จาก'ราชภักดิ์'ถึง 'ขุดคลองอผศ.’ย้อนกรณีฉาวใต้เงารบ.คสช. ก่อนกองทัพลงนามต้านโกง?
เปิดหมดทุกโครงการถูกร้องเรียนไม่โปร่งใส รบ.คสช. ‘สร้างราชภักดิ์’ ติดโผอันดับหนึ่ง แม้ ทบ.-ศตอช. ยันโปร่งใส-ไร้ทุจริต แต่ยังมีหลายเงื่อนปมยังตอบไม่เคลียร์ ‘อผศ.ขุดคลอง’ พบ ‘บิ๊ก ขรก.’ เอี่ยว แต่ยังไม่มีสอบสวน จับตา ‘โครงการตำบล 5 ล้าน-ขายซาก ฮ.ชีนุก’ เงื่อนปมที่ยังไม่มีคำตอบ ก่อนกองทัพลงนามกับ ป.ป.ช. ต้านโกง
"เรามีเจตนาชัดเจนในการแก้ไขปัญหานี้ เพราะเราเป็นกระทรวงที่ใช้เงิน ไม่ใช่กระทรวงที่หาเงิน ดังนั้นเงินทุกบาทได้มาต้องใช้เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน เพื่อเอาชนะปัญหาการคอร์รัปชั่น กำลังพล และผู้บังคับบัญชาทุกระดับต้องเข้าใจ แต่จะสำเร็จได้หรือไม่ผมคิดว่าทุกคนต้องมีจิตสำนึก และต้องสร้างเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นแบบบูรณาการ”
“เรื่องการจัดซื้อจัดหายุทโธปกรณ์ในกองทัพ เราทำตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีตลอด แต่เพื่อความชัดเจนจึงร่วมมือกับป.ป.ช. ให้กำลังพลได้รับรู้การจัดซื้อยุทโธปกรณ์ของกองทัพให้โปร่งใส ประชาชนจะได้เชื่อมั่นว่าเงินทุกบาทที่ได้จากภาษีนั้น เรานำไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพแท้จริง อย่างไรก็ตามการจัดซื้อจัดจ้างยุทโธปกรณ์ของกองทัพมีการเผยแพร่ทางเว็บไซต์ของกองทัพและรัฐบาลมาตลอด สามารถเข้าไปตรวจสอบได้ ยืนยันว่ากระทรวงกลาโหมภายใต้การนำของรัฐบาล และคสช. ในยุคนี้จะไม่ให้มีการทุจริต"
เป็นคำยืนยันของ ‘บิ๊กป้อม’ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม หัวเรือใหญ่พลพรรคบูรพาพยัคฆ์ และหนึ่งในคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต่อกรณีการแก้ไขปัญหา และป้องกันการเกิดทุจริตคอร์รัปชันในแวดวง ‘ท็อปบู้ต’ ก่อนลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในโครงการ "กลาโหมโปร่งใสไร้คอร์รัปชั่น" ระหว่างหน่วยขึ้นตรงกระทรวงกลาโหม กับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่สโมสรกองทัพบก ถ.วิภาวดี-รังสิต
แม้ว่าตั้งแต่ คสช. เข้ามาบริหารประเทศเมื่อช่วงปี 2557 ปัจจุบันผ่านมาประมาณ 2 ปีเศษ ‘บิ๊กตู่’ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. รวมถึงผู้บริหารในรัฐบาลชุดนี้หลายคน จะทยอยออก ‘แอ็คชั่น’ เรื่องมาตรการในการป้องกันการเกิดทุจริตขึ้นก็ตาม
แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าที่ผ่านมามีอย่างน้อย 2 โครงการใหญ่ของรัฐบาลที่ถูกตรวจสอบพบความไม่โปร่งใส และไม่ชอบมาพากล จนกระทั่งนำไปสู่การตั้งคำถามจากสื่อและสาธารณชน ส่งผลให้หลายหน่วยงานต้องสอบสวนข้อเท็จจริงเรื่องดังกล่าว
