ลงพื้นที่ปะนาเระตามดู "หมู่บ้านคนกลับบ้าน" ที่แท้ใช้พื้นที่นิคมฮาลาลฯ
หลังจาก "ทีมข่าวอิศรา" ได้เปิดตัวเลขงบประมาณในโครงการพาคนกลับบ้าน เฉพาะในส่วนของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. ปี 2559 เพียงปีเดียว สูงถึง 106 ล้านบาทเศษนั้น
โดยงบในส่วนนี้เกือบทั้งหมด คือราว 96 ล้านบาท เป็นค่าที่ดินและสิ่งก่อสร้าง และในจำนวนนี้ราว 50 ล้านบาท เป็นการก่อสร้างถนนใน อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี ที่เหลือเป็นโครงการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคและแหล่งน้ำ
ต่อมามีคำชี้แจงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระบุว่า การก่อสร้างดังกล่าวคือการก่อสร้าง "หมู่บ้านสันติสุข" เพื่อรองรับ "คนกลับบ้าน" ที่ยังหวาดระแวง ไม่กล้ากลับไปอยู่ภูมิลำเนาเดิม
"ทีมข่าวอิศรา" ตรวจสอบเอกสารเพิ่มเติม พบว่า โครงการก่อสร้างถนนที่จะมีการดำเนินการนั้น เป็นถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก ขนาดกว้าง 6 เมตร ยาว 4,000 เมตร ไหล่ทางลูกรังข้างละ 1 เมตร บริเวณพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล ต.น้ำบ่อ อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี วงเงินงบประมาณทั้งสิ้น 26,678,000 บาท
นอกจากนั้นยังมีเอกสารประมาณการราคาก่อสร้าง โครงการการสร้างที่พักอาศัยและชุมชนรองรับผู้ที่ไม่สามารถกลับสู่ชุมชนเดิมได้ จำนวน 30 หลัง ที่ ต.น้ำบ่อ อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี เช่นกัน คาดว่าใช้งบเป็นค่าก่อสร้างจำนวน 24,051,000 บาท แต่ยังไม่ชัดว่าเม็ดเงินส่วนนี้ใช้งบประมาณปี 2560 หรือไม่ เพราะเอกสารประมาณการราคาก่อสร้าง ลงวันที่ 1 ธ.ค.59 ซึ่งอยู่ในปีงบประมาณ 2560
นายภาณุ อุทัยรัตน์ อดีตเลขาธิการ ศอ.บต. ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งเลขาธิการ ครม.ส่วนหน้า กล่าวกับ "ทีมข่าวอิศรา" ว่า การตั้งหมู่บ้านสันติสุข ใช้พื้นที่บริเวณด้านหลังของนิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล ถือเป็นหมู่บ้านเพื่อรองรับ "คนกลับบ้าน" ในระยะแรกที่อาจจะยังไม่พร้อมกลับไปอาศัยยังภูมิลำเนาเดิม แต่การอาศัยอยู่จะเป็นการอยู่เพียงชั่วคราวเพื่อฝึกอาชีพ ไม่ใช่อยู่ถาวร และอาจเปิดให้สามารถพาครอบครัวมาพำนักอยู่ด้วยได้
คำชี้แจงของนายภาณุ สอดคล้องกับ พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ที่อธิบายไว้ก่อนหน้านี้ว่า โครงการพาคนกลับบ้านในปัจจุบันดำเนินการอย่างเป็นระบบ ครบวงจร ตั้งแต่รับรายงานตัว อำนวยความสะดวกในการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม หากใครติดหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พิจารณาแล้วถ้าปลดหมายได้ก็ปลด คนไหนมีหมาย ป.วิอาญา ก็ดำเนินกรรมวิธี มีการปรับทัศนติตามโครงการประชาร่วมใจ เพราะบางคนถูกบ่มเพาะ ซุมเปาะ (สาบานตนต่อคัมภีร์อัลกุรอาน) และบิดเบือนหลักการทางศาสนา จึงต้องมีการปรับทัศนคติก่อน จากนั้นจึงเข้าสู่ขั้นตอนสุดท้าย คือ สร้างงาน สร้างอาชีพ อบรมวิชาชีพตามความต้องการของแต่ละคน โดยมีศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจัดอบรมให้ และแจกจ่ายอุปกรณ์การปกครองอาชีพ ก่อนส่งคืนสู่สังคม
