นักวิชาการหนุนซื้อเครื่องจับความเร็ว แนะตั้งผู้สังเกตการณ์จัดซื้อให้โปร่งใส
ภาคีเครือข่ายความปลอดภัยทางถนน ยกเคสอังกฤษสามารถลดการสูญเสียทางเศรษฐกิจจากการตายบนถนนได้ ผลการใช้เครื่องตรวจจับความเร็ว คืนทุนกลับกว่าพันล้านบาท หนุนไทยจัดซื้อเครื่องมืออย่างโปร่งใส เผยเตรียมส่งผู้แทนสังเกต วางสเปก เชื่อช่วยอุบัติเหตุเมืองไทยได้
สืบเนื่องจากกรณีกรมป้องกันบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เสนอ ครม.จัดซื้อเครื่องตรวจจับความเร็วจำนวน 849 เครื่อง รวมมูลค่ากว่า 500 ล้านบาท ทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงราคา และความเหมาะสมในการจัดซื้อ ที่ต่อมา พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ให้ ปภ.ไปพิจารณาและทบทวนถึงความจำเป็นในการจัดซื้อ รวมถึงชี้แจงต่อสาธารณชนถึงเหตุผลการจัดซื้อเครื่องตรวจจับความเร็วใหม่อีกครั้ง (อ่านประกอบ: ก่อนชงยุค‘บิ๊กป๊อก’เครื่องละ6แสน!สตช. -ปภ.เคยซื้อเครื่องจับความเร็ว10 รายการ87ล. )
ล่าสุด เมื่อเร็วๆ นี้ ที่โรงแรมแกรนด์ เมอร์เคียว รัชดา ศูนย์ความร่วมมือระหว่างองค์การอนามัยโลก มูลนิธิไทยโร้ด ศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทยและศูนย์วิขาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน(ศวปภ.) จัดเสวนา “BIG TALK : Speed Gun สำคัญอย่างไร ทำไมประเทศไทยต้องมี” คุยกันจริงๆ ซื้อได้แต่ต้องโปร่งใส
ดร.กัณวีร์ กนิษฐพงศ์ ผู้เชี่ยวชาญจากมูลนิธิไทยโรดส์ ศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย กล่าวถึงกล้องตรวจจับความเร็วมีหลายประเภท เช่น กล้องตรวจจับความเร็วแบบประจำที่ (Fixed Speed Camera หรือ Automated Speed Camera) กล้องตรวจจับความเร็วแบบเคลื่อนที่ (Mobile Speed Camera) และกล้องตรวจจับแบบวัดความเร็วเฉลี่ย (Time Over Distance หรือ Average Speed Camara) แต่ประเภทมีศักยภาพ สมรรถนะแตกต่างกัน
สำหรับกล้องตรวจจับความเร็วแบบเคลื่อนที่ หรือ (Mobile Speed Camera) นั้น ถ้าเป็นแบบที่ใช้เทคโนโลยีเลเซอร์ที่มีระยะความกว้างของการตรวจจับที่แคบกว่าเครื่องวัดแบบเรดาห์ มีความแม่นยำสูงกว่ามาก สามารถวัดความเร็วในระยะเวลา 0.5 วินาที การใช้เลเซอร์สามารถตรวจจับได้ทั้งด้านหน้าและหลังรถ
ดร.กัณวีร์ กล่าวอีกว่า เทคโนโลยีที่นำมาใช้เพื่อลดอัตราการใช้ความเร็วลงตามกฎหมายกำหนดนั้น ที่อังกฤษทำการประเมินผ่านการกล้องตรวจจับความเร็วแบบติดตั้งประจำที่ทั่วประเทศ 502 ตำแหน่ง สามารถลดความเร็วที่เกินกำหนดได้ 70% ตัวประจำที่ได้ผลค่อนข้างดี มีเกือบทั่วประเทศ 502 ตัว สามารถควบคุมพฤติกรรมได้ทั้งประเทศ ขณะที่เครื่องตรวจจับแบบเคลื่อนที่สามารถลดลงได้เฉลี่ย 53%
“กล้องตรวจจับความเร็วส่งผลต่อพฤติกรรมการขับรถ ส่งผลต่อการลดจำนวนผู้เสียชีวิตได้ได้ 20%ในเขตเมือง ขณะที่ในชนบทลดได้มากถึง 65% ส่วนเครื่องตรวจจับแบบเคลื่อนที่สามารถลดอัตราเสียชีวิตในเขตเมืองได้ 45% ในชนบท 20% ส่วนผู้บาดเจ็บสามารถช่วยลดมากกว่าครึ่งหนึ่ง” ดร.กัณวีร์กล่าวและว่า ทางอังกฤษได้มีการประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ จากการลงทุนที่สูงกับเครื่องมือเหล่านี้ บวกด้วยการลดต้นทุนทางการแพทย์ รักษาพยาบาลและการสูญเสียทางเศรษฐกิจจากการตายของคน พบว่า ปี 2015 ค่าติดตั้ง 420 จุด จำนวน 226 ล้านบาท ค่าบำรุง 155 ล้านบาท สิ่งที่ได้รับอย่างแรก ค่าปรับ 289 ล้านบาท มูลค่าที่ได้รับจากการลดอุบัติเหตุ 1,300 ล้านบาทต่อปี และยังพบว่า มูลค่าปัจจุบันการติดตั้งกล้องได้กำไร 1,135 ล้านบาท ลงทุน 4-5 ร้อยล้านบาท คืนทุน 5 เท่าภายในหนึ่งปี และใน 10 ปี จะคืนทุนถึง 10 เท่า เทียบกับไทยอังกฤษมีอุบัติเหตุน้อยกว่า 10 เท่า มีอัตราการตาย 1,800 คนต่อปี ขณะที่คนไทยตายบนท้องถนนมากถึง 22,000 คนต่อปี ดังนั้นหากคำนวนในแง่การคืนทุน เราจะคุ้มทุนมากหากสามารถลดการเสียชีวิตของคนลงได้
