- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- เบื้องหลังกรมชลฯเลิก 2 โครงการ 23 ล.-สะท้อนผลงานจัดการน้ำยุค‘บิ๊กตู่’?
เบื้องหลังกรมชลฯเลิก 2 โครงการ 23 ล.-สะท้อนผลงานจัดการน้ำยุค‘บิ๊กตู่’?
“…นับเป็นอีกหนึ่งคำเตือนที่ ‘กระทุ้ง’ แรง ๆ ไปยังรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ และผู้มีอำนาจในรัฐบาล ต้องจับตาดูโครงการดังกล่าวอย่างใกล้ชิด แม้ที่ผ่านมาจะมีการเลิกโครงการไปเพียง 3 โครงการ วงเงินรวมประมาณ 25 ล้านบาท ซึ่งอาจเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเม็ดเงินในโครงการนี้ที่มีมากหลายหมื่นล้านบาท แต่ทั้ง 3 โครงการดังกล่าวอาจเป็นเพียง ‘ยอดภูเขาน้ำแข็ง’ เท่านั้น ยังมีอีกหลายร้อยโครงการที่ยังไม่ได้รับการเปิดเผยออกมาว่า มีปัญหาอะไร-อย่างไรบ้าง…”
โครงการเงินกู้เพื่อการพัฒนาระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและระบบขนส่งทางถนน ระยะเร่งด่วน ในกรอบวงเงินทั้งสิ้น 78,294.85 ล้านบาท นับเป็นอีกหนึ่งโครงการใหญ่ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ต้องการแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการน้ำ และการคมนาคม ที่ในห้วงหลายปีที่ผ่านมายังคาราคาซังอยู่
อย่างไรก็ดีหากโฟกัสเฉพาะโครงการพัฒนาระบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ที่มีอย่างน้อย 2 หน่วยงาน (เท่าที่ตรวจสอบพบขณะนี้) ได้แก่ กรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้รับงบประมาณไปทั้งสิ้น 6,239.20 ล้านบาท และกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับงบประมาณทั้งสิ้น 22,449.97 ล้านบาท ดำเนินการไปแล้ว 725 รายการ โดยต้องทำตาม 3 กิจกรรมหลัก คือ 1.การแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำ 2.การป้องกันและบรรเทาอุทกภัย และ 3.การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำนั้น
จะเห็นว่าเกิดปัญหาขึ้นมาแล้วอย่างน้อย 3 โครงการ จาก 2 หน่วยงานดังกล่าว รวมวงเงินประมาณ 25 ล้านบาท เป็นของกรมทรัพยากรน้ำ 1 โครงการ 1.8 ล้านบาท ของกรมชลประทาน 2 โครงการ 23.6 ล้านบาท
โดยทั้งสองหน่วยงานเจอปัญหาแบบเดียวกันนั่นคือ การทำงาน ‘ทับซ้อน’ กับหน่วยงานอื่น ?
(อ่านประกอบ : โชว์คำเตือน ก.คลัง-เบื้องหลัง! กรมทรัพยากรน้ำเลิกโครงการกำจัดผักตบ?, ล้วงงบกรมชลฯบริหารจัดการน้ำยุค ‘บิ๊กตู่’ 2.2 หมื่นล.-เลิกแล้ว 2 โครงการ 23 ล.)
กรณีนี้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เคยทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ ให้แก้ไขปัญหาในโครงการกำจัดผักตบชวา ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการตามแผนงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำดังกล่าวไปแล้ว แต่ก็ยังเกิดปัญหาแบบนี้ตามมาอีก
(อ่านประกอบ : ชำแหละ 4 ปัญหากำจัดผักตบชวา! สตง. ชง‘บิ๊กตู่’เร่งแก้-ป้องใช้งบแผ่นดินไม่คุ้มค่า?)
แล้วทั้ง 2 โครงการของกรมชลประทานที่ยกเลิกเกิดปัญหาตรงไหน อย่างไรบ้าง ?
