ขมวด 3 เงื่อนปมปัญหากำจัดผักตบชวายุค ‘บิ๊กตู่’ จับตาลิ่วหรือร่วง?
ขมวดเงื่อนปมกำจัดผักตบชวายุค รบ.บิ๊กตู่ พิรุธเอกชนขายเรือให้หน่วยงานรัฐ การจัดซื้อจัดจ้างไม่มีราคากลาง-สเปกที่เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด ซื้อเรือ-วัสดุกำจัดผักตบมาแล้วใครเอาไปทำต่อ
โครงการกำจัดผักตบชวาในแหล่งน้ำภายใต้การสั่งการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นครั้งที่สอง ที่มีกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย เป็น ‘แม่งาน’ และมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นผู้รับผิดชอบ กำลังถูกสังคมจับตาเป็นอย่างมาก
เนื่องจากก่อนหน้านี้ในช่วงดำเนินการครั้งแรกปลายปี 2558-มี.ค. 2559 พบว่า ไม่สามารถดำเนินการได้แล้วเสร็จตามกำหนดโดยมีปัญหาหลายประการ จนเป็นเหตุที่ทำให้ ‘บิ๊กตู่’ ต้องออกแรงสั่งการเป็นครั้งที่สองในคราวนี้
อย่างไรก็ดีสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้เข้าไปตรวจสอบความคุ้มค่าในการดำเนินโครงการนี้ด้วย พบว่า มีปัญหาหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการใช้จ่ายเงินของแต่ละหน่วยงานโดยไม่มีราคากลางอ้างอิงที่เหมือนกัน หรือการขาดแคลนวัสดุอุปกรณ์ หรือบางหน่วยงานซื้อวัสดุอุปกรณ์ไม่เหมือนกัน ทำให้ประสิทธิภาพในการกำจัดต่างกัน เป็นต้น
(อ่านประกอบ : ชำแหละ 4 ปัญหากำจัดผักตบชวา! สตง. ชง‘บิ๊กตู่’เร่งแก้-ป้องใช้งบแผ่นดินไม่คุ้มค่า?, พบสารพัดปัญหากำจัดผักตบยุค'บิ๊กตู่'! สตง.จี้จับตาหน่วยงานรับผิดชอบใกล้ชิด)
เพื่อขยายเงื่อนปมให้ชัดขึ้น สำนักข่าวอิศรา www.israenws.org สรุปการดำเนินโครงการกำจัดผักตบชวาในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ให้สาธารณชนรับทราบ ดังนี้
ภายหลังการดำเนินโครงการครั้งแรกปลายปี 2558-มี.ค. 2558 ที่มีกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เป็นแม่งานร่วมกับกระทรวงกลาโหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย เป็นผู้รับผิดชอบนั้น ‘ล้มเหลว’ ในการกำจัดผักตบชวาให้ทันตามกำหนด
โดยในครั้งนั้นพบปัญหาสำคัญคือ ผักตบชวามีการเจริญเติบโตและขยายตัวเร็วมาก ภายในระยะเวลา 15-20 วัน สามารถขยายตัวเพิ่มขึ้น 1 เท่า ประกอบกับพื้นที่บางแห่งเรือกำจัดผักตบชวาไม่สามารถเข้าถึง เช่น ช่วงสะพานข้ามแม่น้ำและลำคลองที่ระดับน้ำตื้นเขิน นอกจากนี้ประชาชนบางส่วนยังมีการทำประมงน้ำจืด โดยใช้ผักตบชวาเป็นที่อาศัยของปลา (ก่ำ) หรือนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนหรือแปรรูปเป็นอาหารสำหรับปลากินพืช รวมทั้งธรรมชาติของผักตบชวามีการเคลื่อนย้ายจากปรากฏการณ์น้ำขึ้น-น้ำลง และการพัดพาจากแรงลม ทำให้ไม่สามารถกำจัดผักตบชวาได้หมดสิ้นภายในวันที่ 31 มี.ค. 2559
กระทรวงมหาดไทยจึงมีข้อเสนอให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดูแลรักษาแหล่งน้ำในพื้นที่รับผิดชอบและในการดำเนินการใช้รูปแบบ ‘ประชารัฐ’ ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวก็ค่อนข้างไล่เลี่ยกับการก่อตั้ง ‘บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีประเทศไทย จำกัด’ ตามนโยบายการฟื้นฟูเศรษฐกิจของรัฐบาล ‘บิ๊กตู่’
(อ่านประกอบ : เปิดปฏิบัติการกำจัดผักตบยุค‘บิ๊กตู่’ ก่อนเหลว! สั่งทำใหม่-สตง.พบปัญหาเพียบ?)
