โวยรัฐโยนกลองโครงการ "ชวนคนไทยพุทธกลับบ้าน"
"โครงการพาคนกลับบ้าน" ยังคงเป็นอีกหนึ่งโครงการของฝ่ายความมั่นคงที่สร้างปัญหาทางความรู้สึกให้กับคนบางกลุ่มในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะคนไทยพุทธในพื้นที่
สาระสำคัญของโครงการนี้ คือการเปิดช่องทางให้ผู้เห็นต่างจากรัฐ ผู้ต้องหาและผู้ต้องสงสัยในคดีความมั่นคง รวมถึงแนวร่วมกลุ่มก่อความไม่สงบทั้งที่มีหมายจับและไม่มีหมายจับ ซึ่งคนเหล่านี้ต้องหลบหนีไปอยู่ในป่า หรือในประเทศเพื่อนบ้าน ได้กลับใจเข้ามอบตัวหรือแสดงตัวกับทางราชการ เพื่อกลับไปอาศัยอยู่ในภูมิลำเนาเดิมของตนกับครอบครัว โดยภาครัฐจะให้ความช่วยเหลือเรื่องอาชีพและอำนวยความสะดวกในการต่อสู้คดีตามกระบวนการยุติธรรม
"โครงการพาคนกลับบ้าน" ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2555 ในยุคที่ พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ เป็นแม่ทัพภาคที่ 4 มีผู้เห็นต่างจากรัฐเข้าแสดงตัวอย่างต่อเนื่อง กระทั่งปัจจุบันผ่านมา 5 ปีเศษ มียอด "คนกลับบ้าน" สูงถึง 4,500 คน
แต่โครงการนี้ถูกตั้งคำถามจากหลายฝ่ายในพื้นที่ว่า ผู้เข้าร่วมโครงการอาจไม่ใช่ "ผู้ก่อความไม่สงบตัวจริง" หรืออาจมีกลุ่มที่แฝงตัวเข้ามา แล้วกลับมาก่อเหตุรุนแรงซ้ำอีกเมื่อได้กลับมาอยู่ในภูมิลำเนาเดิม และได้รับการช่วยเหลือจากรัฐเรื่องคดี รวมทั้งการฝึกอาชีพเรียบร้อยแล้ว
เหตุการณ์สังหารคนไทยพุทธและเจ้าหน้าที่รัฐอย่างต่อเนื่องช่วงต้นเดือน มี.ค.60 โดยมีนักเรียนหญิงต้องสังเวยชีวิตด้วย ทำให้กลุ่มคนไทยพุทธ ภายใต้ชื่อ "ศูนย์ประสานงานเครือข่ายชาวพุทธเพื่อคุ้มครองส่งเสริมพระพุทธศาสนา" รวมตัวกันเข้าพบผู้บริหารศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เพื่้อยื่นข้อเรียกร้องต่างๆ รวม 13 ข้อ โดยหนึ่งในนั้นคือให้ยกเลิก "โครงการพาคนกลับบ้าน" ซึ่งชาวบ้านไทยพุทธกลุ่มนี้เรียกขานกันว่า "โครงการพาโจรกลับบ้าน"
ต่อมาในเหตุระเบิด "คาร์บอมบ์" ที่ห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี สาขาปัตตานี เมื่อวันที่ 9 พ.ค.60 ปรากฏว่าผู้ต้องหาคนหนึ่งที่ถูกจับกุมได้ เคยเข้าร่วมโครงการพาคนกลับบ้าน ทำให้โครงการนี้ถูกตั้งคำถามมากขึ้นไปอีก
ที่ผ่านมา "ทีมข่าวอิศรา" เคยเปิดตัวเลขงบประมาณที่ใช้ในโครงการนี้ พบว่าปี 59 ปีเดียว ใช้งบประมาณสูงถึง 106 ล้านบาท เกือบทั้งหมดคือราว 96 ล้านบาท เป็นโครงการก่อสร้าง "หมู่บ้านสันติสุข" เพื่อรองรับ "คนกลับบ้าน" ที่ยังไม่สบายใจหากต้องกลับไปอาศัยอยู่ในภูมิลำเนาเดิม โดยหมู่บ้านสันติสุขใช้พื้นที่บางส่วนของนิคมอุตสาหกรรมฮาลาล อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี ตามแผนจะมีการสร้างบ้านและสาธารณูปโภคต่างๆ ครบครัน
