กรมวิชาการเกษตรขอหารือ คกก.วัตถุอันตราย ก่อนเลิก ‘พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส’
กรมวิชาการเกษตร ยังไม่ตัดสินใจประกาศยกเลิก ‘พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส’ อ้างไม่มีอำนาจ ขาดความเชี่ยวชาญข้อมูลด้านสุขภาพ ต้องส่งหารือ คกก.วัตถุอันตราย ขณะที่ ‘ไกลโฟเซต’ รับปากจำกัดการใช้อย่างเข้มงวดตามข้อเสนอ ด้านไทยเเพนเเถลงการณ์ทันที รู้สึกผิดหวัง ยื้อเวลา เตรียมชุมนุมใหญ่หน้าทำเนียบ-ศาลากลางจังหวัด 19 ก.ย.
วันที่ 12 ก.ย. 2560 กรมวิชาการเกษตร จัดแถลงข่าวแนวทางการดำเนินงานเกี่ยวกับ 3 วัตถุอันตราย พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ภายหลังเสร็จสิ้นการจัดประชุมรวบรวมและรับฟังความคิดเห้นจากผู้เกี่ยวข้อง ณ อาคารศูนย์ปฏิบัติการฝึกอบรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี กรมวิชาการเกษตร
นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า กรมวิชาการเกษตรจะดำเนินการต่อข้อเสนอของคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ของกระทรวงสาธารณสุข ที่มีมติเมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2560 เสนอให้พิจารณาเลิกใช้พาราควอต คลอร์ไพริฟอส ภายในธันวาคม 2562 และจำกัดการใช้ไกลโฟเซต เนื่องจากมีข้อมูลที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม
โดยในส่วนไกลโฟเซต ยืนยันจะจำกัดการใช้อย่างเข้มงวด ซึ่งจะให้ผู้ประกอบการต้องรายงานการนำเข้า การผลิต การส่งออก การจำหน่าย พื้นที่การใช้ และปริมาณคงเหลือ พร้อมให้ระบุพื้นที่ห้ามใช้ในฉลากวัตถุอันตราย และควบคุมการโฆษณา
ส่วนพาราควอต และคลอร์ไพริฟอส นั้น อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ระบุไม่มีอำนาจและความเชี่ยวชาญที่จะพิจารณาข้อมูลด้านสุขภาพอนามัย จึงจะต้องขอคำปรึกษาจากคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่มีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน โดยคาดว่าจะนำเสนอภายในวันศุกร์ ที่ 15 ก.ย. 2560 ส่วนจะมีมติออกมาเมื่อไหร่นั้น ยังระบุแน่ชัดไม่ได้ แต่กรมวิชาการเกษตรจะดำเนินตามมติดังกล่าว
“ที่ผ่านมากรมวิชาการเกษตรได้รวบรวมข้อมูลด้านพิษวิทยาของสารไว้ทั้งหมดแล้ว นอกจากข้อมูลด้านสุขภาพอนามัย ยังมีด้านประสิทธิภาพในการใช้ ด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ด้านการห้ามใช้ในต่างประเทศ ด้านการห้ามใช้ตามข้อตกลงของอนุสัญญา และข้อมูลจากการรับฟังความคิดเห็น ซึ่งข้อมูลจากการรับฟังความคิดเห็นนั้นมีเกษตรกรที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอให้ควบคุมสารทั้ง 3 ชนิด ขณะที่ข้อมูลวิชาการและหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ยังไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน จึงเป็นเหตุผลยังตัดสินใจไม่ได้ว่าจะยกเลิกหรือไม่” นายสุวิทย์ กล่าวในที่สุด
ขณะที่เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) และเครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง ซึ่งประกอบไปด้วยองค์กรและเครือข่ายต่าง ๆ มากกว่า 40 องค์กร ออกเเถลงการณ์ทันทีว่า รู้สึกผิดหวังต่อคำแถลงและผลการพิจารณาของกรมวิชาการเกษตร และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นอย่างยิ่ง ที่ยื้อการเพิกถอนพาราควอต และคลอร์ไพริฟอสออกไป โดยระบุดังนี้
