คนไทยขับเร็ว ตายเยอะ นักวิชาการแนะเขตเมืองวิ่งไม่เกิน 60 กม./ชม.
งานวิจัยพบ 80% ของผู้เสียชีวิตบนถนนคือ วัยแรงงานและเยาวชน ส่งผลต่อจีดีพี 4 แสนล้านต่อปี ความเร็วในการขับขี่ปัจจัยหลักอุบัติเหตุ ตอกย้ำสังคมไทย สูงวัย ตายเร็ว เกิดน้อยนักวิชาการสะท้อน จำกัดความเร็วในเมือง ชุมชน ไม่ควรเกิน40-60กม./ชม.
เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2560 ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร มูลนิธิป้องกันอุบัติเหตุแห่งเอเชีย จัดเสวนา “ ช้าลงหน่อย ชีวิตปลอดภัย” เวทีชี้ทางออกหาทางแก้การขับขี่ด้วยความเร็วที่เหมาะสมในเขตชุมชนเมือง
นายณัฐพงศ์ บุญตอบ กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ มูลนิธิไทยโรดส์ กล่าวว่า กรุงเทพการจราจรหนาแน่น ส่งผลต่อความเร็วในการสัญจรอยู่เเล้ว แต่ทำไมตัวเลขอัตราการขับเร็วค่อนข้างสูงกว่าตัวเลขของ "เมาแล้วขับ" ซึ่งหากดูสถิติความเร็ว เรามุ่งเน้นไปที่ทางหลวง อุบัติเหตุ 70-80% มาจากความเร็วเกินกฎหมายกำหนด แล้วปัจจับอะไรที่ทำให้เกิดการขับเร็วขนาดนั้น ต้องมามองที่ลักษณะกายกาพของพื้นที่
"ถ้าเอาตาม พ.ร.บ.ทางบก ฯ กำหนดว่าบนทางหลวงในเขตเมือง ความเร็วไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ขณะที่ทางด่วนเองก็ยังไม่มีกฎหมายเฉพาะของตัวเองซึ่งทางด่วนก็ยังอยู่ในเขตเมือง คำถามคือในพื้นที่เมืองที่มีการใช้ถนน และการสัญจรสองข้างทางคนข้างหนาแน่น ความเร็วแบบไหนถึงจะเหมาะสม "
ยกตัวอย่าง ความเร็วจำกัด ในต่างประเทศ จะแบ่งแตกต่างกันไป ในเรื่องความเร็วเพื่อความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ เช่นหน้าโรงเรียน เขตชุมชน เป็นต้น รวมถึงการคิดไปถึงว่าความเร็วเท่าไหร่ที่หากเกิดเหตุสุดวิสัยจริงๆ ไม่ทำให้คนเดินเท้าเสียชีวิต
นายณัฐพงศ์ กล่าวอีกว่า ในเรื่องความเร็วทางมูลนิธิ พยายามจะสนับสนุน เนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับความเร็ว ซึ่งปัจจุบันพบว่าความเร็วในบ้านเราไม่เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ ทางไทยโรดส์ กับองค์การอนามัยโลก( WHO) ได้พูดคุยในเรื่องนี้ว่า ความเร็วที่เหมาะสมควรเป็นเท่าไหร่เพื่อให้สอดคล้อง ตามมติครม. ที่ตกลงกันว่าให้ 40-60กิโลเมตรต่อชั่วโมง รวมถึงให้เหมาะสมการกายภาพ และบริบทของพื้นที่ถนนในเมือง ตอนนี้กำลังอยู่ในการทดลองในพื้นที่นำร่อง ขณะที่บริบทของทางด่วน และมอเตอร์เวย์ซึ่งเป็นเส้นทางบังคับตรงอย่างเดียวอัตราการใช้ความเร็วอาจทำได้สูงกว่า ดังนั้นการออกแบบจำกัดความเร็วจึงย่อมแตกต่างจากทางหลวงในเมืองปกติ ซึ่งจากสถิติก็ระบุว่า ทางด่วนและมอเตอร์เวย์มีอัตราการเกิดอุบัติน้อยกว่าทางปกติมาก
ด้านนายนพดล สันติภากรณ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด กล่าวว่า ความเร็วมีส่วนอย่างยิ่งต่อสังคมและเศรษฐกิจในประเทศ คนอาจจะมองว่า ธุรกิจประกันภัยได้ประโยชน์จากสิ่งเหล่านี้ แต่จริงๆ แล้วสื่งที่เราทำคือการจัดการเงินกองทุนของผุ้ประกันตน และการลดความเสี่ยงของการสูญเสีย
