รัฐโชว์ผลงาน "พาคนกลับบ้าน" ผู้เห็นต่างฯส่งมอบปืน ผบ.ทบ.
2 วันแรกของเดือน ก.พ.61 พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4 จัดงานใหญ่โชว์ความสำเร็จของ "โครงการพาคนกลับบ้าน" ในยุคที่ตนเองรับผิดชอบปัญหาไฟใต้ แถมท้ายด้วยกิจกรรม "คืนความรักสู่ครอบครัว" เชิญผู้เข้าร่วมโครงการ 288 คนมาเปิดตัวต่อสื่อมวลชน พร้อมส่งมอบอาวุธปืนให้ ผบ.ทบ.
งานจัดขึ้นที่ห้องประชุม 1 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาคที่ 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ค่ายสิรินธร ต.เขาตูม อ.ยะรัง จ.ปัตตานี วันแรก 1 ก.พ. แม่ทัพภาคที่ 4 แถลงข่าวความสำเร็จของโครงการพาคนกลับบ้าน และได้เปิดตัวผู้เข้าร่วมโครงการ 3 คน ซึ่งเป็นอดีตผู้เห็นต่างจากรัฐที่มีหมายจับในคดีความมั่นคง โดย 1 ใน 3 คนนี้ มาพร้อมกับภรรยา
2 ปี 288 คน ขับเคลื่อน 6 โครงการ
พ.อ.พรรษิษฐ์ สุพรรณชนะบุรี ผู้ดูแลโครงการพาคนกลับบ้าน บรรยายสรุปตอนหนึ่งว่า มีผู้เข้าร่วมโครงการพาคนกลับบ้าน 288 คน (เฉพาะช่วงที่ พล.ท.ปิยวัฒน์ ดำรงตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 4) แยกเป็นปี 60 จำนวน 127 คน และปี 61 จำนวน 161 คน โดยกรอบการขับเคลื่อนโครงการมี 6 ขั้นตอน คือ
1.รณรงค์สร้างความเข้าใจกับผู้ก่อเหตุรุนแรง โดยทุกหน่วยในพื้นที่ถือเป็นนโยบายที่ต้องปฏิบัติ
2.รับรายงานตัวเพื่ออบรมปรับทัศนคติ โดยหน่วยดำเนินการอย่างรอบคอบ และเข้าสู่โรงเรียนการเมือง ศูนย์สันติวิธี ใช้หลักศาสนาอิสลามที่ถูกต้อง
3.การปลดเปลื้องพันธะทางกฎหมาย หน่วยดำเนินการอำนวยความสะดวกด้านกระบวนการยุติธรรม โดยกองพาคนกลับบ้าน ศูนย์สันติวิธี รวบรวมหลักฐาน และลบชื่อจากฐานข้อมูลของตำรวจ ตลอดจนสำนักงานตำรวจคนเข้าเมือง
4.ขับเคลื่อน "ชมรมพาคนกลับบ้าน" โดยศูนย์ปฏิบัติการอำเภอ ดำเนินการให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างสูงสุด
5.พัฒนาคุณภาพชีวิตโดยศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้เข้าร่วมโครงการอย่างแท้จริง ยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น
และ 6.การติดตามเมื่อกลับไปอยู่ภูมิลำเนา โดยชุดปฏิบัติการกิจการพลเรือนไปพบปะพัฒนาสัมพันธ์ หากไม่สามารถกลับภูมิลำเนาได้ อยากเริ่มต้นชีวิตใหม่ ก็มีศูนย์ประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พร้อมให้การสนับสนุน
ลุยตรวจ DNA - มอบตัวสู้คดี - ฝึกอาชีพ
สำหรับการดำเนินงานตามโครงการพาคนกลับบ้านปี 61 มีงานที่ต้องดำเนินการ 2 ส่วน คือ
ส่วนแรก การดำเนินการต่อผู้ที่รายงานตัวเข้าโครงการประจำปี 60 จำนวน 127 คน ต้องนำเข้ามาปรับทัศนคติ, เข้าอบรมโครงการประชาร่วมใจทำความดีเพื่อแผ่นดิน จำนวน 29 คน, อบรมรุ่นต่อไปจำนวน 98 คน, ปลดเปลื้องพันธะทางกฎหมายจำนวน 29 คน, ฝึกอบรมอาชีพสร้างรายได้ 29 คน, พบปะติดตามพฤติกรรมเชิงลึกโดยชุดปฏิบัติการกิจการพลเรือนของหน่วยในพื้นที่ เพื่อป้องกันไม่ให้ไปก่อเหตุหรือสนับสนุนผู้ก่อเหตุรุนแรงอีก รวมทั้งการติดตามชีวิตความเป็นอยู่
