- Home
- South
- เรื่องเด่น-ภาคใต้
- สำรวจความเห็น"ชาวบ้าน-แนวร่วมพันธุ์ใหม่" เชื่อ-ไม่เชื่อ 93 สมาชิกป่วนใต้ยุติรุนแรง
สำรวจความเห็น"ชาวบ้าน-แนวร่วมพันธุ์ใหม่" เชื่อ-ไม่เชื่อ 93 สมาชิกป่วนใต้ยุติรุนแรง
คำถามที่ถามกันมากที่สุดหลังจากข่าว "กลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ" กว่า 90 ชีวิตเข้าพบแม่ทัพภาคที่ 4 เพื่อแสดงตัวยุติการก่อเหตุรุนแรง เมื่อวันอังคารที่ 11 ก.ย.ที่ผ่านมานั้น ก็คือคนเหล่านี้เป็น "ตัวจริง" หรือเปล่า?
เพราะจะว่าไป การจัดแคมเปญ "วางปืน" หรือ "หยุดยิง" หรือ "ยุติก่อความไม่สงบ" นั้น เคยเกิดขึ้นมาหลายครั้งแล้วตลอดเกือบ 9 ปีของสถานการณ์ร้ายในจังหวัดชายแดนภาคใต้
แต่แล้วก็ "เหลว" ทุกครั้ง!
ครั้งแรกที่ฮือฮาสุดๆ คือเมื่อวันที่ 17 ก.ค.2551 โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย (ทีวีพูล) ออกอากาศเทปบันทึกภาพคำแถลงของบุคคล 3 คนที่อ้างว่าเป็น "หัวหน้ากลุ่มใต้ดินรวมภาคใต้ของประเทศไทย" ประกาศหยุดยิงและหยุดก่อความไม่สงบตั้งแต่เที่ยงของวันที่ 14 ก.ค.2551 แต่หลังออกอากาศได้ไม่กี่ชั่วโมงก็ถูกเปิดโปงว่าเป็น "แกนนำกำมะลอ"
ต่อมาวันที่ 11 ก.ค.2553 กลุ่มที่อ้างชื่อว่าเป็น "ขบวนการปลดปล่อยมลายูปัตตานี" หรือ พีเอ็มแอลเอ็ม ได้ออกมาประกาศความสำเร็จของ "มาตรการหยุดยิง" ในพื้นที่ 3 อำเภอของ จ.นราธิวาส ในช่วง 1 เดือนก่อนหน้านั้น (10 มิ.ย.ถึง 10 ก.ค.2553) โดยมีเป้าหมายเพื่อต่อยอดเจรจากับรัฐบาลไทย แต่รัฐบาลไม่ขานรับ และในพื้นที่ 3 อำเภอก็ไม่ได้ปลอดจากเหตุรุนแรงเสียทีเดียว ทำให้สังคมไม่เชื่อถือ
ด้วยเหตุนี้จึงไม่แปลกที่กิจกรรมล่าสุดระหว่างแม่ทัพภาคที่ 4 กับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐจำนวน 93 คนที่สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส จะถูกตั้งคำถามจากฝ่ายต่างๆ และมีการแสดงความคิดเห็นอย่างหลากหลายในพื้นที่ โดยเฉพาะประเด็นที่เป็นข้อเสนอให้ "ถอนหมายจับ" ของบรรดาสมาชิกขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่เคยเลือกใช้ความรุนแรงในการรับใช้อุดมการณ์ของตน
"ไทยพุทธ"ผวาไม่จบจริง-วอนรัฐคิดยาวๆ
ชาวบ้านไทยพุทธที่ถูกคุกคามจากผู้ก่อความไม่สงบจนไม่สามารถอยู่ที่บ้านเดิมใน อ.บันนังสตา จ.ยะลา ได้ ต้องย้ายถิ่นฐานออกมาอยู่ในตัวเมืองยะลา กล่าวว่า ไม่ยอมรับคนพวกนี้ เพราะคนทำผิดต้องถูกนำเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย บ้านเมืองมีขื่อมีแป วันนี้จะยอมเพื่อให้สงบ แต่ถ้าหากเรายอมแล้วมันไม่จบ ใครจะมารับผิดชอบชีวิตเรา
