วสท. แนะรถไฟเร็วสูงไทย-จีน ต้องคำนึง ศก.ยั่งยืน ไม่เฉพาะรายได้จากค่าโดยสาร
วสท. รับเป็นองค์กรกลางรถไฟเร็วสูงไทย-จีน เปิดรับฟังความเห็นกระบวนการ “ถ่ายโอนเทคโนโลยี” ด้านนายก ส.วิศวกรรมระบบขนส่งทางรางไทย แนะเร่งรัดโครงการฯ ต้องพิจารณาผลประโยชน์ทุกมิติ ไม่เฉพาะรายได้-พัฒนาพื้นที่รอบสถานี เสนอตั้งสถาบันพัฒนาเทคโนโลยีระบบขนส่งทางรางแห่งชาติ ทำหน้าที่จัดเก็บ วิจัย ขณะที่ นายก วปท.ชี้วิศวกรไทยต้องมีส่วนร่วมในการจัดซื้อจัดจ้าง
วันที่ 22 มิ.ย. 2560 วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ร่วมกับสมาคมวิชาชีพด้านวิศวกรรม และหน่วยงานการศึกษา จัดการแถลงข่าว “กระบวนการถ่ายโอนเทคโนโลยีเพื่อนำเสนอภาครัฐ โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่ 1 กรุงเทพฯ-นครราชสีมา” ณ อาคาร วสท.
ดร.ธเนศ วีระศิริ นายก วสท. กล่าวถึงการเข้าพบกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เพื่อหารือเรื่องโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ไทย-จีน ว่า วสท.ได้แสดงจุดยืนและชี้แจงถึงความสำคัญเรื่องการถ่ายโอนเทคโนโลยีด้านวิศวกรรมเรื่องโครงสร้างก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อวงการวิศวกรรมไทยและประเทศชาติ และจะระดมความคิดเห็นจากสมาคมวิชาชีพด้านวิศวกรรม และมหาวิทยาลัยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
โดยดร.วิษณุเห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าว และจะนำเรียนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทั้งนี้ เห็นควรให้ วสท.เป็นองค์กรกลางในการกำหนดกระบวนการถ่ายโอนเทคโนโลยี โดยได้เปิดรับฟังความคิดเห็นในประเด็นกระบวนการถ่ายโอนเทคโนโลยีที่ อีเมล [email protected]
ยันต้องให้เกิดการถ่ายโอนเทคโนโลยี
ด้าน รศ.ดร.เอนก ศิริพานิชการ ประธานสาขาวิศวกรรมโยธา วสท. กล่าวว่า จากผลการออกคำสั่งพิเศษที่เกี่ยวข้องกับการรับวิศวกรต่างชาติเข้าทำงานวิศวกรรมควบคุมในประเทศไทย และมีคำสั่งให้สภาวิชาชีพทำการอบรมและออกใบแสดงความสามารถของวิศวกรแทนการขอรับใบอนุญาต วสท.มีความเห็นว่า วิศวกรเป็นวิชาชีพที่มีสิทธิมากกว่าบุคคลทั่วไปที่สามารถประกอบวิชาชีพวิศวกรรมเพื่อประโยชน์และความปลอดภัยสาธารณะได้ การประกอบวิชาชีพของวิศวกรที่ไม่ผ่านการประเมินและไม่ต้องมีใบอนุญาต อาจทำให้การร่วมรับผิดชอบของบุคลากรดังกล่าวไม่มีผลทางปฏิบัติ
สำหรับข้อเสนอที่ วสท.จะรับเป็นแกนหลักในการสร้างเครือข่ายรับถ่ายโอนเทคโนโลยีทั้งวิชาการและวิชาชีพดำเนินการไปอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นโครงสร้างและรูปแบบของการถ่ายโอนเทคโนโลยีในโครงการนี้จะเป็นการทำงานประสานกันระหว่างภาครัฐ ที่ประกอบด้วย หน่วยงานสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมของชาติ เจ้าของโครงการ, ภาควิชาการ และวิชาชีพ ได้แก่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ต่าง ๆ ในประเทศ สมาคมวิชาชีพ และสมาคมอุตสาหกรรมด้านการก่อสร้างและผลิตวัสดุก่อสร้าง ซึ่งจะเป็นผู้ถ่ายโอนเทคโนโลยี และบริษัทหรือผู้ประกอบอาชีพในการออกแบบ ก่อสร้าง ควบคุมงานก่อสร้างระบบราง ซึ่งจะเป็นผู้รับถ่ายโอนเทคโนโลยี
วิศวกรไทยต้องร่วมในงานจัดซื้อจัดจ้างทั้งระบบ
นายสังวรณ์ ลิปตพัลลภ นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวถึงผลกระทบในแง่ของผู้ประกอบการว่า อาจจะเป็นผลดีที่อุตสาหกรรมก่อสร้างจะได้รับงานทำ แต่ต้องพิจารณาจากเงื่อนไขของไทยและรัฐบาลจีนว่าเป็นอย่างไร หากทางจีนดำเนินการทั้งหมดทั้งบุคลากรและวัสดุก่อสร้างก็อาจทำให้เกิดความไม่เชื่อมั่นในการดำเนินการภาครัฐ แต่ในเบื้องต้นสมาคมฯ ยังเชื่อในการทำโครงการนี้จะให้โอกาสสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยฯ และผู้ผลิตวัสดุก่อสร้าง เช่น อุตสาหกรรมเหล็กเส้นเสริมคอนกรีต
