- Home
- Thaireform
- ในกระแส
- โวยปิดเหมืองทอง พิจิตร-เพชรบูรณ์ ศก.สูญ 4 พันล.-ภาคปชช.เคลื่อนไหวกดดันต่อเนื่อง
โวยปิดเหมืองทอง พิจิตร-เพชรบูรณ์ ศก.สูญ 4 พันล.-ภาคปชช.เคลื่อนไหวกดดันต่อเนื่อง
หอการค้าจ.พิจิตรและคู่ค้าอัคราฯ ยื่นหนังสือ ระบุปิดเหมืองทอง ศก.สูญ 4 พันล./ต่อปี ขณะที่ภาคปชช.คณะปูชนียบุคคล เคลื่อนไหวกดดัน หยุดเหมืองทอง ก่อนยื่น 2 หมื่นรายชื่อเสนอนายกฯ
วันที่ 20 เมษายน 2559 ที่กรมอุตสาหกรรมและการเหมืองแร่ (กพร.) นางบังเอิญ ขวัญใจรักษ์ รองประธานหอการค้า จ.พิจิตรและนางณุชรีย์ ไศละสูต กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท โลตัสฮอลวิศวกรรมเหมืองแร่และก่อสร้าง จำกัด ตัวแทนผู้รับเหมาและคู่ค้าของ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) เข้ายื่นหนังสือวิงวอนขออนุมัติประทานบัตรให้แก่เหมืองแร่ทองคำชาตรี พร้อมเอกสารการสนับสนุนจากคู่ค้ามากกว่า 250 ราย โดยรายหลักประกอบด้วย 1. บ.โลตัสฮอลวิศวกรรมเหมืองแร่และก่อสร้าง จำกัด และบริษัทรับเหมาในเครือ จำนวน 77 ราย 2.บริษัท บอร์ท ลองเยียร์ จำกัด และบริษัทรับเหมาในเครือจำนวน 24 ราย 3. ผู้แทนหอการค้าจังหวัดพิจิตรและผู้ประกอบการในพื้นที่จังหวัดพิจิตร เพชรบูรณ์ และพิษณุโลก และคู่ค้าจำนวน 151 ราย ให้แก่นายศักดา พันธ์กล้า รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม
นายศักดา กล่าวภายหลังรับหนังสือว่า ยินดีรับฟังข้อมูลจากทุกฝ่าย เพื่อนำมาพิจารณา ซึ่งกระบวนการดำเนินงานอนุมัติจะเป็นไปตามกฎหมาย มีขั้นตอนการทำงานที่ชัดเจน โปร่งใส เป็นธรรมกับทุกฝ่าย ซึ่งยุทธศาสตร์ของกระทรวงอุตสาหกรรมคือ การสร้างจิตสำนึกของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้น หากบริษัทดำเนินงานถูกต้องทุกอย่างตามกฎหมายแล้ว เราก็ยินดีดำเนินการพิจารณาตามกฎหมาย
รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวด้วยว่า ทางกระทรวงอุตสาหกรรมจะนำข้อมูลมาศึกษาประกอบการตัดสินใจอย่างรอบด้าน โดยวันที่ 23 เมษายน นี้ รัฐมนตรีทั้ง 4 กระทรวง ประกอบด้วย กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะลงพื้นที่ เพื่อรับฟังความคิดของประชาชนทั้ง 2 ฝ่าย และตรวจสอบการดำเนินของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน)
ขณะที่นางบังเอิญ กล่าวถึงการประกอบกิจการของเหมืองแร่ทองคำชาตรี ได้ก่อให้เกิดการจ้างงานต่อเนื่องเป็นลูกโซ่หลายพันคน การกระจายรายได้สู่ภาคธุรกิจต่างๆ ในท้องที่ อาทิ ธุรกิจที่พักอาศัย รีสอร์ท ร้านอาหาร ต่างก็ได้รับอานิสงค์ในส่วนนี้กันอย่างถ้วนหน้า ทำให้เกิดเงินสะพัดในท้องที่กว่า 4 พันล้านบาทต่อปี
“ ตั้งแต่เหมืองแร่ทองคำชาตรีเปิดดำเนินการ 2541 มีส่วนช่วยให้ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวม (GPP) ของจังหวัดพิจิตรเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จากมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของทั้งจังหวัดในปี 2541 ที่ต่ำกว่า 2 หมื่นล้านบาท จนเพิ่มขึ้นมาเป็น 6 หมื่นล้านบาทในปี 2556 ทั้งนี้จากข้อมูลยังพบว่าเฉพาะรายได้ค่าภาคหลวงแร่ในช่วงปี 2541 ถึงปี 2556 ยังคิดเป็น 5 ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวม (GPP) ทั้งหมดของจังหวัดพิจิตรและเพชรบูรณ์อีกด้วย”
ปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์มวลรวม (GPP) ของจังหวัดพิจิตรในสาขาการเหมืองแร่และเหมืองหินตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538- 2556 มีมูลค่าเท่ากับ 16,982 ล้านบาท โดยมูลค่าดังกล่าวถือเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้จังหวัดพิจิตรมีผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) เป็นอันดับ 4 ของภาคเหนือ และอยู่ในลำดับที่ 29 ของทั้งประเทศในปี 2556 ที่ผ่านมา
ด้านนางณุชรีย์ ไศละสูต กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท โลตัสฮอลวิศวกรรมเหมืองแร่และก่อสร้าง จำกัด ในฐานะตัวแทนผู้รับเหมาและคู่ค้าของ บริษัท อัคราฯ กล่าวถึงรายได้หลักของ บริษัทโลตัสฮอลฯ มาจากค่าบริการรับเหมาในเหมืองแร่ทองคำชาตรี ซึ่งในปีงบประมาณที่ผ่านมา (เดือนกรกฎาคม 2557 - มิถุนายน 2558) บริษัทโลตัสฮอลฯ มีรายได้จากบริษัทอัคราฯ แล้วประมาณ 669 ล้านบาท และบริษัทฯ ได้ทำการจ้างบริษัทเอกชนในท้องที่ไปแล้วจำนวน 282 แห่ง ก่อให้เกิดรายได้มากกว่า 670 ล้านบาท กระจายในพื้นที่ มีการจ้างพนักงานกว่า 506 คน และส่วนใหญ่เป็นคนในบริเวณรอบเหมืองแร่ทองคำชาตรีเกือบทั้งหมด ดังนั้นหากเหมืองไม่ได้รับประทานบัตร หรือได้รับประทานบัตรล่าช้า ก็จะส่งผลต่อบริษัทผู้รับเหมาและคู่ค้ามากกว่า 200 ราย ที่อาจถึงขั้นต้องปิดกิจการลง และอาจต้องปลดคนงานลงในที่สุด
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า สำหรับการเคลื่อนไหวภาคประชาชน ตลอดสัปดาห์นี้ วันพฤหัสบดีที่ 21 เมษายน จะมีการแถลงเจตนารมณ์ หยุดเหมืองทอง โดย คณะปูชนียบุคคล อาทิ ศ.ระพี สาคริก อาจารย์รตยา จันทรเทียร พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร นพ.นิรันทร์ พิทักษ์วัชระ และนางสาวรสนา โตสิตระกูล ณ อาคาร TST Tower ศูนย์ศึกษาวิภาวดี มหาวิทยาลัยรังสิต
จากนั้น วันศุกร์ที่ 22 เมษายน มีการจัดเสวนา "เศรษฐศาสตร์ทองคำ คุ้ม ไม่คุ้ม เหมืองทองไทย" ห้องอเนกประสงค์ ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และในวันอังคารที่ 26 เมษายน เตรียมยื่น 20,000 รายชื่อ "หยุดเหมือง" ต่อ นายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล
หมายเหตุ
*รายได้ คำนวนจากการอ้างอิงตัวเลขค่าภาคหลวงแร่ของจังหวัดพิจิตร และเพชรบูรณ์ และค่าบริการทำเหมืองแร่ทองคำชาตรีของผู้รับเหมาหลัก ในพื้นที่และผู้รับเหมาอื่นๆ ในประเทศไทยในปี พ.ศ. 2557 เท่านั้นโดยไม่ได้นำภาษีเงินได้นิติบุคคลและมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการกระจายรายได้ของผู้รับเหมา และพนักงาน มาคำนวนไว้ด้วย
**ที่มาตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในจังหวัด (GPP) และผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) อ้างอิงข้อมูลจากสำนักสถิติจังหวัดพิจิตร สำนักงานสถิติแห่งชาติ