"ที่ผู้สูญเสียทุกศาสนาโดนไปทั้งหมดที่ผ่านมายังไม่พออีกหรือ รัฐแค่บอกว่าจะจ่ายเยียวยา พูดให้เป็นข่าวก็ทิ้งเราแล้ว ก็อยากให้รัฐคิดยาวๆ จะทำอะไรนึกถึงคนส่วนน้อยบ้างว่าเขาจะเอาหรือไม่กับการตัดสินใจของรัฐ เขาจะอยู่อย่างไร จะยอมอภัยให้ได้หรือไม่กับคนที่ทำให้เขาเดือดร้อน และเราจะยอมให้คนที่มาทำให้เราเดือดร้อนกลับมาอยู่อย่างสบายหลังจากแสดงท่าทีว่าสำนึกเท่านั้นหรือ"
ชาวบ้านมุสลิมพร้อมอภัยแต่ต้องสำนึกจริง
นางยาแมะอะห์ (สงวนนามสกุล) ชาวบ้านใน จ.ยะลา ซึ่งสามีถูกยิงเสียชีวิต กล่าวว่า รู้สึกดีใจ ถ้าคนที่เคยคิดทำผิดแล้วคิดได้ก็พร้อมจะให้อภัยให้ แต่ต้องสำนึกจริงๆ ไม่ใช่แค่เพราะกลัวกฎหมาย ส่วนตัวไม่ต้องการโกรธแค้นใคร ไม่อยากมีปัญหากับใคร
ส่วนกลุ่มที่ออกมาแสดงตัวเมื่อวันอังคารที่ 11 ก.ย.เป็นตัวจริงหรือไม่นั้น ยาแมะอะห์ บอกว่า ไม่รู้ และคิดว่าไม่ใช่เรื่องสำคัญที่ต้องรู้ด้วย เชื่อแต่ว่าถ้าทุกคนร่วมมือกันแก้ปัญหา บ้านเมืองก็จะสงบได้
ขบวนการเหนื่อยมานานควรหยุดได้แล้ว
"ทหารต้องทำงานตรงไปตรงมาตามหน้าที่ ทุกฝ่ายร่วมมือกัน มีอะไรก็คุยกัน สุดท้ายปัญหาก็คงแก้ได้ ทราบว่าฝ่ายขบวนการเองก็เหนื่อยมานาน ต่อสู้อย่างไรก็ยังไม่ได้ในสิ่งที่ต้องการ ก็ควรหยุดได้แล้ว ขณะที่รัฐก็ไม่ควรสร้างปัญหาเพิ่ม ภาคใต้ก็จะสงบลงเสียที" ยาแมะอะห์ บอก
กับข้อเสนอ 3 ข้อที่ให้ถอนหมายจับและดูแลความปลอดภัยนั้น ยาแมะอะห์ มองว่า คงไม่ได้ง่าย แต่ก็ไม่ได้ยาก ถ้ารัฐจะทำให้จริงก็ทำได้ อยู่ที่ว่าจะจริงใจแค่ไหน ไม่ใช่แค่มาพูดให้เป็นข่าวแล้วจบ ถ้าเป็นอย่างนั้นจะยิ่งทำให้เกิดปัญหาทั้งฝั่งขบวนการและฝั่งชาวบ้านด้วย ที่สำคัญถ้าหากข้อเสนอ 3 ข้อนี้รัฐทำไม่ได้ ก็จะกลายเป็นเงื่อนไขที่ฝ่ายขบวนการเอาไปพูดต่อได้ว่าทหารไม่มีความจริงใจ
แนวร่วมสายพันธุ์ใหม่ไม่เชื่อ "ของจริง"
ด้านวัยรุ่นในพื้นที่ที่เข้าเป็น "นักรบสายพันธุ์ใหม่" ของขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน กล่าวว่า ไม่เชื่อว่าจะเป็นของจริง ไม่เชื่อแน่ๆ เพราะคนที่มีอุดมการณ์จะไม่หักหลังขบวนการ และจะมองในสิ่งที่รัฐทำออกว่าไม่มีความจริงใจ
"ทุกวันนี้เจ้าหน้าที่ยังสร้างความไม่เป็นธรรมให้กับชาวบ้านอยู่เลย แล้วจะมาให้ความเป็นธรรมกับกลุ่มขบวนการได้อย่างไร" เขาตั้งคำถาม