เพื่อให้ข้อเท็จจริงกระจ่างชัดขึ้น สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เปิดเผยรายละเอียดตามหนังสือกรมชลประทาน ที่ขอยกเลิก 2 โครงการดังกล่าว ดังนี้
ภายหลังได้รับโอนจัดสรรเงินกู้จากสำนักงบประมาณแล้ว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทานได้ดำเนินการตามขั้นตอนและแผนปฏิบัติงานที่วางไว้ แต่ปรากฏว่ามีรายการที่ประสบปัญหาในการดำเนินงานก่อสร้าง ทำให้ไม่สามารถดำเนินโครงการต่อไปได้ จำเป็นต้องขอยกเลิก จำนวน 2 รายการ โดยสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
หนึ่ง แก้มลิงบ้านคลองมิตรสัมพันธ์ พร้อมอาคารประกอบ ต.หนองหว้า อ.เขาฉกรรจ์ จ.สระแก้ว ได้รับโอนจัดสรรเงินกู้จากสำนักงบประมาณ จำนวน 1.0245 ล้านบาท แต่หลังจากที่เอกชนเข้าไปปฏิบัติงานในพื้นที่ก่อสร้างจริง และได้ดำเนินการขุดลอกไปแล้ว 250 ลูกบาศก์เมตร (ปริมาณงานตามสัญญา 26,100 ลูกบาศก์เมตร) ปรากฏว่าพื้นที่ที่จะขุดลอกส่วนใหญ่มีสภาพเป็นชั้นหินแข็ง ทำให้ไม่สามารถขุดดินออกทั้งหมดโดยใช้เครื่องจักรปกติตามอัตราราคางานที่กำหนดไว้ในสัญญาได้
กรมชลประทานพิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นร่วมกับเอกชนแล้ว โดยจะให้เพิ่มเติมงานขุดดินขุดยากพร้อมขนย้าย ระยะทาง 1 กิโลเมตร เพื่อดำเนินงานส่วนที่เหลืออีก 25,850 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งมีอัตราราคางานต่อหน่วยสูงกว่างานตามสัญญา คือ งานดินขุดด้วยเครื่องจักรพร้อมขนย้าย ระยะทาง 1 กิโลเมตร โดยคาดว่า ต้องใช้งบประมาณเพื่อดำเนินงานส่วนนี้เป็นเงินรวม 2,363,207 บาท
แต่เอกชนแจ้งว่า การดำเนินงานลักษณะข้างต้นเป็นงานที่ค่อนข้างยาก ประกอบกับเอกชนไม่มีเครื่องจักรเครื่องมือและความชำนาญในการปฏิบัติงานในพื้นที่ที่มีสภาพเป็นชั้นหินแข็ง จึงขอยุติการดำเนินงานก่อสร้าง และส่งมอบงานเท่าที่ปฏิบัติได้จริง โดยไม่เรียกร้องค่าเสียหายใด ๆ ทั้งสิ้น ซึ่งกรมชลประทานได้มีหนังสือตกลงบอกเลิกสัญญาไปแล้ว
สอง ประตูระบายน้ำนบหัก ต.อินคีรี อ.พรหมคีรี จ.นครศรีธรรมราช ได้รับโอนจัดสรรเงินกู้จากสำนักงบประมาณ จำนวน 22.5794 ล้านบาท แต่เมื่อกรมชลประทานเข้าไปตรวจสอบพื้นที่ก่อสร้างเพื่อเตรียมส่งมอบให้แก่เอกชน ปรากฏว่ามีหน่วยงานอื่นได้เข้ามาก่อสร้างฝายทับซ้อนกับจุดที่จะก่อสร้างประตูระบายน้ำเรียบร้อยแล้ว แม้ว่าองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) อินคีรี และ อบต.ดอนตะโก อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช จะยืนยันว่า ยินดีให้กรมชลประทานดำเนินการก่อสร้างประตูระบายน้ำข้างต้นต่อไป
แต่ทั้ง 2 หน่วยงานไม่สามารถเจรจากับผู้เกี่ยวข้องให้รื้อย้ายฝายที่มีอยู่ออกไป และส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างให้แก่กรมชลประทานภายในกรอบระยะเวลาที่กำหนดไว้ กรมชลประทานจึงจำเป็นต้องยกเลิกสัญญาจ้างก่อสร้างที่ได้ทำไว้ และได้ทำหนังสือขอยกเลิกสัญญาไปยังเอกชน ซึ่งเอกชนยินยอมให้ยกเลิกสัญญาแล้ว (ดูเอกสารประกอบ)
อย่างไรก็ดีสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้มีความเห็นประกอบเกี่ยวกับกรณีนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า กรมชลประทาน ควรเร่งรัดการกำกับดูแลการปฏิบัติงาน ทั้งในส่วนที่เป็นงานจ้างเหมา และงานที่ดำเนินการเองภายใต้โครงการเงินกู้เพื่อพัฒนาระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำฯ ให้มีประสิทธิภาพเป็นไปตามกรอบระยะเวลาและแผนการใช้จ่ายเงินกู้ รวมทั้งจะต้องเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณในโครงการที่ดำเนินการแล้วเสร็จ และโครงการที่มีผลการเบิกจ่ายไม่สอดคล้องกับผลการดำเนินงาน เพื่อให้การดำเนินงานในทางปฏิบัติของโครงการดังกล่าว ที่ดำเนินการภายใต้ความรับผิดชอบของกรมชลประทาน บรรลุเป้าประสงค์ตามนโยบายรัฐบาลในการกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยเร็ว
