ศ.ระพี สาคริก นำทีมแถลง จี้รัฐหยุดต่อใบอนุญาตเหมืองทองทั่วประเทศ
คณะปูชนียบุคคลไทยนำโดยศาสตราจารย์ระพี สาคริก แถลงเรียกร้องให้รัฐหยุดต่อใบอนุญาตทำเหมืองทองคำอัครา ชี้ที่ผ่านมาคนไทยไม่ได้อะไร นอกจากผลเสียทั้งชีวิตและทรัพยาการธรรมชาติ เสนอรัฐเร่งฟื้นฟู และขอให้ยุตินโยบายทำเหมืองแร่งทองคำทุกพื้นที่ของประเทศ
เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2559 ที่ศูนย์การศึกษา มหาวิทยาลัยรังสิต ทางคณะปูชนียบุคคลไทย นำโดยศาสตราจารย์ระพี สาคริก ในฐานะประธานที่ปรึกษาเครือข่ายประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำ จังหวัดพิจิตร แถลงเจตนารมณ์ขอให้รัฐบาลหยุดการต่อใบอนุญาตเหมืองทองคำ
โดยคำแถลงระบุว่า ที่ผ่านมาในทางกายภาพพบว่า มีผู้เจ็บป่วยและเสียชีวิตอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้ต้องแจกจ่ายน้ำและผักที่ปลูกจากนอกพื้นที่ให้แก่ประชานรอบเหมืองเพื่อหลีกเลี่ยงอาหารที่อาจปนเปื้อนสารพิษ ซึ่งเท่ากับว่า เป็นการยอมรับแล้วว่าการดำรงชีพของประชาชนรอบเหมืองทองคำตกอยู่ในภาวะที่ไม่ปลอดภัย
ทั้งนี้จากการตรวจเลือดในปี 2558 พบว่า สถานการณ์เลวร้ายลงกว่าเดิม โดยพบเด็กและเยาวชนกว่าร้อยละ 60 มีสารโลหะหนักในร่างกายเกินค่ามาตรฐานอันจะส่งผลต่อการเจริญเติบโต
นอกจากนี้ในด้านเศรษฐกิจ พบว่า รัฐได้ผลประโยชน์จากแร่ทองคำเพียงร้อยละ 6.6 เท่านั้น แต่ผลประโยชน์ส่วนใหญ่กลับตกเป็นของต่างชาติ ซึ่งถือเป็นความน่าอับอายของคนไทยทั้งชาติที่ประหนึ่งไม่รู้คุณค่ามรดกที่บรรพชนมอบไว้ให้ อีกทั้งในด้านสังคมก็ให้เกิดความแตกแยกในชุมชนอย่างน่าสลดใจ วัด โรงเรียนถูกทิ้งร้าง สิ่งแวดล้อม และสุขภาพเลวร้ายลง แผ่นดินเกษตร และป่าเขาที่เคยอุดมสมบูรณ์ต้องสูญเสียไปอย่างถาวร
จึงขอเสนอให้รัฐบาล ซึ่งนำโดยพล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ดังนี้
1.ขอให้หยุดต่อใบอนุญาตประกอบโลหกรรมแหมืองแร่ทองคำของบริษัทอัครา รีซอร์สเซส จำกัด(มหาชน)
2.ขอให้เร่งรัดการตรวจพิสูจน์สิ่งแวดล้อมเพื่อเร่งฟื้นฟูเยียวยาประชาชนและพื้นที่เกษตรกรรมอย่างยั่งยืน
3.โปรดกำชับให้ข้าราชการรักษาหน้าที่ต่อชาติประชาชนเหนือกว่าการปกป้องผลประโยชน์ของเอกชน
4.โปรดสั่งการให้ผู้เกี่ยวข้องดำเนินมาตรการคุ้มครองผลประโยชน์ของคนงานเหมืองทองคำให้ได้รับการชดเชยอย่างสูงสุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งขอให้มีมาตรการประกันความเจ็บป่วยในอนาคตของคนงานและชาวบ้านอันเนื่องจากสารพิษที่อาจสะสมในขณะปฏิบัติหน้าที่และดำเนินชีวิตให้ได้รับความเป็นธรรม ตลอดไปถึงอนาคตด้วย
5.ขอให้ยุตินโยบายทำเหมืองแร่ทองคำทุกพื้นที่ของประเทศ
ด้านอาจารย์รัตยา จันทรเทียร อดีตประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวว่า เมืองทองคำเริ่มทำตั้งแต่ 2544 แรกเริ่มเดิมที่คนไทยทำไม่ได้ เราก็เอาต่างชาติเข้ามา แต่ทั้งหมดที่ทำวันนี้แผ่นดินเราได้อะไร เราได้ไม่ถึง 10% ด้วยซ้ำ ในเมื่อสมบัติของชาติ เราทำเองไม่ได้ และได้เงินนิดเดียวจากสัมปทาน ก็อย่างเพิ่งไปขุด เก็บไว้ในเป็นสมบัติของชาติ ให้เป็นของคนไทย ต่อไปวันข้างหน้า เราทำได้เราค่อยทำกันเอง
ด้านดร.ไกรศักดิ์ ชุณหะวัน อดีตสมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า ประเด็นแรกเราต้องไม่อนุญาตให้มีการทำเหมืองอีกต่อไป ต้องมีกฎหมายที่ห้ามการทำเหมืองในพื้นที่ป่าสงวนเด็ดขาด ประการต่อมา ถ้ามีสัมปทานในพื้นที่เขตชุมชนที่อยู่อาศัย หรือพื้นที่เกษตรกรรม ก็ต้องมีกฎหมายมาควบคุมให้ชัดเจน ไม่ใช่รัฐไปแก้กฎหมายเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับนายทุนอย่างเดียว เราได้เงินจากทรัพยากรของเรานิดเดียว แต่คนไทยต้องสูญเสียชีวิต สิ่งแวดล้อม ซึ่งประเมินค่าไม่ได้
