- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- ชำแหละ 4 ปัญหากำจัดผักตบชวา! สตง. ชง‘บิ๊กตู่’เร่งแก้-ป้องใช้งบแผ่นดินไม่คุ้มค่า?
ชำแหละ 4 ปัญหากำจัดผักตบชวา! สตง. ชง‘บิ๊กตู่’เร่งแก้-ป้องใช้งบแผ่นดินไม่คุ้มค่า?
“…รัฐบาลต้องมีการติดตามผลการดำเนินงานเกี่ยวกับการกำจัดผักตบชวาอย่างต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญต่อการดำเนินการอย่างเคร่งครัด จริงจัง โดยให้มีกระบวนการติดตามตรวจสอบข้อมูลการดำเนินงานในทุกระดับพื้นที่ โดยเฉพาะระดับจังหวัด ซึ่งมีพื้นที่เป้าหมายขนาดเล็กกระจายในพื้นที่ต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก หากขาดการติดตามตรวจสอบอย่างใกล้ชิดของรัฐบาล อาจทำให้กระบวนการแก้ไขปัญหาไม่เกิดความต่อเนื่อง หรือไม่เกิดประสิทธิภาพ และประสิทธิผลได้…”
“ขนาดปัญหาผักตบชวายังต้องสั่งการเอง ถ้าทุกคนเห็นผักตบแล้วเก็บกันคนละต้นปัญหานี้คงหมดไปนานแล้ว ก่อนหน้านี้มี พ.ร.บ. เกี่ยวกับผักตบ ปี 2546 แต่ก็ยกเลิกไป จะเอาหรือไม่ถ้าใครปล่อยให้มีผักตบอยู่ในบ้านต้องถูกปรับต้นละ 100 บาท ทำไมต้องให้สั่งทุกเรื่อง เพราะท้ายที่สุดผักตบก็ไปไหลลงคลอง ทำให้น้ำไม่ระบาย แล้วจะแก้ปัญหาอย่างไร ใช้คนกี่คน ทหารไม่ต้องทำงานอื่นเลยหรือ เจ้าหน้าที่เองก็ทำงานไม่ไหว ปัญหาผักตบต้องถูกกำจัดอย่างมีคุณภาพ ยั่นยืน เพราะ 1 ต้น สามารถกระจายเป็น 100 ต้นภายใน 30 วัน โดยการแพร่เกสร การแก้ปัญหาที่ง่ายที่สุดคือต้องเก็บมันขึ้นมาคนละต้น”
เป็นคำยืนยันของ ‘บิ๊กตู่’ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ลั่นวาจาไว้เมื่อช่วงปลายเดือน ส.ค. 2559 เกี่ยวกับปัญหาของผักตบชวาที่สร้างความเดือดร้อนมาอย่างยาวนาน
จนนำไปสู่การบูรณาการทุกหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อมาดำเนินการแก้ไขปัญหากำจัดผักตบชวาอย่างจริงจังในช่วงเดือน ก.ย. 2559 ที่มีกระทรวงมหาดไทยเป็น ‘แม่งาน’ และมี ‘บิ๊กป้อม’ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นหัวเรือหลักรับผิดชอบเรื่องนี้
อย่างไรก็ดีที่ผ่านมาสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ตรวจสอบผลการดำเนินงานของทุกหน่วยงานรัฐ เช่น กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมทรัพยากรน้ำ กองทัพบก กรมชลประทาน กรมเจ้าท่า และกรุงเทพมหานคร ที่ร่วมกันกำจัดผักตบชวา นับตั้งแต่ปี 2555-2559 พบว่า ใช้งบประมาณไม่น้อยกว่า 834.88 ล้านบาท กำจัดไปได้ทั้งสิ้นประมาณ 22.37 ล้านตัน (เฉลี่ยปีละประมาณ 4.47-6.99 ล้านตัน)
ขณะที่ในการบูรณาการทุกหน่วยงานของรัฐในยุค ‘บิ๊กตู่’ เพื่อเข้าไปดำเนินการกำจัดผักตบชวานั้น สตง. ได้ตั้งข้อสังเกตไปยัง ‘บิ๊กตู่’ ด้วย เนื่องจากพบ ‘ความเสี่ยง’ ในการดำเนินการหลายอย่าง ?