โครงการอะไรบ้าง ? สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รวบรวมไว้ ดังนี้
หนึ่ง โครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์
เป็นโครงการที่เกิดจากความตั้งใจของรัฐบาลชุดนี้ ดำเนินการโดยกองทัพบกยุค ‘บิ๊กโด่ง’ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร เป็น ผบ.ทบ. (ปัจจุบันเป็น รมช.กลาโหม) โดยใช้งบประมาณ 2 ส่วนคือ เงินบริจาคจากภาคธุรกิจ-ประชาชน แบ่งเป็น 2 กองทุนคือ กองทุนรับบริจาคของกองทัพบกเอง และกองทุนรับบริจาคของมูลนิธิราชภักดิ์ (มี พล.อ.อุดมเดช เป็นประธานฯ) อีกส่วนคืองบประมาณแผ่นดิน
สำหรับเงินบริจาค (ทั้งของกองทัพบก และของมูลนิธิราชภักดิ์) ปัจจุบันก็ยังไม่ทราบตัวเลขแน่ชัดว่าตกลงแล้วมีเท่าไหร่กันแน่ ? เพราะ ‘บิ๊กหมู’ พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผบ.ทบ.คนปัจจุบัน ที่ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเรื่องดังกล่าว ระบุแต่เพียงว่า “เยอะอยู่” ส่วน พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รองปลัดกระทรวงกลาโหม ประธานคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงเรื่องนี้ ระบุว่า ประมาณ 800 ล้านบาทเศษ โดยใช้ไปในงานก่อสร้างต่าง ๆ เช่น งานหล่อพระบรมราชานุเสาวรีย์และพานพุ่มคู่ วงเงินกว่า 318 ล้านบาท งานปูหญ้า งานระบายน้ำ งานปรับพื้นที่อุทยาน ส่วนยอดงบประมาณแผ่นดินนั้น พล.อ.ชัยชาญ ระบุว่า ใช้งบประมาณไปทั้งหมดประมาณ 63 ล้านบาทเศษ ใช้ไปในงานก่อสร้างต่าง ๆ รอบบริเวณพระบรมราชานุเสาวรีย์
(อ่านประกอบ : พยายามอย่างที่สุดแล้ว! คำต่อคำ ‘พล.อ.ชัยชาญ’ แจงราชภักดิ์ไร้ทุจริต?)
แต่สังคมก็ยังไม่หมดความเคลือบแคลงสงสัยในประเด็นว่า มีการหักหัวคิวเรื่องการก่อสร้างพระบรมราชานุเสาวรีย์จริงหรือไม่ ? เนื่องจากก่อนหน้านี้ ‘บิ๊กโด่ง’ ออกมาให้สัมภาษณ์ทำนองว่า มีการหักหัวคิวในการก่อสร้างดังกล่าว แต่นำไปบริจาคคืนแล้ว อย่างไรก็ดีหลังจากนั้น พล.อ.อุดมเดช ให้สัมภาษณ์ชี้แจงอย่างต่อเนื่องว่า เป็นการใช้คำที่ผิดพลาด และไม่มีประเด็นการหักหัวคิวแต่อย่างใด
นำมาสู่ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ที่มี พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม เป็นหัวโต๊ะ สั่งการองค์การตรวจสอบทุจริตทุกหน่วย ไม่ว่าจะเป็น ป.ป.ท. ป.ป.ช. และ สตง. เพื่อสอบข้อเท็จจริงเรื่องดังกล่าว โดย ‘บิ๊กต๊อก’ ยืนยันตั้งแต่แรกเลยว่า กรณีต้องตรวจสอบให้เคลียร์ ไม่อย่างนั้นรัฐบาลอยู่ไม่ได้ !
กระทั่งใช้เวลาสอบสวนนานหลายเดือน ศอตช. นำโดย สตง. และ ป.ป.ท. จึงได้แถลงผลการตรวจสอบดังกล่าว ยืนยันว่า ไม่พบการทุจริตแต่อย่างใด และมีการใช้งบประมาณโปร่งใสทุกประการ ?