"ดูสถิติอุบัติเหตุในประเทศ เราจะพบว่า 80% ของผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุคือวัยแรงงานและเยาวชน เท่ากับว่าประเทศไทยได้สูญเสีย 3% ของผลิตผลมวลรวมของประเทศหรือ จีดีพี หรือ 4 แสนล้านบาททุกปี จากการคำนวนขององค์การอนามัยโลก นั่นหมายความว่า หากรัฐบาลจะพัฒนาเศรษฐกิจให้กระเตื่องขึ้น ปัจจัยดังกล่าวคือหนึ่งในตัวฉุดรั้งเอาไว้
นอกจากนี้อัตราการสูญเสียวัยแรงงานยังส่งผลต่อสังคมโดยตรง อย่างทีทราบกันดีว่าไทยอยู่ในสังคมสูงวัยเเล้ว ซึ่งสังคมสูงวัยของไทยสูงที่สุดในอาเซียน เรียกว่าสิ่งที่ไทยกำลังเผชิญคือ สูงวัย ตายเร็ว และเกิดน้อย อัตราส่วนการเกิดที่ต่ำมาก เมื่อเทียบต่อประชากรกับสิงคโปร์เเล้ว เรายังต่ำกว่า
"ไทยเราเก่งเรื่องระบบช่วยเหลือ กู้ภัย แต่สิ่งที่เราไม่เก่งคือการป้องกันไม่ให้เกิดภัยเหล่านั้น และนั่นคือสิ่งที่มาทำลายสังคม เศรษฐกิจเราหนักที่สุด"
ด้านนายพิสิษฐ์ วงศ์เธียรธนา ผู้แทนจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า เมื่อวันที่4 ตุลาคม 2559 เราเสนอเรื่อง ความเร็วในเขตชุมชนเมืองเข้าไปในคณะรัฐมนตรี โดยให้กำหนดอัตราความเร็วสอดคล้องกับลักษณะกายกาพแต่ละพื้นที่ที่ไม่เหมือนกัน ความเร็วที่เราคิดว่าเหมาะสม จากการดูสถิตต่างประเทศ คือ 40-60 กม./ชม. อย่างประเทศเพื่อนบ้านกำลังลดความเร็วในระดับที่เราต้องการและหลายประเทศทำสำเร็จเเล้ว ซึ่ง ปภ. ก็ไม่นิ่งนอนใจ ตอนนี้เรานำร่องในพื้นที่ 6 จังหวัด ที่สามารถลดความเร็วในเขตเมืองได้ เช่น มหาสารคาม ที่ลดเหลือ 40 กม.ต่อชั่วโมง เพราะคนในชุมชนร่วมมือ อนุกรรมการความปลอดภัยจังหวัด ให้ตำรวจออกประกาศ และมองว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่มีการประกาศลงราชกิจจานุเบกษา คนก็ให้ความร่วมมือ ซึ่งภายหลังจากการลดความเร็วลงพบว่าอุบัติเหตุในพื้นที่ลดลง 30% ตอนนี้มีอีก 6 จังหวัดกำลังจะประกาศอัตราความเร็วใหม่
"ความสำเร็จจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าท้องถิ่นไม่มีส่วนร่วม ต้องให้เขาเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการ ประชาชนเป็นหัวหอกหลัก เพราะเป็นพื้นที่ลูกหลานประสบอุบัติเหตุ มีเหตุและผล ที่รองรับ ไม่ใช่กำหนดในการใช้อำนาจ แต่เป็นความสมัครใจในการพัฒนา" นายพิสิษฐ์ กล่าว และว่า การกำหนดความเร็วใน กทม. เราจำเป็นต้องจุดพลุให้ดัง เราทราบดีว่า ประชาชนส่วนใหญ่ทำงานออฟฟิศ การร่วมตัวเรียกร้องอาจไม่เหมือนกับส่วนภูมิภาค ดังนั้นเราอาจเริ่มที่เขต สำนักงานเขต ประสานกับ ตำรวจพื้นที่ในก็จะเกิดผล
อ่านประกอบ
คนกรุงขับเร็วเกินกม.กำหนดกว่า 4 พันคดี มูลนิธิป้องกันอุบัติเหตุฯ พบนครบาล2สูงสุด
ผอ.เนคเทค เปิดข้อมูล SafeMate พบภาคเหนือขับเร็วสุด 198 กม./ชม.ทั้งที่สภาพถนนไม่เอื้อ