(อ่านประกอบ : พบสารพัดปัญหากำจัดผักตบยุค'บิ๊กตู่'! สตง.จี้จับตาหน่วยงานรับผิดชอบใกล้ชิด)
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สรุปหนังสือของ สตง. ที่นำเสนอต่อ พล.อ.ประยุทธ์ เกี่ยวกับปัญหาในการกำจัดผักตบชวา และข้อเสนอแนะทั้งหมด ดังนี้
จากการตรวจสอบพบว่า ปัจจุบันกระทรวงมหาดไทย โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง เป็นหน่วยงานหลักรับผิดชอบกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาผักตบชวาในแม่น้ำสายหลัก และแหล่งน้ำสาธารณะ ในลักษณะบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้สำเร็จเรียบร้อยตามเป้าหมายและเป็นรูปธรรมอย่างยั่งยืนตามที่ได้รับมอบหมายจาก พล.อ.ประวิตร เริ่มมีการขับเคลื่อนเมื่อประมาณเดือน ก.ย. 2559 และปัจจุบัน (เดือน ต.ค. 2559) อยู่ระหว่างร่างคำสั่งเพื่อให้นายกรัฐมนตรีลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการบูรณาการเพื่อแก้ไขปัญหาผักตบชวา และคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาผักตบชวา โดยให้ พล.อ.ประวิตร เป็นผู้ลงนามนั้น
จากการตรวจสอบมีข้อสังเกตบางประการที่เห็นว่า เป็นประเด็นความเสี่ยงสำคัญที่จะทำให้การดำเนินการไม่บรรลุผลสำเร็จอย่างยั่งยืน และจะส่งผลต่อการใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดินที่เป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภพ อีกทั้งมีช่องว่างที่จะทำให้การดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นไปโดยไม่โปร่งใส สรุปได้ดังนี้
หนึ่ง การคำนวณต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายของการดำเนินการที่อาจไม่สอดคล้องสัมพันธ์กับข้อเท็จจริงในทางปฏิบัติของแต่ละหน่วยงาน ซึ่งพบว่าการกำหนดอัตราราคางานต่อหน่วยที่อ้างอิงราคามาตรฐานที่กำหนดไว้โดยสำนักงบประมาณ กรณีงานกำจัดวัชพืชด้วยเรือ โดยไม่ระบุที่มาของต้นทุนที่กำหนดไว้อย่างชัดเจน ในขณะที่แต่ละหน่วยงานมีปัจจัยอ้างอิงต้นทุนในการปฏิบัติงานที่แตกต่างกัน ส่งผลต่อความไม่ชัดเจนในการควบคุมตรวจสอบการใช้จ่ายเงินงบประมาณตามข้อเท็จจริง หรือเป็นปัญหกับการปฏิบัติงานที่ไม่มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้หากคำนวณต้นทุนต่อหน่วยตามผลการปฏิบัติงานจะเห็นว่า มีราคาที่แตกต่างกันของแต่ละหน่วยงานและแต่ละปีงบประมาณ
สอง การเก็บข้อมูลรายงานผลการดำเนินงานของหน่วยงานที่รับผิดชอบที่ไม่ครบถ้วน ไม่ชัดเจน และไม่เพียงพอในการอ้างอิงเชื่อมโยงกับของการปฏิบัติงานในพื้นที่ เช่น การจัดเก็บข้อมูลผลการสำรวจ ที่หน่วยงานควบคุมกำกับดูแลที่อยู่ส่วนกลางไม่สามารถติดตามประเมินผลตรวจสอบการดำเนินงานในระดับพื้นที่ได้อย่างทั่วถึง หรือไม่มีการดำเนินการ เป็นช่องว่างของการดำเนินงานที่อาจเกิดความไม่โปร่งใส หรือข้อมูลที่หน่วยงานรับผิดชอบในพื้นที่รายงานยังไม่เกิดความน่าเชื่อถือเพียงพอ เช่น ไม่มีภาพประกอบอย่างครบถ้วนทุกชุด หรือมีภาพถ่ายประกอบแต่ไม่ระบุพิกัดของบริเวณที่มีปัญหาผักตบชวา ไม่มีหลักฐานแสดงจุดที่จะทำการทิ้งผักตบชวาจากการกำจัดทั้งก่อนและหลัง อีกทั้งปัญหาผักตบชวาไม่สามารถระบุปริมาณที่ชัดเจนของแต่ละพื้นที่ได้ เพราะมีการเคลื่อนที่อยู่ตลอด