ต่อมาในช่วงเดือนปลายเดือน ก.ย. 2559 พล.อ.ประยุทธ์ มีข้อสั่งการอีกครั้งให้ดำเนินการกำจัดผักตบชวาอย่างเร่งด่วน และยั่งยืน โดยมอบหมายให้กรมโยธาธิการและผังเมือง เป็นหน่วยงานหลักในการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่น โดยมี พล.อ.ประวิตร เป็นผู้รับผิดชอบ
ทว่า สตง. ได้ตรวจสอบการดำเนินโครงการกำจัดผักตบชวาย้อนกลับไปในช่วงปี 2555-2559 พบว่า มีการใช้งบประมาณไปแล้วไม่ต่ำกว่า 2.5 พันล้านบาท โดยกรุงเทพมหานครใช้งบประมาณเยอะที่สุดกว่า 1.5 พันล้านบาท นอกจากนั้นมีกรมเจ้าท่า กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ ดำเนินการ
(อ่านประกอบ : 5 ปีล่าสุด 2.5 พันล.! เปิดงบ 5 หน่วยงานรัฐกำจัดผักตบ-กทม.แชมป์ใช้ 1.5 พันล.)
และล่าสุด สตง. มีข้อเสนอแนะถึง 'บิ๊กตู่' ในการกำจัดผักตบชวา โดยพบปัญหาใหญ่ ๆ อย่างน้อย 4 ปัญหาที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น
หนึ่ง การคำนวณต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายการดำเนินการไม่สอดคล้องกันในแต่ละหน่วยงาน ไม่มีการระบุที่มาของต้นทุนให้ชัดเจน บางหน่วยงานซื้อวัสอุปกรณ์ในราคาที่แตกต่างกัน ไม่ตรงกับมาตรฐานที่กำหนดไว้โดยสำนักงบประมาณ
สอง การเก็บข้อมูลผลการดำเนินงานไม่ครบถ้วน ไม่ชัดเจน และไม่เพียงพอในการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างส่วนกลาง กับพื้นที่ปฏิบัติ
สาม ไม่มีกฎหมายการกำจัดผักตบชวาที่สามารถบังคับใช้ได้ในปัจจุบัน ทำให้ไม่มีหน่วยงานใดมีอำนาจดำเนินการอย่างเต็มที่ นอกจากนี้ที่ผ่านมาการกำจัดผักตบชวาของแต่ละหน่วยงานก็ไม่ใช่วัตถุประสงค์หลักของหน่วยงานนั้น แต่เป็นการทำอย่างเฉพาะหน้าเท่านั้น รวมไปถึงวัสดุอุปกรณ์ของแต่ละหน่วยงานก็แตกต่างกัน อาจทำให้การดำเนินการไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ
สี่ การกำจัดผักตบชวาที่ผ่านมาใช้งบประมาณจำนวนมากในการดำเนินการ และยังไม่มีแหล่งที่จะกำจัดทิ้งอย่างชัดเจนและยั่งยืน
“จากการตรวจสอบมีข้อสังเกตบางประการที่เห็นว่า เป็นประเด็นความเสี่ยงสำคัญที่จะทำให้การดำเนินการไม่บรรลุผลสำเร็จอย่างยั่งยืน และจะส่งผลต่อการใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดินที่เป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภพ อีกทั้งมีช่องว่างที่จะทำให้การดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นไปโดยไม่โปร่งใส” เป็นข้อสรุปของ สตง. ที่ ‘เตือน’ ไปยัง ‘บิ๊กตู่’ ให้แก้ไขปัญหา
