วิเคราะห์ 4 ปัจจัยใต้ป่วน...ตอบโต้ความสำเร็จ"พาคนกลับบ้าน"?
การพยายามก่อเหตุรุนแรงในเวลาใกล้เคียงกันในพื้นที่ 4 อำเภอของ จ.นราธิวาส และปัตตานี เมื่อช่วงเช้าวันแรกของเดือน ส.ค. ทำให้บรรยากาศ "เงียบๆ" แบบเรื่อยๆ มาเรียงๆ ที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ถูกทำลายลงด้วยเสียงระเบิด
ทั้งที่จะว่าไปตั้งแต่หลังผ่านพ้นเดือนรอมฎอน (เดือนแห่งการถือศีลอดของพี่น้องมุสลิม) เป็นต้นมา คือปลายเดือน มิ.ย.ต่อเนื่องเดือน ก.ค.ตลอดทั้งเดือน ก็มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นเป็นระยะ ไม่ว่าจะเป็นมอเตอร์ไซค์บอมบ์ที่ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส กราดยิงฐานทหาร ร้านอาหารและชุมชนไทยพุทธ 2 รอบใน อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เหตุยิงพ่อค้าเร่ที่ขับรถตระเวนขายที่นอนจนเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บที่ อ.ยะรัง จ.ปัตตานี ฯลฯ
แต่ก็ต้องยอมรับว่าการก่อเหตุในช่วงที่ผ่านมา ไม่สามารถส่งสัญญาณเชิงสัญลักษณ์ รวมถึงไม่สามารถแย่งชิงพื้นที่ข่าวได้เท่าที่ควร
ล่าสุดวันที่ 1 ส.ค.จึงเลือกก่อเหตุด้วยระเบิด และวางจังหวะเวลาให้ใกล้เคียงต่อเนื่องกัน คือตั้งแต่ตี 5 ถึงเกือบๆ 9 โมงเช้า วิธีการวางระเบิด เป็นมอเตอร์ไซค์บอมบ์ 2 ลูก (ที่ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส) ไปป์บอมบ์ 1 ลูก (ที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส) และระเบิดถังแก๊ส (ที่ อ.ไม้แก่น จ.ปัตตานี) ส่วนที่ อ.มายอ จ.ปัตตาน เก็บกู้ได้
ระเบิดทุกจุดสร้างความสูญเสียจริงๆ เพียงจุดเดียว คือ ที่ อ.ไม้แก่น ทำให้ อส.(อาสารักษาดินแดน) ชุดลาดตระเวนเส้นทางเพื่อรักษาความปลอดภัยครู เสียชีวิต 2 นาย บาดเจ็บอีก 4 นาย
แต่นั่นก็มากพอที่จะทำให้สังคมไทยได้ตระหนักว่า สถานการณ์ที่ชายแดนใต้ยังไม่ได้สงบราบเรียบ หรือดีขึ้นมากเหมือนที่รัฐบาลประกาศ ขณะที่การต่อสู้โดยใช้ความรุนแรงยังคงมีอยู่ต่อไป ทั้งยังสามารถโจมตีหลายจุดในเวลาใกล้เคียงกันได้ แม้จะไม่ใช้ลักษณะ "ปูพรม" หลายสิบจุดเหมือนสมัยก่อนก็ตาม
คำถามที่ตามมาก็คือ การพยายามก่อเหตุรุนแรงในช่วงนี้มีสาเหตุ หรือ "แรงจูงใจ" จากอะไร?
หากพิจารณาสถานการณ์ในภาพรวม จะพบประเด็นที่น่าจะเป็น "แรงจูงใจ" ได้ 3-4 ประเด็น กล่าวคือ
1.เป็นการก่อเหตุรุนแรงของกลุ่มที่ต่อสู้กับรัฐ หลังจากทิ้งช่วงการก่อเหตุรุนแรงขนาดใหญ่ไปนานพอสมควร ขณะที่เดือน ส.ค.ก็มีวันสำคัญเชิงสัญลักษณ์หลายวัน เช่น 31 ส.ค.เป็นวันชาติมาเลเซีย และเป็นวันสำคัญของขบวนการพูโล เมื่อหลายปีก่อนเคยมีการแขวนธงชาติมาเลย์พรึ่บหลายร้อยจุดในคืนเดียวมาแล้ว การพยายามก่อเหตุช่วงนี้ เพื่อประกาศว่ากลุ่มที่ต่อสู้กับรัฐยังคงอยู่ ทั้งยังอาจเรียกขวัญกำลังใจของบรรดานักรบรุ่นใหม่ที่เพิ่งเข้าร่วมวงจรก่อเหตุรุนแรงด้วย (ดูจากหลายๆ เหตุการณ์ที่มีการใช้ระเบิด แต่ยังไม่เข้าเป้าเท่าที่ควร น่าจะเป็นเพราะปฏิบัติการของมือใหม่)