สาม ไม่มีกฎหมายการกำจัดผักตบชวาที่สามารถใช้บังคับได้ในปัจจุบัน ในอดีตเคยมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.การกำจัดผักตบชวา พ.ศ.2456 และถูกยกเลิกไปเมื่อปี 2546 ขณะที่ปัญหาผักตบชวาไม่สามารถกำจัดได้อย่างหมดสิ้นในช่วงที่มีการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว และในเมื่อปัจจุบันไม่มีกฎหมายดังกล่าว ทำให้ไม่มีหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงเกี่ยวกับการกำจัดผักตบชวา อีกทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่วนใหญ่ยังขาดความพร้อมด้านเครื่องมือเครื่องจักรในการกำจัด โดยเฉพาะหน่วยงานที่ดูแลพื้นที่ในระดับท้องถิ่น ส่วนการดำเนินการของหน่วยงานในปัจจุบันวัตถุประสงค์หลักเพื่อแก้ปัญหาการดำเนินงานในภารกิจของหน่วยงานนั้น ๆ ซึ่งทำให้การกำจัดผักตบชวาเป็นลักษณะการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของหน่วยงาน และไม่สามารถกำจัดทิ้งได้ทั้งหมด ส่วนพื้นที่คลองปิดที่อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานท้องถิ่นส่วนใหญ่ อาจไม่ได้มีการดำเนินการแก้ไขปัญหาแต่อย่างใด
นอกจากนี้การดำเนินการที่ผ่านมาเป็นลักษณะต่างหน่วยงานต่างทำโดยไม่ได้ประสานบูรณาการร่วมกันของพื้นที่เป้าหมาย ทั้งนี้ปัจจุบันมีการแต่งตั้งคณะทำงานต่าง ๆ ขึ้นมาเพื่อดำเนินการไปตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี แต่ด้วยข้อจำกัดของเครื่องมือ อุปกรณ์สำหรับกำจัดผักตบชวาของหน่วยงานท้องถิ่นและหน่วยงานระดับพื้นที่ อาจทำให้การดำเนินงานไม่มีประสิทธิภาพ และการกำจัดผักตบชวาอาจไม่หมดสิ้น และส่งผลให้เกิดการไหลแพร่กระจายขยายไปในพื้นที่อื่น ๆ อีกได้
ขณะเดียวกันปัจจุบันยังไม่พบข้อมูลผลการสำรวจที่น่าเชื่อถือได้ของปริมาณผักตบชวาในแม่น้ำลำคลองหรือพื้นที่ชลประทานทั้งหมดของทั้งประเทศ ซึ่งจะทำให้ไม่สามารถใช้เป็นเครื่องมือสำหรับวางแผนบริหารจัดการรวมถึงวางแผนด้านงบประมาณของประเทศในการกำจัดผักตบชวาให้สอดคล้องกับหน่วยงาน สภาพปัญหาในพื้นที่ เกิดความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงาน และเกิดประสิทธิภาพอย่างแท้จริง
สี่ ปัญหาผักตบชวาที่เกิดขึ้นมาแล้วเป็นเวลานานโดยยังไม่สามารถดำเนินการกำจัดให้หมดสิ้นหรือควบคุมจำกัดขอบเขตพื้นที่การดูแลได้ การกำจัดของหน่วยงานในปัจจุบันยังไม่เกิดความยั่งยืน เพราะเมื่อกำจัดแล้วผักตบชวาที่ยังตกค้างหรือที่ถูกฝังอยู่อาจมีการเจริญเติบโตขึ้นมา อีกทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นว่ายังมีอุปสรรคของการปฏิบัติในพื้นที่ดำเนินการที่จะส่งผลให้เกิดความล่าช้าของการดำเนินการ หรือต้องใช้งบประมาณจำนวนมากขึ้นในการดำเนินการ และไม่สามารถดำเนินการให้หมดสิ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการหาจุดทิ้งผักตบชวา ซึ่งต้องใช้พื้นที่จำนวนมากอาจส่งกลิ่นเน่าเหม็น หรือการส่งเสริมให้ทำปุ๋ยหมัก ขณะที่แร่ธาตุในผักตบชวามีน้อยมากอาจไม่คุ้มทุน การนำก้านใบผักตบชวาไปทำผลิตภัณฑ์เพื่อจำหน่าย หากไม่มีการควบคุม หรือไม่มีกฎหมายกำหนดขอบเขตพื้นที่ที่ชัดเจนจะทำให้เศษต้นผักตบชวาที่ไม่ได้ใช้แล้วอาจถูกทิ้งหรือปล่อยให้ไหลออกไปสู่แหล่งน้ำอื่น ๆ เกิดการแพร่พันธุ์ได้อย่างรวดเร็วอีกครั้ง
ทั้งนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่วนใหญ่ให้ความเห็นว่า ควรให้มีการนำผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการใช้สารอินทรีย์เพื่อการกำจัดผักตบชวาแบบยั่งยืน โดยไม่เกิดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมและประชาชน ซึ่งปัจจุบันมีสถาบันการศึกษาหลายแห่งตลอดจนหน่วยงานภาคเอกชนได้ทำการศึกษาวิจัย แต่ยังไม่ได้ถูกส่งเสริมสนับสนุนการนำไปใช้งานในระดับพื้นที่อย่างจริงจัง และยังไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยให้กับประชาชนได้
สตง. ตระหนักและเห็นความสำคัญของการจัดการและแก้ไขปัญหาผักตบชวาที่ยังมีข้อจำกัดในทางปฏิบัติของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ปัญหาด้านการให้บริการแก่ประชาชนของหน่วยงานตามภารกิจที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนความไม่ชัดเจนของการดำเนินการ รวมถึงข้อมูลการจัดเก็บ และรายงานของหน่วยงานต่าง ๆ จะส่งผลเสียหายเกิดความไม่คุ้มค่าของการใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดิน และอาจทำให้การดำเนินการเป็นไปโดยไม่โปร่งใส
ดังนั้นเพื่อให้แก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างยั่งยืน เกิดประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และความคุ้มค่าของการใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดิน สตง. จึงเห็นควรเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาบางประการกราบเรียนนายกรัฐมนตรี เพื่อโปรดพิจารณาสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมถึงคณะทำงานที่อาจจะมีการแต่งตั้งการปฏิบัติงานตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี เพื่อดำเนินการต่อไปดังนี้
1.ให้สำนักงบประมาณมีการพิจารณาทบทวนการกำหนดต้นทุนต่อหน่วยงานของการดำเนินงานกำจัดผักตบชวาที่ประกาศใช้ในปัจจุบันว่า มีฐานการคิดคำนวณที่สอดคล้องเหมาะสมกับข้อเท็จจริงตามทรัพยากรที่ใช้ในทางปฏิบัติของแต่ละหน่วยงานหรือไม่ เพียงใด หรืออาจให้มีการกำหนดมาตรฐานต้นทุนต่อหน่วยสำหรับการดำเนินงานกำจัดผักตบชวาโดยตรง (ปัจจุบันหน่วยงานกำหนดต้นทุนการดำเนินงานกำจัดผักตบชวาภายใต้งานขุดลอก หรืองานก่อสร้างชลประทาน) โดยอาจมีการพิจารณาข้อมูลร่วมกับหน่วยงานหลักต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง