จับอีก 132 แรงงานไทยทำงานมาเลย์ผิดกฎหมาย...ปัญหาใหญ่ที่แก้ไม่ตก!
ปัญหาคนจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าไปทำงานผิดกฎหมายในประเทศมาเลเซีย ยังคงปรากฏอยู่อย่างต่อเนื่อง แม้ช่วงปลายปีที่แล้ว ต่อเนื่องถึงปีนี้ จะมีข่าวหญิงไทยถูกลวงไปบังคับขอทานในมาเลเซีย จนต้องถูกจับกุม และขึ้นศาลในฐานะ "เหยื่อค้ามนุษย์" ตามที่ "ทีมข่าวอิศรา" เคยตีแผ่ไปแล้วก็ตาม
หลังเหตุการณ์ในครั้งนั้น ซึ่งภายหลังยังพบคนไทยจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ถูกลวงเข้าไปทำงาน หรือข้ามไปรับจ้างทำงานแบบรู้เท่าไม่ถึงกัน และถูกจับอีกหลายร้อยคน จนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ นำโดยศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ต้องบูรณาการกันเพื่อประชาสัมพันธ์และให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับคนในพื้นที่ แต่ดูเหมือนปัญหาจะยังไม่ดีขุึ้น เพราะล่าสุดยังพบคนไทยจากชายแดนใต้ ถูกจับกุมในมาเลเซียอีก 132 คน
นายธีรุตม์ ศุภวิบูลย์ผล ผู้อำนวยการกองการต่างประเทศ ศอ.บต. เปิดเผย "ทีมข่าวอิศรา" ว่า เมื่อต้นเดือน ต.ค.60 เจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ได้เดินทางเข้าเยี่ยมคนไทยจำนวน 132 คน ที่ถูกควบคุมตัวอยู่ที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ หลังถูกจับกุมที่ไนท์คลับ 2 แห่งในกรุงกัวลาลัมเปอร์ เมืองหลวงของมาเลเซีย เมื่อวันที่ 28 ก.ย.60 โดยเจ้าหน้าที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองแจ้งสถานเอกอัครราชทูตไทยฯว่า ทางการมาเลเซียได้ปฏิบัติการตรวจค้นสถานที่ท่องเที่ยวกลางคืน และจับกุมชาวต่างชาติที่ทำงานไม่ถูกต้องตามกฎหมายอย่างจริงจังและต่อเนื่อง
จากเหตุการณ์ดังกล่าว สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ พบว่า การเดินทางเข้าไปทำงานในสถานที่ท่องเที่ยวกลางคืนในประเทศมาเลเซียของแรงงานไทยทั้งหมด ใช้วิธีเดินทางเข้ามาทุกๆ 30 วัน (เข้าเมืองโดยใช้วีซ่าท่องเที่ยว แต่ไปรับจ้างทำงาน เมื่อครบกำหนด 30 วัน ก็กลับไปจ๊อบพาสปอร์ตตามด่านชายแดน แล้วกลับเข้าไปทำงานต่อ) ถือเป็นการทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน หรือ "เวิร์ค เพอร์มิต" เสี่ยงต่อการถูกจับกุม และมีอัตราโทษสูงสุดคือ ปรับไม่เกิน 1,000 ริงกิต คิดเป็นเงินไทยประมาณ 7,800 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ ฉะนั้นจึงไม่ควรหลงเชื่อผู้ที่มาชักชวนให้ไปทำงาน และควรหาข้อมูลให้รอบคอบก่อนตัดสินใจ เพื่อไม่ให้เข้าข่ายกระทำผิดกฎหมายของประเทศมาเลเซีย
"ขณะนี้แรงงานไทยทั้งหมดที่ถูกจับ ยังถูกควบคุมตัวที่ jalan duta พวกเขาเข้าไปทำงานแบบใช้วีซ่านักท่องเที่ยว และส่วนใหญ่การเข้าไปทำงานในมาเลเซียมักใช้วิธีการนี้" นายธีรุตม์ ระบุ