ส่วนที่สอง การดำเนินการต่อเป้าหมายบุคคลที่เป็น "ตัวจริง" ให้ยุติการก่อเหตุและเคลื่อนไหว พร้อมกลับมาต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรมของรัฐ ร่วมพัฒนาและสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นในพื้นที่อย่างยั่งยืน โดยสรุปคือผู้ก่อเหตุรุนแรงที่ประสงค์จะเข้าร่วมโครงการพาคนกลับบ้าน กลับมาต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรมและร่วมสร้างสันติสุขในพื้นที่จำนวน 161 คน
ทั้งนี้ การดำเนินการในส่วนที่สอง ต่อผู้ที่เข้าร่วมรายงานตัวเข้าโครงการพาคนกลับบ้านปี 61 จำนวน 161 คน จะมีการดำเนินการดังนี้
1.ต้องเข้าอบรมโครงการประชาร่วมใจทำความดีเพื่อแผ่นดิน จำนวน 130 คน สมัครใจถอนซูมเปาะห์ (สาบานก่อนเข้าร่วมขบวนการ) จำนวน 37 คน
2.การปลดเปลื้องพันธะทางกฎหมาย ตามหมายจับ ป.วิอาญา เข้ามอบตัวและประกันตัวเรียบร้อย 48 คน ส่วนหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อยู่ระหว่างการดำเนินการของคณะกรรมการ 3 ฝ่าย
3.ตรวจร่างกายและการเก็บสารพันธุกรรม DNA ดำเนินการแล้ว 130 คน คงเหลืออีก 31 คน
4.เข้าสู่กระบวนการซักถาม ดำเนินการแล้ว 101 คน คงเหลือ 60 คน นำไปสู่การปฏิบัติการทางทหาร 7 ครั้ง ตรวจพบอาวุธปืน 30 กระบอกและยุทธภัณฑ์ 17 รายการ
5.การอบรมอาชีพพัฒนาคุณภาพชีวิต 130 คน ได้แก่ เลี้ยงโค 111 คน เลี้ยงแพะ 4 คน เลี้ยงปลาดุก 4 คน เลี้ยงเป็ด 2 คน ปลูกผัก 7 คน ตัดผม 2 คน
และ 6. การกลับภูมิลำเนา ยืนยันกลับได้ทั้ง 161 คน แยกเป็นพื้นที่และกลุ่มเป้าหมาย เพื่อการติดตามจัดเก็บหลักฐานทางพันธุกรรม DNA จัดกำลังพลเข้าร่วมรับการอบรม ร่วมทำกิจกรรมเพื่อสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกัน มีผู้บังคับกองร้อย (ผบ.ร้อย) รับผิดชอบการติดตามควบคุมของแต่ละพื้นที่ และมอบหมายเป็นรายบุคคลให้ผู้นำท้องถิ่น ท้องที่ และผู้นำศาสนาได้รับรู้และเป็นพยานในการกลับเข้ามารายงานตัวของผู้กลับใจ
ที่ผ่านมา"กินฟรี" - 2 ปีนี้ตัวจริง!
พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวว่า นับเป็นจุดเริ่มต้นของการเข้าร่วมโครงการพาคนกลับบ้าน จากปี 60 และปีนี้คือปี 61 มีผู้เข้าร่วมโครงการรวม 288 คน ทั้งหมดเป็นผู้ที่มีหมาย พ.ร.ก. หมาย ป.วิอาญา และ "กลุ่มคนหน้าขาว" หรือ "แนวร่วมรุ่นใหม่"
"ส่วนที่บอกว่าหลายปีที่ผ่านมามีผู้เข้าร่วมโครงการ 4 พันกว่าคนนั้น ตรวจสอบแล้วไม่ใช่ พูดภาษาเราคือ เข้ามาเพื่อกินฟรี อยู่อย่างมีเกียรติ ผมไม่เอา จะเอาเฉพาะคนที่มีหมายจับ ที่หลงผิด เพื่อให้กลับมาช่วยพัฒนา"
แม่ทัพภาคที่ 4 บอกด้วยว่า หลังจากนี้จะมีผู้หลงผิดเข้าร่วมโครงการอีก เพราะขณะนี้ทราบว่าหลายคนกำลังรอดูท่าที