(อ่านประกอบ : ไร้ทุจริต! ศอตช.ไม่พบพิรุธการสร้างราชภักดิ์-ยัน'บิ๊กโด่ง'เข้าใจผิดปมหัวคิว)
อย่างไรก็ดีจากการตรวจสอบของสำนักข่าวอิศราตั้งแต่ต้นนั้น มีจุดน่าสังเกตอย่างน้อย 3 ประการ ได้แก่
1.กรณีกองทัพบกประกวดราคาสร้างรั้วอุทยานราชภักดิ์ด้วยวิธีพิเศษ วงเงินประมาณ 9 ล้านบาทเศษ ทั้งที่จากการลงพื้นที่ของผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา 2 ครั้ง พบว่า การก่อสร้างรั้วดังกล่าวเสร็จสิ้นไปแล้ว และจากการสอบถามทหาร และคนงานก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ ต่างยืนยันว่า งานก่อสร้างรั้วมีเอกชนรายใหญ่เป็นผู้สร้างโดยการบริจาค กระทั่งต่อมาพบว่า กองทัพบกได้ยกเลิกการประกวดราคาสร้างรั้วดังกล่าว โดยไม่ระบุเหตุผลใด ๆ
(อ่านประกอบ : ทบ.ยกเลิกประกวดราคาสร้างรั้ว‘ราชภักดิ์’วิธีพิเศษ 9.3 ล.ทั้งที่ทำเสร็จแล้ว, ย้อนข้อมูล ทบ.ประกาศจ้างสร้างรั้ว 'ราชภักดิ์'ยกเลิกหลังทำเสร็จ-ใครสร้าง?)
2.กรณี ‘เซียนอุ๊’ หรือนายวัชรพงศ์ ระดมสิทธิพัฒน์ เซียนพระชื่อดัง เข้าชี้แจงกับ สตง. ระบุว่า ได้รับเงินค่าที่ปรึกษาโรงหล่อ 5 แห่ง เป็นเช็ค 5 ใบ วงเงินประมาณ 20 ล้านบาท สั่งจ่ายในนามของบริษัท สยามปุระ จำกัด (บริษัทเก่าที่เซียนอุ๊เคยเป็นกรรมการ และผู้ถือห้น) โดยนำไปบริจาคให้กับการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์แล้ว
คำถามสำคัญคือ เช็คดังกล่าวถูกจ่ายออกจากบริษัท สยามปุระ จำกัด เมื่อไหร่ เนื่องจาก ‘เซียนอุ๊’ พ้นจากการถือหุ้นบริษัทดังกล่าว เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2558 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการพูดถึงเรื่องการหักค่าหัวคิว และเรียกร้องให้ตรวจสอบการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ร้อนแรง ?
ทว่าคำตอบของ สตง. ยืนยันว่า เช็คดังกล่าวที่ออกมา เป็นเงินก่อนที่จะมีการเบิกจ่ายกองทุนของกองทัพบก เพื่อนำมาจ่ายชำระค่าองค์พระรูปบูรพกษัตริย์ โดยเงินดังกล่าวเป็นค่าใช้จ่ายด้านที่ปรึกษาของโรงหล่อ 5 แห่ง ให้กับ ‘เซียนอุ๊’ และได้นำเงินในส่วนนี้จากบริษัทไปบริจาค ส่วน ‘เซียนอุ๊’ จะอยู่ในฐานะอะไรในบริษัทก็แล้วแต่ แต่ตามหลักฐานเช็ค พบว่า ‘เซียนอุ๊’ มีส่วนเกี่ยวข้องในการออกเช็คครั้งนี้ในนามของบริษัท สยามปุระ จำกัด และเงินดังกล่าวมาจากบัญชีของบริษัท สยามปุระ จำกัดจริง จึงยืนยันได้ว่า ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องของเงินบริจาคที่มาก่อสร้างองค์พระรูปฯ แต่ถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายของทั้งฝ่ายโรงหล่อ และฝ่าย ‘เซียนอุ๊’
ซึ่งข้อมูลตรงนี้สวนทางกับที่สำนักข่าวอิศราสัมภาษณ์โรงหล่อที่ต่างให้ข้อมูลตรงกันว่า ก่อนหน้านี้มีการจ่ายเงินให้กับ ‘เซียนอุ๊’ จริง หลังจากได้รับงานสร้างองค์พระรูปฯ แต่เงินที่จ่ายไม่ใช่ค่าหัวคิว แต่เป็นการเงินที่จ่ายให้เพื่อตอบแทนการเข้ามาช่วยเหลือและให้คำแนะนำในการทำงานนี้ โดยโรงหล่อบางแห่งก็จ่าย บางแห่งก็ไม่จ่าย โดยเป็นเงินประมาณ 10% ของราคาจ้าง
(อ่านประกอบ : เช็คจ่ายเมื่อไหร่-ใครสร้างรั้ว! ปมที่ยังไม่เคลียร์หลัง ศอตช.ยันราชภักดิ์โปร่งใส?)
