ไม่สงบ ไม่มีเงิน ไม่มีงาน...ชะตากรรมหญิงชาวบ้านต้องไปขายแรงงาน-ขอทานมาเลย์
“เขาเลือกแต่คนอายุ 60 ขึ้นไป อายุน้อยกว่านั้นเขาไม่เอา เขาบอกดูไม่น่าสงสาร เขาเอาคนที่น่าสงสาร เพราะแก่แล้ว ลำบากจริง เลยต้องไปมาเลย์ ไปนั่งเหมือนเป็นขอทาน”
นี่คือคำบอกเล่าของ รอกีเยาะ อาบ๊ะ หญิงสูงอายุในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เกือบตกเป็นเหยื่อเดินทางไปขายข้าวเกรียบที่ประเทศมาเลเซีย ซึ่งเพื่อนของนางอีกหลายคนถูกกักตัวในฐานะ "เหยื่อค้ามนุษย์" นานหลายเดือนกว่าจะได้กลับบ้าน
คำพูดของรอกีเยาะที่อ้างถึงคำชักชวนของนายหน้า ชัดเจนว่าการขายข้าวเกรียบเป็นเพียงกิจกรรมบังหน้าเท่านั้น เพราะจุดประสงค์ที่แท้จริงของการนำหญิงสูงอายุข้ามแดนไปมาเลเซียก็เพื่อ "ขอทาน" โดยใช้ความชราของผู้หญิงเหล่านี้ บีบหัวใจของผู้พบเห็นให้สงสาร และยอมควักเงินซื้อข้าวเกรียบจากพวกนาง
คุณสมบัติของหญิงชราที่นายหน้าต้องการ คืออายุต้องเกิน 60 ปี เรียกว่ายิ่งแก่ยิ่งดี และต้องพูดภาษายาวีได้ เพื่อสื่อสารกับคนมาเลเซียโดยตรง ก่อนเดินทางให้เตรียมเสื้อผ้าเก่าๆ ขาดๆ ไปมากๆ เพื่อนำไปสวมใส่ขณะทำงาน
รอกีเยาะ ไม่ได้ร่วมขบวนไปนั่งขอเงินจากการขายข้าวเกรียบ เพราะพูดภาษายาวีไม่คล่อง
ข้อมูลที่หญิงสูงอายุซึ่งตกเป็นเหยื่อส่งถึงครอบครัวของพวกนางก็คือ ถูกนายหน้าบังคับให้นอนรวมกัน กว่าจะได้นอนก็ดึกดื่นค่อนคืน เพราะมีหน้าที่ต้องนำข้าวเกรียบบรรจุถุง เช้ามืดนายหน้าก็จะพาไปส่งตามสถานที่ต่างๆ เพื่อนั่งขาย เน้นบริเวณหน้าธนาคารและอาคารสำนักงานในเมืองใหญ่ เช่น กัวลาลัมเปอร์ รวมถึงยะโฮร์บารู
ระยะเวลาทำงานยาวนานตั้งแต่เช้าจนถึงค่ำ นายหน้าก็จะขับรถมารับ แล้วพากลับที่พัก เพื่อนั่งทำงานนำข้าวเกรียบบรรจุห่อก่อนนอน พร้อมหักเงินราว 80% ของที่ขายได้ไปเป็นของนายหน้า
นี่คือชะตากรรมของหญิงชราจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่จำต้องหนีความยากจนไปทำงานต่างแดน แต่ก็ยังโชคร้ายซ้ำอีก เมื่อถูกนายหน้าลวงไปขอทาน
ข่าวร้ายระลอกใหม่
"ทีมข่าวอิศรา" เปิดโปงเรื่องนี้เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว เพราะได้รับการร้องเรียนจากครอบครัวของหญิงเหล่านี้ว่า มีหญิงสูงอายุ 21 คนจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เดินทางไปขายข้าวเกรียบตามคำชักชวนของนายหน้า ขาดการติดต่อไป ไม่รู้ว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไร สุดท้ายจึงพบว่าพวกนางถูกจับกุม และถูกกักตัวอยู่ที่บ้านพักฉุกเฉินสตรี รัฐยะโฮร์ เพื่อเป็นพยานในชั้นศาล ดำเนินคดีค้ามนุษย์กับกลุ่มนายหน้าที่บังคับขายแรงงาน
เมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว วันที่ 19 มกราคม หญิงสูงอายุ 12 คนจาก 21 คนที่ถูกกักตัวไว้เป็นพยาน ได้อิสรภาพและเดินทางกลับบ้านสู่อ้อมกอดของครอบครัวอย่างอบอุ่น ขณะที่อีก 9 คนที่เหลือรอขึ้นศาลเพื่อให้การในฐานะพยานรอบสุดท้ายช่วงปลายเดือนนี้ แล้วก็จะได้กลับบ้านเช่นเดียวกัน
แต่แล้วข่าวดีก็จางหาย เมื่อ "ทีมข่าวอิศรา" ตรวจสอบพบว่า ยังมีหญิงสูงอายุจากชายแดนใต้ตกเป็นเหยื่อขบวนการค้ามนุษย์ และถูกกักตัวอยู่ในมาเลเซียอีก 177 คน กระจายอยู่ตามเมืองใหญ่ ทั้งกัวลาลัมเปอร์ ปีนัง มะละกา และยะโฮร์บารู
นี่ยังไม่นับหญิงไทยอีก 53 คนที่ถูกจับในฐานะทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต จากการเข้าไปร่วมขายของในกิจกรรมที่ชื่อว่า Thai Festival ซึ่งเป็นงานออกร้านจำหน่ายสินค้าไทย โดยเฉพาะอาหารที่ได้รับความนิยมอย่างมากในมาเลเซีย แต่กิจกรรมนี้ไม่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานภาครัฐ ทำให้คนที่เข้าไปทำงานล้วนเข้าข่ายกระทำผิดกฎหมาย หากถูกจับกุมก็มีความเสี่ยงสูงที่จะติดคุกในมาเลเซีย