ปัจจุบันมีแรงงานไทยที่เข้าไปทำงานในประเทศมาเลเซีย เฉพาะที่ถูกกฎหมาย ประมาณ 12,000 คน ส่วนที่ผิดกฎหมายมีประมาณ 100,000 คน สาเหตุเพราะคนไทยที่ไปทำงานไม่ได้ศึกษาประเภทของงานก่อนว่า งานประเภทไหนบ้างที่ทางการมาเลเซียอนุญาตให้ทำงาน งานประเภทไหนบ้างที่มาเลเซียไม่อนุญาตให้คนต่างด้าวทำ ซ้ำรายนายจ้างบางรายก็ไม่ให้ความรู้ และไม่ยอมเสียค่าใช้จ่ายให้ลูกจ้างไปขึ้นทะเบียนให้ถูกกฎหมาย ประกอบกับลูกจ้างเองก็มีรายได้น้อย จึงไม่นิยมทำใบอนุญาตทำงาน เพราะต้องเสียค่าใช้จ่าย
แม้จะมีคนจากสามจังหวัดทุกจับ ถูกดำเนินคดี และถูกส่งกลับเป็นระยะๆ ทุกปี รวมถึงการลวงหญิงชราไปทำงานเป็นขอทานเข้าข่ายค้ามนุษย์ แต่เนื่องจากในพื้นที่ยังไม่มีงานมากพอ ทำให้หลายคนยังเสี่ยงไปทำงานเพื่อโอกาสที่ดีกว่าในมาเลเซีย
นายฟุรกอน สาและ หนึ่งในแรงงานไทยที่ไปทำงานในมาเลเซีย เล่าว่า ทำงานที่มาเลเซีย 10 กว่าปีแล้ว ตั้งแต่ไม่มีภรรยา จนตอนนี้มีภรรยาและมีลูก 2 คน สาเหตุที่ต้องไปทำงานที่มาเลเซีย เพราะอยู่ที่บ้านไม่รู้จะทำงานอะไร ไม่มีอะไรให้ทำ แถมอยู่บ้านก็ไม่ปลอดภัยด้วย
"ตลอด 10 กว่าปีที่อยู่ทำงานในมาเลเซีย จะใช้หนังสือเดินทางมาทำงาน 25 วัน จากนั้นก็จะออกไปจ๊อบหนังสือเดินทางช่วงระหว่างวันที่ 26-28 ของเดือน ไม่เคยทำใบอนุญาตทำงาน เพราะราคาแพง แถมใช้ได้ไม่กี่เดือน ทำให้เสียค่าใช้จ่ายเยอะ ก็เลยคิดว่าไม่ทำดีกว่า" แรงงานไทยเปิดใจถึงสาเหตุที่ต้องไปทำงานแบบผิดกฎหมาย
เขาเล่าต่อว่า การใช้ชีวิตและทำงานที่มาเลเซีย แม้จะค่อนข้างลำบาก เวลาทำงานก็ต้องหลบๆ ซ่อนๆ แต่ก็ดีกว่าอยู่ในสามจังหวัด (ประเทศไทย) เพราะนอกจากจะไม่มีงานทำแล้ว ยังอันตราย
"ร้านไหนที่ใหญ่ๆ เถ้าแก่ก็จะใช้วิธีจ่ายเงินใต้โต๊ะให้กับเจ้าหน้าที่ ถ้าจ่ายให้ เจ้าหน้าที่ก็จะทำเป็นหลับหูหลับตา ลูกจ้างก็ทำงานอย่างสบายใจ ช่วงไหนจะมีการปราบปราม ก็จะมีเจ้าหน้าที่มาแจ้งล่วงหน้า ก็เลยรอดมาได้ ส่วนร้านเล็กๆ จะแย่หน่อย ทั้งนายจ้างและลูกจ้างก็ต้องทำงานอย่างหลบๆ ซ่อนๆ" หนุ่มแรงงานไทยในมาเลย์ ระบุ
ขณะที่ นางแยนะ ดอเลาะ หญิงวัย 50 ปี ชาว จ. ยะลา เล่าว่า เพิ่งไปทำหนังสือเดินทางมา เตรียมพร้อมไปขายของที่มาเลเซีย ไปกับนายจ้างซึ่งเป็นคนปัตตานี การไป ทำงานครั้งนี้ไม่ได้เวิร์คเพอร์มิต เพราะนายจ้างบอกว่าเข้าไปทำงาน 15 วัน แล้วอีก 15 วันกลับมาอยู่ที่ไทย ไม่จำเป็นต้องทำใบอนุญาตทำงานให้เสียเงิน
"ฉันไม่เคยไปทำงานที่มาเลเซีย ครั้งนี้เป็นครั้งแรก คิดว่าไม่น่ามีปัญหาอะไร คนอื่นๆ เขาไปกันได้ แล้วก็ไม่ได้มีปัญหา ส่วนคนที่ถูกเจ้าหน้าที่มาเลเซียจับกุมเพราะไม่มีใบอนุญาตทำงาน ก็ถือว่าโชคไม่ดี" แยนะ บอก และว่า
"คนที่ไปมาแล้วเขาบอกว่าแต่ละครั้งที่ไป เมื่อกลับมาเขาสามารถเอาเงินมาให้ครอบครัวได้ 20,000 ถึง 30,000 บาท ทำงานแค่ 15 วันได้เงินกลับมาเยอะ ก็เลยคิดว่าจะลองเสี่ยงไปบ้าง เพราะอยู่บ้านไม่มีงานทำ ฉะนั้นก็ต้องยอมเสี่ยง"
ดูเหมือนปัญหานี้จะเป็นเรื่องใหญ่และแก้ไขยากจริงๆ...
