ปากคำ 21 หญิงไทยในมาเลย์...ขอทานในคราบขายข้าวเกรียบ!
“เราตัดสินใจเดินทางไปขายข้าวเกรียบที่รัฐยะโฮร์ เนื่องจากเห็นว่ามีรายได้ดี มีเถ้าแก่คนจังหวัดสงขลาเป็นธุระพามา จัดหาที่พักและอาหารวันละ 2 มื้อ รวมทั้งรถรับส่ง เถ้าแก่ไม่เคยบอกว่าการขายข้าวเกรียบเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย”
นี่คือคำบอกเล่าของหนึ่งใน 21 หญิงไทย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุที่ถูกจับกุมและกักตัวในบ้านพักฉุกเฉินสตรีในรัฐยะโฮร์ รัฐปลายแหลมมลายูของมาเลเซีย
จนถึงป่านนี้พวกเธอยังไม่รู้ว่ากำลังตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์!
หญิงไทยทั้ง 21 คน มาจาก จ.ปัตตานี 15 คน ยะลา 4 คน และสงขลา 2 คน เดินทางข้ามไปยังฝั่งมาเลเซียเพื่อขายข้าวเกรียบตามคำชักนำของนายหน้าค้าแรงงานใน อ.จะนะ จ.สงขลา โดยออกเดินทางตั้งแต่ปลายเดือน ก.ย. แล้วก็ขาดการติดต่อไป
กว่า 1 เดือนที่ครอบครัวได้แต่เฝ้ารอและทวงถามความเป็นอยู่ของแม่หรือภรรยาทั้ง 21 คนว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไร แต่นายหน้าก็ไม่มีคำตอบอะไรที่ชัดเจน
กระทั่ง อับดุลเลาะ สุหลง สามีของหนึ่งใน 21 หญิงไทย ตรอมใจจนเสียชีวิตลง ทำให้ลูกชายของเขาเข้าร้องทุกข์กับ “ทีมข่าวอิศรา” เรื่องราวจึงเริ่มกระจ่างชัด และตามหาตัวทั้ง 21 คนได้ในที่สุด
คำบอกเล่าของหญิงจากชายแดนใต้ทั้ง 21 คนที่ถ่ายทอดผ่านเจ้าหน้าที่สถานทูตไทยและผู้แทนจาก ศอ.บต.ที่เข้าไปเยี่ยมถึงบ้านพักฉุกเฉินฯ ในรัฐยะโฮร์ สะท้อนชะตากรรมของผู้คนที่ปลายด้ามขวานซึ่งต้องเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจจากสถานการณ์ความไม่สงบ และราคาพืชผลทางการเกษตร โดยเฉพาะยางพารากับลองกอง ที่ตกต่ำเป็นประวัติการณ์
“ทุกคนสมัครใจมา เถ้าแก่ให้มาขายข้าวเกรียบถุงละ 10 ริงกิต เราจะได้ส่วนแบ่งถุงละ 2 ริงกิต ที่เหลือเป็นของเถ้าแก่ ทำงานตั้งแต่ 11 โมงเช้าถึงเที่ยงคืนทุกวัน มีรถรับส่งไปนั่งขายตามหน้าธนาคารสาขาต่างๆ เถ้าแก่เลี้ยงอาหารวันละ 2 มื้อ และไม่เคยบอกว่าขายข้าวเกรียบผิดกฎหมาย”
แน่นอนว่าการขายข้าวเกรียบไม่ได้ผิดกฎหมาย แต่การทำงานหรือค้าแรงงานในมาเลเซีย ต้องมีใบอนุญาตทำงาน เรียกว่า “เวิร์ค เพอร์มิต” เมื่อไม่มีใบอนุญาตทำงาน ย่อมไม่มีสิทธิ์ทำงานได้ ผู้ฝ่าฝืนจึงต้องถูกจับกุม แต่เหตุการณ์ครั้งนี้ไม่ใช่แค่ปัญหาไม่มีใบอนุญาตทำงาน ทว่าทางการมาเลเซียยังมองว่าขบวนการที่จัดหาแรงงานซึ่งเป็นหญิงไทยจากชายแดนใต้มาทำงาน และส่วนใหญ่เป็นหญิงสูงอายุด้วยนั้น เข้าข่ายการค้ามนุษย์
