- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- หลังม่านซื้อเครื่องจับความเร็ว957ล. ‘ประวิตร-อนุพงษ์’ชง ครม.ไฟเขียว-อธิบดี ปภ.เสนอ?
หลังม่านซื้อเครื่องจับความเร็ว957ล. ‘ประวิตร-อนุพงษ์’ชง ครม.ไฟเขียว-อธิบดี ปภ.เสนอ?
“…พล.อ.อนุพงษ์ : ประเด็นที่ต้องการจะดำเนินการคือการตรวจจับ โดยการเสนอขออุปกรณ์เครื่องมือซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่คณะกรรมการฯได้สรุปมา คิดว่าการตรวจจับลดได้ และควรทำอย่างไรที่จะให้คนในประเทศไทยมีวัฒนธรรมการใช้รถใช้ถนนที่ปลอดภัย และขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจช่วยดำเนินการอย่างจริงจัง โดยเฉพาะผู้ขับรถสาธารณะ ถ้ายังมีความคึกคะนองแล้วมาขับรถไม่ได้เด็ดขาด ขอฝากประเด็นนี้ไว้เป็นกรณีพิเศษทั้งกระทรวงคมนาคม และทางตำรวจ…”
หลายคนอาจจะทราบไปแล้วว่าเมื่อวันที่ 10 ต.ค. 2560 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติอนุมัติตามที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ในฐานะกำกับดูแลกระทรวงมหาดไทย อนุมัติโครงการจัดหาเครื่องตรวจจับความเร็วแบบพกพา เพื่อใช้ในการดำเนินการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ตามที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ในฐานะประธานกรรมการ และ ผอ.ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนเสนอ ให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย จับหาเครื่องตรวจจับความเร็วแบบกพกพา จำนวน 1,064 เรื่อง ราคาเครื่องละ 9 แสนบาท เป็นเงิน 957,600,000 บาท เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ในการบังคับใช้กฎหมายสำหรับทุกสถานีตำรวจจำนวน 1,465 แห่ง
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานแล้วว่า การจัดซื้อเครื่องตรวจจับความเร็วดังกล่าว ถูกนำเสนอขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นปี 2558 ผ่านที่ประชุมคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยครั้งที่ 1/2558 ช่วงเดือน ก.พ. 2558 ที่ผ่านมา
โดยมีผู้บริหารระดับสูงรายหนึ่งใน ปภ. เป็นผู้เสนอแนวคิดดังกล่าว และทำหนังสือไปยัง สตช. ขอให้ยืนยันความจำเป็นในการจัดซื้อเครื่องตรวจจับความเร็วดังกล่าวเพื่อช่วยป้องกันอุบัติเหตุทางถนน แต่ขณะนั้นยังไม่ได้ระบุวงเงินงบประมาณในการจัดซื้อแต่อย่างใด โดยเสนอไปพร้อมกับการขอจัดซื้อเครื่องตรวจจับแอลกอฮอล์ จำนวน 2,930 เครื่อง ที่ปัจจุบันอนุมัติงบประมาณไปแล้ว รวมวงเงินกว่า 199 ล้านบาท เฉลี่ยเครื่องละ 6.8 หมื่นบาท (อ่านประกอบ : โชว์หนังสือ สตช.ยุค‘ประวุฒิ’ขอ ปภ.สนับสนุน เบื้องหลังซื้อเครื่องตรวจจับความเร็ว957ล.)
แต่หลายคนอาจยังไม่รู้ว่า ผู้บริหารระดับสูงรายหนึ่งใน ปภ. ที่เสนอแนวคิดดังกล่าวเป็นใคร เหตุผลอะไรทำไมต้องจัดซื้อ แล้ว ‘บิ๊กป้อม’ พล.อ.ประวิตร และ ‘บิ๊กป๊อก’ พล.อ.อนุพงษ์ มีบทบาทมากแค่ไหนในการประชุมครั้งดังกล่าว ?