2.กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ กำลังอยู่ในช่วงพิจารณาเพื่อกำหนด "พื้นที่ปลอดภัย" อำเภอแรกในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยความเคลื่อนไหวก่อนหน้านี้ คณะพูดคุยชุดเล็ก (คณะทำงานเทคนิคร่วม) ได้มีมติเห็นชอบตัดขั้นตอนการตั้งคณะทำงานร่วม 2 ฝ่ายเพื่อประเมินความพร้อมของพื้นที่ที่จะประกาศพื้นที่ปลอดภั้ย ด้วยเหตุผลเรื่องความปลอดภัย และลดขั้นตอนทางกฎหมาย (เนื่องจากหากจะให้ตัวแทนปาร์ตี้ B หรือ มารา ปาตานี เข้ามาร่วมเป็นคณะทำงาน อาจต้องมีกระบวนการนิรโทษความผิดเป็นการชั่วคราวสำหรับผู้ที่มีหมายจับในคดีความมั่นคง)
เมื่อลดขั้นตอนประเมินพื้นที่ ก็จะทำให้การกำหนดพื้นที่ปลอดภัย ทำได้เร็วขึ้น การก่อเหตุรุนแรงอาจเป็นการตอบโต้เรื่องนี้ และทำให้ทิศทางการเลือกพื้นที่ปลอดภัยทำได้ยากขึ้น เพราะพื้นที่ไหนๆ ก็เกิดเหตุรุนแรง แม้แต่ อ.ไม้แก่น จ.ปัตตานี ที่มีสถิติเหตุุรุนแรงค่อนข้างต่ำมาตลอด
3.อาจเป็นปฏิบัติการตอบโต้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงที่วิสามัญฆาตกรรมแนวร่วมผู้ก่อความไม่สงบ ซึ่งมีบางคนเป็นแกนนำสำคัญในระดับปฏิบัติการ ซึ่งตั้งแต่ปลายเดือน มิ.ย.ถึงเดือน ก.ค.ตลอดทั้งเดือน ก็มีเหตุปิดล้อม ตรวจค้น จับกุม และวิสามัญฆาตกรรมหลายครั้ง บางครั้งมีคำถามหนาหูในพื้นที่ด้วยว่า เป็นการยิงต่อสู้จริงหรือไม่
และ 4.ช่วงครึ่งหลังของเดือน ก.ค. มีการจัดกิจกรรม "พาคนกลับบ้าน คืนคนดีสู่สังคม" การเร่งก่อเหตุรุนแรงอาจเพื่อต้องการข่มขู่บรรดาแนวร่วมที่กำลังคิดและตัดสินใจจะร่วม "โครงการพาคนกลับบ้าน" หรือต้องการแสดงให้ฝ่ายรัฐเห็นว่า โครงการนี้ไม่ได้มีผลใดๆ กับกลุ่มคนที่ต่อสู้กับรัฐเลย
จากการประเมิน "แรงจูงใจ" ทั้งหมด หลายฝ่ายให้น้ำหนักไปที่ข้อ 4 คือตอบโต้กิจกรรม "พาคนกลับบ้าน คืนคนดีสู่สังคม" มากที่สุด เพราะกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.) จัดกิจกรรมนี้ต่อเนื่อง 3 ครั้งใน 3 จังหวัด คือวันที่ 23 ก.ค. จัดที่ จ.นราธิวาส กับยะลา และ 31 ก.ค.จัดที่ จ.ปัตตานี โดยแต่ละจังหวัดเป็นกิจกรรมใหญ่ มี "คนกลับบ้าน" มาร่วมงานจังหวัดละเป็นพันคน เฉพาะ จ.นราธิวาส มากถึง 2,066 คน
ไฮไลท์ของกิจกรรมทั้ง 3 จังหวัด คือกาารส่งมอบบัญชีรายชื่อผู้ที่ได้รับการปลดเปลื้องพันธะทางกฎหมาย พูดง่ายๆ คือยกเลิก "หมาย" เช่น หมาย พ.ร.ก. หมายเชิญตัว ฯลฯ พร้อมประสานฝ่ายตำรวจและฝ่ายปกครอง เพื่อให้ได้รับข้อมูลตรงกันว่าคนเหล่านี้ไม่มีพันธะทางกฎหมายใดๆ อีก สามารถใช้ชีวิตกับครอบครัวอย่างปกติสุขได้ 100%
บัญชีผู้ได้รับการปลดเปลื้องพันธะทางกฎหมาย เฉพาะ จ.นราธิวาส สูงถึง 1,924 คน!