ด้านนพ.วิวัฒน์ ศีตมโนชญ์ ผู้จัดการโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านความปลอดภัยทางถนนในประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องมีเครื่องมือนี้เพื่อลดความใช้ความเร็วที่เกินกำหนด เพราะหลักฐานทางวิชาการค่อนข้างชี้ชัดว่า ปัจจัยที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุบนถนนในประเทศ ที่คนมักเข้าใจว่าคือเมาเเล้วขับ แต่ในความจริงปัจจัยอันดับหนึ่งคือเรื่องการใช้ความเร็วเกินกำหนด แถมยังมีแนวโน้มที่เพิ่มมากขึ้นด้วย
นพ.วิวัฒน์ กล่าวว่า ในเมื่อเครื่องมือนี้มีความจำเป็นเพื่อใช้ในกระบวนการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวดมากขึ้น แต่หากจะจัดซื้อจัดจ้างก็จำเป็นต้องทำอย่างโปร่งใส ได้ของดีมีประสิทธิภาพในราคาที่ตรงไปตรงมา ซึ่งภาคีความปลอดภัยทางถนนประสานงานกับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น หารือถึงกระบวนการจัดซื้อจัดหาข้อตกลงคุณธรรม อาสาส่งผู้สังเกตการณ์เข้าร่วมตั้งแต่การกำหนดสเปก ทั้งนี้เพื่อให้การจัดการความเร็วของประเทศไทยบรรลุผล หยุดยั้งการเกิดอุบัติเหตุทางถนน ลดการเสียชีวิตลงครึ่งหนึ่งตามกำหนดในทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนนปี 2554-2563 การนำเครื่องมือมาใช้จัดการเป็นหนึ่งในคำแนะนำขององค์การสหประชาชาติและองค์การอนามัยโลก ซึ่งปัจจุบันมีโครงการนำร่องแล้วในภูเก็ต ขอนแก่น เชียงใหม่
"ในส่วนของภูเก็ตนั้นได้รับการจัดซื้อเครื่องตรวจวัดความเร็วแบบเคลื่อนที่จากการสนับสนุนของ มูลนิธิเซฟเฟอร์โร้ด มูลค่าต่อเครื่องตกที่ 9 แสนกว่าบาท นอกจากนี้ยังเพิ่มมาตรการด้านอื่นๆ ในการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งพบว่า เราสามารถลดการเสียชีวิตลงได้อย่างมีนัยสำคัญ”
ทั้งนี้สัดส่วนอุบัติเหตุที่เกิดจากความเร็วทั้งประเทศในปี 2558 อยู่ที่ 80% สอดคล้องกับสถิติการตรวจจับความเร็วบนทางหลวงระหว่างทางปี 2551-2558 มีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยในปี 2558 มีผู้ใช้ถนนโดนจับฐานใช้ความเร็วเกินกำหนด 809,341 ราย เพิ่มจากปี 2551 ที่ 161,724 ราย และคาดว่าในปี 2560 คาดว่ายอดอาจถึงล้านราย
อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในการพูดคุยครั้งนี้ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญและเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าร่วม โดยที่ประชุมต่างเห็นพ้องกันว่า การติดตั้งกล้องเป้าหมายหลักคือการลดการเสียชีวิตบนท้องถนนที่มาจากความเร็ว ดังนั้นการจับปรับจึงไม่ใช่เป้าหมายหลัก ในส่วนการจัดซื้อนั้น อยากให้รัฐบาลยกเป็นหนึ่งในวาระเชิงนโยบาย ต้องมีการจัดสรรงบประมาณจริงจัง รวมถึงการปรับปรุงกฎหมายความเร็วขั้นต่ำที่ควรลดมาในระดับที่ต่ำกว่าปัจจุบันที่ 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมงในเขตเมือง เนื่องจากปัจจุบันไทยเป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่ยังคงใช้อัตราขั้นต่ำที่สูงกว่ามาตรฐานที่กำหนด 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมงในเขตเมือง
อ่านประกอบ
สำนักงบฯติง-บิ๊กตู่ลดราคา!โชว์หนังสือ ‘อนุพงษ์’ชง ครม.ซื้อเครื่องจับความเร็วเหลือ573ล.
หลังม่านซื้อเครื่องจับความเร็ว957ล. ‘ประวิตร-อนุพงษ์’ชง ครม.ไฟเขียว-อธิบดี ปภ.เสนอ?
โชว์หนังสือ สตช.ยุค‘ประวุฒิ’ขอ ปภ.สนับสนุน เบื้องหลังซื้อเครื่องตรวจจับความเร็ว957ล.
คนไทยขับเร็ว ตายเยอะ นักวิชาการแนะเขตเมืองวิ่งไม่เกิน 60 กม./ชม.
คนกรุงขับเร็วเกินกม.กำหนดกว่า 4 พันคดี มูลนิธิป้องกันอุบัติเหตุฯ พบนครบาล2สูงสุด