ขณะที่ ดร.วิทูร เจียมจิตต์ตรง นายกสมาคมวิศวกรที่ปรึกษาแห่งประเทศไทย (วปท.) กล่าวว่า การถ่ายโอนเทคโนโลยีจำเป็นต้องดำเนินการอย่างเป็นระบบ ทั้งนี้ในคำสั่งพิเศษมิได้กำหนดถึงมาตรฐานที่ดีในการก่อสร้าง วปท.จึงมีข้อเสนอให้มีสัดส่วนของการมีวิศวกรไทยร่วมในงานการจัดซื้อจัดจ้างทั้งด้านการออกแบบ ควบคุมงานวิศวกรรมโครงสร้างพื้นฐานโยธา งานระบบราง งานระบบไฟฟ้า และเครื่องกล
นอกจากนี้เพื่อให้โครงการเป็นไปตามข้อตกลงคุณธรรม วปท.มีความพร้อมที่จะทำหน้าที่ Project Management Consultant ซึ่งครอบคลุมงานวิศวกรรมทุกระบบ งานราคากลาง งานดูแลสัญญาให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล
ไม่ขัดขวางรถไฟเร็วสูง เเต่อยากให้ ปท.พร้อมก่อน
สุดท้าย นายดิสพล ผดุงกุล นายกสมาคมวิศวกรรมระบบขนส่งทางรางไทย กล่าวว่า ไม่ได้ขัดขวางโครงการรถไฟความเร็วสูง และยังสนับสนุนให้มีโครงการรถไฟความเร็วสูงอีกด้วย เพราะถือเป็นระบบขนส่งทางรางแบบหนึ่ง แต่อยากให้ประเทศพร้อม และคุ้นชินกับการใช้ระบบขนส่งทางราง โดยทางรถไฟทางคู่ และรถไฟดีเซล หรือรถไฟฟ้าความเร็วปกติก่อน ทั้งในการขนส่งผู้คนและสินค้า ทั้งนี้ โครงการรถไฟความเร็วสูงมีไว้สำหรับขนส่งผู้โดยสาร ไม่ได้มีไว้ขนส่งสินค้าอย่างที่หลายคนเข้าใจ
“หากจำเป็นต้องทำโครงการรถไฟความเร็วสูงเวลานี้ เพราะถูกแรงกดดันจากภาวะการเมืองระหว่างประเทศ ต้องพิจารณาผลประโยชน์ของประเทศชาติในหลายมิติ ไม่ใช่เฉพาะเพียงรายได้จากค่าโดยสารการพัฒนาพื้นที่ หรือแม้แต่ความสะดวกสบายในการเดินทาง”
เสนอตั้งสถาบันพัฒนาเทคโนโลยีระบบขนส่งทางรางฯ จัดเก็บ-วิจัย องค์ความรู้
นายกสมาคมวิศวกรรมฯ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ต้องทำอย่างไรให้คนส่วนใหญ่ได้รับประโยชน์จากโครงการฯ การพัฒนาที่พิจารณาเพียงค่าโดยสารและการทำการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานี (Transit Oriented Development:TOD) จะไม่สร้างประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่ เพราะจะตกอยู่กับเพียงคนที่มีรายได้พอต่อการเดินทางและนายทุนที่ลงทุนในพื้นที่ ดังนั้นจึงต้องพิจารณาไปที่การพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศแบบยั่งยืนและการเสริมสร้างความสามารถด้านอุตสาหกรรมให้กับประเทศจะทำได้อย่างไร
นั่นคือการผูกโยงไปหาการพัฒนาอุตสาหกรรม ซึ่งนายดิสพล กล่าวเน้นย้ำว่า อุตสาหกรรมที่พูดถึงไม่ใช่เพียงอุตสาหกรรมการก่อสร้าง แต่รวมถึงอุตสาหกรรมการผลิต การประกอบ และที่เกี่ยวเนื่องด้วย ส่วนการรับถ่ายโอนเทคโนโลยีต้องไม่จบเพียงเทคนิคการออกแบบและการก่อสร้าง แต่ต้องครอบคลุมการพัฒนาความสามารถในการผลิตให้แก่ประเทศด้วย ซึ่งมองเป็นโอกาสของไทยในการผูกรวมอุตสาหกรรมการผลิตและประกอบรถไฟฟ้า เข้ากับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และต้องมีสถาบันพัฒนาเทคโนโลยีระบบขนส่งทางรางแห่งชาติ เพื่อเป็นหน่วยงานจัดเก็บและวิจัยพื้นฐานองค์ความรู้ที่ได้จากการถ่ายทอดเทคโนโลยีระบบราง .
อ่านประกอบ:สภาวิศวกร-สถาปนิก เเถลงร่วม ยัน "จีน" ต้องผ่านอบรม ก่อนลุยรถไฟเร็วสูง
เลี่ยงจุดบอดลงทุนรถไฟเร็วสูง สภาคณบดีวิศวะ จี้รัฐให้จีนถ่ายโอนเทคโนโลยี - ดึงมหาวิทยาลัยร่วม
ขอให้ทบทวน มาตรา 44 ในการโครงการรถไฟไทยจีน-ผลเสียหายต่อประเทศไทย
ข้อสังเกตการใช้มาตรา 44 กับโครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพ - นครราชสีมา
งัด ม.44 เร่งรัดรถไฟเร็วสูงกรุงเทพ-โคราช-วสท.หวั่นใช้วิศวกรจีน เสี่ยงความปลอดภัย