ที่ผ่านมา "คนกลับบ้าน" ที่ต้องกลับไปอยู่ในภูมิลำเนาเดิม บางคนไม่มีความมั่นใจในความปลอดภัย ทาง ศอ.บต.จึงทำ "โครงการบ้านสันติสุข" เพื่อรองรับกลุ่มที่เข้ารายงานตัวและฝึกอาชีพแล้ว แต่ไม่มีความมั่นใจในการกลับภูมิลำเนา ก็ให้มาพักอยู่ชั่วคราวก่อนที่บ้านสันติสุข ซึ่งทาง ศอ.บต.มีที่พักให้ และมีฟาร์มสำหรับประกอบอาชีพได้ โดยเลือกพื้นที่ อ.ปะนาเระ ในการสร้างหมู่บ้านสันติสุข
จากการลงพื้นที่ของ "ทีมข่าวอิศรา" พบว่าพื้นที่โดยรอบนิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการหมู่บ้านสันติสุขนั้น ปัจจุบันยังเงียบสงบ มีถนนใหม่เอี่ยมที่เพิ่งสร้างเสร็จตัดเข้าไปในพื้นที่ ระหว่างทางมีการตั้งฐานปฏิบัติการและด่านลอยของทหารอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะพื้นที่รอบๆ นิคมอุตสาหกรรมฯ มีทหารพรานรับผิดชอบ 1 กองร้อยด้วย
อย่างไรก็ดี นิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลภายในมีแต่อาคาร ไม่มีใครอยู่ และไม่มีบริษัทใดๆ เข้าไปลงทุนเดินสายการผลิต เพราะการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ กนอ. ได้ประกาศยุบเขตนิคมอุตสาหกรรมบริเวณนี้ ตั้งแต่เดือน เม.ย.59 (อ่านประกอบ ยุบเขตอุตสาหกรรมนิคมฮาลาลปัตตานี สะมะแอ ท่าน้ำ มึน-หวังแค่เปลี่ยนผู้ดูแล) หลังจากนั้นนิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลปัตตานีก็ถูกทิ้งร้าง มีเพียงคนดูแลเฝ้าอยู่ 2-3 คนเท่านั้น เมื่อ "ทีมข่าวอิศรา" ไปถึงและจะขอถ่ายภาพ กลับไม่ได้รับอนุญาตให้ถ่าย และไม่ยอมให้ข้อมูลใดๆ
ตลอดเส้นทางเข้าสู่ ต.น้ำบ่อ อ.ปะนาเระ ซึ่งเป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลปัตตานี มีคอกเลี้ยงวัวคล้ายคอกปศุสัตว์ ลานทำปลากะตัก และกิจกรรมเกี่ยวกับเศรษฐกิจท้องถิ่นเป็นระยะ และมีจุดที่กำลังก่อสร้างถนนสายใหม่เพิ่มเติม คาดว่าเป็นสายที่เพิ่งอนุมัติงบประมาณ 26 ล้านบาทเศษ เพื่อเชื่อมไปยังหมู่บ้านสันติสุขที่กำลังจะสร้างในลำดับต่อไป
เจ้าหน้าที่ทหารที่ประจำการอยู่ในพื้นที่ ให้ข้อมูลเพียงสั้นๆ ว่า ขณะนี้ยังไม่มีผู้เห็นต่างจากรัฐเข้าไปอยู่ในพื้นที่ มีเพียงชุมชนดั้งเดิมทำการเกษตรอยู่เท่านั้น แต่เชื่อว่าหมู่บ้านและถนนจะสร้างเสร็จในเร็ววันนี้