3.กรณีไม่เปิดเผยข้อมูลรายละเอียดผลการสอบข้อเท็จจริง ของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ชุดที่มี พล.อ.ชัยชาญ เป็นประธานฯ
กรณีนี้สำนักข่าวอิศราได้ยื่นเรื่องไว้ตั้งแต่ช่วงเดือน พ.ย. 2558 อย่างไรก็ดีปัจจุบัน (มิ.ย. 2559) ทางกองทัพบกก็ไม่ได้ให้ข้อมูลดังกล่าวแต่อย่างใด โดยช่วงแรกอ้างว่ารอ สตง. สอบเสร็จก่อน ต่อมาเมื่อ สตง. สอบเสร็จ และมีการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนแล้ว ก็อ้างอีกว่า ปัจจุบันอยู่ระหว่างการแสวงหาข้อเท็จจริงของ ป.ป.ช. ทำให้สำนักข่าวอิศรายื่นเรื่องร้องเรียนต่อคณะกรรมการข้อมูลข่าวสาร สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งปัจจุบันก็ยังไม่มีการเรียกผู้สื่อข่าวเข้าไปชี้แจงแต่อย่างใด
(อ่านประกอบ : ไม่ให้ข้อมูลราชภักดิ์! ทบ.อ้างรุกล้ำสิทธิส่วนบุคคล-โยนขอ ป.ป.ท.-สตง.เอง)
สำหรับกรณีนี้ปัจจุบันอยู่ระหว่างการแสวงหาข้อเท็จจริงของ ป.ป.ช. ตามที่นายวีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชั่น ที่ยื่นเรื่องให้สอบประเด็น พล.อ.อุดมเดช และ พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เนื่องจากไม่ลงโทษนายทหารระดับสูง 2 ราย ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความไม่โปร่งใสในการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ ซึ่งปัจจุบันหลบหนีไปแล้ว นอกจากนี้จะสอบในประเด็นที่ ศอตช. ยังไม่สอบไม่ครบด้วย
(อ่านประกอบ : ศอตช.สอบไม่ครบ! ป.ป.ช.สานต่อล่ามือมืดหักหัวคิวสร้างราชภักดิ์)
สอง กรณีองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก (อผศ.) ถูกร้องเรียนจ้างช่วงเอกชนขุดลอกคูคลองแทนทั่วประเทศ
โดยประเด็นนี้มีเงื่อนปมอยู่ 2 อย่าง ที่ยังไม่มีคำตอบจาก อผศ. ได้แก่
1.กรณีการอ้างชื่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เพื่อหักหัวคิวในการเข้าไปรับงานช่วงจาก อผศ. ในการขุดลอกแหล่งน้ำ
2.กรณี อผศ. จ้างช่วงเอกชนหลายแห่งเข้าไปดำเนินการขุดลอกแหล่งน้ำแทน ซึ่งอาจขัดกับมติคณะกรรมการพิจารณาสิทธิพิเศษหน่วยงานและรัฐวิสาหกิจ ที่นำเสนอผ่านที่ประชุมคณะรัฐมนตรี กับ คสช. ทั้งที่มติดังกล่าวระบุชัดเจนว่า ห้าม อผศ. จ้างเอกชนทำงานต่อ
โดยกลุ่มธรรมาภิบาล เครือข่ายประชาชนต้านทุจริตคอร์รัปชั่น ยื่นเรื่องร้องเรียน ‘บิ๊กตู่’ และ สตง. ไปแล้ว ระบุใจความว่า มีกลุ่ม ‘คุณนาย อ.’ กับพวก เป็นผู้ประสานงานกับ ‘ผู้บริหารรายหนึ่ง’ ในสำนักงานการเกษตรการอุตสาหกรรมและการบริการ (สกบ.) หน่วยงานใน อผศ. ที่รับผิดชอบเรื่องการขุดลอกแหล่งน้ำโดยตรง โดยจะ ‘ส่งซิก’ ไปยังกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ประจำจังหวัดต่าง ๆ เพื่อให้เตรียมงานขุดลอก เมื่อเสร็จแล้วจะส่งเรื่องกลับไปยัง อผศ. และดำเนินการเซ็นสัญญาเช่าเครื่องจักรกับเครือข่าย ‘คุณนาย อ.’