ประเด็นนี้ได้กลายเป็นประเด็นทางความรู้สึก เมื่อมีการเปิดเผยเอกสารความต้องการของคนไทยพุทธในพื้นที่ให้หน่วยงานความมั่นคงทำโครงการ "ชวนคนไทยพุทธกลับบ้าน" ด้วยการสร้างบ้านรองรับคนไทยพุทธที่หนีภัยความรุนแรงไปอยู่ในพื้นที่อื่นๆ จำนวน 30 ครอบครัว
เอกสารนี้เป็นของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ลงวันที่ 13 พ.ค.60 อ้างถึงโครงการของหน่วยเฉพาะกิจปัตตานีที่ต้องการสร้างบ้านให้กับพี่น้องชาวไทยพุทธ ที่บ้านท่าด่าน และบ้านท่ากุน ต.ตะโละกาโปร์ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี จำนวน 30 ครอบครัว เพื่อรองรับคนไทยพุทธที่ต้องละทิ้งบ้านเรือน ถิ่นฐาน และที่ทำกิน เนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบ จะได้มีที่อยู่และที่ทำกินเป็นของตนเอง
โครงการนี้ใช้งบประมาณ 6,454,650 บาท แต่ กอ.รมน.ภาค 4 สน.อ้างว่าไม่มีงบประมาณสนับสนุนโครงการนี้ได้ จึงทำหนังสือขอความอนุเคราะห์ไปยัง ศอ.บต.
เอกสารอีกฉบับหนึ่งเป็นหนังสือของ ศอ.บต.ลงวันที่ 29 พ.ค.60 ทำถึงผู้แทนพิเศษของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ครม.ส่วนหน้า อ้างว่าเห็นประโยชน์ของโครงการนี้ แต่เนื้อหาในเอกสารก็ไม่ได้ระบุว่าจะเจียดงบประมาณของตนมาสนับสนุน แต่กลับขอความอนุเคราะห์จาก ครม.ส่วนหน้าให้ช่วยผลักดันโครงการแทน
ปัจจุบันยังไม่มีความชัดเจนว่า ครม.ส่วนหน้า จะสนับสนุนโครงการนี้หรือไม่ หรือจะใช้งบประมาณจากส่วนใดมาดำเนินการ
เอกสาร 2 ฉบับนี้ถูกเผยแพร่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และสร้างความรู้สึกไม่ดีกับประชาชนหลายกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มชาวบ้านไทยพุทธ โดยนำไปเปรียบเทียบกับโครงการก่อสร้าง "หมู่บ้านสันติสุข" เพื่อรองรับ "คนกลับบ้าน" ของ ศอ.บต. ซึ่งใช้งบประมาณเกือบ 100 ล้านบาท
เมื่อเร็วๆ นี้ น.ส.นำรุ่ง รุ่งกิจประการ ผู้อำนวยการโรงเรียนแสงวิจิตร ยะลา ได้เขียนข้อความในโซเชียลมีเดีย ขอให้แม่ทัพภาคที่ 4 ทบทวนโครงการพาคนกลับบ้าน ซึ่ง น.ส.นำรุ่ง เรียกว่า "โครงการพาโจรกลับบ้าน" ทั้งยังเรียกร้องให้มีโครงการพาคนไทยพุทธที่หนีโจรไปอยู่ที่อื่น ได้มีโอกาสกลับบ้านด้วย โดยเมื่อคนเหล่านั้นกลับมาแล้ว ต้องให้ความมั่นใจว่าต้องปลอดภัย มิฉะนั้นแล้วจะถือว่าไม่ยุติธรรม
"เห็นด้วยกับโครงการพาคนกลับบ้าน แต่ขอทักท้วงว่าท่านต้องมีโครงการที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้ ด้วยการพาคนไทยพุทธที่หนีโจรไปอยู่ที่อื่น กลับบ้านด้วย กลับมาแล้วท่านต้องให้ความมั่นใจว่าต้องปลอดภัย ท่านเอาหลักรัฐศาสตร์มาใช้กับพี่น้องมุสลิม แต่ท่านเอาหลักนิติศาสตร์มาใช้กับพี่น้องคนไทย ไม่ยุติธรรม ท่านให้ความสำคัญกับโจรที่เขาตั้งใจทำผิด แต่ท่านไม่ได้ให้ความสำคัญกับพี่น้องคนไทยพุทธที่ทำมาหากินในพื้นที่ ท่านหาที่ทำกิน หางานให้โจรกลับใจ ให้ทุกอย่าง แม้ว่าจะเป็นผลในทางลับอะไรก็แล้วแต่ แต่ภาพออกมา แม้แต่พี่น้องมุสลิมเองก็ยังรับไม่ได้ ภาพที่ออกมาเท่ากับท่านสนับสนุนให้คนเป็นโจร เพราะทำแล้วไม่มีความผิด มอบตัวแล้วอยู่สบาย ถ้าคนไทยออกมาทำบ้าง ท่านก็คงใช้หลักนิติศาสตร์จัดการ"
