- Home
- Investigative
- จัดซื้อจัดจ้าง
- สำนักงบฯติง-บิ๊กตู่ลดราคา!โชว์หนังสือ ‘อนุพงษ์’ชง ครม.ซื้อเครื่องจับความเร็วเหลือ573ล.
สำนักงบฯติง-บิ๊กตู่ลดราคา!โชว์หนังสือ ‘อนุพงษ์’ชง ครม.ซื้อเครื่องจับความเร็วเหลือ573ล.
“…ทั้งหมดคือเบื้องลึก-ฉากหลัง ก่อนที่กลายเป็นประเด็นร้อนที่สุดในขณะนี้ จากเดิมที่จะจัดซื้อจำนวน 1,064 เครื่อง เฉลี่ยเครื่องละ 900,000 บาท รวมมูลค่า 957,600,000 บาท ต่อมาถูกสำนักงบประมาณ ‘ติง’ เรื่องราคาที่สูงเกินไป ส่งผลให้ต้องปรับลดราคากลางลงมาเหลือเครื่องละ 675,000 บาท แต่จำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 1,211 เครื่อง รวมมูลค่า 817,425,000 บาท อย่างไรก็ดี ‘บิ๊กตู่’ ได้อนุมัติให้ซื้อเบื้องต้นก่อนแค่ 849 เครื่อง วงเงิน 573,075,000 บาท เฉลี่ยเครื่องละ 675,000 บาท ในที่สุด…”
การจัดซื้อเครื่องตรวจจับความเร็วชนิดพกพา ที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติตามที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ในฐานะกำกับดูแลกระทรวงมหาดไทย ถูกจับตาเป็นอย่างมากจากสาธารณชน
ภายหลังการจัดซื้อดังกล่าว ถูกสื่อมวลชนหลายค่ายหลายสำนักระบุตรงกันว่า อนุมัติด้วยวงเงินสูงถึงกว่า 957 ล้านบาท จำนวน 1,064 เครื่อง เฉลี่ยเครื่องละ 9 แสนบาท ส่งผลให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนาหูถึงความเหมาะสม และราคาว่าทำไมถึงแพงขนาดนี้ ?
เบื้องลึกเบื้องหลังการจัดซื้อเครื่องดังกล่าว สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เสนอไปแล้วว่า เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงปี 2556 สมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ยืนยันการขอรับงบสนับสนุนเพื่อขอจัดซื้อเครื่องดังกล่าว โดยในปี 2556 สตช. ยืนยันขอจัดซื้อแค่ 152 เครื่อง ก่อนที่จะเกิดวิกฤติการเมือง และมีการรัฐประหารช่วงกลางปี 2557 ทำให้เรื่องนี้ถูกพับไป
กระทั่งต้นปี 2558 เรื่องนี้ถูกปัดฝุ่นขึ้นมาอีกครั้ง นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดี ปภ. (ขณะนั้น ปัจจุบันเป็นปลัดกระทรวงมหาดไทย) กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้หารือในวงประชุมครั้งที่ 1/2558 เสนอในเชิงหลักการ ให้คณะกรรมการฯสนับสนุนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในการเตรียมการจัดหาเครื่องมือในการวัดความเร็วเพื่อดำเนินการต่อไป
ขณะที่ ‘บิ๊กป๊อก’ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย และ ‘บิ๊กป้อม’ พล.อ.ประวิตร รับลูกสอดคล้องต้องกัน สั่งการให้ สตช. ยืนยันการจัดซื้อ ส่งผลให้ สตช. ส่งรายละเอียดขอให้ ปภ. สนับสนุนงบประมาณจัดหาเครื่องตรวจจับความเร็ว ที่คราวนี้ไม่ใช่แค่ 152 เครื่องอีกต่อไป แต่เพิ่มขึ้นเป็น 1,064 เครื่อง แต่ขณะนั้นยังไม่ได้คำนวณราคากลาง (อ่านประกอบ : หลังม่านซื้อเครื่องจับความเร็ว957ล. ‘ประวิตร-อนุพงษ์’ชง ครม.ไฟเขียว-อธิบดี ปภ.เสนอ?, โชว์หนังสือ สตช.ยุค‘ประวุฒิ’ขอ ปภ.สนับสนุน เบื้องหลังซื้อเครื่องตรวจจับความเร็ว957ล.)