สำหรับพฤติการณ์ในการเซ็นสัญญานั้น เมื่อเครือข่าย ‘คุณนาย อ.’ ได้รับสัญญามาแล้ว จะขายช่วงต่อให้กับผู้รับเหมาอีกชั้นหนึ่งในแต่ละพื้นที่ เพื่อนำไปกระจายงานให้กับผู้รับเหมารายย่อยอีกชั้นหนึ่งในพื้นที่ต่าง ๆ โดยมีเจ้าหน้าที่ ปภ.จังหวัด คอยการันตีเรื่องเงินให้ ขณะเดียวกันมีการแอบอ้างด้วยว่า จะหักเงินเข้า อผศ. จำนวน 10% และนำไปจ่ายให้กับ ‘ผู้ใหญ่’ 20%
อย่างไรก็ดีปัญหาขณะนี้คือ เมื่องานมาถึงมือผู้รับเหมารายย่อยที่ทำงานเสร็จทั้งหมดแล้ว แต่ได้เงินเพียง 30-40% ซึ่งแทบไม่คุ้มค่ากับแรงที่ลงไป บางแห่งเมื่อทำงานเสร็จก็ไม่ได้รับเงินค่าจ้าง จึงมีการร้องเรียนกับ ปภ.จังหวัด ซึ่ง ปภ.จังหวัด ได้ทำหนังสือไปยัง อผศ. ทำนองว่า จะแก้ไขปัญหานี้อย่างไร เพราะผู้รับเหมารายย่อยยังไม่ได้รับเงิน ส่วน ปภ. ก็จ่ายเงินให้กับ อผศ. ไปหมดแล้วด้วย
ล่าสุด สตง. ที่เข้าไปตรวจสอบโครงการดังกล่าว ตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้น เชื่อได้ว่ามีการจ้างช่วงเอกชนเข้าไปทำงานแทนจริง ซึ่งอาจขัดกับมติคณะกรรมการสิทธิพิเศษฯได้ และอยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมดเพื่อเตรียมสรุปผลในเร็ว ๆ นี้ เช่นเดียวกันกับคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงของ อผศ. ซึ่งอยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลเพื่อสรุปข้อเท็จจริงเช่นกัน ทว่ายังไม่ทราบเหมือนกันว่าจะมีชื่อ ‘บิ๊ก อผศ.’ ซึ่งถูกผู้รับเหมาร้องเรียนว่าเป็นคน ‘ดีลงาน’ และ ‘เรียกเก็บเงิน’ ติดโผด้วยหรือไม่
(อ่านประกอบ : อผศ.จ้างช่วงเอกชนจริง! สตง.ใกล้สรุปผลสอบโครงการขุดคลองฉาวทั่วปท., จับพิรุธ อผศ.ขอสิทธิพิเศษขุดคลอง! อ้างเครื่องจักรพร้อม ไฉนทำบันทึกเช่าผู้รับเหมา?, กลุ่มคุณนาย อ.ระทึก!อผศ.สรุปผลสอบหัวคิวขุดคลองแล้ว-เร่งเยียวยาผู้รับเหมารายย่อย)
ทั้งหมดคือสองโครงการสำคัญ ที่ถูกตรวจสอบพบปัญหาความไม่ชอบมาพากล ในขั้นตอนการดำเนินงาน ภายใต้ยุครัฐบาล คสช.
