2 ทศวรรษแห่งโศกนาฏกรรมสงครามยาเสพติด ถึงเวลาคิดใหม่ ทำใหม่
เริ่มจาก ปีพ.ศ. 2539 อันเป็นปีที่มีการยกระดับยาบ้าขึ้นเป็นยาเสพติดร้ายแรงประเภทที่ 1 คดีความผิดยาเสพติด โดยเฉพาะเมทแอมเฟตามีนหรือที่เรียกง่ายๆ ว่า “ยาบ้า” เป็น โศกนาฏกรรมที่รุนแรงที่สุดในประเทศไทย ทำให้ผู้คนมากมายต้องทนทุกข์ในเรือนจำ ทั้งๆ ที่บางครั้งโทษไม่ได้ร้ายแรงขนาดนั้น
ตามที่ประเทศไทยได้เข้าร่วมการประชุมสมับพิเศษของสมัชชาแห่งสหประชาชาติว่าด้วยยาเสพติดในปี 2016 (UNGASS2016) ณ นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 19-21 เมษายน 2559 ที่ผ่านมา และต่อมาเมื่อวันที่ 15-16 มิถุนายน 2559 กระทรวงยุติธรรมได้จัดการประชุมเรื่องทิศทางของนโยบายยาเสพติดโลกภายหลังการประชุม UNGASS กับพิจารณาทบทวนกฎหมายและการตีความของไทยเกี่ยวกับยาเสพติด
ผลจากการจัดประชุมในครั้งนั้น ทำให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ประกาศนโยบายชัดเจนในการที่จะจัดการกับปัญหายาเสพติดตามทิศทางของโลกที่เน้นมิติทางสาธารณสุขเป็นตัวนำมากกว่ามิติทางกฎหมาย รวมทั้งจะต้องควบคุมปัญหาการแพร่ระบาดของเมทแอมเฟตามีนอย่างสร้างสรรค์
ต่อมาพล.อ.ไพบูลย์ ในฐานะ ผอ.ศตส.ได้แต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมา 3 คณะ ประกอบด้วย
คณะที่ 1 คณะอนุกรรมการศึกษาวิเคราะห์มาตรการทางกฎหมายในการควบคุมเมทแอมเฟตามีน
คณะที่ 2 คณะอนุกรรมการศึกษาแนวทางและจัดระบบการแก้ไขปัญหาผู้เสพยาเสพติด
คณะที่ 3 คณะอนุกรรมการติดตามสถานการณ์และให้ข้อมูลข่าวสาร
นอกจากนี้ ยังได้วาง Road Map การทำงานไว้ชัดเจนในเรื่องการจัดการกับปัญหายาเสพติดที่หมายรวมถึงยาเสพติดชนิดอื่นๆ ด้วย ที่ต้องมีการดำเนินการควบคู่กันไป และได้กำหนดเป้าหมายไว้เพื่อให้เกิดความเป็นรูปธรรม โดยมีมาตรการทางกฎหมาย คือ ร่างประมวลกฎหมายยาเสพติดดำเนินการควบคู่ไปด้วย
เมื่อพูดถึงเรื่องกฎหมายในการปราบปรามยาเสพติดของไทยที่ผ่านมา นายอธิคม อินทุภูติ เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม บอกว่า คดีความผิดยาเสพติด โดยเฉพาะเมทแอมเฟตามีนหรือที่เรียกง่ายๆ ว่า “ยาบ้า” เป็น โศกนาฏกรรมที่รุนแรงที่สุดในประเทศไทย ทำให้ผู้คนมากมายต้องทนทุกข์ในเรือนจำ ทั้งๆ ที่บางครั้งโทษไม่ได้ร้ายแรงขนาดนั้น
