- Home
- Thaireform
- ข่าวเด่น นโยบายสาธารณะ
- ปธ.ศาลฎีกา ชี้ชัดผู้เสพยาต้องได้รับโทษที่เหมาะสมแก่สภาพกระทำความผิด
ปธ.ศาลฎีกา ชี้ชัดผู้เสพยาต้องได้รับโทษที่เหมาะสมแก่สภาพกระทำความผิด
ผู้พิพากษา ระดมความคิดหลักนิติธรรมกับการบังคับใช้กฎหมายยาเสพติด 'วีระพล ตั้งสุวรรณ' ประธานศาลฎีกา ย้ำชัด ปัจจุบันมีการบังคับใช้กฎหมายยาเสพติดมีปัญหาต่อหลักนิติธรรม ชี้นหลายคดีที่ผลแห่งคำพิพากษาทำให้จำเลย แต่เดิมมีเจตนาเป็นเพียงผู้เสพและมีสถานะเป็นผู้ป่วยกลับต้องกลายเป็นผู้จำหน่ายยาเสพติดด้วยผลแห่งกฎหมาย
วันที่ 7 กรกฎาคม 2559 ที่ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชัน เซ็นเตอร์ กรุงเทพมหานคร นายวีระพล ตั้งสุวรรณ ประธานศาลฎีกา เป็นประธานเปิดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง หลักนิติธรรมกับการบังคับใช้กฎหมายยาเสพติด โดยมีผู้เข้าร่วมการสัมมนาประมาณ 500 คน ประกอบด้วยที่ปรึกษาศาลฎีกา ประธานศาลอุทธรณ์ รองประธานศาลฎีกา ประธานแผนกฯ ผู้พิพากษาในศาลฎีกา ศาลอุทธรณ์ และสำานักงานศาลยุติธรรม รวมทั้งผู้ที่เกี่ยวข้อง
ประธานศาลฎีกา กล่าวตอนหนึ่งว่า ปัจจุบันมีการบังคับใช้กฎหมายยาเสพติดที่มีปัญหาต่อหลักนิติธรรมหลายประการ เช่น บทนิยามของการกระทำความผิด บทสันนิษฐานเด็ดขาด และอัตราโทษที่ไม่ได้สัดส่วนกับความร้ายแรงของการกระทำความผิด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บทสันนิษฐานเด็ดขาดเกี่ยวกับการมียาเสพติดให้โทษไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ปรากฏในหลายคดีที่ผลแห่งคำพิพากษาทำให้จำเลย ซึ่งแต่เดิมมีเจตนาเป็นเพียงผู้เสพและมีสถานะ เป็นผู้ป่วยกลับต้องกลายเป็นผู้จำหน่ายยาเสพติดด้วยผลแห่งกฎหมาย
แม้ศาลยุติธรรมจะตัดสินคดีจากพยานหลักฐานในสำนวนและตีความบทบัญญัติแห่งกฎหมายโดยปราศจากอคติ คำ พิพากษาถูกต้องและชอบธรรมด้วยกฎหมายแล้วก็ตาม แต่ก็คงไม่อาจกล่าวได้อย่างเต็มภาคภูมิว่าคำพิพากษาของศาลยุติธรรมนั้น ถูกต้องชอบธรรมและตรงกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงและย่อมส่งผลกระทบต่อความเชื่อถือศรัทธาของประชาชนที่มีต่อสถาบันศาลยุติธรรมในภาพรวม
"เป็นโอกาสอันดีที่ผู้พิพากษา ได้ร่วมกันเรียนรู้ วิพากษ์ และแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายยาเสพติดว่าที่ผ่านมามีปัญหาความชอบด้วยหลักนิติธรรมหรือไม่ กฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดควรจะมีทิศทางไปในแนวทางใด การสัมมนาในครั้งนี้ไม่ใช่การอ่อนข้อให้แก่ปัญหายาเสพติด ผู้จำหน่ายยาเสพติดต้องรับโทษในสถานหนัก แต่ผู้เสพหรือผู้มีไว้ครอบครองก็ต้องได้รับโทษที่เหมาะสมแก่สภาพแห่งการกระทำความผิดด้วยเช่นกัน" ประธานศาลฎีกา กล่าว และว่า ควรมีการพิจารณา ถึงเวลาที่จะคืนสิทธิในการต่อสู้คดีให้แก่จำเลยแล้วหรือไม่ ถึงเวลาที่กฎหมายจะให้ศาลได้มีโอกาสคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนด้วยการรับฟังพยานหลักฐานและใช้ดุลพินิจในการกำหนดโทษของจำเลยให้เหมาะสมสอดคล้องต่อหลักนิติธรรมแล้วหรือไม่ ฝ่ายตุลาการ หนึ่งในอำนาจอธิปไตย"
นายวีระพล กล่าวด้วยว่า เมื่อเป็นฝ่ายรับรู้ถึงข้อบกพร่องและความบิดผันจากหลักนิติธรรมของกฎหมายแล้วย่อมมีสิทธิสะท้อนปัญหาในการบังคับใช้กฎหมาย โดยเฉพาะกฎหมายที่จำกัดดุลพินิจในการตีความกฎหมาย ดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐาน รวมถึงดุลพินิจในการกำหนดโทษ อันเป็นหลักประกันแห่งสิทธิและเสรีภาพของประชาชน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ยาบ้าเล็กน้อย ของกลาง 1 - 2 เม็ด และสินบนนำจับ บอกอะไรกับสังคม ?
TIJ ชูโปรตุเกสโมเดลแก้ยาเสพติดชะงัด ไม่เอาโทษทางอาญามาใช้กับผู้เสพ
เมื่อสังคมไทยสุดโต่ง 2 ข้าง กับแนวคิดแก้ปัญหา 'ยาเสพติด'
ถึงเวลาเปลี่ยนเมทแอมเฟตามีน จากบัญชียาเสพติด หรือยัง ?
ค้นทางออกของปัญหาที่ยังแก้ไม่ตก "ผู้ต้องขังล้นคุก"
เข้าคิวรอ...พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ ปี 2522 ขัดหลักนิติธรรม ?
ยาไอซ์-ยาบ้าระบาด! ‘พล.อ.ไพบูลย์’ ชี้ศูนย์ฟื้นฟูล้มเหลว ลั่นควรถูกยุบ