- Home
- Thaireform
- ในกระแส
- ปชช. 29 หมู่บ้าน-พนง.อัคราฯ แสดงจุดยืน ‘คนเอาเหมือง’ ยื่น นส.ประยุทธ์ขอความเป็นธรรม
ปชช. 29 หมู่บ้าน-พนง.อัคราฯ แสดงจุดยืน ‘คนเอาเหมือง’ ยื่น นส.ประยุทธ์ขอความเป็นธรรม
ชาวบ้าน 29 หมู่บ้าน พร้อมด้วย พนง.อัคราฯ เเละบ.เอกชนที่เกี่ยวข้องธุรกิจเหมือง รวมตัวหน้าศาลากลาง จ.พิจิตร เเสดงจุดยืน "คนเอาเหมือง" ยื่นหนังสือ 'ประยุทธ์' ขอความเป็นธรรม ปชช.ตัวจริง ให้เดินทางมาสัมผัสชีวิตด้วยตนเอง ยันเหมืองทองคำชาตรี ไม่ส่งผลกระทบกับวิถีชีวิต
วันที่ 19 พฤษภาคม 2559 ณ ศาลาว่าการจังหวัดพิจิตร ประชาชนทั้ง 29 หมู่บ้านที่อาศัยอยู่รอบเหมืองแร่ทองคำชาตรี พนักงานบริษัทอัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) พนักงานบริษัทรับเหมาช่วง บริษัท โลตัสฮอลวิศวกรรมเหมืองแร่และก่อสร้าง จำกัด บริษัท บอร์ท ลองเยียร์ จำกัด บริษัท เมโทร แมชชีนเนอรี่ จำกัด บริษัท ทีเคพีวี จำกัด พร้อมครอบครัว รวมทั้งผู้ประกอบการ ร้านค้า ธุรกิจเอกชนที่ได้รับผลกระทบ รวมพลังแสดงจุดยืน "คนเอาเหมือง"
พร้อมแสดงผลตรวจสุขภาพ และแถลงผลกระทบที่จะได้รับ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม หากเหมืองแร่ทองคำชาตรีต้องปิดตัวลงสิ้นปี 2559 หน้าศาลากลางจังหวัดพิจิตร เพื่อยื่นหนังสือเรียกร้องให้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินทางมาสัมผัสวิถีชีวิตและพูดคุยกับชาวบ้านตัวจริงที่อาศัยอยู่บริเวณรอบเหมืองแร่ทองคำชาตรี เพื่อให้ได้รับข้อมูลอย่างรอบด้าน โดยมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตรเป็นตัวเเทนรับมอบหนังสือ
นายวรากร จำนงค์นารถ อดีตกำนันตำบลเขาเจ็ดลูก หมู่ 2 บ้านเขาตะพานนาก ตำบลเขาเจ็ดลูก อำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร กล่าวว่า หลังจากที่ได้ทราบข่าวว่าคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้เหมืองแร่ทองคำชาตรีดำเนินงานได้ถึงแค่ปลายปี 2559 เนื่องจากเพื่อลดความขัดแย้งของคนในพื้นที่ ทำให้พวกเราชาวบ้านตัวจริงที่อาศัยอยู่บริเวณรอบเหมืองแร่ทองคำชาตรีไม่อาจนิ่งนอนใจได้รวมตัวแสดงพลัง ใน 29 หมู่บ้านรอบเหมืองแร่ทองคำชาตรี เพื่อแสดงจุดยืน และบอกความจริงให้นายกรัฐมนตรีและประชาชนโดยทั่วไปทราบถึงว่า ชาวบ้านตัวจริงอาศัยอยู่ร่วมกับเหมืองแร่ทองคำชาตรีมากว่า 15 ปีอย่างเกื้อกูล ไม่ได้มีความขัดแย้งอย่างที่กลุ่มคนบางกลุ่มที่มีเจตนาแอบแฝงสร้างเรื่องราว เพื่อหาผลประโยชน์ในการปั่นราคาขายที่ดิน ตลอดจนหาประโยชน์จากเงินกองทุนประกันความเสี่ยงที่มีอยู่กว่า 80 ล้านบาท ภายใต้การดูแลของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) โดยยกประเด็นเรื่องผลกระทบด้านสุขภาพ และสิ่งแวดล้อมขึ้นมาเป็นข้ออ้าง
ด้านนางกุลจิรา เพชร์ภักดิ์ อาชีพค้าขาย ชาวบ้านหมู่ 8 บ้านดงหลง ตำบลท้ายดง อำเภอวังโป่ง จังหวัดเพชรบูรณ์ กล่าวว่า ที่มารวมตัวกัน เพราะหากเหมืองแร่ทองคำชาตรีต้องปิดตัวลง ถือว่าไม่มีความยุติธรรมกับพนักงาน ชาวบ้านตัวจริง ครอบครัว และชุมชนที่จะได้รับความเดือดร้อนในทันที จึงขอความยุติธรรมให้กับชาวบ้านตัวจริง ที่ขอยืนยันว่าเหมืองแร่ทองคำชาตรีอยู่กับชาวบ้านได้อย่างไม่มีความขัดแย้ง