นี่คือข้อความส่วนหนึ่งในข้อเขียนของ น.ส.นำรุ่ง
ต่อมา พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 สน. แถลงตอบโต้ในประเด็นนี้ว่า ข้อเขียนของ น.ส.นำรุ่ง ผู้อำนวยการโรงเรียนแสงวิจิตร ยะลา ซึ่งเป็นโรงเรียนสอนตัดเสื้อผ้า ทำให้สังคมเกิดความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เพราะเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยขาดพื้นฐานความรู้และความเข้าใจในนโยบายแห่งรัฐ พร้อมยืนยันว่าผู้เข้าร่วมโครงการนี้จะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ใดๆ ไม่ว่าจะเป็นการให้งานทำ ให้ที่ดินทำกิน ให้ค่าตอบแทน หรือไม่ต้องรับโทษตามกฎหมาย ฉะนั้นจึงไม่ได้เป็นไปตามที่ น.ส.นำรุ่ง กล่าวอ้าง แต่ในทางกลับกัน ผลสัมฤทธิ์จากการดำเนินโครงการพาคนกลับบ้าน ได้รับกระแสตอบรับจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรระหว่างประเทศ เพราะเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาตามแนวทางสันติวิธีที่ไม่ละเมิดต่อหลักสิทธิมนุษยชนสากล
ปัจจุบันมีผู้เข้ารายงานตัวแสดงตนแล้วกว่า 4,500 คน ซึ่งบุคคลเหล่านี้ได้เข้ามามีส่วนร่วมกับภาครัฐในการช่วยแจ้งข่าวสารที่เป็นประโยชน์ สามารถนำไปสู่การป้องกันและระงับเหตุร้าย รวมทั้งสามารถขยายผลไปสู่การติดตามจับกุมผู้กระทำความผิดได้มากยิ่งขึ้น
-----------------------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ :
ลงพื้นที่ปะนาเระตามดู "หมู่บ้านคนกลับบ้าน" ที่แท้ใช้พื้นที่นิคมฮาลาลฯ
แจงงบ 106 ล้านสร้าง "หมู่บ้าน" รองรับ "คนกลับบ้าน"
เปิดงบโครงการพาคนกลับบ้าน ปีเดียว 106 ล้าน!
ตัวเลข "คนกลับบ้าน" จ่อครึ่งหมื่น!
ดราม่าคนกลับบ้าน! แม่ทัพขึ้น ฮ.บินรับมอบตัวผู้ต้องหาคดีความมั่นคง
"รับฟังเสียงที่แตกต่าง-พาคนกลับบ้าน" วิสัยทัศน์ดับไฟใต้ของแม่ทัพภาค 4 คนใหม่
80สมาชิกป่วนใต้ถกแม่ทัพภาค4 เสนอปลด "หมายจับ" แลกวางปืน
แม่ทัพ4พร้อมเลิก พ.ร.ก.รับกลุ่มป่วนใต้วางมือ แย้ม "สะแปอิง-มะแซ"รอดูท่าที
เปิดใจ"อาร์เคเค"กลับใจ "ลูก-เมีย"เงื่อนไขนักรบวางปืน
สำรวจความเห็น"ชาวบ้าน-แนวร่วมพันธุ์ใหม่" เชื่อ-ไม่เชื่อ 93 สมาชิกป่วนใต้ยุติรุนแรง
เปิดตัวเลข "ผู้เห็นต่าง" เข้าร่วมโครงการ "พาคนกลับบ้าน" 983 ราย
วงถก400ผู้เห็นต่างฯ ชงรื้อข่าวกรอง-เลิกหมายจับ–ตั้งนิคมรองรับกลับบ้าน
อดีตผู้ต้องสงสัยฯงงถูกเกณฑ์พบ"ประวิตร" เหมาร่วม"พาคนกลับบ้าน" เบี้ยเลี้ยง200