1. ตามที่นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศได้แถลงว่ากรมวิชาการเกษตรไม่มีความเชี่ยวชาญที่จะพิจารณาข้อมูลด้านสุขภาพอนามัย จึงจะขอคำปรึกษาจากคณะกรรมการวัตถุอันตราย ซึ่งมีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน ทางเครือข่ายเห็นว่าเป็นการยื้อเวลา และหมกเม็ดให้มีการใช้สารพิษดังกล่าวออกไป เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญได้ตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งประกอบไปด้วย 4 กระทรวงหลัก ได้แก่ กระทรงงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงสาธารณสุข ขึ้นมาพิจารณาผลกระทบโดยรอบด้าน และมีมติให้ยกเลิกพาราควอตและคลอร์ไพริฟอสเนื่องจากผลกระทบต่อสุขภาพของเกษตรกรและผู้บริโภค มีงานวิชาการที่ชัดเจนรองรับ ดังนั้นกรมวิชาการเกษตรสามารถใช้อำนาจตามพ.ร.บ.วัตถุอันตราย (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2551 มาตรา 38 และ 40 คือไม่รับขึ้นทะเบียนและเพิกถอนทะเบียนเมื่อวัตถุอันตรายนั้นหากนำมาใช้แล้วอาจเกิดอันตรายแก่บุคคล สัตว์ พืช ทรัพย์ หรือสิ่งแวดล้อมได้ แต่กรมวิชาการเกษตรมิได้กล่าวถึงประเด็นนี้แต่ประการใด
การผลักเรื่องนี้ออกไปทั้ง ๆ ที่สามารถดำเนินการระงับการใช้สารพิษทั้งสองชนิดได้ไปให้คณะกรรมวัตถุอันตรายเข้าทางบริษัทสารพิษ เนื่องจากในคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีกรรมการอย่างน้อย 2 คน เป็นตัวแทนของสมาคมของบริษัทสารพิษร่วมอยู่ในคณะกรรมการด้วย โอกาสที่จะแบนสารพิษดังกล่าวจะเป็นไปได้ยากหรือยื้อเวลาต่อไปอีกหลายปี ดังที่ปัจจุบันคณะกรรมการวัตถุอันตรายยังไม่ได้ประกาศแบนคาร์โบฟูราน และเมโทมิล ทั้งๆที่กรมวิชาการเกษตรได้เสนอให้มีการแบนทั้งสองสารดังกล่าวมานานมากกว่า 4 ปีแล้วก็ตาม
2) กรณีการจำกัดการใช้สารพิษไกลโฟเซต โดยระบุพื้นที่ห้ามใช้ในฉลากไม่เพียงพอที่จะทำให้เกิดผลในทางปฏิบัติ ทางกรมวิชาการเกษตรต้องมีมาตรการและกลไกมารองรับการจำกัดการใช้ ซึ่งจะเป็นการทำงานร่วมกันของหลายหน่วยงานตาม Road Map ที่คณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูงได้วางแนวทางไว้
3) เพื่อสนับสนุนมติของกระทรวงสาธารณสุข คือ ให้มีการยกเลิกพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และจำกัดการใช้ไกลโฟเซต เครือข่ายฯ จะเคลื่อนไหวใหญ่ทั่วประเทศตามกำหนดการเดิมในวันที่ 19 กันยายน 2560 หน้าทำเนียบรัฐบาลและศาลากลางทุกจังหวัดทั่วประเทศต่อไป โดยเรียกร้องให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ปฏิเสธการต่อทะเบียนพาราควอตและคลอร์ไพริฟอสที่กำลังหมดอายุในต้นเดือนตุลาคมนี้ รวมทั้งเพิกถอนทะเบียนของสารพิษดังกล่าวตาม Road Map เพื่อให้มีการยุติการใช้ยุติการใช้สารดังกล่าวภายในปี 2562 อย่างไม่มีเงื่อนไข
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) มีคำสั่งให้กรมวิชาการเกษตรเร่งรายงานความชัดเจนและรายละเอียดเกี่ยวกับสารทั้ง 3 ชนิด เกี่ยวกับสารตกค้างหลักการใช้ให้ทราบเพื่อกำหนดนโยบายต่อไป
อ่านประกอบ:เอ็นจีโอยกงานวิจัยโต้กลุ่มค้านยกเลิก ‘พาราควอต’ ยันมีพิษเฉียบพลัน ไม่มียาถอน
นักวิชาการชี้ “พาราควอต” มีอันตรายขึ้นอยู่กับผู้ใช้ ยันไม่ซึมผ่านผิวหนัง ยกเว้นมีแผล
ฉบับเต็ม! เอ็นจีโอเเถลงโต้ ยัน 'พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส' อันตราย จี้เพิกถอนพ้นทะเบียน
ขีดเส้น 1 เดือน กษ.เพิกถอนทะเบียน พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส
สภาเกษตรกร จี้กษ.เร่งหาสารทดแทนพาราควอตโดยเร็ว
ผอ.มูลนิธิชีววิถีชี้แบนสารพาราควอตเจตนาดีต่อสุขภาพเกษตรกรไทย
กรมวิชาการเกษตรเปิดตัวเลขไทยนำเข้ายาฆ่าหญ้า-แมลงกว่า 9 หมื่นตัน/ปี
ผอ.มูลนิธิขวัญข้าว ชี้มีเสียงค้านยกเลิก 'พาราควอต' เหตุนายทุนเสียประโยชน์
สองมาตรฐาน ยูเอ็นประณามบริษัทสวิสฯ ส่งออกพาราควอตไปประเทศกำลังพัฒนา