- Home
- South
- เรื่องเด่น-ภาคใต้
- แม่ทัพ4พร้อมเลิก พ.ร.ก.รับกลุ่มป่วนใต้วางมือ แย้ม "สะแปอิง-มะแซ"รอดูท่าที
แม่ทัพ4พร้อมเลิก พ.ร.ก.รับกลุ่มป่วนใต้วางมือ แย้ม "สะแปอิง-มะแซ"รอดูท่าที
กลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ 93 ชีวิตเข้าพบแม่ทัพภาค 4 ยื่น 3 ข้อเสนอในนาม "กลุ่มปลดปล่อยความขัดแย้งเขตปกครองใหม่มลายูปัตตานี" ให้รัฐพิจารณาเรื่องหมายจับ ร่วมแก้ความขัดแย้ง และกำหนดนโยบายให้สอดคล้องกับวิถีชีวิต เผย "แวอาลีคอปเตอร์-อับดุลรอซะ" สองแกนนำสำคัญนราธิวาสร่วมแสดงตัวด้วย แย้ม "สะแปอิง-มะแซ" กำลังรอดูท่าที ขณะที่แม่ทัพภาค 4 ลั่นพร้อมเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ผบ.ทบ.หนุนเป็นความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่
ที่หอประชุมบรมราชกุมารี สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส เมื่อวันอังคารที่ 11 ก.ย.2555 พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 ได้เป็นประธานการแสดงตัวยืนยันเพื่อยุติการต่อสู้ด้วยอาวุธของกลุ่มสมาชิกขบวนการที่อ้างอุดมการณ์ แบ่งแยกดินแดน ซึ่งเรียกตัวเองว่า "กลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ" จำนวน 93 คน
กลุ่มดังกล่าวมีแกนนำคนสำคัญของขบวนการร่วมด้วยหลายคน อาทิ นายแวอาลีคอปเตอร์ วาจิ หรือ "เจ๊ะอาลี" ซึ่งเคยถูกทางการไทยตั้งรางวัลนำจับถึง 1 ล้านบาท เพราะเชื่อว่าเป็นตัวการใหญ่ในการนำกำลังบุกปล้นอาวุธปืนจากกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส (ค่ายปิเหล็ง) เมื่อวันที่ 4 ม.ค.2547 ทำให้เจ้าหน้าที่ทหารเสียชีวิต 4 นาย
นอกจากนั้น ยังมี นายอับดุลรอซะ คาร์เด ที่เคยถูกจับกุมในคดีความมั่นคงหลายคดี ต้องใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจำนานกว่า 3 ปี โดยเป็นแกนนำในการเจรจากับเจ้าหน้าที่รัฐช่วงที่เกิดจลาจลในเรือนจำจังหวัดนราธิวาสด้วย สุดท้ายศาลยกฟ้อง เพิ่งได้รับอิสรภาพเมื่อ 2 เดือนเศษที่ผ่านมา เป็นต้น
ยื่น 3 ข้อเสนอในนามกลุ่มปลดปล่อยความขัดแย้งฯ
กิจกรรมในครั้งนี้เป็นไปตามนโยบาย"พาคนกลับบ้าน" ของ พล.ท.อุดมชัย ซึ่งได้ประกาศรับฟังความคิดของกลุ่มที่เห็นต่าง และพาคนที่หนีอยู่ในต่างประเทศ หรือนักรบที่ต้องหลบอยู่ตามป่าเขา กลับคืนสู่บ้านและครอบครัว โดยจะให้ความเป็นธรรมเรื่องคดีความ
โอกาสนี้ กลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐได้ทำจดหมายเปิดผนึกเสนอต่อแม่ทัพภาคที่ 4 ในนาม Badan Penyelarasan Wawasan Baru Melayu Patani หรือ "กลุ่มปลดปล่อยความขัดแย้งเขตปกครองใหม่มลายูปัตตานี" โดยมีรายละเอียด 3 ข้อคือ
1.รัฐมีมาตรการดำเนินการต่อผู้ที่ยุติบทบาทความรุนแรงต่อรัฐ โดยเฉพาะผู้ที่มีหมายจับอย่างไร
2.รัฐจะจัดการความขัดแย้งให้เป็นรูปธรรมอย่างไรเพื่อให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการสร้างสันติภาพในพื้นที่
3.รัฐมีหลักประกันเช่นไรในการกำหนดนโยบายเพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างเป็นรูปธรรม
"เราคาดหวังคำตอบที่เป็นรูปธรรมจะเป็นก้าวสำคัญที่จะสร้างสังคมให้มีความสันติสุข และยุติความรุนแรงโดยสิ้นเชิง ถึงแม้อาจจะมีบางคนบางกลุ่มยังคงต้องการเคลื่อนไหวด้วยวิธีรุนแรง แต่ในที่สุดก็จะเป็นส่วนน้อยและสุดโต่งในทัศนะของมวลชนส่วนใหญ่" จดหมายเปิดผนึก ระบุตอนหนึ่ง
เผย"สะแปอิง-มะแซ"รอดูท่าที