แนวคิดจัดต้ัง "หมู่บ้านสันติสุข" เพื่อรองรับผู้เห็นต่างจากรัฐที่เข้าร่วมโครงการ "พาคนกลับบ้าน" ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากข้อเสนอของผู้เห็นต่างฯหลายร้อยคนที่เข้าร่วมเวทีรับฟังความเห็นครั้งใหญ่ เมื่อวันที่ 15 มิ.ย.58 ที่กรมทหารราบที่ 151 ค่ายกัลยาณิวัฒนา ต.กะลุวอ อ.เมือง จ.นราธิวาส ซึ่งมีข้อเสนอข้อหนึ่งจากกลุ่มผู้เห็นต่างฯว่า "ให้มีการจัดโซนหรือพื้นที่ให้ผู้เห็นต่างทางความคิดอยู่รวมกันเป็นกลุ่มที่ไหนสักแห่งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือจัดตั้งนิคมขึ้นมาเพื่อที่ให้ผู้เห็นต่างทางความคิดได้กลับบ้าน และหาที่ทำกินให้ครอบครัวของคนเหล่านั้น เพราะที่ผ่านมาหลังจากหลบหนีไปทำมาหากินในประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนใหญ่คนในครอบครัวอยากกลับมาอยู่ประเทศไทย แต่ไม่มีทะเบียนบ้าน ไม่มีบัตรประชาชนไทย ทำให้ถูกเจ้าหน้าที่รัฐจับกุมและดำเนินคดี"
ขณะที่ในทางทฤษฎีต่อต้านการก่อความไม่สงบ มีหลักการตัดกำลังกลุ่มก่อความไม่สงบ โดยการเปิดโอกาสให้สมาชิกกลุ่มที่เบื่อหน่ายการต่อสู้หรือถูกหลอกเข้าร่วมขบวนการ ได้มีโอกาสเปลี่ยนพฤติกรรม ด้วยการที่รัฐเปิดช่องทางให้มอบตัว และจะคัดกรองเฉพาะพวกที่ถูกหลอกหรือเบื่อหน่ายการสู้รบให้วางอาวุธ และคนเหล่านี้ต้องไม่มีคดีอาญาร้ายแรงติดตัว จากนั้นรัฐจะนำคนเหล่านี้มาอบรม ฝึกอาชีพ เพื่อให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม พร้อมจัดหาที่ทำกินให้ โดยพื้นที่นั้นต้องห่างไกลจากที่อยู่เดิมเพราะถ้าส่งกลับไปอยู่ที่เดิม ก็จะถูกกลุ่มก่อความไม่สงบดึงกลับไปจับอาวุธอีก
แม้ในทางทฤษฎี การจัดตั้ง "หมู่บ้านสันติสุข" เพื่อรองรับ "คนกลับบ้าน" จะเป็นเรื่องที่ถูกต้อง และสอดคล้องกับข้อเรียกร้องของ "ผู้เห็นต่างจากรัฐ" แต่คำถามเรื่องงบประมาณที่ใช้ กับพื้นที่ที่กำหนดให้ตั้ง "หมู่บ้านสันติสุข" ก็ยังมีอยู่ รวมถึงการนำไปเปรียบเทียบกับโครงการลักษณะเดียวกันในอดีตที่ค่อนข้างล้มเหลว เช่น ศูนย์ครูใต้ ที่ จ.ปัตตานี ซึ่งมีครูไปอยู่ค่อนข้างน้อย หรือหมู่บ้านแม่หม้ายที่มีปัญหาการจัดการมากพอสมควร
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1, 4 และ 5 พื้นที่โดยรอบนิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลปัตตานี ซึ่งจะใช้เป็นพื้นที่ตั้งหมู่บ้านสันติสุขรองรับ "คนกลับบ้าน"
2 และ 3 เอกสารรายละเอียดการจัดทำโครงการและงบประมาณที่ใช้
อ่านประกอบ :
แจงงบ 106 ล้านสร้าง "หมู่บ้าน" รองรับ "คนกลับบ้าน"
เปิดงบโครงการพาคนกลับบ้าน ปีเดียว 106 ล้าน!
ตัวเลข "คนกลับบ้าน" จ่อครึ่งหมื่น!
ดราม่าคนกลับบ้าน! แม่ทัพขึ้น ฮ.บินรับมอบตัวผู้ต้องหาคดีความมั่นคง
"รับฟังเสียงที่แตกต่าง-พาคนกลับบ้าน" วิสัยทัศน์ดับไฟใต้ของแม่ทัพภาค 4 คนใหม่
80สมาชิกป่วนใต้ถกแม่ทัพภาค4 เสนอปลด "หมายจับ" แลกวางปืน
แม่ทัพ4พร้อมเลิก พ.ร.ก.รับกลุ่มป่วนใต้วางมือ แย้ม "สะแปอิง-มะแซ"รอดูท่าที
เปิดใจ"อาร์เคเค"กลับใจ "ลูก-เมีย"เงื่อนไขนักรบวางปืน
สำรวจความเห็น"ชาวบ้าน-แนวร่วมพันธุ์ใหม่" เชื่อ-ไม่เชื่อ 93 สมาชิกป่วนใต้ยุติรุนแรง
เปิดตัวเลข "ผู้เห็นต่าง" เข้าร่วมโครงการ "พาคนกลับบ้าน" 983 ราย
วงถก400ผู้เห็นต่างฯ ชงรื้อข่าวกรอง-เลิกหมายจับ–ตั้งนิคมรองรับกลับบ้าน
อดีตผู้ต้องสงสัยฯงงถูกเกณฑ์พบ"ประวิตร" เหมาร่วม"พาคนกลับบ้าน" เบี้ยเลี้ยง200