หรืออาจมีการประเมินผลของการปฏิบัติงานในปัจจุบัน หรือสอบถามปัญหาอุปสรรคในทางปฏิบัติ ตลอดจนแนวทางการแก้ไขของหน่วยงาน เพื่อนำไปสู่การวางแผนปรับปรุงกำหนดมาตรฐานราคาต้นทุนต่อหน่วยที่สอดคล้องในทางปฏิบัติของแต่ละหน่วยงาน และสามารถใช้เป็นเครื่องมือด้านการควบคุมตรวจสอบการดำเนินการของหน่วยปฏิบัติ ทั้งหน่วยตรวจสอบภายใน และหน่วยตรวจสอบภายนอกได้อย่างถูกต้อง
2.ให้หน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องร่วมบูรณาการ พิจารณากำหนดแนวทางการสร้างเครื่องมือสำหรับจัดเก็บข้อมูลและบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินงานกำจัดผักตบชวาที่จะทำให้กระบวนการดำเนินงานเป็นไปด้วยความโปร่งใส เช่น การจัดเก็บข้อมูลก่อนดำเนินการต้องสามารถแสดงข้อมูลปัญหาหรือความต้องการของประชาชนในพื้นที่ ต้องมีภาพถ่ายประกอบ เอกสารหลักฐานต่าง ๆ และการมีส่วนร่วมของประชาชน หากพบข้อมูลคลาดเคลื่อนไม่ตรงกัน ควรมีบันทึกรายงานให้ชัดเจน และให้มีกระบวนการสุ่มตรวจสอบการปฏิบัติงานของหน่วยงานในพื้นที่ โดยหน่วยงานกลางในระยะเวลาอันเหมาะสม
3.ให้มีการส่งเสริมสนับสนุน เร่งรัด ผลักดัน การจัดทำร่างกฎหมายการกำจัดผักตบชวา ตลอดจนติดตามแก้ไขปัญหาเพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรมสามารถนำไปใช้ในการปฏิบัติได้โดยเร็ว
4.ให้มีการศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้องและจัดทำแผนแม่บทเกี่ยวกับการกำจัดผักตบชวาของประเทศ และเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติการแก้ไขปัญหาผักตบชวา เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ จัดทำแผนปฏิบัติการที่มีความสอดคล้องสัมพันธ์กัน
5.ให้มีหน่วยงานเจ้าภาพหลักที่รับผิดชอบในการรวบรวมข้อมูลและการศึกษาวิจัยของสถาบันการศึกษาต่าง ๆ หรือโครงการที่รัฐให้การสนับสนุนที่ผ่านมาเกี่ยวกับการกำจัดและแก้ไขปัญหาผักตบชวาอย่างยั่งยืนโดยใช้สารอินทรีย์ หรืออื่นใดที่จะไม่ก่อเกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมหรือชีวิตของประชาชน
6.รัฐบาลต้องมีการติดตามผลการดำเนินงานเกี่ยวกับการกำจัดผักตบชวาอย่างต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญต่อการดำเนินการอย่างเคร่งครัด จริงจัง โดยให้มีกระบวนการติดตามตรวจสอบข้อมูลการดำเนินงานในทุกระดับพื้นที่ โดยเฉพาะระดับจังหวัด ซึ่งมีพื้นที่เป้าหมายขนาดเล็กกระจายในพื้นที่ต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก หากขาดการติดตามตรวจสอบอย่างใกล้ชิดของรัฐบาล อาจทำให้กระบวนการแก้ไขปัญหาไม่เกิดความต่อเนื่อง หรือไม่เกิดประสิทธิภาพ และประสิทธิผลได้ (ดูเอกสารประกอบ)
นี่คือสารพัดปัญหาในการกำจับผักตบชวายุครัฐบาล ‘บิ๊กตู่’ ที่ สตง. เล็งเห็นและมีข้อเสนอเพื่อเห็นควรให้แก้ไขโดยเร็ว เพื่อให้ปรากฏผลอย่างเป็นรูปธรรม
ส่วนจะดำเนินการเมื่อไร อย่างไร ต้องจับตาดูกันต่อไปอย่างใกล้ชิด !