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org มีคำตอบ ดังนี้
ข้อเท็จจริงต้นเรื่องของกรณีนี้ เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2556 ที่ประชุมเพื่อเตรียมการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2556 ได้มีมติให้ สตช. เสนอความต้องการเครื่องตรวจวัดความเร็ว และเครื่องตรวจวัดแอลกอฮอล์ เพื่อใช้ในภารกิจด้านการบังคับใช้กฎหมาย ต่อมา สตช. ทำหนังสือถึงอธิบดี ปภ. (ขณะนั้น) ขอให้สนับสนุนความต้องการจัดซื้อเครื่องตรวจวัดความเร็วแบบติดตั้ง 228 เครื่อง (76 จังหวัด จังหวัดละ 3 เครื่อง) เครื่องตรวจวัดความเร็วแบบพกพา 152 เครื่อง (76 จังหวัด จังหวัดละ 2 เครื่อง) และเครื่องตรวจวัดแอลกอฮอล์แบบยืนยันผล จำนวน 2,930 เครื่อง (1,465 สถานี สถานีละ 2 เครื่อง)
หลังจากนั้นมีการนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี สมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เพื่อดำเนินการ แต่เรื่องดังกล่าวก็เงียบหายไป เนื่องจากเกิดการชุมนุมทางการเมืองช่วงปลายปี 2556 และเกิดรัฐประหารขึ้นเมื่อกลางปี 2557
ต้นปี 2558 ปภ. มีการปัดฝุ่นเรื่องดังกล่าวอีกครั้ง โดยขอให้ สตช. ยืนยันความจำเป็นขอรับการสนับสนุนเครื่องมือตรวจจับความเร็ว และเครื่องตรวจวัดแอลกอฮอล์อีกครั้ง ก่อนที่คราวนี้ พล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ ผช.ผบ.ตร. ปฏิบัติราชการแทน ผบ.ตร. (ยศ และตำแหน่งขณะนั้น) จะตอบกลับ ปภ. ขอยืนยันความจำเป็นในการขอรับการสนับสนุนเครื่องมือการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยจัดซื้อเท่าเดิมสมัยปี 2556
ต่อมาเมื่อเดือน ก.พ. 2558 มีการประชุมคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยครั้งที่ 1/2558 พบว่า ผู้บริหารระดับสูงใน ปภ. ที่ปัดฝุ่นแนวคิดดังกล่าว คือ นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ที่ขณะนั้นดำรงตำแหน่งอธิบดี ปภ. (ปัจจุบันดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงมหาดไทย)
โดยการเสนอจัดซื้อเครื่องตรวจจับความเร็วทั้งชนิดติดตั้ง และชนิดพกพา ถูกนำเสนอในวาระที่ 4.6 ในการประชุมครั้งดังกล่าว เป็นเรื่องสรุปผลการดำเนินการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2558 และข้อเสนอเชิงนโยบายในการจัดหาเครื่องตรวจจับความเร็ว และเครื่องตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์เพื่อการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน
นายฉัตรชัย ในฐานะกรรมการ และเลขานุการ เปิดฉากอธิบายว่า ผลการปฏิบัติงานที่เป็นการถอดบทเรียนการลดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2558 ประเด็นที่นำเสนอเป็นการเสนอโดยสรุปบทเรียนสำคัญที่พบในห้วงรณรงค์ที่ผ่านมา และตลอดเวลาที่ผ่านมา สาเหตุสำคัญ 3 เรื่อง ได้แก่ ความเร็ว ความเมา และมอเตอร์ไซค์
ทั้งนี้ รมว.มหาดไทย ได้สั่งการให้แก้ปัญหาให้ตรงจุด ตรงประเด็น วันนี้จึงเสนอในหลักการประกอบ กับมีการแก้ไข พ.ร.บ.จราจร ในเรื่องของการบังคับใช้กฎหมาย และเพื่อให้การปฏิบัติตรงประเด็น และสามารถบังคับใช้กฎหมายได้อย่างชัดเจนไปสู่กระบวนการศาล คือ การจัดหาวัสดุอุปกรณ์สนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่ผ่านมามีคณะรัฐมนตรี และฝ่ายความมั่นคงของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เห็นชอบในหลักการแล้ว