"ยังมีอีกหลายคนที่รอดูว่าโครงการนี้เป็นอย่างไร ไม่ใช่เฉพาะที่นี่ แต่ประเทศเพื่อนบ้านข้างๆ เราก็รอดูอยู่ มีประเทศในยูโรป 1 ประเทศก็รอดูเหมือนกัน ทุกอย่างเราใช้ใจ เมื่อเขาเห็นว่าเจ้าหน้าที่มีความจริงใจ เขาจะเข้ามาเอง ก็จะพาเข้ามาสู่กระบวนการยุติธรรม ให้อาชีพ ให้การศึกษา ให้ความยุติธรรม คนไหนมีคดีก็จะหาทนายให้ ถ้าไม่มีทนาย ก็จะช่วยทุกอย่างภายใต้กฎหมาย จากนั้นก็ฝึกอาชีพ ดูแลความปลอดภัยให้เขาและครอบครัวจาก กำลังเจ้าหน้าที่ 5-6 หมื่นนาย พลเรือนอีกที่แปรสภาพมาดูแล แต่ทุกคนต้องเข้ากระบวนการยุติธรรม เขาก็ไม่กลับไป แต่ถ้าพาเขาเข้ามาข่มขู่เขา กดดัน เขาต้องกลับไป ฉะนั้นเราต้องดูแลเขา"
"ทุกคนที่เข้ามามีสองหน้า แต่ถ้าเขาเข้ามา ได้เจอลูก เจอครอบครัว เจอร้อยยิ้ม เขาก็จะเปลี่ยน เจ้าหน้าที่เราเองยังมีสองหน้า ไม่แปลกที่เขาจะมีสองหน้า เขาเข้ามา ได้ใช้ชีวิตปกติ ผมเชื่อว่าไม่มีใครอยากไปหลบซ่อน ที่ผ่านมาแค่เขาโดนพวกมึปมด้อยใช้ประโยชน์ การเข้าร่วมโครงการแล้วจะกลับไปอีกหรือเปล่า ตอบไม่ได้ แต่เราต้องใช้ความจริงใจแลกกัน แต่ถ้าเขาเข้ามา เราไปข่มขู่เขา เอาเปรียบเขา พูดได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เขาหนีกลับไปอยู่ที่เดิมแน่"
พูโล-บีอาร์เอ็น แค่แอบอ้าง
"ที่ผ่านมาสถานการณ์ดีขึ้น มีปั้มน้ำมันเกิดขึ้นใหม่ๆ มีร้านอาหารเกิดขึ้น ทุกอย่างดีขึ้นหมด คุยกับเจ้าหน้าที่สันติสุขในพื้นที่ เขาเล่าว่าเด็กนักเรียนตอนนี้เขายกมือไหว้ เขาเคารพธงชาติ ร้องเพลงชาติแล้ว บ่งบอกว่าสถานการณ์ดีขึ้นมาก พูดกันจริงๆ หากไปดูสถิติทั่วประเทศ ภาคอื่นตายมากกว่าสามจังหวัด กลุ่มคนพวกนี้พูดง่ายๆ ถ้าอยู่ที่อื่นแค่พวกซุ้มมือปืนธรรมดา เป็นกลุ่มผู้มีอิทธิพลที่แสวงประโยชน์จากเด็กในพื้นที่ เมื่อก่อนอ้างศาสนา เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว"
"เดี๋ยวนี้อ้างขบวนการพูโล บีอาร์เอ็น ทั้งๆ ที่พูโล บีอาร์เอ็นไม่เกี่ยวอะไรด้วยเลย ไปอ้างเขา ซึ่งเขาไม่มีจริง ถ้ามีจริงผมบอกว่าจะไปสมัครบ้าง เมื่อก่อนมีจริง สมัยนี้ยืนยันว่าไม่มี แต่พวกเราพยายามจะพูดว่ามี ที่เกิดเหตุขึ้นทุกวันนี้ เป็นภัยแทรกซ้อนมากกว่า"
ผบ.ทบ.รับรายงานตัว-รับมอบอาวุธคืน
นี่คือกิจกรรมในวันแรก เน้นการแถลงข่าวผลสำเร็จของโครงการพาคนกลับบ้าน จากนั้นในวันรุ่งขึ้น คือวันศุกร์ที่ 2 ก.พ.61 เป็นกิจกรรม "คืนความรักสู่ครอบครัว" โดยมี พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก เดินทางลงพื้นที่มาเป็นประธานเปิดเกิจกรรมด้วยตนเอง
ทั้งนี้ ผบ.ทบ.ได้เข้ารับฟังบรรยายสรุปโครงการ และเดินทางไปยังศาลาพิณประเสริฐ เพื่อเข้าร่วมพิธีรับรายงานตัว รับมอบอาวุธคืนจากตัวแทนผู้หลงผิด โดยมี นายศุภณัฐ สิรันทวิเนติ เลขาธิการ ศอ.บต. พร้อมหัวหน้าส่วนราชการอื่นๆ ร่วมพิธีด้วย โอกาสนี้ผู้เข้าร่วมโครงการพาคนกลับบ้านได้กล่าวปฏิญาณตน ทั้งหมด 288 คน โดยทุกคนยืนยันว่าจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับเหตุการณ์ความไม่สงบอีก