นี่อาจจะเป็น "จุดเปลี่ยน" ของโครงการพาคนกลับบ้านที่อาจดำเนินมาอย่างกระท่อนกระแท่น และบางมุมก็ถูกวิจารณ์ค่อนข้างหนัก แต่หลังจากต่อยอดโครงการมานานกว่า 5 ปี ประกอบกับฝ่ายที่ต่อสู้กับรัฐ สู้มานานก็ยังไม่ชนะเสียที ทำให้แนวร่วมบางส่วนหันมาเข้าโครงการ อย่างน้อยก็ได้กลับบ้าน ปลดหมาย
แม้บางฝ่ายจะมองในแง่ร้ายว่า คนเหล่านี้ไม่ใช่แกนนำตัวจริง หรือไม่ก็ไม่ได้เต็มใจร่วมมือกับรัฐจริงๆ แต่ประเด็นสำคัญที่ต้องไม่ลืมก็คือ รัฐมีกระบวนการจัดเก็บข้อมูล เมื่อเข้าร่วมโครงการพาคนกลับบ้าน คนเหล่านี้จะกลับมาอยู่ในที่สว่าง และถูกตรวจสอบได้ทุกเมื่อ
ขณะที่ พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4 ก็ "ลด แลก แจก แถม" ให้ผู้ที่กำลังลังเลใจ ตัดสินใจได้ง่ายขึ้น โดยเพิ่มช่องทางในการเข้าโครงการพาคนกลับบ้านมากขึ้นกว่าเดิม ได้แก่
1.โทรหาแม่ทัพภาคที่ 4 โดยตรง ซึ่ง พล.ท.ปิยวัฒน์ จะเดินทางไปรับถึงที่ทันที (นั่งเฮลิคอปเตอร์)
2.ให้ติดต่อหน่วยงานในพื้นที่ได้ทุกหน่วย ทั้งหน่วยงานทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง หรือบุคคลที่อยู่ในหน่วยงานรัฐที่ไว้ใจ
3.หากยังหวาดระแวง ไม่กล้าเข้ามาหาเจ้าหน้าที่รัฐด้วยตนเอง ก็สามารถให้ญาติเป็นผู้ประสานงานแทนได้ และฝ่ายความมั่นคงจะดูแลความปลอดภัยให้กับญาติพี่น้องของกลุ่มผู้ที่คิดเห็นต่างจากรัฐด้วย
4.เชิญผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย (ผู้ผ่านโครงการพาคนกลับบ้าน) จากทุกพื้นที่ มาเป็นวิทยากรและเล่าถึงประสบการณ์ของตนเองให้ฟัง โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือ ผู้นำศาสนา ผู้นำท้องถิ่น ญาติพี่น้องของผู้ที่คิดเห็นต่างจากรัฐ และประชาชนทั่วไป เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้รับทราบถึงผลดีของการเข้าร่วมโครงการพาคนกลับบ้าน และจะสัญจรไปทุกพื้นที่เพื่อนำพาความสันติสุขกลับคืนสู่ดินแดนปลายด้ามขวานโดยเร็ว
ทั้งหมดนี้อาจกำลังเป็น "จุดเปลี่ยนไฟใต้" ในสถานการณ์ที่สุกงอมเต็มที จนฝ่ายที่ยังจับอาวุธต่อสู้อยู่ ทนไม่ไหว ต้องตอบโต้เพื่อหยุดยั้งโครงการ!
----------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 จำนวน "คนกลับบ้าน" ที่เข้าร่วมกิจกรรมที่ จ.นราธิวาส แน่นห้องประชุม
2 บัญชีรายชื่อผู้ปลดเปลื้องพันธะทางกฎหมาย
อ่านประกอบ :
แจงงบ 106 ล้านสร้าง "หมู่บ้าน" รองรับ "คนกลับบ้าน"
เปิดงบโครงการพาคนกลับบ้าน ปีเดียว 106 ล้าน!
ตัวเลข "คนกลับบ้าน" จ่อครึ่งหมื่น!
ดราม่าคนกลับบ้าน! แม่ทัพขึ้น ฮ.บินรับมอบตัวผู้ต้องหาคดีความมั่นคง
"รับฟังเสียงที่แตกต่าง-พาคนกลับบ้าน" วิสัยทัศน์ดับไฟใต้ของแม่ทัพภาค 4 คนใหม่
80สมาชิกป่วนใต้ถกแม่ทัพภาค4 เสนอปลด "หมายจับ" แลกวางปืน
แม่ทัพ4พร้อมเลิก พ.ร.ก.รับกลุ่มป่วนใต้วางมือ แย้ม "สะแปอิง-มะแซ"รอดูท่าที
เปิดใจ"อาร์เคเค"กลับใจ "ลูก-เมีย"เงื่อนไขนักรบวางปืน
สำรวจความเห็น"ชาวบ้าน-แนวร่วมพันธุ์ใหม่" เชื่อ-ไม่เชื่อ 93 สมาชิกป่วนใต้ยุติรุนแรง
เปิดตัวเลข "ผู้เห็นต่าง" เข้าร่วมโครงการ "พาคนกลับบ้าน" 983 ราย
วงถก400ผู้เห็นต่างฯ ชงรื้อข่าวกรอง-เลิกหมายจับ–ตั้งนิคมรองรับกลับบ้าน
อดีตผู้ต้องสงสัยฯงงถูกเกณฑ์พบ"ประวิตร" เหมาร่วม"พาคนกลับบ้าน" เบี้ยเลี้ยง200