-------------------------------------------------------------------------------------------
เรื่อง/ภาพ : นาซือเราะ เจะฮะ
อ่านประกอบ :
ร้องช่วย 21 หญิงชราชายแดนใต้ หวั่นถูกหลอกไปขอทานมาเลย์
พบแล้ว21หญิงชราถูกกักบ้านพักฉุกเฉินรัฐยะโฮร์ – แฉเส้นทางค้ามนุษย์ชายแดนใต้
เปิดรายชื่อ 21 หญิงชายแดนใต้ถูกกักในมาเลย์ จนท.ทูต-ศอ.บต.รุดเยี่ยม
ปากคำ 21 หญิงไทยในมาเลย์...ขอทานในคราบขายข้าวเกรียบ!
21 หญิงไทยปลอดภัย แต่ป่วย 13 คน - ครอบครัวเตรียมแจ้งจับ "นายหน้า"
นายกฯสั่งคุ้มครองพยานคดี21หญิงถูกลวงขายแรงงาน – ยอดผู้เสียหายพุ่งนับร้อย
ครอบครัว 21 หญิงไทยแจ้งจับ"นายหน้า" ลุ้นกลับกลุ่มแรกก่อนปีใหม่
โทรศัพท์ลึกลับอ้างเป็น จนท.สถานทูต ขอพบญาติ บอกจะพาเยี่ยม 21 หญิงไทย!
จนท.ป้องนายหน้า-วิบากกรรม21หญิงไทย แฉให้ทำงานถึงตี2 – เอ็นจีโอยันค้ามนุษย์
21 หญิงไทยยังไม่ได้กลับบ้าน...
หญิงไทยกลุ่มแรกได้กลับบ้าน...อุทาหรณ์ถูกลวงขายแรงงาน – นายหน้าลอยนวล!
พบอีก! 177 หญิงไทยเหยื่อค้ามนุษย์ในมาเลย์ – 53 คนร่วม Thai Festival ถูกรวบ
ไม่สงบ ไม่มีเงิน ไม่มีงาน...ชะตากรรมหญิงชาวบ้านต้องไปขายแรงงาน-ขอทานมาเลย์
นายกฯไม่ปิดช่องเอาผิด "นายหน้า" พาหญิงชายแดนใต้ทำงานผิดกฎหมายมาเลย์
ฮามีด๊ะ สาและ...วิบากกรรมขายข้าวเกรียบมาเลย์ "แบกหนี้-สามีตาย-ไร้อิสรภาพ"
พม.ฟันธง 21 หญิงไทยเข้าข่าย"ค้ามนุษย์" ตำรวจจะนะลุยดำเนินคดีนายหน้า!
หมายจับ 3 นายหน้าค้ามนุษย์ พาหญิงชายแดนใต้ทำงานผิดกฎหมายในมาเลย์
เทียบบ้าน"นายหน้า"กับบ้าน"เหยื่อค้ามนุษย์" คฤหาสถ์กับกระต๊อบ?
รวบแล้วหนึ่ง! ขบวนการนายหน้านำพาหญิงชายแดนใต้ขายแรงงานมาเลย์
เปิดตัวเลข 3 กลุ่มหญิงไทยถูกจับในมาเลย์ ศอ.บต.เดินสายเยี่ยม-มอบเงินช่วยเหลือ
ฟ้าหลังฝนของ "ฮามีด๊ะ" หญิงไทยเหยื่อค้ามนุษย์มาเลย์
กรณี 21 หญิงไทย สะท้อนปัญหาใต้!
กลับบ้านเพิ่มอีกครึ่งร้อย! คนสามจังหวัดถูกจับทำงานไร้ใบอนุญาตที่มะละกา
"ไม่หลงเชื่อใครไปทำงานมาเลย์อีกแล้ว..." ความรู้สึก 21 หญิงไทยหลังกลับบ้าน 17 คน