จากนั้นได้มีการพูดคุยหารือกันระหว่างแม่ทัพภาคที่ 4 กับกลุ่มผู้ที่เห็นต่างจากรัฐ ซึ่งมี นายมุคตาร์ ซีกะจิ โฆษกพรรคประชาธรรม เป็นผู้ประสานงาน โดยมีการให้ข้อมูลระหว่างการหารือว่า หากรัฐดูแลและให้ความเป็นธรรมกับ นายแวอาลีคอปเตอร์ และผู้ที่ได้แสดงตัวทั้งหมดได้ อีกไม่นาน นายสะแปอิง บาซอ และ นายมะแซ อุเซ็ง ที่เชื่อกันว่าเป็นแกนนำคนสำคัญที่สุดของขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน และหลบหนีอยู่ในต่างประเทศ จะประสานเพื่อออกมาแสดงตัวยืนยันยุติการต่อสู้กับรัฐเช่นเดียวกัน โดยเงื่อนไขสำคัญคือความชัดเจนในเรื่องของคดีความ
แม่ทัพภาค 4 พร้อมเลิก "พ.ร.ก.-หมาย ฉฉ"
พล.ท.อุดมชัย กล่าวว่า กลุ่มที่มาร่วมพูดคุยครั้งนี้ถือเป็นผู้กล้า เป็นนักรบที่มีความคิดเห็นแตกต่างจากรัฐ ไม่ใช่อาชญากรโดยสันดาน การพูดคุยครั้งนี้ไม่มีการต่อรอง แต่เป็นการพูดคุยเพื่อสร้างสันติภาพและนำความสงบสุขกลับมาสู่พื้นที่ ได้มีการเจรจาสร้างความเข้าใจถึงแนวทางที่ผ่านมาว่าเป็นการกระทำไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะการต่อสู้ด้วยอาวุธเพื่อทำร้ายซึ่งกันและกัน เนื่องจากทุกคนเป็นคนไทยเหมือนกัน
อย่างไรก็ตาม หลังจากการพูดคุยครั้งนี้แล้ว หากพื้นที่มีความสงบสุขขึ้น อาจจะมีการยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่อาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ผู้ที่ถูกออกหมาย พ.ร.ก.ทั้งหมด (เรียกว่าหมาย ฉฉ.) ก็จะถูกยกเลิกหมายไปโดยปริยาย
"ส่วนตัวผมเชื่อว่าพื้นที่จะมีความสงบในไม่ช้า จะมีก็เพียงบางส่วนที่ยังหลงผิดสร้างสถานการณ์อยู่ ก็ต้องเป็นภาระของเจ้าหน้าที่ที่จะต้องดูแล ควบคุม และสร้างความเข้าใจกันต่อไป" พล.ท.อุดมชัย กล่าว
"ประยุทธ์"ลั่นเป็นความสำเร็จอันยิ่งใหญ่
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) กล่าวถึงกรณีกลุ่มสมาชิกขบวนการแบ่งแยกดินแดนยอมแสดงตัวกับแม่ทัพภาคที่ 4 เพื่อยุติการสู้รบด้วยอาวุธว่า เป็นความก้าวหน้าที่ไม่สามารถพูดได้ก่อน แต่ที่ผ่านมามีการติดต่อและพยายามพูดคุยกันมาตลอด โดยภาคประชาสังคม ภาคประชาชน และพ่อแม่ญาติพี่น้องของคนเหล่านี้ซึ่งมีอยู่แล้ว
ขอยืนยันว่ากองทัพเปิดโอกาสให้ตลอด แต่ขึ้นอยู่กับว่ารัฐจะสามารถดูแลผู้ที่เห็นต่างจากรัฐได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งทั้งหมดมั่นใจการทำงานของเจ้าหน้าที่ที่แสดงออกถึงความจริงใจในการแก้ไขปัญหา ไม่ได้ใช้ความรุนแรง เพราะรัฐบาลใช้ทุกมิติในการแก้ไขปัญหา
"ที่สำคัญคือพวกเขาเห็นความโหดร้ายของฝ่ายผู้ก่อเหตุรุนแรง เพราะคนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรง พวกเขาจึงพยายามออกมาแสดงตัวกับทางเจ้าหน้าที่ ส่วนอีกฝ่ายพยายามกดไม่ให้กลุ่มเหล่านี้เข้ามาแสดงตัวและพูดคุย ดังนั้นพวกเขาจึงใช้ความรุนแรงเข้ามาสู้กัน ซึ่งวันนี้ถือเป็นความสำเร็จอันยิ่งใหญ่อีกก้าวหนึ่ง และหลังจากนี้เรื่องอื่นคงจะตามมา" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
ยันทั้งหมดเป็นผู้ก่อเหตุตัวจริง
ผู้สื่อข่าวถามว่า กลุ่มคนที่แสดงตัวถือเป็นผู้ร่วมขบวนการตัวจริงหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ได้มีการตรวจสอบแล้ว โดยทั้ง 80 คนมีรายชื่อในหมายจับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) และรายชื่อในทำเนียบกำลังรบของผู้ก่อความไม่สงบซึ่งกองทัพได้จัดทำขึ้น ทุกอย่างต้องมาพิสูจน์กันว่าใช่หรือไม่ใช่ เพื่อแสดงความจริงใจต่อกัน