“กฎหมายค้ามนุษย์ของไทยกับมาเลเซียมีความแตกต่างกัน ไทยกำหนดองค์ประกอบความผิดหลายอย่าง เช่น ต้องโดนหลอก ข่มขู่ บังคับ แต่มาเลเซียถึงแม้จะรับรู้ว่ามาทำงานอะไรด้วยความเต็มใจหรือสมัครใจ แต่ถ้ามีคนดำเนินการจัดการ จัดหาที่พัก อาหาร รถยนต์ และแบ่งผลประโยชน์กัน ก็ถือว่ามีความผิดฐานค้ามนุษย์ในมาเลเซียแล้ว” เป็นข้อมูลจาก ศุภณัฐ สิรันทวิเนติ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ที่อธิบายถึงเรื่องที่เกิดขึ้น
เรื่องนี้จึงเป็นคดีความ โดยทางการมาเลเซียจับกุมชาย 2 คน คือ นายอับดุลนาเซ วาเด็ง และ นายอับดุลเลาะห์ ไม่ทราบนามสกุล ในฐานะเป็นผู้จัดหาแรงงานหญิงไทยทั้ง 21 คน พร้อมแจ้งข้อหาค้ามนุษย์ มีโทษจำคุกสูงสุด 5 ปี
ส่วนหญิงไทยทั้งหมดถูกกันเป็นพยาน แม้จะโชคดีไม่ถูกดำเนินคดีใดๆ แต่ก็ยังถือว่าโชคร้าย เพราะยังกลับบ้านไม่ได้จนกว่าคดีจะสิ้นสุด ซึ่งอย่างเร็วที่สุดก็น่าจะเป็นต้นปีหน้า!
จะว่าไปแล้ว รูปแบบการขายข้าวเกรียบ ซึ่งนายหน้าจะคัดเฉพาะหญิงสูงอายุไปขาย ทั้งยังกำชับให้หาเสื้อผ้าเก่าๆ ไปสวมใส่ เพื่อเรียกร้องความสงสารจากผู้ซื้อ วิธีการเช่นนี้ใกล้เคียงกับการเป็น “ขอทาน” ซึ่งจากการสอบถามคนมาเลย์เอง ก็มองว่าผู้ที่ทำอาชีพลักษณะนี้เป็นขอทาน
คำบอกเล่าจากประสบการณ์ของ ซีตี อับดุลเราะห์หมาน หญิงสาวชาวมาเลเซีย ได้อธิบายพฤติการณ์ของขบวนการค้าแรงงานผิดกฎหมายนี้ทั้งหมด และรายละเอียดเรื่องวิธีการทำงาน ตลอดจนสถานที่ขาย ก็ตรงกับปากคำของ 21 หญิงไทย
“ฉันเห็นทุกวัน คนแก่เหล่านี้จะอยู่แถวๆ หน้าตู้เอทีเอ็มหรือหน้าธนาคาร ทุกครั้งไปกดเงินที่ตู้ก็จะมีคนแก่ๆ หน้าเศร้าๆ แต่งตัวด้วยเสื้อขาดๆ เก่าๆ พูดด้วยความไม่มีแรงว่า ยายขอเงินกินข้าว ช่วยยายด้วย ลูกหลานก็ไม่มีใคร ขอเงินยายกินข้าวด้วยนะ หรือไมก็ช่วยซื้อของให้ยายด้วย เราได้ยินก็สงสาร ก็ให้เงินไปทุกครั้ง ไม่รู้เลยว่าเป็นขบวนค้ามนุษย์ ค้าคนแก่ การขอทานในคราบขายข้าวเกรียบแบบนี้มีทุกรัฐในมาเลเซีย ตอนแรกก็รู้สึกแปลกใจว่าทำไมถึงมีคนแก่มาขอทานแบบนี้ เพราะรัฐบาลเรา (หมายถึงรัฐบาลมาเลเซีย) ก็ช่วยเหลือคนแก่ๆ ไม่ให้ลำบาก มารู้ตอนหลังว่าเป็นคนไทยมาขอทาน”
ขณะที่ นางซง ชาว อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ซึ่งรับรู้พฤติกรรมของนายหน้าค้าแรงงานไปทำงานผิดกฎหมายในมาเลเซีย บอกว่า พวกนี้ทำเป็นขบวนการ หาคนแก่เพื่อไปขอทานให้ตัวเอง หน้าฉากชวนกันว่าไปขายข้าวเกรียบ แต่เอาจริงๆ ก็ไปขอทาน บังคับให้ทำตัวน่าสงสาร โดยพวกนายหน้ามีแต่ร่ำรวย ได้เงินมาก็เอามาซื้อทอง ซื้อที่ดิน
