คนกรุงขับเร็วเกินกม.กำหนดกว่า 4 พันคดี มูลนิธิป้องกันอุบัติเหตุฯ พบนครบาล2สูงสุด
มูลนิธิป้องกันอุบัติภัยแห่งเอเชีย เผยคนกรุงขับรถเร็วเกินกำหนดกว่า 4,000 คดี สูงกว่าเมาแล้วขับ ทั้งๆ ที่เป็นพื้นที่ชุมชนหนาแน่น พื้นที่นครบาล 2 ครองแชมป์
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา(www.isranews.org) รายงานว่า มูลนิธิป้องกันอุบัติภัยแห่งเอเชีย (AIP Foundation) เปิดเผยสถิติอุบัติเหตุทางถนนบนทางหลวงในประเทศไทย ระหว่างปี พ.ศ. 2544 - 2556 พบว่า การขับขี่ด้วยความเร็วที่ไม่เหมาะสมเป็นสาเหตุของจำนวนอุบัติเหตุถึงร้อยละ 77 ของจำนวนอุบัติเหตุบนทางหลวงทั้งหมดโดยในปี 2554 เพียงปีเดียวมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับการขับขี่ด้วยความ เร็วที่ไม่เหมาะสมสูงถึง 8,300 คน หรือ 2 ใน 3 ของการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนทางหลวงทั้งหมดในปีนั้น
โดยในส่วนของกรุงเทพมหานคร มูลนิธิป้องกันอุบัติเหตุฯ ระบุว่า แม้กทม.ถูกมองว่า เป็นพื้นที่ที่ใช้ความเร็วได้ต่ำเพราะมีปริมาณยานพาหนะที่หนาแน่นนั้น ในข้อเท็จจริงจากรายงานจำนวนคดี อุบัติเหตุจราจรทางบก กองบัญชาการตำรวจนครบาล ระหว่างปี พ.ศ. 2556 - 2559 กว่า 50,000 คดี พบว่า จำนวนคดีอุบัติเหตุจราจรที่เกิดจากการขับรถเร็วเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดมีจำนวนทั้งสิ้น 4,424 ราย สูงกว่าคดีที่เกี่ยวข้องกับการเมาสุราถึงร้อยละ 66
ทั้งนี้ มูลนิธิป้องกันอุบัติเหตุฯ เผยว่า พื้นที่ที่มีจำนวนคดีอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับการขับรถเร็วสูงสุดนั้นคือพื้นที่นครบาล 2 หรือย่านสุทธิสาร บางซื่อ เตาปูน ดอนเมือง บางเขน สายไหม เป็นต้น ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีชุมชนหนาแน่น และยานพาหนะในปริมาณมาก รถยนต์นั่ง (41%) รถจักรยานยนต์ (34%) และรถบรรทุกขนาดเล็ก (ปิกอัพ) (8%) เป็นยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ซึ่งการเกิดอุบัติจากการขับขี่ ด้วยความเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดนั้นได้สร้างความสูญเสียให้กับประชาชนเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังเป็นปัจจัยหลักที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจและสังคมในวงกว้าง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 18 พฤษภาคม 2560นี้ มูลนิธิป้องกันอุบัติภัยแห่งเอเชีย (AIP Foundation)และภาคีเครือข่ายภาค ประชาสังคมและนักวิชาการกว่า 30 ชีวิต ได้ร่วมกันจัดเวที เสวนาเรื่อง “ช้าลงหน่อย...ชีวิตปลอดภัย เวทีชี้ทางออกหาทางแก้การขับขี่ ด้วยความเร็วที่เหมาะสมในเขตชุมชนเมือง” เพื่อแลกเปลี่ยนพูดคุยถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในเรื่องความเร็วในเมืองกับเครือข่ายภาคประชาสังคมที่ได้รับผลกระทบในเรื่องนี้ และเพื่อเสนอความคิดเห็นแนวทางในการร่วมมือจัดการในเรื่องดังกล่าวต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นรูปธรรม ที่ห้องอเนกประสงค์ ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร