พล.อ.ไพบูลย์ ประกาศชัดเลิกเงินสินบนนำจับคดียาเสพติด
พล.อ.ไพบูลย์ ชงยกเลิกระบบ เงินสินบนนำจับคดียาเสพติด ทั้งเตรียมปรับกัญชา ใบกระท่อม ออกจากบัญชีต้องห้าม เปรยคนไทยยังไม่เข้าใจเรื่องแก้ปัญหายาบ้า ย้ำรัฐมีเจตนาดี พร้อมยินดีพูดคุยคนเห็นต่าง
วันที่ 29 สิงหาคม 2559 ที่ โรงแรมแกรนด์ ฟอร์จูน เมอร์เคียว สำนักกิจการในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ศูนย์วิชาการสารเสพติดภาคเหนือ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง "บูรณาการควบคุม (เมท) แอมเฟตามีนอย่างสร้างสรรค์และนวัตกรรมยุติธรรมตามร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด”
พลเอกไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงแนวคิดการปรับบัญชียาเสพติด โดยเฉพาะประเด็นเรื่อง ยาบ้า หรือ (เมท) แอมเฟตามีน ว่า การเลื่อนเป็นยาเสพติดออกฤทธิ์ประเภทที่สองนั้น เพราะประเภทแรกหมอเอามาใช้ในการรักษาไม่ได้ ทั้งนี้การแก้ไขปัญหายาเสพติดในอนาคตจะเน้นในเชิงสาธารณสุขมากกว่า
"สงครามยาเสพติดตลอดเวลาที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นได้ชัดว่า ไม่ประสบความสำเร็จ ซ้ำร้ายยังเพิ่มปัญหาและรัฐต้องหมดงบประมาณมหาศาล โดยเฉพาะเรื่อง เงินสินบนนำจับควรยกเลิกเสียที ถ้าเราไม่ให้ใช้นโยบายด้านสาธารณสุข ก็ควรยกเลิกไปเลยเงินนำจับ ในเรื่องการปราบปราม เป็นเรื่องไม่มีเหตุผล เราต้องเสียเงินทำไมในเมื่อนั่นคือหน้าที่ของคุณที่ต้องปฏิบัติอยู่เเล้ว ทำไมต้องไปจ่ายเงินเพื่อจับกุมทำไม วันนี้ผมขอสั่งยกร่างยกเลิกเงินสินบนนำจับเสียที เพราะยาเสพติดไม่ใช่แค่เรื่องปราบอย่างเดียว"
พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวด้วยว่า ชุมชน 81,905 แห่ง คือกำลังสำคัญในการแก้ไขปัญหา เครือข่ายภาคเอกชน ประชาสังคม ต้องเข้ามาช่วย เชื่อจริงๆ ว่า มีหน่วยงานอยากเข้ามาช่วย แต่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ต้องหาช่องทางให้พวกเขาไปมีส่วนร่วม การดูเเลที่ดีที่สุดคือชุมชนดูเเลกัน
"ป.ป.ส.ดี แต่ไล่จับ ปัญหายาเสพติดไม่ใช่แค่ไล่จับ พื้นที่แต่ละพื้นที่ ต้องรู้ว่าจะใช้อะไรที่จะแบ่งแยกให้ได้ว่า คนไหนคือผู้ป่วย ใครเป็นผู้เสพ หรือค้าเอาไปเสพ คนไหนคือผู้ตั้งใจจะขาย เราจะรู้ว่า ชุมชนมีใครก็ต้องเอาชุมชนมาช่วย เข้ามาดูเเล เพราะฉะนั้นคนที่ค้าที่ตั้งใจค้า ต้องลงโทษให้รุนแรง เฉพาะคนตั้งใจค้า ต้องแยกให้ชัด วันนี้กฎหมายใช้ในการปราบ เห็นไหมว่ามีเจ้าหน้าที่ไปค้าด้วย ผมพยายามคิดและบอกเจ้าหน้าที่ ป.ป.ส. หรือตำรวจ เราจะคัดแยกอย่างไร วิธีคัดกรองพฤติกรรมคือสิ่งที่ท้าทายสำหรับกฎหมายตอนนี้ ขอยืนยันว่าจะไม่สำเร็จเลย ถ้าเจ้าหน้าที่กลับไปใช้ผลประโยชน์จากกฎหมาย เช่น จับผู้ค้าได้ แต่บอกว่าเป็นผู้เสพ สังคมต้องช่วย และมั่นใจแนวทางที่จะเดินไป"
พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวอีกว่า เมื่อเราเปิดโอกาสให้ใช้ระบบสาธารณสุข ควบคุมการผลิต ทำให้ราคาถูกลง แต่คนในสังคมก็บอกว่า ทำแบบนั้นเด็กจะติดเต็มบ้านเต็มเมือง ซึ่งเขามีสิทธิพูด แต่ในทฤษฎีการผลิตสินค้า หากมีผู้ผลิตที่ถูกกว่า รายที่แพงก็อยู่ไม่ได้ แต่คนทั่วไปก็มองว่า ถูกก็ทำให้คนติดเพิ่ม ซึ่งห้ามไม่ได้ที่เขาจะคิดอย่างนั้น แต่อย่าลืมว่าราคาที่ว่าคือยาที่คุณหมอต้องเป็นคนจ่ายให้ในฐานะผู้ป่วย วันนี้เราเดินไม่ได้เพราะประชาชนยังไม่เข้าใจ ไม่ยอมทำความเข้าใจ อันนี้คือเรื่องใหญ่