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สืบค้นข้อมูลมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 ต.ค. 2560 ที่ผ่านมา พบเอกสารลงนามโดย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ในฐานะเจ้ากระทรวงมหาดไทย เสนอต่อคณะรัฐมนตรี ถึงเหตุผลและความจำเป็นในการจัดซื้อเครื่องดังกล่าว สรุปข้อเท็จจริงได้ ดังนี้
ความเป็นมาของเรื่องที่จะเสนอ
สตช. เสนอความต้องการเครื่องตรวจจับความเร็ว และเครื่องตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ เพื่อใช้ในภารกิจด้านการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ดังนี้
1.เครื่องตรวจจับความเร็วแบบติดตั้ง จำนวน 532 เครื่อง ราคาเครื่องละ 9 แสนบาท คิดเป็นเงิน 478,800,000 บาท
2.เครื่องตรวจจับความเร็วแบบพกพก จำนวน 1,064 เครื่อง ราคาเครื่องละ 9 แสนบาท เป็นเงิน 957,600,000 บาท
3.เครื่องตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์แบบยืนยันผล จำนวน 2,930 เครื่อง ราคาเครื่องละ 80,000 บาท เป็นเงิน 234,400,000 บาท (ปัจจุบันเครื่องนี้มีการจัดซื้อไปแล้ว วงเงินรวม 199 ล้านบาทเศษ เฉลี่ยเครื่องละ 68,000 บาท อ่านประกอบ : ปภ.ซื้อแล้วเครื่องตรวจแอลกอฮอล์ใหม่2,930 เครื่อง199 ล.-เฉลี่ยตัวละ6.8หมื่น, ‘บิ๊กป๊อก’จัดให้! เบื้องหลัง มท.ซื้อเครื่องเป่าแอลกอฮอล์ 234 ล.รับมือปีใหม่)
รมว.มหาดไทย ในฐานะประธานกรรมการ และ ผอ.ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ได้พิจารณาเห็นชอบในหลักการ และอนุมัติโครงการจัดหาเครื่องตรวจจับความเร็ว และเครื่องตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ โดยใช้งบกลางปี 2559 รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 1,670,800,000 บาท
อย่างไรก็ดีเมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 2558 สำนักงบประมาณมีหนังสือแจ้งนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) ระบุว่า เครื่องตรวจจับความเร็วเป็นเครื่องมือที่มีคุณลักษณะครุภัณฑ์พิเศษ และมีราคาสูงมาก (ราคาเครื่องละ 900,000 บาท จึงเห็นสมควรให้กระทรวงมหาดไทย และ สตช. ร่วมกันพิจารณาทบทวนการจัดหาเครื่องมือดังกล่าวอีกครั้ง
ต่อมา ปภ. ได้มีหนังสือแจ้งให้ สตช. ยืนยันความต้องการใช้เครื่องตรวจจับความเร็วเพื่อใช้ในการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน และ สตช. ได้เสนอความต้องการใช้เครื่องดังกล่าว เพื่อใช้ในการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน โดยแจ้งจำนวนความต้องการใช้เครื่องดังกล่าว จำนวน 1,957 เครื่อง แยกเป็นแบบติดตั้ง 746 เครื่อง แบบพกพา 1,211 เครื่อง
หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2559 คณะกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ที่มี พล.อ.อนุพงษ์ เป็นประธานฯ ได้เห็นชอบตามที่ สตช. เสนอ
ต่อมา เมื่อวันที่ 31 ส.ค. 2559 คณะกรรมการนโยบายการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนแห่งชาติ ที่มี พล.อ.ประวิตร เป็นประธานฯ เห็นชอบให้สนับสนุนเครื่องตรวจจับความเร็วแก่ สตช. และหน่วยปฏิบัติที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เพื่อป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนตามนโยบายรัฐบาล และให้สำนักงบประมาณพิจารณาสนับสนุนงบประมาณให้แก่ ปภ. ดำเนินการจัดหาเครื่องตรวจจับความเร็วจำนวน 1,957 เครื่อง แยกเป็นแบบติดตั้ง 746 เครื่อง แบบพกพา 1,211 เครื่อง
เมื่อวันที่ 4 ต.ค. 2559 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติจัดหาเครื่องมือเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ ให้ ปภ. ดำเนินการตามความเห็นของสำนักงบประมาณ ในการจัดหาเครื่องมือ
สำนักงบประมาณ มีความเห็นว่า กรณีการขอรับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อจัดหาเครื่องตรวจจับความเร็วแก่ สตช. และหน่วยงานปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง เห็นควรให้ ปภ. พิจารณาให้ชัดเจนในเรื่องแผนความต้องการ และแผนการจัดสรรเครื่องมือดังกล่าว ตลอดจนเรื่องคุณลักษณะเฉพาะ และราคาที่เหมาะสม โดยคำนึงถึงความประหยัด และคุ้มค่าเพื่อเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามความจำเป็น และเหมาะสมตามขั้นตอนต่อไป
ต่อมา เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2560 ปภ. ทำหนังสือแจ้ง สตช. ยืนยันความต้องการใช้เครื่องตรวจจับความเร็วและแผนการจัดสรรเครื่องตรวจจับความเร็วดังกล่าว เพื่อใช้ประกอบการขอตั้งงบประมาณในการจัดซื้อ
เมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2560 สตช. มีหนังสือตอบกลับ ปภ. ยืนยันความต้องการใช้เครื่องตรวจจับความเร็ว และแผนการจัดสรรให้หน่วยปฏิบัติ โดยขอรับการสนับสนุนเครื่องตรวจจับความเร็วรวม 1,957 เครื่อง แยกเป็นแบบติดตั้ง 746 เครื่อง แบบพกพา 1,211 เครื่อง
สำหรับแผนการจัดสรรให้หน่วยปฏิบัติ เห็นควรมอบหมายกองบัญชาการ/ตำรวจภูธรภาค หรือกองบังคับการตำรวจทางหลวง เป็นผู้เสนอความต้องการ และรู้สภาพปัญหาของพื้นที่ดีที่สุด บริหารจัดการอุปกรณ์เครื่องมือที่จะได้รับจัดสรรให้เกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฏหมายในพื้นที่ที่รับผิดชอบ และสามารถป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนที่เกิดจากการใช้ความเร็วเกินอัตราที่กฏหมายกำหนดได้อย่างมีประสิทธิผลต่อไป
ปภ. ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี โดยคำนึงถึงความประหยัด และคุ้มค่าในการจัดหาเครื่องมือดังกล่าว มีการทบทวนราคากลางจากผู้ค้าในท้องตลาด พบว่า ราคา ณ ปัจจุบัน เครื่องละ 675,000 บาท ถูกกว่าเดิม 225,000 บาท (เดิม 900,000 บาท) และนำมาเป็นข้อมูลในการจัดทำโครงการจัดหาเครื่องตรวจจับความเร็วแบบพกพา จำนวน 1,211 เครื่อง เครื่องละ 675,000 บาท รวมทั้งสิ้น 817,425,000 บาท โดยขอรับงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2560 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น โดยมีหนังสือเรียน ผอ.สำนักงบประมาณแล้ว เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 2560 เพื่อนำกราบเรียนนายกรัฐมนตรี โปรดพิจารณาให้ความเห็นชอบ
ต่อมาเมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2560 สำนักงบประมาณ แจ้งว่า นายกรัฐมนตรีได้เห็นชอบในหลักการให้ ปภ. ใช้จ่ายงบประมาณปี 2560 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น สำหรับจัดหาเครื่องตรวจจับความเร็วแบบพกพา จำนวน 573,075,000 บาท จำนวน 849 เครื่อง ตามกรอบแผนความต้องการที่สอดคล้องกับสถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนนของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน สำหรับใช้ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน โดยเบิกจ่ายในงบลงทุน ลักษณะค่าครุภัณฑ์ และให้นำเสนอขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรี โดยเสนอผ่านรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีเจ้าสังกัด หรือรัฐมนตรีที่กำกับดูแล แล้วแต่กรณี
ความเร่งด่วนของเรื่อง
การขับขี่ยานพาหนะด้วยความเร็วเกินกฎหมายกำหนด เป็นสาเหตุสำคัญของความสูญเสียชีวิต และทรัพย์สินของประชาชน โดยเฉพาะช่วงเทศกาลสำคัญ ๆ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นในการจัดหาเครื่องตรวจจับความเร็ว เพื่อใช้ในการเฝ้าระวัง และควบคุมพฤติกรรมการขับขี่ยานพาหนะด้วยความเร็วเกิดกฎหมายกำหนด
ค่าใช้จ่ายและแหล่งที่มา
งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2560 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น สำหรับการจัดหาเครื่องตรวจจับความเร็ว แบบพกพา จำนวน 573,075,000 บาท ดำเนินการจำนวน 849 เครื่อง (ดูเอกสารประกอบท้ายรายงาน)
กระทั่งเมื่อวันที่ 12 ต.ค. 2560 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่ รมว.มหาดไทย ในฐานะประธานกรรมการ และ ผอ.ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนเสนอ ทั้งนี้ให้ ปภ. โดยศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ดำเนินการให้ถูกต้อง เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ หลักเกณฑ์ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด
ทั้งหมดคือเบื้องลึก-ฉากหลัง ก่อนที่กลายเป็นประเด็นร้อนที่สุดในขณะนี้ จากเดิมที่จะจัดซื้อจำนวน 1,064 เครื่อง เฉลี่ยเครื่องละ 900,000 บาท รวมมูลค่า 957,600,000 บาท ต่อมาถูกสำนักงบประมาณ ‘ติง’ เรื่องราคาที่สูงเกินไป ส่งผลให้ต้องปรับลดราคากลางลงมาเหลือเครื่องละ 675,000 บาท แต่จำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 1,211 เครื่อง รวมมูลค่า 817,425,000 บาท
อย่างไรก็ดี ‘บิ๊กตู่’ ได้อนุมัติให้ซื้อเบื้องต้นก่อนแค่ 849 เครื่อง วงเงิน 573,075,000 บาท เฉลี่ยเครื่องละ 675,000 บาท เท่านั้น
ส่วนราคาเท่านี้จะยังคุ้มค่าคุ้มราคา ได้ใช้งานจริง มีประสิทธิภาพ-ประสิทธิผลหรือไม่ อย่างไร คงต้องติดตามตรวจสอบกันต่อไป !