นอกจากนี้กรมชลประทานควรให้ความสำคัญกับการศึกษาและทำความเข้าใจถึงสภาพสังคม ความต้องการของชุมชม ภูมิประเทศสิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจของพื้นที่ดำเนินโครงการ ตลอดจนลำดับความสำคัญจำเป็นและความคุ้มค่าของการดำเนินงานอย่างจริงจัง ซึ่งจะส่งผลทำให้การดำเนินงานในพื้นที่ที่ได้คัดเลือกไว้ บรรลุเป้าหมายได้ตามกรอบงานและระยะเวลาที่กำหนด รวมทั้งยังเป็นแนวทางที่จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการขอยกเลิกการดำเนินงาน ซึ่งนอกจากจะส่งผลทำให้เกษตรกรได้รับประโยชน์ล่าช้าแล้ว ยังทำให้รัฐต้องมีภาระดอกเบี้ย และสูญเสียโอกาสในการใช้เงินกู้ไปเพื่อกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจตามเป้าหมายของนโยบายรัฐบาลที่กำหนดไว้ (ดูเอกสารประกอบ)
เมื่อพิจารณาถึงข้อเท็จจริงข้างต้นแล้ว จะเห็นได้ว่า ปัญหาใหญ่ในโครงการนี้เป็นไปตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เสนอแนะไป นั่นคือ การไม่ยอมบูรณาการทุกหน่วยงานให้ดำเนินการไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการทำงานทับซ้อนกันได้ และเกิดอีกหลายปัญหาตามมา ส่งผลให้รัฐอาจสูญเสียโอกาสในการใช้เงินกู้เพื่ออำนวยประโยชน์ให้กับประชาชน และอาจทำให้รัฐเกิดความเสียหายตามมาทีหลังได้อีก
นับเป็นอีกหนึ่งคำเตือนที่ ‘กระทุ้ง’ แรง ๆ ไปยังรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ และผู้มีอำนาจในรัฐบาล ต้องจับตาดูโครงการดังกล่าวอย่างใกล้ชิด แม้ที่ผ่านมาจะมีการเลิกโครงการไปเพียง 3 โครงการ วงเงินรวมประมาณ 25 ล้านบาท ซึ่งอาจเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเม็ดเงินในโครงการนี้ที่มีมากหลายหมื่นล้านบาท
แต่ทั้ง 3 โครงการดังกล่าวอาจเป็นเพียง ‘ยอดภูเขาน้ำแข็ง’ เท่านั้น ยังมีอีกหลายร้อยโครงการที่ยังไม่ได้เปิดเผยออกมาว่า เจอปัญหาอะไร-อย่างไรบ้าง
หากไม่ดำเนินการตรวจสอบให้เข้มข้น-เอาจริงเอาจัง โครงการดังกล่าวก็อาจเสี่ยงต่อความไม่คุ้มค่า เหมือนหลายโครงการที่ผ่านมาในอดีตอีก !
อ่านประกอบ :
เปิดงบกรมทรัพยากรน้ำกำจัดผักตบล็อตใหม่ยุค‘บิ๊กตู่’ 6.2 พันล.-เลิกแล้ว 1 โครงการ
โชว์คำเตือน ก.คลัง-เบื้องหลัง! กรมทรัพยากรน้ำเลิกโครงการกำจัดผักตบ?
ชำแหละ 4 ปัญหากำจัดผักตบชวา! สตง. ชง‘บิ๊กตู่’เร่งแก้-ป้องใช้งบแผ่นดินไม่คุ้มค่า?
พบสารพัดปัญหากำจัดผักตบยุค'บิ๊กตู่'! สตง.จี้จับตาหน่วยงานรับผิดชอบใกล้ชิด
ขมวด 3 เงื่อนปมปัญหากำจัดผักตบชวายุค ‘บิ๊กตู่’ จับตาลิ่วหรือร่วง?
เปิดปฏิบัติการกำจัดผักตบยุค‘บิ๊กตู่’ ก่อนเหลว! สั่งทำใหม่-สตง.พบปัญหาเพียบ?
5 ปีล่าสุด 2.5 พันล.! เปิดงบ 5 หน่วยงานรัฐกำจัดผักตบ-กทม.แชมป์ใช้ 1.5 พันล.
เปิดหมดงบ ก.มหาดไทย‘แม่งาน’ กำจัดผักตบชวา 2 ปี 59 โครงการ 362 ล.
ปภ.จ้าง อผศ.วิธีพิเศษกำจัดผักตบชวาด้วย 8.1 ล.-ยอดรวม มท.ใช้งบพุ่ง 370 ล.
เอกชนขายเรือผักตบ กทม. 116ล.!รายใหญ่ค้าอาวุธกองทัพ-คู่เทียบ บ.ลูกปรีชา
กทม.ยัน บ.ขายเรือผักตบ 116 ล. คุณสมบัติเหมาะสม-สตง.ตรวจละเอียดแล้ว!
บ.ไทยแอโร่ฯแจ้งทำธุรกิจเรือปี’57 ก่อนขายเรือกำจัดผักตบกรมโยธาฯ-อปท. 62 ล.
‘ไทย แอโร่มารีน’ขายเรือกำจัดผักตบกรมโยธาฯ 51 ล.-อปท.ด้วย เบ็ดเสร็จ 62 ล.
สารพัดอุปสรรค-ปัญหากำจัดผักตบฉบับ กทม.! ไขคำตอบไฉน 5 ปีใช้งบ 1.5 พันล.
กรมโยธาฯซื้อเรือ-อุปกรณ์กำจัดผักตบ 177.6 ล.ก่อน สตง.ชง‘บิ๊กตู่’สางปัญหา
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก www.panyaconsult.co.th