สำหรับโครงการพาคนกลับบ้านที่ต่อยอดเป็นกิจกรรม "คืนความรักสู่ครอบครัว" เป็นแนวคิดของแม่ทัพภาคที่ 4 ที่เปิดโอกาสให้บุคคลที่เคยต่อสู้กับรัฐด้วยวิธีรุนแรงกลับมาร่วมกันแก้ปัญหาด้วยแนวทางสันติ เป็นการโดดเดี่ยวกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงให้มีศักยภาพลดลง
เปิดพื้นที่นิคมฯฮาลาลฝึกอาชีพ
ด้านบทบาทของ ศอ.บต.ที่รับไม้ต่อในเรื่่องงานพัฒนา นายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ รองเลขาธิการ ศอ.บต. อธิบายว่า การขับเคลื่อนงานพัฒนาของ ศอ.บต.ในโครงการพาคนกลับบ้าน ประกอบด้วย
1.กิจกรรมอบรมสร้างความเข้าใจแนวทางความร่วมมือของผู้ร่วมสร้างสันติสุข
2.พัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มผู้เห็นต่างที่ไม่สามารถดำรงชีวิตปกติในสังคม
3.พัฒนาอาชีพให้สามารถสร้างรายได้ พึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
4.สร้างที่พักอาศัยชุมชนชั่วคราว สำหรับผู้ที่ไม่สามารถกลับสู่ภูมิลำเนาเดิมได้
และ 5.ตรวจเยี่ยม พบปะ พัฒนาสัมพันธ์
"เราได้ใช้พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมฮาลาล บ้านน้ำบ่อ อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี ในการดำเนินการ มีการมอบวัวให้แก่ผู้เข้าร่วมอบรม เพื่อนำไปสู่การสร้างอาชีพปศุสัตว์ในพื้นที่ เน้นใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในการพัฒนา ถือเป็นการเริ่มต้นการสร้างโอกาสในสังคม สู่การสร้างอาชีพด้านปศุสัตว์ที่ยั่งยืน และสร้างสังคมสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้" รองเลขาธิการ ศอ.บต.ระบุ
---------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 ผบ.ทบ.เป็นประธานในพิธีเปิดงาน "คืนความรักสู่ครอบครัว"
2 ผู้เข้าร่วมโครงการพาคนกลับบ้านพร้อมครอบครัว เปิดตัวกับสื่อมวลชน
3 แม่ทัพภาคที่ 4 แถลงผลงาน
4-5 ผู้เข้าร่วมโครงการพาคนกลับบ้านร่วมงาน "คืนความรักสู่ครอบครัว" พร้อมส่งมอบปืนให้กับ ผบ.ทบ.และเลขาธิการ ศอ.บต.
ขอบคุณ : ภาพประกอบภาพที่ 1, 4 และ 5 จากฝ่ายประชาสัมพันธ์ ศอ.บต.
อ่านประกอบ :
ลงพื้นที่ปะนาเระตามดู "หมู่บ้านคนกลับบ้าน" ที่แท้ใช้พื้นที่นิคมฮาลาลฯ
แจงงบ 106 ล้านสร้าง "หมู่บ้าน" รองรับ "คนกลับบ้าน"
เปิดงบโครงการพาคนกลับบ้าน ปีเดียว 106 ล้าน!
ตัวเลข "คนกลับบ้าน" จ่อครึ่งหมื่น!
ดราม่าคนกลับบ้าน! แม่ทัพขึ้น ฮ.บินรับมอบตัวผู้ต้องหาคดีความมั่นคง
"รับฟังเสียงที่แตกต่าง-พาคนกลับบ้าน" วิสัยทัศน์ดับไฟใต้ของแม่ทัพภาค 4 คนใหม่
80สมาชิกป่วนใต้ถกแม่ทัพภาค4 เสนอปลด "หมายจับ" แลกวางปืน
แม่ทัพ4พร้อมเลิก พ.ร.ก.รับกลุ่มป่วนใต้วางมือ แย้ม "สะแปอิง-มะแซ"รอดูท่าที
เปิดใจ"อาร์เคเค"กลับใจ "ลูก-เมีย"เงื่อนไขนักรบวางปืน
สำรวจความเห็น"ชาวบ้าน-แนวร่วมพันธุ์ใหม่" เชื่อ-ไม่เชื่อ 93 สมาชิกป่วนใต้ยุติรุนแรง
เปิดตัวเลข "ผู้เห็นต่าง" เข้าร่วมโครงการ "พาคนกลับบ้าน" 983 ราย
วงถก400ผู้เห็นต่างฯ ชงรื้อข่าวกรอง-เลิกหมายจับ–ตั้งนิคมรองรับกลับบ้าน
อดีตผู้ต้องสงสัยฯงงถูกเกณฑ์พบ"ประวิตร" เหมาร่วม"พาคนกลับบ้าน" เบี้ยเลี้ยง200