"วันนี้ประเทศไทยเราก็ไม่ต่างอะไรจากหญิงสาวที่ยอมให้ใครก็ได้เข้ามาย่ำยีตามอำเภอใจ” ดร.ไกรศักดิ์ กล่าว
ด้านอาจารย์สุนี ไชยรส อดีตคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย(คปก.) กล่าวว่า เรื่องสิทธิชุมชนที่ต่อสู้กันมาจนกระทั่งมีบรรจุในรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 แต่ถึงอย่างนั้น ปัญหาผลกระทบที่มีต่อชุมชนก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข อย่างที่ควรจะเป็น วันนี้ในช่วงเวลารอยต่อ ร่างรัฐธรรมนูญที่แทบจะไม่พูดเรื่องสิทธิชุมชน เราควรหยุดการต่อใบอนุญาตไว้ก่อน ประเด็นต่อมาคือการใช้พื้นที่ป่าจำนวนมหาศาลในการทำเหมือง ในขณะที่รัฐบาลเข้าไล่ที่ชาวบ้านในนโยบายทวงคืนผืนป่า เราก็อนุมัตให้นายทุนเข้าทำลายป่าได้เต็มที่
"นโยบายแร่เป็นนโยบายที่มีปัญหามากที่สุด ถึงเวลาที่เราต้องกลับไปแก้กันในเชิงโครงสร้างและหลักทางกฎหมาย ต้องไม่เร่งการต่อใบอนุญาต" อดีตคปก. กล่าว
ด้านนางสาวรสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา กล่าวถึงรายได้ค่าภาคหลวงที่ได้จากการทำเหมืองแร่นั้นมีมูลค่าที่น้อยมาก หากเทียบกับรายได้ที่นายทุนได้ไป แต่คนไทยเราต้องสละทั้งทรัพยากร เราสูญเสียพื้นที่ป่า เราต้องสละชีวิตคนไปมากมายให้กับการทำเหมืองที่ก่อปัญหา รายจ่ายที่มีมูลค่าเหล่านี้รัฐไม่เคยนำมาคำนวน ทุกวันนี้ชาวบ้านต้องมีซื้อคูปอง เอาไปซื้อผัก ซื้อน้ำกิน แบบนี้ใช่แล้วหรือ
"ถ้าท่านพล.อ.ประยุทธ และคสช.บอกว่าจะมาคืนความสุขให้กับประชาชน การหยุดต่อใบอนุญาตเมืองทองจะคือข้อพิสูจน์ที่เป็นรูปธรรมที่สุด" นางสาวรสนา กล่าว
ด้านนายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า จากการพิสูจน์ที่ชัดเจนในเรื่องของสารพิษปนเปื้อนทั้งหลาย รวมถึงการล่มสลายของชุมชน ที่ทำมาหากิน รัฐจะต้องเร่งจัดการขั้นเด็ดขาดในการระงับการต่อใบอนุญาตไปก่อน ในทางการแพทย์ถือเป็นเรื่องต้องรีบทำในเมื่อมีต้นตอที่ชัดเจนก็ต้องรีบตัดไฟแต่ต้นลม ต้องรีบขจัดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นทั้งหมดออกไปก่อน ประการต่อมาคือการหาข้อสรุปที่แท้จริง เพื่อทำให้เกิดความชัดเจนเป็นประจักษ์ร่วมกัน รวมถึงรัฐต้องทบทวนคือการละเมิดสิทธิข้ามพรมแดน เรื่องของเหมืองที่นายทุนต่างชาติเข้ามาหาประโยชน์แล้วก่อให้เกิดผลกระทบต่อการดำรงชีวิต และทรัพยากร
"เราจะไปโทษนายทุนต่างชาติ อย่างเดียวไม่ได้ เพราะเขาเองก็เข้ามาตามที่กฎหมายได้อำนวยไว้ ดังนั้นรัฐเองต้องจัดการปัญหาของรัฐ เราต้องการกฎหมายที่ไม่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำขึ้นในสังคม วันนี้เราได้เงินจากเหมืองน้อยนิดและเงินน้อยนิดเหล่านั้นก็กระจุกอยู่ที่คนบางกลุ่มเท่านั้น ไม่ได้ลงมาถึงคนจน ทุกวันนี้ ประเทศของเรา จึงมีแต่รวยกระจุก แต่จนกระจาย" นพ.นิรันทร์ กล่าว
เวลาต่อมา ทาง กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและเหมืองแร่(กพร.) กระทรวงอุตสากรรม ได้ออกหนังสือชี้แจง ระบุว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้ตระหนักและให้ความสำคัญกับข้อเรียกร้องและกระแสสังคมเกี่ยวกับผลกระทบจากเหมืองแร่ทองคำเป็นอย่างยิ่ง จึงได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหา ข้อขัดแย้ง ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจากการทำเหมืองแร่ของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด(มหาชน) ทั้งนี้คณะกรรมการฯ กำหนดให้มีประชุมหารือถึงความคืบหน้าและผลสรุปเบื้องต้นจากการดำเนินงานของคณะทำงานชุดต่างๆ ในวันสุกร์ที่ 22 เมษายน 2559 นี้ และเมื่อมีข้อสรุปที่ชัดเจนเเล้วจะได้ทำความเข้าใจกับประชาชนให้ได้รับทราบข้อเท็จจริงที่ถูกต้องต่อไป.