และยังไม่นับรวมอีกหลายโครงการที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบ อาทิ โครงการมาตรการตำบลละ 5 ล้านบาท ซึ่ง ป.ป.ช. ได้แสวงหาข้อเท็จจริงในหลายจังหวัด จนพบว่ามีอย่างน้อย 3 จังหวัดที่มีบางโครงการมีพฤติการณ์ทุจริต ขณะที่อีกหลายจังหวัดมีการเบิกใช้งบไม่ถูกต้อง
(อ่านประกอบ : คตช.สั่งลุยสอบ-หาวิธีป้องทุจริตงบตำบล 5 ล.หลัง ป.ป.ช.พบ 3 จว.ทำฉาว)
หรือกรณีล่าสุด กองทัพบกโดยกรมการขนส่งทหารบกได้ประมูลขายซากเฮลิคอปเตอร์ลำเลียง แบบ 47 (CH-47D-ชีนุก) จำนวน 6 ลำ พร้อมชิ้นส่วน เครื่องมือซ่อมบำรุง และผลิตภัณฑ์ภาคพื้น วงเงิน 420 ล้านบาท และถูกบริษัท ไทย แอร์โรสเปซ อินดัสทรีส์ จำกัด ร้องเรียนว่า มีราคาต่ำกว่าปกติหรือไม่ เนื่องจากบริษัทฯดังกล่าวแสดงเจตจำนงเสนอซื้อในวงเงิน 600 ล้านบาท ต่อมา 12 เม.ย.59 กองทัพบกได้จัดประกวดราคาใหม่ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ แต่ถูกตั้งข้อสังเกตว่าเกิดความเสียหายแล้วหรือไม่
ขณะที่ สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบว่า ในการซื้อขายซากเฮลิคอปเตอร์ลำเลียง ชีนุก ครั้งแรก เอกชนผู้ชนะประมูล คือ บริษัท ธนนิพัฒน์ยนต์ตระการ จำกัด ผู้ประกอบการรับซื้อของเก่าใน จ.นครปฐม และหลังประมูลเพียง 1 วัน เอกชนรายดังกล่าว ได้ติดต่อขาย ซากเฮลิคอปเตอร์ลำเลียง ชีนุก ดังกล่าวให้แก่ บริษัท ไทย แอร์โรสเปซ อินดัสทรีส์ จำกัด (ผู้ไม่ร่วมประมูล) ในวงเงิน 550 ล้านบาท เท่ากับจะมี ‘ส่วนต่าง’ทันที 130 ล้านบาท
(อ่านประกอบ : เอกสารชัด ๆ ปมซาก ฮ.ชีนุก‘ราคากลาง’ 619 ล. - ประมูลขายแค่ 420 ล., เปิดหนังสือ ‘บิ๊กโด่ง’ สั่ง ‘พล.อ.ปรีชา’ รับผิดชอบหลัก ดีลแลก ‘แบล็คฮอว์ค-ชีนุก’, แกะรอย ดีลแลก‘แบล็คฮอว์ค-ชีนุก’ บ.ค้าอาวุธ เบี้ยวเงื่อนไข จริงหรือ?)
ทั้งหมดคือประเด็นปัญหาความไม่โปร่งใสในยุครัฐบาล คสช. ที่มีบางเรื่องยังไม่สามารถตอบคำถามสังคมให้ ‘เคลียร์’ ได้
ก่อนหน้าที่ ‘บิ๊กป้อม-4 เหล่าทัพ’ จะลงนามบันทึกข้อตกลงกับ ป.ป.ช. เพื่อ ‘ปราบโกง’ ในวันนี้ !