ไม่ว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร แต่เบื้องต้นที่สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบคือ ในช่วงหลังวันที่ 22 พ.ค. 2557-ปัจจุบัน กระทรวงมหาดไทยในฐานะแม่งานดำเนินการดังกล่าว ใช้งบประมาณไปแล้วทั้งสิ้นประมาณ 370 ล้านบาท แบ่งเป็น
1.กรมโยธาธิการและผังเมือง 35 โครงการ รวมวงเงิน 177.61 ล้านบาท
2.สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย 2 โครงการ รวมวงเงิน 12,057,984 บาท
3.กรมการปกครอง 7 โครงการ รวมวงเงิน 10,034,300 บาท
4.กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น 4 โครงการ รวมวงเงิน 18,450,000 บาท
5.กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 4 โครงการ รวมวงเงิน 8.1 ล้านบาท
6.กรุงเทพมหานคร 11 โครงการ รวมวงเงินประมาณ 144 ล้านบาท
(อ่านประกอบ : เปิดหมดงบ ก.มหาดไทย‘แม่งาน’ กำจัดผักตบชวา 2 ปี 59 โครงการ 362 ล., ปภ.จ้าง อผศ.วิธีพิเศษกำจัดผักตบชวาด้วย 8.1 ล.-ยอดรวม มท.ใช้งบพุ่ง 370 ล.)
พบข้อสังเกต ดังนี้
หนึ่ง ประเด็นการจัดซื้อจัดจ้าง
กทม. จัดซื้อจัดจ้างเรือกำจัดบีบอัดผักตบชวาพร้อมเรือขนถ่ายจำนวน 3 ชุด วงเงิน 116,600,000 บาท โดยบริษัท นำพลอินเตอร์เทรด จำกัด เป็นผู้ชนะการประกวดราคา
ขณะที่บริษัท นำพลอินเตอร์เทรดฯ คือบริษัทค้าอาวุธขนาดใหญ่ให้กับกองทัพมานานหลายปี รวมวงเงินหลายร้อยล้านบาท และเป็นหนึ่งในบริษัทที่เข้าซื้อซองประกวดราคาขายอาวุธกับ หจก.คอนเทมโพรารี คอนสตรัคชั่น ที่มีนายปฐมพล จันทร์โอชา บุตรชาย พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม ในกองทัพภาคที่ 3 แต่แพ้ให้กับ หจก.คอนเทมโพรารีฯ
อย่างไรก็ดีนายสมพงษ์ เวียงแก้ว ผอ.สำนักการระบายน้ำ กทม. ยืนยันว่า คณะกรรมการตรวจรับงานของสำนักการระบายน้ำ กทม. รวมถึง สตง. ได้ตรวจสอบคุณสมบัติ และการจัดซื้อดังกล่าวอย่างละเอียดแล้ว ไม่พบความผิดปกติแต่อย่างใด
(อ่านประกอบ : เอกชนขายเรือผักตบ กทม. 116ล.!รายใหญ่ค้าอาวุธกองทัพ-คู่เทียบ บ.ลูกปรีชา, กทม.ยัน บ.ขายเรือผักตบ 116 ล. คุณสมบัติเหมาะสม-สตง.ตรวจละเอียดแล้ว!)