รับจ้างกรีดยาง-ทำนา-อยู่ร้านต้มยำ
ชะตากรรมของหญิงสูงอายุจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เข้าไปทำงานแบบผิดกฎหมายในมาเลเซีย เป็นเพียงกลุ่มหนึ่งเท่านั้นของคนจากผืนแผ่นดินไทยที่ไปตกระกำลำบากในประเทศเพื่อนบ้าน เพราะงานที่คนจากชายแดนใต้นิยมข้ามไปทำมีอีกหลายประเภท หลักๆ ก็คือ งานร้านต้มยำ ซึ่งหมายถึงร้านอาหารไทยในมาเลเซีย, งานรับจ้างกรีดยาง, งานรับจ้างทำนา และขายข้าวเกรียบบังหน้าการเป็นขอทาน
เฉพาะร้านต้มยำ ซึ่งเป็นร้านอาหารยอดฮิตในมาเลเซีย มีงานวิจัยของ ดร.ชิดชนก ราฮิมมูลา นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ประมาณการว่า มีร้านต้มยำในมาเลเซียมากกว่า 5,000 ร้าน และมีแรงงานในร้านราว 150,000 คน
แรงงานทุกประเภทแม้จะเข้าเมืองอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่เกือบทั้งหมดไม่มีใบอนุญาตทำงาน จึงมีคนไทยถูกจับกุมดำเนินคดี และถูกคุมขังอยู่ตามรัฐต่างๆ ในมาเลเซียจำนวนไม่น้อย
ชายแดนใต้ไม่มีงาน...
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นปัญหาเศรษฐกิจและสภาพสังคมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ต้องเผชิญทั้งสถานการณ์ความไม่สงบ ราคายางถูก และไม่มีงานทำ ถึงขนาดที่คนแก่คนเฒ่าต้องข้ามแดนไปขอทานในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งปัญหานี้ผู้รับผิดชอบอย่างศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ก็ยอมรับว่าถึงเวลาต้องเร่งสร้างงานให้คนในพื้นที่ด่วนที่สุด
“ต้องเพิ่มความช่วยเหลือด้านอาชีพ โดย ศอ.บต.และหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่กำลังขับเคลื่อนโครงการเมืองต้นแบบสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนในพื้นที่ทำเกษตรกรรม สร้างงาน สร้างรายได้ เพื่อไม่ให้พี่น้องในพื้นที่ต้องข้ามประเทศไปทำงานในต่างแดนแบบนี้อีก” พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร รองเลขาธิการ ศอ.บต.กล่าว
ต้องตัดวงจรค้ามนุษย์
แต่การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ความไม่สงบ และการจ้างงานในพื้นที่เป็นเรื่องระยะยาว ฉะนั้นหากระยะสั้นไม่สามารถจัดการขบวนการค้าแรงงานที่หลอกลวงคนจากสามจังหวัดไปขายแรงงานผิดกฎหมายได้ ปัญหานี้ก็ไม่มีวันจบ
น่าแปลกที่หน่วยงานภาครัฐในพื้นที่กลับยืนกรานว่าการชักชวนหญิงสูงอายุไปขายข้าวเกรียบบังหน้าการขอทาน ไม่เป็นความผิด เพราะหญิงเหล่านั้นสมัครใจ ทั้งๆ ที่ความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญที่ติดตามปัญหาค้ามนุษย์มานาน ชี้ว่าเข้าข่ายเป็นความผิดตามกฎหมายอย่างแน่นอน
สุรพงษ์ กองจันทึก อดีตประธานอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ บอกว่า แม้หญิงสูงอายุอาจจะสมัครใจไปทำงาน แต่คำถามคือข้อมูลที่ได้ตรงตามความจริงหรือไม่ ถ้าข้อมูลได้แบบหนึ่ง สมัครใจไปทำแบบหนึ่ง แต่ไปเจอของจริงอีกแบบหนึ่ง มีการหน่วงเหนี่ยวกักขัง ทรมาน ก็อาจเป็นการค้ามนุษย์ ผู้นำพาไปมีการแสวงหาประโยชน์หรือเปล่า ถ้ามีก็เป็นค้ามนุษย์ เท่าที่ดูกรณีหญิงไทยจากชายแดนใต้ มีหลายประเด็นเข้าไปสู่เรื่องค้ามนุษย์ได้
ถึงที่สุดแล้วชะตากรรมของคนรากหญ้าในบ้านเรา จึงเหมือนลูกไก่ในกำมือของหน่วยงานภาครัฐ จะบีบก็ตาย จะคลายก็รอด หากเป็นเช่นนี้แล้ว สันติสุขจะเกิดขึ้นได้อย่างไร