นโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2555-2557 ซึ่งจัดทำโดยสภาความมั่นคงแห่งชาติ) กลุ่มคนเหล่านี้จึงออกมา เพื่อเสนอว่าหากรัฐบาลมีความจริงใจที่จะแก้ไขปัญหานี้ จะแก้ได้อย่างไร"
แหล่งข่าวจาก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ให้ข้อมูลด้วยว่า ปัจจุบันกลุ่มขบวนการไม่ได้แข็งแกร่งเหมือนเมื่อก่อน แต่กำลังคนในระดับปฏิบัติการลดลงมาก แม้จะมีแนวร่วมรุ่นใหม่เข้ามา แต่ก็มีอุดมการณ์น้อย ก่อเหตุสะเปะสะปะ ส่วนหนึ่งทำไปเพราะอามิสสินจ้าง อีกส่วนหนึ่งทำไปเพราะพัวพันกับธุรกิจผิดกฎหมาย คนที่มีอุดมการณ์เหล่านี้เคยเสี่ยงจับปืนสู้กับรัฐ ก็เลยตัดสินใจวางมือและหันหลังให้ขบวนการ
แหล่งข่าวบอกด้วยว่า กลุ่มสมาชิกขบวนการที่รวมตัวกันเข้าพบแม่ทัพภาคที่ 4 ในวันอังคารที่ 11 ก.ย. เป็นคนละกลุ่มกับที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ออกมาให้ข่าวก่อนหน้านี้ โดยกลุ่มที่จะเข้าพบแม่ทัพ เป็นกลุ่มที่เคลื่อนไหวอยู่ใน จ.นราธิวาส และส่วนใหญ่เป็นกองกำลังฝ่ายทหารของขบวนการ
ผู้สื่อข่าวถามว่า เกรงกระแสสังคมจะตีกลับหรือไม่ เพราะผู้ที่ออกมาพบแม่ทัพเป็นกลุ่มที่มีหมายจับ แต่ทางการกลับไม่จับกุมดำเนินคดี แหล่งข่าวจาก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า บอกว่า เรื่องนี้แม่ทัพก็พิจารณาอยู่นาน แต่ก็คิดว่าต้องใช้แนวทางรัฐศาสตร์มากกว่านิติศาสตร์ ถือเป็นแนวทางรับฟังกลุ่มที่คิดเห็นแตกต่างจากรัฐตามนโยบายของสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เพราะหากต้องการแก้ปัญหา ก็ไม่ควรมองว่าคนกลุ่มนี้เป็นโจรหรือคนร้าย เนื่องจากไม่ได้เป็นโจรโดยสันดาน แต่กระทำการต่างๆ ด้วยความเชื่อและอุดมการณ์
เมื่อซักอีกว่า เป็นการสร้างผลงานให้กับแม่ทัพภาคที่ 4 ในช่วงการแต่งตั้งโยกย้ายหรือไม่ แหล่งข่าว บอกว่า ไม่เกี่ยวกัน เป็นความตั้งใจที่จะแก้ไขปัญหาในช่วงที่รัฐบาลกำลังค้นหาทางออกของปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ กลุ่มคนเหล่านี้ถือเป็นตัวจริงที่ฝ่ายรัฐสมควรรับฟัง และรัฐบาลน่าจะมีความชัดเจนในข้อเสนอของกลุ่มที่ออกมาแสดงตัว เพื่อเดินหน้าแก้ไขปัญหาในขั้นต่อไป มิฉะนั้นก็จะติดขัดอยู่อย่างนี้ ยืนยันว่าคนที่ต้องการวางปืนและหันหลังให้ขบวนการยังมีอยู่อีกมาก แต่ติดที่ปัญหาหมายจับและความปลอดภัยเท่านั้น
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : แกนนำกลุ่มที่อ้างตัวว่าเป็นสมาชิกขบวนการแบ่งแยกดินแดน หารือเพื่อกำหนดท่าทีที่โรงแรมแห่งหนึ่งใน จ.นราธิวาส ในคืนวันจันทร์ที่ 10 ก.ย.ก่อนเข้าพบแม่ทัพภาคที่ 4 ในช่วงบ่ายวันอังคารที่ 11 ก.ย.
หมายเหตุ : พรางภาพโดยฝ่ายศิลป์ ทีมข่าวอิศรา