"โศกนาฏกรรมดังกล่าว เริ่มจาก ปีพ.ศ. 2539 อันเป็นปีที่มีการยกระดับยาบ้าขึ้นเป็นยาเสพติดร้ายแรงประเภทที่ 1 ผลของการย้ายครั้งนั้น ทำให้โทษของความผิดสูงขึ้น ทั้งเสพ ครอบครอง ผลิต และจำหน่าย ซึ่งมีโทษสูงสุดคือประหารชีวิต เท่ากับฆ่าคนโดยเจตนา ซึ่งผู้มีอำนาจในช่วงนั้นให้เหตุผลว่า มีความประสงค์ให้คนกลัว แต่ผลที่เกิดขึ้นคือ คดียาบ้าขึ้นสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว"
หากย้อนดูข้อมูลในปีพ.ศ. 2554 มีคดีเกี่ยวกับยาเสพติด ทั่วประเทศ 238,482 คดี เป็นความผิดเกี่ยวกับ เมทแอมเฟตามีน 198,163 คดี คิดเป็นร้อยละ 85.98 ของคดียาเสพติดที่ขึ้นสู่ศาลทั้งหมด
ปี 2555 มีคดีขึ้นศาลชั้นต้นทั้งหมด 282,630 คดี เป็นคดีเกี่ยวกับเมทแอมเฟตามีน 240,830 คดี คิดเป็นร้อยละ 85.21 ที่ขึ้นสู่ศาลทั้งหมด
ปี 2556 มีคดียาเสพติดขึ้นสู่ศาลชั้นต้นทั้งสิ้น 347,179 คดี เป็นคดีเกี่ยวกับ เมทแอมเฟตามีน 288,046 คดี คิดเป็นร้อยละ 82.97 ของคดียาเสพติดทั้งหมดที่ขึ้นสู่ศาล
ปี 2558 มีคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดขึ้นสู่ศาลทั่วประเทศ 273,430 คดี เป็นคดีกี่ยวกับ เมทแอมเฟตามีน 92,953 คดี คิดเป็นร้อยละ 70.55
และปี 2559 ตั้งแต่มกราคมถึงตุลาคม มีคดีความปิดเกี่ยวกับยาเสพติด132,850 คดี เป็นแอมเฟตามีนทั้งหมด 92,568 คดี คิดเป็นประมาณ ร้อยละ 70
เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม บอกว่า ที่มีจำนวนคดีลดลง เนื่องจากว่ายังมีความผิดเล็กๆ อย่างคดีใบกระท่อม กัญชาที่เพิ่มมากขึ้นมาอีกด้วย
"จะเห็นได้เลยว่า ถึงแม้จะพยายามทำให้ยาบ้าน่ากลัว แต่คดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดไม่ได้ลดลงเลย แม้จะเปลี่ยนแอมเฟตามีนจากวัตถุออกฤทธิ์ต่อประสาทประเภท 2 ขึ้นไปอยู่ในยาเสพติดร้ายแรงประเภท 1 ผลต่อเนื่องคือ ทำให้โอกาสของจำเลยที่ถูกฟ้องต่อศาล และอยู่ในระหว่าการพิพากษาของศาล ได้รับการอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวน้อยลง เพราะว่าในแง่คดีถือเป็นคดีร้ายแรง
ขณะเดียวกันการตัดสินคดี เมื่อความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดมีโทษที่ร้ายแรง โอกาสในการลดโทษมีน้อย ส่งผลให้มีคนจำนวนมากที่คดียังอยู่ในชั้นศาลถูกคุมขังและไม่ได้รับการปล่อยชั่วคราว ทั้งๆ ที่เป็นสิทธิพื้นฐานของจำเลยคดีอาญา"
ตัวเลขในปี 2555 มีผู้ต้องขังในเรือนจำในคดียาเสพติดถึง 140,043 คน คิดเป็นร้อยละ 62.29 ของผู้ต้องขังทั้งหมด ในจำนวนนี้ เป็นผู้ต้องขังที่กำลังรอการพิจารณาในศาลชั้นต้นกว่า 6,147 คน ในชั้นฏีกา 18,746 คน และยังอยู่ในการสอบสวนของตำรวจอีกราว 10,964 คน ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ค่อนข้างมาก
ในปี 2558 มีผู้ต้องขังในคดียาเสพติดทั้งชายและหญิง ทั้งสิ้น 230,074 คน คิดเป็นร้อยละ 70.71 ของผู้ต้องขังทั้งหมดในเรือนจำ ในวันที่ 1 สิงหาคม 2559 มีผู้ต้องขังคดียาเสพติดในเรือนจำทั้งหมด 227,668 คนคิดเป็นร้อยละ 71.4
เขาเห็นว่า นี่คือผลของการยกระดับยาบ้าขึ้นเป็นยาเสพติดร้ายแรงประเภทที่ 1 ส่งผลให้อัตราโทษสูงขึ้น และยังมีผลทำให้จำนวนนักโทษในเรือนจำเพิ่มมากขึ้นปัจจุบันไทยถือว่าเป็นประเทศที่มีนักโทษในเรือนจำมากที่สุดอันดับ 6 ของโลก
"ถ้าคุณมียาเสพติดในครอบครองตามที่กำหนด เช่น มีแอมเฟตามีน ตั้งแต่ 0.35 กรัมขึ้นไป ก็ถือว่า มีในครอบครองเพื่อจำหน่าย ถึงแม้จะมีไว้เพื่อเสพก็ตามหากมีถึงตามที่กำหนดก็จะโดนข้อสันนิฐานว่า มีไว้เพื่อจำหน่าย ในกฎหมายยาเสพติด ซึ่งมีโทษร้ายแรง เช่นความผิดฐานนำเข้าและส่งออก ผลิตก็มีโทษจำคุกตลอดชีวิต แต่ถ้านำเข้าหรือผลิตเพื่อจำหน่าย ก็จะมีโทษประหารชีวิต
สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ คนตามตะเข็บชายแดนที่อาจจะข้ามมาทำมาหากิน ในฝั่งเพื่อนบ้าน พอกลับมาก็มียาบ้าติดมาเม็ดสองเม็ด เป็นเรื่องของการเสพเพื่อชูกำลัง เมื่อเข้ามาบ้านเราอาจจะถูกคดีนำเข้าแอมเฟตามีนได้ แม้ว่าเขาคนนั้นจะมีไว้เพื่อเสพเองก็ตาม และกลายเป็นว่าหากจับได้ คุณต้องจำคุกตลอดชีวิตจากยาบ้าแค่เม็ดเดียว และยิ่งถ้าหากมีมากกว่า 15 เม็ดโทษกลับร้ายแรงถึงขั้น ประหารชีวิต ซึ่งโทษนี้เท่ากับคนที่ ฆ่าคนโดยเจตนา"
การที่กฎหมายกำหนดโทษในคดีดังกล่าวเอาไว้สูง เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ชี้ว่า หลายครั้งก็เป็นเรื่องลำบากใจของผู้พิพากษาทุกท่านที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับคดีเหล่านี้ และส่งผลให้มีผู้คนจำนวนมากถูกกักขังไร้เสรีภาพเป็นเวลาชั่วชีวิตจากความผิดแค่มียาบ้าเม็ดเดียว
ปัญหายาเสพติดมีมาเนิ่นนานหลายทศวรรษ มีความพยายามทำสงครามยาเสพติดในหลายรูปแบบ เช่น ในช่วงหนึ่งที่มีการฆ่าตัดตอนกลุ่มผู้ค้ายา ส่งผลให้ภาพลักษณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของไทยก็ถูกตั้งคำถาม
นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ประธานกรรมมาธิการการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ มองว่า องค์ความรู้ในเรื่องยาเสพติดทุกคนแสวงหาได้ ปัจจุบันเรามีองค์ความรู้มากมาย มีราชการที่มีความรู้ มีอำนาจ แต่ว่านโยบายที่เรารู้ทั้งหมด ไม่สามารถผลักดันได้อย่างแท้จริง การประกาศสงครายาเสพติดที่ผ่านมา มีการกำจัดผู้เสพผู้ค้ายาอย่างกับผักปลา
"คนที่เสพติดสารเหล่านี้ คือกลุ่มคนมีจิตใจอ่อนแอ ดังนั้นการคุ้มเข้มของรัฐ ก็ทำให้คนต้องยิ่งไปแสวงหาราคายาที่ต้นทุนไม่กี่บาทก็พุ่งสูงขึ้นเมื่อตลาดถูกทำให้สินค้าดูมีราคา เหมือนปิดด้านหนึ่ง และผลักให้คนที่ป่วย หรือเสพติดลำบากมากขึ้น กลายเป็นวงจรที่รัฐคุมไม่ได้เสียเอง"
นพ.เจตน์ เผยว่า ปัจจุบัน พ.ร.บ. วัตุออกฤทธิ์เป็นกฎหมายที่กำลังอยู่ในการพิจารณาต่อสภา สนช. ในขณะนี้รัฐบาลกำลังทำเป็นกฎหมายประมวลยาเสพติด มีประมาณ 400 มาตรา ในคณะกรรมการวิสามัญ มีตัวกรรมมาธิการ แต่อาจต้องใช้เวลาในการพิจารณา ซึ่งต้องเร่งให้มีการออกกฎหมายวัตถุออกฤทธิ์ไปก่อน และหากย้อนดูกฎหมายในปี 2545 ที่ค่อนข้างทันสมัยมากในเรื่องของผู้เสพและผู้ค้า เป็นเรื่องการจะเอาคนที่เป็นผู้เสพ เข้ามาสู่วงจรฟื้นฟูไม่ผิดกฎหมาย แต่ขณะนั้นโดนต่อต้านอย่างรุนแรง แต่สุดท้ายก็สามารถออกมาได้ แต่ประเด็นปัญหาคือมาขัดกับ พ.ร.บ.ยาเสพติด 2512 เสียเอง
ในส่วนของโปรตุเกสโมเดลนั้น นพ.เจตน์ มองว่า โปรตุเกสมีองค์คณะศาลยาเสพติด (drug court) มีประธานที่เข้าใจเรื่องยาเสพติด รองฝ่ายการแพทย์ และฝ่ายกฎหมาย ใครที่ถูกจับกุมคดียาเสพติด จะผ่านเขาเหล่านี้ โดยส่วนมากจะเป็นการลงโทษทางสังคม จำกัดพื้นที่ ทั้งหมดที่เขาทำ เรามีกฎหมายที่ออกมาหลังๆ ในกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงยุติธรรม มีแนวคิดการลดโทษการจำคุก โดยไปทำอย่างอื่น เช่น บริการสาธารณะ เรามีกฎหมายที่ว่าด้วยการติดตามตัว กำไรอิเล็กทรอนิกส์ เมื่อเราต้องติดตาม นักโทษ การลงโทษทางแพ่งมากกว่าอาญา อันนี้คือสิ่งที่กฎหมายของไทยจะพัฒนาต่อไปและบังคับใช้
“เราเห็นได้ว่า ตัวเลขนักโทษ มีสองเท่าของที่จะรองรับ และกำลังจะมีสามเท่า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง ปัญหาคือว่า เราเอานักโทษไปอยู่ในเรือนจำ ซึ่งไม่ควรอยู่ในโทษเล็กๆ น้อยๆ หลักของการเอาไปอยู่ในเรือนจำ คือการให้ใช้เวลาในการสำนักผิด แปลว่า ผลที่เกิดขึ้นไม่ใช่ กลายเป็นไปเรียนรู้วิชามาร เพราะฉะนั้นในกรณีนี้ ผมเห็นว่าต้องเปลี่ยน เราเอาคนไปอยู่เรือนจำไม่เกิดประโยชน์”
ถึงวันนี้ค่อนข้างชัดเจนว่า เราสู้ยาเสพติดไม่ได้ เมื่อสู้ไม่ได้ ทำไมเราไม่เปลี่ยนวิธีสู้ นพ.เจตน์ ย้อยความไปในปี 2539 ที่เปลี่ยนชื่อจากยาม้าเป็นยาบ้า และมีการเปลี่ยนเป็นวัตถุยาเสพติดประเภทที่หนึ่ง กลายเป็นราคายาสูงขึ้น