วัยรุ่นที่ตัดสินใจเข้าร่วมขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนรายนี้ ยังพูดถึงข้อเสนอ 3 ข้อของกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ ไม่ว่าจะเป็นการยกเลิกหมายจับ หมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และการคุ้มครองความปลอดภัยว่า เป็นเรื่องที่ชาวบ้านต้องการและเรียกร้องมาตลอด เพราะความเป็นธรรม ความปลอดภัย ชาวบ้านไม่เคยได้รับเลย ถ้ารัฐให้เรื่องเหล่านี้ได้ก็ดี ส่วนการปลดคดี ถอนหมายจับ ถ้าทำได้จริงก็ดี แต่ปัญหาคือจะทำจริงหรือไม่ ส่วนตัวเชื่อว่าไม่ทำ
"ที่สำคัญ คนกลุ่มที่ออกมาสามารถควบคุมเยาวชนที่ก่อเหตุอยู่ทุกวันนี้ได้หรือไม่ ถ้าคิดว่า 'เอาอยู่' ก็ดี แต่สำหรับผม แนวทางการยุติความรุนแรงอยู่ที่รัฐเท่านั้น ถ้ารัฐทำให้เห็นก่อนว่ามีความชัดเจน จริงใจ ไม่สร้างปัญหา ให้เวลากับการแก้ปัญหา ผมเชื่อว่ามันก็ดีขึ้น"
"นร.ปอเนาะ-ผู้นำศาสนา"หนุนแม่ทัพทำจริง อย่าโกหก
ขณะที่นักเรียนปอเนาะใน จ.ปัตตานี ซึ่งยืนยันว่าตนเองไม่ได้เป็นแนวร่วมของขบวนการแบ่งแยกดินแดน กล่าวว่า ปัญหาในพื้นที่จะสงบได้ถ้าชาวบ้านร่วมมือ ฉะนั้นคนที่ออกมาแสดงตัวทั้งหมดเมื่อวันอังคารที่ 11 ก.ย.เชื่อว่ามีทั้งของจริงและไม่จริงที่อยู่ในขบวนการ เพราะมีบางคนที่รู้จัก แต่ก็ถือว่าเป็นเรื่องดีที่ออกมาพูดคุยกัน
"ข้อเรียกร้อง 3 ข้อที่กลุ่มผู้เห็นต่างขอ แล้วแม่ทัพบอกว่าจะให้ แม่ทัพก็ต้องทำจริงอย่างที่พูด เชื่อว่าถ้าทำได้กลุ่มขบวนการจะอ่อนลง สถานการณ์จะดีขึ้น เรื่องความเป็นธรรมและความปลอดภัย ชาวบ้านเรียกร้องมานาน ครั้งนี้คิดว่าถ้าแม่ทัพทำได้ 3 ข้อจริงๆ แปลว่าแม่ทัพไม่ได้แก้ปัญหาให้กับคนในขบวนการอย่างเดียว แต่แม่ทัพยังแก้ปัญหาให้กับชาวบ้านด้วย แต่สิ่งสำคัญคือต้องทำจริง ไม่โกหก"
นายนิมุ มะกาเจ ผู้ทรงคุณวุฒิจังหวัดยะลา ผู้นำศาสนาชื่อดัง กล่าวคล้ายกันว่า เป็นเรื่องดีที่กลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐได้พบปะพูดคุยกับแม่ทัพภาคที่ 4 เพราะการพูดคุยกันเป็นแนวทางที่ถูกต้องและเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างสันติสุข ส่วนข้อเสนอ 3 ข้อของกลุ่มผู้เห็นต่างนั้น คิดว่าแม่ทัพและรัฐบาลน่าจะทำได้ไม่ยาก และหากทำได้ก็จะปลดล็อคให้กลุ่มที่เห็นต่างจากรัฐยุติการใช้ความรุนแรงได้มากขึ้นกว่าเดิม
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ภาพถ่ายจากด้านหลังขณะ "กลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ" กำลังนั่งฟังนโยบายของแม่ทัพภาคที่ 4 ที่หอประชุมในสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส วันอังคารที่ 11 ก.ย.2555 (ภาพโดย อับดุลเลาะ หวังหนิ)