ขณะที่กรมโยธาธิการและผังเมือง จัดซื้อเรือกำจัดผักตบชวาจำนวนหลายสิบลำ รวมวงเงินกว่า 177 ล้านบาท โดยจำนวนนี้มีบริษัท ไทย แอโร่มารีน จำกัด และบริษัท อีโค มารีน จำกัด เป็นคู่สัญญารายใหญ่ ที่เข้ามาขายเรือให้หลายสิบลำ วงเงินรวมเกินหลักร้อยล้านบาท ในช่วงปี 2558
โดยเฉพาะบริษัท ไทย แอโร่มารีนฯ ที่เพิ่งจดทะเบียนจัดตั้งเมื่อปี 2555 ตอนแรกทำธุรกิจเกี่ยวกับการซ่อม ปรับปรุงเฮลิคอปเตอร์ ต่อมาช่วง ธ.ค. 2557 ถึงเพิ่มวัตถุประสงค์การทำธุรกิจเกี่ยวกับการสร้าง ผลิต ซ่อม ปรับปรุงเรือด้วย
(อ่านประกอบ :บ.ไทยแอโร่ฯแจ้งทำธุรกิจเรือปี’57 ก่อนขายเรือกำจัดผักตบกรมโยธาฯ-อปท. 62 ล., ‘ไทย แอโร่มารีน’ขายเรือกำจัดผักตบกรมโยธาฯ 51 ล.-อปท.ด้วย เบ็ดเสร็จ 62 ล.)
ไม่เว้นแม้แต่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ที่ใช้วิธีพิเศษประกวดราคาจ้าง องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก (อผศ.) ให้เข้าไปดำเนินการกำจัดผักตบชวา รวมวงเงิน 8.1 ล้านบาท ทั้งที่ก่อนหน้านี้ อผศ. มีปัญหาประเด็นการปล่อยช่วงสัญญาให้เอกชนเข้าไปดำเนินการขุดลอกคูคลองแทน และมีการกล่าวหาเรื่องหักหัวคิว จนเป็นข่าวฉาวระดับประเทศมาแล้ว
(อ่านประกอบ : ปภ.จ้าง อผศ.วิธีพิเศษกำจัดผักตบชวาด้วย 8.1 ล.-ยอดรวม มท.ใช้งบพุ่ง 370 ล.)
สอง ประเด็นการใช้งบประมาณของแต่ละหน่วยงานที่แตกต่างกัน
ยกตัวอย่าง กรมโยธาธิการและผังเมือง ซื้อเรือกำจัดผักตบชวา รวม 7 ลำ จากบริษัท อีโค มารีน จำกัด รวมวงเงิน 83.38 ล้านบาท เฉลี่ยตกลำละประมาณ 11.9 ล้านบาท ขณะที่องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ฉะเชิงเทรา ซื้อเรือกำจัดผักตบชวาและวัชพืช จำนวน 1 ลำ จากบริษัท อีโค มารีน จำกัด ในวงเงิน 9.9 ล้านบาท
หรือแม้แต่ กรมโยธาธิการและผังเมืองที่ซื้อเรือกำจัดผักตบชวาและวัชพืชขนาดเล็ก จำนวน 10 ลำ จากบริษัท ไทย แอโร่มารีน จำกัด วงเงิน 51 ล้านบาท ก็ตกเฉลี่ยลำละประมาณ 5.1 ล้านบาทเท่านั้น
ท้ายสุดแล้วราคากลางในการจัดซื้อควรใช้เท่าไหร่ ควรมีสเปกเท่าไหร่ถึงจะใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในส่วนนี้ก็ไม่มีการกำหนดเป็นมาตรฐานไว้ให้ชัดเจน
สาม จัดซื้อเรือหรือวัสดุอุปกรณ์มาแล้วให้ใครเข้าไปดำเนินการต่อ
เนื่องจากแต่ละหน่วยงานได้จัดซื้อเรือกำจัดผักตบชวาซึ่งมีมูลค่าค่อนข้างสูงมาใช้ จะให้ใครเป็นคนเข้าไปทำ ยกตัวอย่าง กทม. จัดซื้อเรือกำจัดผักตบชวามาแล้ว ได้ใช้เจ้าหน้าที่ประจำของ กทม. เป็นคนเข้าไปทำเอง ไม่ได้ว่าจ้างให้เอกชนภายนอกเข้าไปทำแทน แต่หน่วยงานที่เหลือยังไม่มีการระบุให้ชัดเจนว่า ถ้าซื้อมาแล้ว จะให้เจ้าหน้าที่ของตัวเองทำเอง หรือจะจ้างเอกชนภายในนอกให้เข้าไปทำแทน และหากปล่อยให้เอกชนเข้าไปทำแทน จะมีมาตรการตรวจสอบอย่างไรว่า เอกชนรายดังกล่าวจะไม่ปล่อยช่วงสัญญาให้กับผู้รับเหมารายย่อยต่อ
(อ่านประกอบ : สารพัดอุปสรรค-ปัญหากำจัดผักตบฉบับ กทม.! ไขคำตอบไฉน 5 ปีใช้งบ 1.5 พันล.)