ขณะที่นายสุรชาติ หมุนสมัย ผู้จัดการฝ่ายวิทยาศาสตร์และสุขภาพ ตัวแทน บมจ. อัคราฯ ขึ้นเวทีกล่าวปราศรัยถึงผลกระทบในวงกว้างจากการสั่งปิดเหมืองของมติ ครม.โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจและสังคม พนักงานของบริษัทและบริษัทรับเหมาช่วงทั้งหมดต้องตกงาน ชาวบ้านในพื้นที่กว่า 4,000 คน ต้องขาดรายได้ อันเนื่องจากผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ภาครัฐเองยังสูญเสียรายได้จากการจัดเก็บภาษีปีละ 100 ล้านบาท และรายได้จากค่าภาคหลวง ปีละ 400 ล้านบาท แม้ว่าไทยจะได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีการจัดเก็บค่าภาคหลวงเหมืองทองคำสูงที่สุดในโลกจากลักษณะการจัดเก็บแบบขั้นบันไดที่ร้อยละ 2.5 – 20 ก็ตาม
“การปิดเหมืองของอัคราฯ จะส่งผลกระทบต่อบริษัทผู้รับเหมาและบริษัทคู่ค้าอีกมากกว่า 500 บริษัท โดยเป็นคู่ค้ารายใหญ่และรายสำคัญมากถึง 300 บริษัท เช่น บริษัท โลตัสฮอลวิศวกรรมเหมืองแร่และก่อสร้าง จำกัด ที่ทำหน้าที่เปิดเหมือง ขุดขนแร่ ให้กับอัคราฯ โดยถึงปัจจุบันอัคราฯได้จ่ายให้กับผู้รับเหมาไปมากกว่า 10,000 ล้านบาท ซึ่งจะตกเป็นเงินเดือนพนักงานกว่า 1,000 ล้านบาท" ตัวเเทน บมจ.อัคราฯ กล่าว เเละว่าแม้แต่บริษัทรับจ้างขุดเจาะสำรวจพื้นที่หน้าเหมืออย่าง บริษัท บอร์ท ลองเยียร์ จำกัด ที่จ่ายไปจนถึงปัจจุบันกว่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งเม็ดเงินเหล่านั้นจะหมุนเวียนในชุมชน 3 จังหวัด เพราะพนักงานมากกว่า 90% ของบริษัทเหล่านี้เป็นคนในท้องถิ่นเช่นเดียวกับอัคราฯ
นอกจากนี้ยังยกตัวอย่างบริษัทอื่น ๆ ที่รับรายได้จากอัคราฯ เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย รับรายได้จากอัคราฯถึงปัจจุบันเกือบ 4,000 ล้านบาท หรือการปิโตรเลี่ยมแห่งประเทศไทย (ปตท.) รับรายจากอัคราฯได้ถึงปัจจุบันอีกกว่า 2,500 ล้านบาท ทั้งนี้บริษัท อัคราฯ ยังมีเงินกองทุนต่าง ๆ อีกมากที่สะสมไว้ให้กับชาวบ้านและชุมชน ทั้งกองทุนหมู่บ้าน กองทุนพัฒนาตำบล และกองทุนประกันความเสี่ยง
อีกทั้งยังมีการช่วยสนับสนุนกิจกรรมชุมชน ทั้งด้านสาธารณูปโภค ด้านการศึกษา ด้านสุขภาพอนามัย ศาสนาและวัฒนธรรม โดยจัดตั้งโครงการส่งเสริมอาชีพ โครงการพัฒนาต่างๆ มากมาย หรือแม้แต่หน่วยงานระดับอำเภอหรือจังหวัด อัคราฯ ก็ยังให้ความสำคัญ โดยบริจาคเงินซื้อรถตู้เอนกประสงค์สำหรับประกอบกิจกรรมสาธารณประโยชน์ให้กับกาชาดจังหวัดเช่นเดียวกัน
นายศิวะกร ช่วยค้ำชู ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 3 บ้านเขาดิน ตำบลเขาเจ็ดลูก อำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร กล่าวเสริมว่า ขอวิงวอนให้นายกรัฐมนตรีที่เข้ามาสร้างความสุขให้คนในชาติได้ทบทวนคำสั่งอีกครั้งและลงมาสัมผัสวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ และพูดคุยกับชาวบ้านตัวจริงในพื้นที่ ซึ่งเราเชื่อมั่นเหลือเกินว่าหากท่านนายกได้รับข้อมูลที่ถูกต้องจะให้ความยุติธรรม และคืนความสุขให้ประชาชนทั้ง 29 หมู่บ้านได้จริง .
อ่านประกอบ:แจงให้ชัดอีกรอบ! เหตุผล กพร.ยุติสัมปทาน ‘เหมืองทอง’ สกัด อัคราฯ ดิ้นสู้
ครม.สั่งปิดเหมืองทองคำชาตรี จ.พิจิตร อนุญาตให้ บ.อัคราฯ ขนเเร่ถึงสิ้นปี 59
บ.อัคราฯ ชี้ 'ฟ้องรัฐ' ทางเลือกสุดท้าย ปมถูกปิดเหมืองทอง พิจิตร
กพร.ยันยังไม่พิจารณาต่อ-ไม่ต่ออายุโรงประกอบโลหกรรม เหมืองทองอัครา
ภรรยายื่น ก.อุตฯ ผลชันสูตร ‘ลุงสมคิด’ อดีต พนง.เหมืองชาตรี พบปอดอักเสบคร่าชีวิต
4 กระทรวง ลงพื้นที่เหมืองทอง พิจิตร อีก 2 สัปดาห์ สรุปต่ออายุ บ.อัคราฯ
BOI ยันไม่มีการส่งเสริมกิจการเหมืองทองในไทยตั้งแต่ปี 58
โวยปิดเหมืองทอง พิจิตร-เพชรบูรณ์ ศก.สูญ 4 พันล.-ภาคปชช.เคลื่อนไหวกดดันต่อเนื่อง
ศ.ระพี สาคริก นำทีมแถลง จี้รัฐหยุดต่อใบอนุญาตเหมืองทองทั่วประเทศ