"อย่าไปกังวล ถ้าไม่ใช่ก็ไม่ใช่ แต่ถ้าไม่ใช่ กลุ่มคนเหล่านี้จะมาให้จับทำไม ยืนยันว่าเราทำงานตามหลักการ และจะต้องตรวจสอบให้ละเอียด ที่ผ่านมาตรวจสอบยาก เพราะจะต้องมีการตรวจสอบว่ากลุ่มคนเหล่านี้รู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือไม่ ถูกหลอกจริงหรือไม่ หรือคดีจบไปแล้วทำจริงหรือเปล่า ทุกอย่างต้องตรวจสอบก่อนที่จะนำไปสู่กระบวนการแก้ไขปัญหา ขั้นตอนทำให้ช้า จึงทำให้กลุ่มก่อเหตุไม่มั่นใจเรื่องความปลอดภัย จึงได้ดึงเวลามาเรื่อยๆ"
"เฉลิม"โยง42แนวร่วม-แขวะฆ่าคนอื่นไม่ควรได้สิทธิพิเศษ
ด้าน ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เรื่องแนวร่วมเข้าแสดงตัว เขาไม่ได้เข้าไปก้าวก่าย เพราะเป็นเรื่องของฝ่ายทหารและ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรี ดูแลอยู่ แต่ในส่วนของเขาที่เคยได้รับการติดต่อจากกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ 42 ราย ปรากฏว่ามีเงื่อนไขรับไม่ได้ เพราะถูกจับตาม ป.วิอาญา
"ไปฆ่าเขา พยายามฆ่าแล้วขอมอบตัว ขอรับสิทธิพิเศษ ซึ่งผมทำไม่ได้ แต่ถ้าถูกจับตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อันนี้ได้ ถ้าฆ่าคนตายแล้วเขารับสารภาพแล้วเลิกกัน แล้วญาติคนตายเขาจะยอมหรือ นี่คือแนวคิดของผม"
ร.ต.อ.เฉลิม ยืนยันด้วยว่า การแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องมีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 3 จังหวัด แต่คนในรัฐบาลไม่กล้าพูดเพราะมันสุ่มเสี่ยง ฉะนั้นเขาจะไม่หารือในพรรคเพื่อไทย แต่จะปรึกษากับทีมงานที่รัฐสภา เพราะใช้ ส.ส.จำนวน 21 คนก็สามารถเสนอร่างพระราชบัญญัติได้แล้ว ทั้งนี้จะไม่นำพรรคเพื่อไทยมาเกี่ยว เพราะเดี๋ยวจะมีปัญหา
ต่ออายุ "พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ" อ้างเหตุร้ายลด ชาวบ้านหนุน
วันเดียวกัน นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ว่า ที่ประชุมได้อนุมัติตามที่สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เสนอขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วย จ.นราธิวาส ยะลา และปัตตานี (ยกเว้น อ.แม่ลาน) ออกไปอีกเป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 20 ก.ย. ถึง 19 ธ.ค.2555
นายอนุสรณ์ กล่าวว่า ช่วงที่มีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก่อนจะมีการต่ออายุนั้น เหตุรุนแรงในช่วง 3 เดือนก่อนหน้านี้มีการก่อเหตุ 158 เหตุการณ์ ลดลง 41 เหตุการณ์ โดยก่อนต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ สมช.ได้จัดให้มีเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยบูรพา ร่วมกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ลงไปทำแบบสอบถามและรวบรวมตัวอย่างข้อมูลระหว่างวันที่ 10 ก.ค. -26 ส.ค.2555 ปรากฏว่าประชาชน 62.18% เห็นว่าไม่ควรยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และควรต่ออายุ พ.ร.ก.ออกไป ส่วนแนวโน้มสถานการณ์ในภาพรวมดีขึ้น เหตุระเบิดขนาดใหญ่ที่มีนัยยะสำคัญลดลง
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 พล.ท.อุดมชัย จับมือกับ แวอาลีคอปเตอร์ วาจิ แกนนำผู้ที่เห็นต่างจากรัฐคนสำคัญจาก จ.นราธิวาส
2 แม่ทัพภาคที่ 4 ระหว่างการแถลงเปิดใจ (ภาพทั้งหมดโดย อับดุลเลาะ หวังหนิ)
ขอบคุณ : เนื้อหาข่าวบางส่วนจากสำนักข่าวเนชั่น