"วันนี้เป็นการเสนอเชิงหลักการ เพื่อให้คณะกรรมการสนับสนุนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการเตรียมการจัดหาเครื่องมือในการวัดความเร็ว วัดความเมา คือการเป่า ขอเสนอเชิงนโยบายเพื่อดำเนินการต่อไป"
พล.อ.อนุพงษ์ ในฐานะรองประธานกรรมการ คนที่ 1 เสริมว่า ตามที่มีแผนการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงที่ผ่านมา ประเด็นใหญ่ ๆ คือมีผู้เสียชีวิตมาก เกิดจากการดื่มสุรา ขับรถเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกิดจากการใช้รถมอเตอร์ไซค์ การขับรถของคนไทยยังเป็นลักษณะเดิมคือขับรถเร็ว และกระชากความเร็วขึ้นไป ในต่างประเทศไม่ค่อยทำกัน
ประเด็นที่ต้องการจะดำเนินการคือการตรวจจับ โดยการเสนอขออุปกรณ์เครื่องมือซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่คณะกรรมการฯได้สรุปมา คิดว่าการตรวจจับลดได้ และควรทำอย่างไรที่จะให้คนในประเทศไทยมีวัฒนธรรมการใช้รถใช้ถนนที่ปลอดภัย และขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจช่วยดำเนินการอย่างจริงจัง โดยเฉพาะผู้ขับรถสาธารณะ ถ้ายังมีความคึกคะนองแล้วมาขับรถไม่ได้เด็ดขาด ขอฝากประเด็นนี้ไว้เป็นกรณีพิเศษทั้งกระทรวงคมนาคม และทางตำรวจ
พล.อ.ประวิตร ในฐานะประธานกรรมการ ระบุว่า ขอให้ สตช. รับเรื่องนี้ไปดำเนินการ นำนโยบาย รมว.มหาดไทย ไปดำเนินการทั้งหมด และดำเนินการเพื่อให้จำนวนผู้เมาแล้วขับลดลง โดยการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด
ต่อมา พล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ ผช.ผบ.ตร. (ยศ และตำแหน่งขณะนั้น) กรรมการ ระบุว่า การทำให้การขับขี่ปลอดภัย และการให้ความรู้ในมาตรการของ สตช. ในอีกไม่กี่เดือนจะมีการติดตั้งกล้องตรวจจับความเร็ว กล้องฝ่าไฟแดง กล้อมห้ามการกลับรถตรงคอสะพานที่เคยจับ โดยใช้เทคโนโลยีในการจับกุม (ดูเอกสารประกอบ)
กระทั่งเดือน เม.ย. 2558 ปภ. ทำหนังสือถึง สตช. เป็นครั้งที่ 3 ขอให้ยืนยันการขอรับการสนับสนุนการจัดซื้อเครื่องตรวจวัดความเร็วในการปฏิบัติงาน อย่างไรก็ดีคราวนี้จำนวนเครื่องไม่เท่าเดิมเสียแล้ว แต่พุ่งขึ้นกว่าเดิมหลายเท่า มีการจัดซื้อเฉพาะแบบพกพา รวม 1,064 เครื่อง (จากเดิมเฉพาะอุปกรณ์แบบพกพาเพียงแค่ 152 เครื่องเท่านั้น) แต่ไม่ได้ระบุงบประมาณในการจัดซื้อแต่อย่างใด
แล้วเรื่องดังกล่าวก็เงียบหายไป กระทั่งเดือน ต.ค. 2559 มีการจัดซื้อเครื่องเป่าแอลกอฮอล์ จำนวน 2,930 เครื่อง ที่ รวมวงเงินกว่า 199 ล้านบาท เฉลี่ยเครื่องละ 6.8 หมื่นบาท (อ่านประกอบ : ปภ.ซื้อแล้วเครื่องตรวจแอลกอฮอล์ใหม่2,930 เครื่อง199 ล.-เฉลี่ยตัวละ6.8หมื่น, ‘บิ๊กป๊อก’จัดให้! เบื้องหลัง มท.ซื้อเครื่องเป่าแอลกอฮอล์ 234 ล.รับมือปีใหม่)
ผ่านมาเป็นเวลาปีหนึ่ง เมื่อ 10 ต.ค. 2560 คณะรัฐมนตรีจึงมีมติอนุมัติการจัดซื้อเครื่องวัดความเร็วดังกล่าว จำนวน 1,064 เครื่อง วงเงินกว่า 957 ล้านบาท เฉลี่ยเครื่องละ 9 แสนบาท ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า แพงเกินไปหรือไม่ เนื่องจากมีผู้ตรวจสอบราคา พบว่า บางแห่งขายเพียงเครื่องละ 1-2 แสนบาทเท่านั้น
ทั้งหมดคือข้อเท็จจริง-เบื้องลึกเบื้องหลังในวงประชุมคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ที่มีคีย์แมนอย่าง นายฉัตรชัย พล.อ.ประวิตร พล.อ.อนุพงษ์ และ พล.ต.อ.ประวุฒิ ผู้มีบทบาทในการให้ สตช. ขอรับงบ ปภ. สนับสนุนการจัดซื้อเครื่องตรวจจับความเร็วดังกล่าว
ท้ายสุดจะซื้อแพง ตามที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์กันหรือไม่ คงต้องรอดูต่อไป !