นี่คือ 3 เงื่อนปมสำคัญที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ กระทรวงมหาดไทย และ พล.อ.ประวิตร ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบการกำจัดผักตบชวา จะต้องทบทวน และแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้ชัดเจน
เพื่อป้องกันไม่ให้งบประมาณอันมหาศาลเสี่ยงจะกลายเป็น ‘ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ’ เหมือนที่ผ่านมาในอดีตอีก !
อ่านประกอบ :
บ.ไทยแอโร่ฯแจ้งทำธุรกิจเรือปี’57 ก่อนขายเรือกำจัดผักตบกรมโยธาฯ-อปท. 62 ล.
‘ไทย แอโร่มารีน’ขายเรือกำจัดผักตบกรมโยธาฯ 51 ล.-อปท.ด้วย เบ็ดเสร็จ 62 ล.
สารพัดอุปสรรค-ปัญหากำจัดผักตบฉบับ กทม.! ไขคำตอบไฉน 5 ปีใช้งบ 1.5 พันล.
กทม.ยัน บ.ขายเรือผักตบ 116 ล. คุณสมบัติเหมาะสม-สตง.ตรวจละเอียดแล้ว!
เปิดหมดงบ ก.มหาดไทย‘แม่งาน’ กำจัดผักตบชวา 2 ปี 59 โครงการ 362 ล.
พบ‘อีโคมารีน’ บ.แก้ปัญหามลพิษน้ำ คว้างานกำจัดผักตบกรมโยธาฯ 122 ล.
เปิดปฏิบัติการกำจัดผักตบยุค‘บิ๊กตู่’ ก่อนเหลว! สั่งทำใหม่-สตง.พบปัญหาเพียบ?
กรมโยธาฯซื้อเรือ-อุปกรณ์กำจัดผักตบ 177.6 ล.ก่อน สตง.ชง‘บิ๊กตู่’สางปัญหา
เอกชนขายเรือผักตบ กทม. 116ล.!รายใหญ่ค้าอาวุธกองทัพ-คู่เทียบ บ.ลูกปรีชา
พบ กทม.ซื้อเรือ-วัสดุกำจัดผักตบชวา 144 ล.-เรือบีบอัด 3 ลำ 116 ล.
5 ปีล่าสุด 2.5 พันล.! เปิดงบ 5 หน่วยงานรัฐกำจัดผักตบ-กทม.แชมป์ใช้ 1.5 พันล.
ชำแหละ 4 ปัญหากำจัดผักตบชวา! สตง. ชง‘บิ๊กตู่’เร่งแก้-ป้องใช้งบแผ่นดินไม่คุ้มค่า?
พบสารพัดปัญหากำจัดผักตบยุค'บิ๊กตู่'! สตง.จี้จับตาหน่วยงานรับผิดชอบใกล้ชิด