“ในพื้นที่มีเยอะ ไม่ใช่กลุ่มนี้กลุ่มเดียว ยังมีอีกหลายกลุ่ม คนแก่ๆ ออกจากพื้นที่ไปมาเลเซียไม่ต่ำกว่า 100 คน” นางซง กล่าว
พฤติการณ์ของนายหน้ายังไม่จบเพียงเท่านั้น เพราะครอบครัวของหญิงทั้ง 21 คนก็เจอเข้ากับตัวเองด้วย
อย่างเช่น นายมะสุกรี เจะเหาะ ชาว ต.ตันหยงดาลอ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี ซึ่งเป็นสามีของหนึ่งใน 21 หญิงไทยที่ไปถูกจับในมาเลเซีย เล่าว่า หลังจากทราบข่าวว่าภรรยาถูกจับ ก็ได้เดินทางไปที่บ้านนายหน้า แต่แทนที่นายหน้าจะช่วยเหลือ กลับบอกให้ครอบครัวของทั้ง 21 คน หาเงินให้เขาคนละ 2 หมื่นบาท เพื่อไปช่วยเหลือหญิงทั้ง 21 คนกลับมา
“นายหน้าบอกว่าถ้าทุกคนนำเงินมาให้ ภรรยาหรือแม่จะได้กลับมาทันที แต่ถ้าไม่นำเงินมาให้ ทั้ง 21 คนก็ไม่สามารถกลับมาบ้านได้ แต่เมื่อขอให้รับประกันว่าจะช่วยกลับมาได้จริงๆ นายหน้ากลับไม่กล้ารับปาก ทำให้ชาวบ้านไม่ยอมให้เงิน” มะสุกรี กล่าว
ความเดือดร้อนของแต่ละครอบครัวนั้นแสนสาหัสอยู่แล้ว ผู้หญิงของบ้าน ทั้งในฐานะแม่และภรรยา จึงตัดสินใจไปหางานทำในมาเลเซีย แม้จะเป็นงานที่ลำบากยากแค้น แต่เมื่อเคราะห์ซ้ำกรรมซัด ถูกจับกุม ความเดือดร้อนจึงมากขึ้นเป็นทับทวี
“ผมมีลูก 5 คน ลูกคนเล็กอายุ 2 ขวบ ทุกวันนี้ ร้องหาแม่ทุกวันเพราะภรรยาตั้งใจจะไปหาเงินไม่นานจะกลับมา สาเหตุที่ต้องไปเพราะต้องการนำเงินส่งเสียลูกเรียนหนังสือ ทุกวันนี้อยู่ที่บ้าน หางานยากประกอบกับมีคนมาชวนไปทำงานก็เลยตัดสินใจไป” มะสุกรี กล่าว
และว่า “อยากเรียกร้องให้พาภรรยาผมและคนอื่นๆ กลับมาที่บ้านโดยเร็ว ผมว่าครอบครัวผมลำบากแล้ว แต่ยังมีอีกหลายครอบครัวที่ลำบากกว่า เช่น ครอบครัวของ รอฮานี (สงวนนามสกุล) ที่ตัดสินใจไปขายข้าวเกรียบเพราะ สามีเสียชีวิต รอฮานีต้องเลี้ยงลูก 6 คน คนเล็กอายุแค่ 1 ขวบ สุดท้ายต้องไปขายข้าวเกรียบ ทิ้งลูกให้แม่ตัวเองเลี้ยง ซึ่งแม่ตัวเองก็อายุ 60 กว่าปีแล้ว คนแก่ไม่ทำงาน เลี้ยงเด็ก 6 คน จะเอาอะไรกิน ก็หวังรอลูกสาวส่งเงินกลับมาให้ตัวเองและลูกๆ ทั้ง 6 คน แต่ก็มาถูกจับเสียอีก”
ทั้งหมดนี้คงไม่มีบทสรุปอื่นใด นอกจากเป็นชะตากรรมของคนชายแดนใต้ที่ซ้ำเติมปัญหาปากท้องและความไม่สงบ
อ่านประกอบ :
ร้องช่วย 21 หญิงชราชายแดนใต้ หวั่นถูกหลอกไปขอทานมาเลย์
พบแล้ว21หญิงชราถูกกักบ้านพักฉุกเฉินรัฐยะโฮร์ – แฉเส้นทางค้ามนุษย์ชายแดนใต้
เปิดรายชื่อ 21 หญิงชายแดนใต้ถูกกักในมาเลย์ จนท.ทูต-ศอ.บต.รุดเยี่ยม
21 หญิงไทยปลอดภัย แต่ป่วย 13 คน - ครอบครัวเตรียมแจ้งจับ "นายหน้า"