"ที่เราเสนอให้เป็นวัตถุออกฤทธิ์ประเภทที่สอง ก็เพื่อทำลายกลไกทางตลาด ทำอย่างไรให้ราคาถูกลง น่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการจัดการ ปราบหนักราคายาสูงขึ้น ดูว่าการปราบปรามได้ผลหรือไม่ ต้องดูว่าราคายาเพิ่มขึ้นหรือเปล่า” นพ.เจตน์ กล่าว และเห็นว่า การปราบปรามไม่ใช่กลไกเดียวในการจัดการปัญหา ต้องใช้มาตรการอื่นๆ บวกกับการปราบปราม เพราะผู้ค้ารายใหญ่มีเงิน เขาสามารถเอาเงินไปใช้ประโยชน์ทั้งการติดสินบนเจ้าหน้าที่ เพราะฉะนั้นเขาทำได้ทุกอย่าง ขั้นตอนการดำเนินการทางกฎหมายมีอุปสรรค การต่อสู้ยากที่จะประสบความสำเร็จ
วันนี้เรามีแนวคิด เปลี่ยนให้ยาบ้า จากประเภทที่หนึ่ง เป็นวัตถุออกฤทธิ์ทางจิตประสาทประเภทที่สอง แต่แล้วสังคมไทยก็ด่าระงม สิ่งเหล่านี้สะท้อนว่า สังคมไทยยังไม่พร้อม คนไทยยังคิดว่า โทษรุนแรงดีอยู่เเล้ว ทำไมต้องเปลี่ยนให้โทษน้อยกว่า
เรื่องนี้จึงต้องใช้ศาสตร์และศิลป์ ต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจของประชาชน โดยเฉพาะ กระทรวงสาธารณสุขหากจะปรับเปลี่ยน วันนี้มีความพร้อมหรือไม่
จากวันนั้นที่ผู้มีอำนาจคิดว่า การเปลี่ยนโทษยาเสพติดให้รุนแรง คิดว่าจะทำให้คนกลัว แต่สุดท้าย ไม่ใช่ กลายเป็นว่าเพิ่มมากขึ้นหลายเท่า แล้วเราจะอยู่อย่างนี้ จะแก้ไขเเบบเดิมหรือ ทบทวนและยอมรับสิ่งที่ผ่านมานโยบายแก้ปัญหายาเสพติดของเราล้มเหลว ถึงเวลาต้องคิดใหม่ ทำใหม่...
ขอบคุณภาพประกอบจาก http://resource.nationtv.tv/photo_news/2014/09/03/640_ha65c777bifbaiakbje5b.jpg
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
พล.อ.ไพบูลย์ ประกาศชัดเลิกเงินสินบนนำจับคดียาเสพติด
นโยบายแก้ปัญหายาเสพติด ต้องมีอะไรผิดสักอย่าง ?
ยาบ้าเล็กน้อย ของกลาง 1 - 2 เม็ด และสินบนนำจับ บอกอะไรกับสังคม ?
ยธ.-สธ.จับมือแก้นโยบายยาเสพติด เล็งลดระดับยาบ้า-ยส.ประเภท2
TIJ ชูโปรตุเกสโมเดลแก้ยาเสพติดชะงัด ไม่เอาโทษทางอาญามาใช้กับผู้เสพ
เมื่อสังคมไทยสุดโต่ง 2 ข้าง กับแนวคิดแก้ปัญหา 'ยาเสพติด'
ถึงเวลาเปลี่ยนเมทแอมเฟตามีน จากบัญชียาเสพติด หรือยัง ?
ค้นทางออกของปัญหาที่ยังแก้ไม่ตก "ผู้ต้องขังล้นคุก"
เข้าคิวรอ...พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ ปี 2522 ขัดหลักนิติธรรม ?
ยาไอซ์-ยาบ้าระบาด! ‘พล.อ.ไพบูลย์’ ชี้ศูนย์ฟื้นฟูล้มเหลว ลั่นควรถูกยุบ