“ผมฟังคุณ คุณต้องฟังผม เมื่อฟังเเล้ว ใครเหตุผลดีกว่าก็ต้องให้เขาทำ ไม่ใช่ว่าพอไม่ชอบคนนี้ ก็ค้านอย่างเดียว ดื้อไปเรื่อย”
พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวถึงเรื่องใบกระท่อม กับกัญชาที่จะเอาออกจากบัญชียาเสพติดนั้น ตอนนี้กำลังอยู่ในการประชุมหารือ เพราะทั้งสองตัวนี้เป็นเรื่องของยาสามัญประจำบ้าน ที่คนเขาปลูกกันได้ แต่ไม่ใช่ปลูกเพื่อเอาไปสกัดทำตัวยาอื่น แบบนั้นถือว่าผิด แค่ปลูกใช้งานก็ไม่มีปัญหาอะไร
"วันนี้มีปัญหาเรื่องนี้มาก จะปลูกก็ไม่ได้เพราะผิดกฎหมาย ซึ่งเรื่องนี้ก็เตรียมปรับแก้เช่นเดียวกัน วันนี้ถ้าเรามัวแต่ชี้ว่าสิ่งนั้น สิ่งนี้เป็นยาเสพติดหมด เราก็จะมีปัญหา ดีกว่าไหมถ้าเราจะควบคุมด้วยวิธีการอื่น “ถ้าทุกฝ่ายพร้อมจะะเปลี่ยนแปลง ใช้เวลาไม่ถึงสัปดาห์ ออกม.44 ก็ทำได้เลย แต่วันนี้ถามว่า เราพร้อมหรือยัง สังคมพร้อมหรือยัง เข้าใจหรือยัง” พล.อ.ไพบูลย์ กล่าว
ด้าน นพ.โสภน เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทประเภทหนึ่ง แพทย์ไม่มีการสั่งใช้ ถ้าเกิดสั่งใช้โดยเเพทย์ต้องเป็นประเภทที่สอง ต้องมาดูว่า เราจะใช้แอมแฟตามีน หรือ(เมท)เอมแฟตามีนใช้ในการรักษาหรือไม่ ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุขมองว่า (แมท)เอ็มแฟตตามีนอาจไม่ได้ใช้ แต่ใช้แค่เอมแฟตามีน ซึ่งเมื่อเป็นแบบนั้นก็ควรเอาตัวนั้นไปอยู่ในกลุ่มที่สอง ต้องไปคุยในทางวิชาการ เพราะต่างประเทศเคยมีการศึกษา ทางกระทรวงสาธารณสุขก็ต้องลงไปในระดับตำบล เราเป็นเจ้าภาพแต่ก็ไม่ทิ้งภาคีเครือข่ายอื่นๆ ในการช่วย มาตรฐานต้องเป็นแบบเดียวกัน ต้องเตรียมการออกแบบคัดกรองผู้ป่วย
"วันนี้โรงพยาบาลอำเภอสามารถเป็นผู้คัดกรองได้และประเมินว่าอยู่ในกลุ่มไหน กลุ่มใช้ กลุ่มเสพ กลุ่มติด และมีแนวทางในการดำเนินการชัดเจน ซึ่งในระดับตำบลต้องใช้เวลามากหน่อยเพื่อชี้แจง รักษาผู้ป่วยนอก ต้องดูว่าจะรองรับได้มากน้อยเพียงไหน เพราะข้อมูลล่าสุดมีผู้ป่วยราว 2 แสนคน แต่ถ้าเปิดกว้างมากขึ้นอาจมีเพิ่มต้องประเมินอีกครั้งโดยอาศัยนโยบายที่เราต้องช่วยกัน รักษาตามอาการ ติดตาม รวมถึงชุมชนบำบัด"
ด้านนพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาตร์การแพทย์ กล่าวว่า วัตถุประสงค์จริงๆ เราไม่ได้อยากให้คนเสพยา เพียงแต่ในกระบวนการรักษา หากพบว่ามีปัญหาอื่นที่เป็นรากปัญหาจริงๆ เราต้องไปแก้ที่ต้นเหตุ เช่น เป็นโรคซึมเศร้าก็รักษาไปตามโรค ถ้าไม่มีอาชีพ ครอบครัวมีปัญหาต้องช่วยเหลือด้านสังคม แต่ว่าถ้าเกิดเราไปหยุดไม่ให้เสพทันทีอาจไม่ได้ ก็เลยต้องมีระบบจ่ายยาโดยแพทย์ ค่อยๆ จ่าย ผ่านกระบวนการรักษา เป็นการล้อมกรอบเอาไว้ จากนั้นเข้าสู่กระบวนการค่อยๆ ลด จนผู้ป่วยไม่ได้รู้สึกว่าโดนหักดิบ
"วันนี้เราติดปัญหาที่ว่า ตัวยาชนิดนี้ถูกขึ้นบัญชีร้ายแรงอยู่ นั่นคือเหตุที่เราต้องเรียกร้องให้เปลี่ยน เพื่อใช้กระบวนการทางสาธารณสุขมาจัดการ"
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ยาบ้าเล็กน้อย ของกลาง 1 - 2 เม็ด และสินบนนำจับ บอกอะไรกับสังคม ?
ยธ.-สธ.จับมือแก้นโยบายยาเสพติด เล็งลดระดับยาบ้า-ยส.ประเภท2