- Home
- Thaireform
- สารคดีเชิงข่าว
- ผ่าร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับ อย.ล้าสมัย-ไม่คุ้มครองประชาชน ?
ผ่าร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับ อย.ล้าสมัย-ไม่คุ้มครองประชาชน ?
"มีการพูดถึง disruptive technology พูดถึงไทยแลนด์ 4.0 แต่ร่างพ.ร.บ.ยาฉบับนี้ ตามไม่ทันเทคโนโลยี ใบสั่งยาวันนี้เป็นออนไลน์ หากกลัวคนไข้ปลอมแปลงก็มีเทคโนโลยี Blockchain มีระบบขนส่งที่สามารถสั่งยาเช้าได้เย็นและไปถึงหน้าบ้านได้ แต่เราได้ทำสิ่งเหล่านี้ในร่างพ.ร.บ.ยาหรือไม่ นี่คงเป็นคำตอบ”
ประเด็นร้อนๆ กรณีกลุ่มวิชาชีพเภสัชกรรมทั่วประเทศ คณะเภสัชศาสตร์สถาบันต่างๆ ออกมาแสดงจุดยืนของวิชาชีพเภสัชกรรมคัดค้าน (ร่าง) พ.ร.บ.ยา ฉบับ อย. จนในที่สุดนายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข มีการนัดประชุมหารือเพื่อหาทางออกร่วมกันเกี่ยวกับเรื่องนี้ ก่อนจะมีการนำข้อหารือทั้งหมดที่ได้เสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในการประชุมผู้บริหาร วันที่ 5 กันยายน 2561
สำหรับข้อห่วงใย มาตรา 22 (5) ที่กังวลในเรื่องการจ่ายยาของวิชาชีพอื่นๆ ใน (ร่าง) พ.ร.บ.ยา นั้น ที่ประชุมมีข้อตกลงให้คงตาม พ.ร.บ. ยา พ.ศ. 2510 ไปก่อน โดยปลัดสธ.ยืนยันว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ยังคงเดือนหน้าตามกระบวนการต่อไป เพราะกฎหมายอยู่ในครม.แล้ว
ในฐานะสถาบันการศึกษา ซึ่งมีหน้าที่หลักผลิตเภสัชกรเพื่อทำหน้าที่และมีความรับผิดชอบหลักในเรื่องของยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับชมรมศิษย์เก่าเภสัชมหิดล และสโมสรนักศึกษาเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อเร็วๆนี้ จัดเวทีเปิดเวที ผ่า (ร่าง) พ.ร.บ.ยา ฉบับ อย. ผ่านมุมมองนักวิชาการในฐานะผู้ผลิตเภสัชกรในประเทศไทย
ยาในปัจจุบันใช้ยากขึ้น มีพิษเยอะขึ้น
เริ่มต้นรศ.ภก.ปรีชา นนทกานติกุล ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โชว์ข้อมูลให้เห็นประเด็นปัญหาการใช้ยาในบ้านเราว่า มีปัญหาจริงๆ ดูได้จากพระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม ระบุว่า เภสัชกรมีหน้าที่ในการค้นหา ป้องกัน แก้ไขปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้ยา
รศ.ภก.ปรีชา ได้ไปสืบค้นข้อมูลในกูเกิ้ล เพื่อให้ได้คำตอบ ประเทศไทยมีปัญหาเกี่ยวกับการใช้ยามากหรือไม่ โดยพบข้อมูลถึง 267 ล้านเว็บเพจที่พูดถึงปัญหาเกี่ยวกับการใช้ยา หรือข้อมูลจากเว็บไซต์ทางการแพทย์ ก็พบข้อมูล 7-8 หมื่นเรื่องที่พูดถึงปัญหาการใช้ยาเช่นกัน
"หากเราบอกว่า ปัญหาการใช้ยาในบ้านเราไม่มี คงไม่ใช่แล้ว มันมากมายมหาศาล ทางเภสัชเราถูกสอนมาว่า ปัญหาการใช้ยา มี และเยอะด้วย หรือแม้แต่ข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขเอง ก็มีรายงานในแต่ปีมีผู้ป่วยได้รับอันตรายจากการใช้ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ เฉลี่ย 4-5 หมื่นรายต่อปี ยาในปัจจุบันใช้ยากขึ้น มีพิษเยอะขึ้น ฉะนั้นปัญหาเรื่องยามีแน่นอน ส่วนใหญ่ คือยาต้านจุลชีพ หรือยาแก้อักเสบ ยาฆ่าเชื้อ เป็นตัวมีปัญหามาก ทั้งอะมอกซีซิลลิน ( Amoxicillin) ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) นี่คือหลักฐานชั้นดีที่ส่งเข้าสู่ศูนย์เฝ้าระวังความปลอดภัยด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพของสธ.เอง ซึ่งก็เจอปัญหานี้”
นอกจากนี้ รศ.ภก.ปรีชา ยังชี้ให้เห็นโครงสร้างของยาที่ทำให้เกิดการแพ้ยา “ถามว่าชาวบ้านจะรู้ไหม การแพ้ยากลุ่มซัลฟา (ซัลโฟนาไมด์:Sulfonamides หากไปกินยาเบาหวานบางตัว หรือยาขับปัสสวะบางตัว หรือยาแก้ปวดบางตัวอาจเกิดการแพ้ได้ และถึงแก่ชีวิตได้ ซึ่งเภสัชกรรู้เพราะดูจากโครงสร้างยา นี่คือความปลอดภัยของประชาชนที่ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาดูแล ไม่ใช่ใครก็ได้
ขณะเดียวกันมี ปัญหายาตีกัน รศ.ภก.ปรีชา ให้ข้อมูลโดยยกตัวอย่าง ยาวาฟาริน (Warfarin) ) ที่ใช้กับผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด ในประเทศไทยใช้กันเป็นล้านๆคน พบว่า ตีกับยาอื่นถึง 439 ตัว ซึ่งไม่มีวิชาชีพอื่นรู้ วาฟาริน ตีกับยาไหนบ้าง
“อะมิโอดาโรน (Amiodarone) เป็นยารักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ออกฤทธิ์กับเนื้อเยื่อหัวใจ ตีกับยาตัวอื่น 196 ตัว เอฟฟาไวเร็นซ์ (Efavirenz) ใช้กับผู้ป่วยเอชไอวี ตีกับยาอื่น 138 ตัว,ยาลดไขมัน ตีกับยาอื่น 93 ตัว,ยาซิโพรฟลอกซาซิน (Ciprofloxacin) ที่จ่ายกันทั่วไปในร้านขายยา ตีกับยาอื่น 204 ตัว แม้แต่ยาพาราเซตตามอน ยาลดปวด ลดไข้ที่เราคุ้นเคยก็ยังสามารถตีกับยาตัวอื่นได้ 19 ตัว”รศ.ภก.ปรีชา ย้ำชัด นี่คือสิ่งที่เภสัชกรถูกฝึกฝน ไม่ใช่เราเป็นใครจะยื่นพาราให้คนไข้ แล้วคนไข้ใช้ยาได้อย่างปลอดภัย ทำไมเราต้องเรียนแทบหัวระเบิดไปข้างหนึ่ง ก็เพราะสิ่งเหล่านี้นั้นเป็นความปลอดภัยของคนไข้ทั้งนั้น “การยื่นยาให้คนไข้โดยปราศจากความรู้ นั่นคือการยื่นยาพิษให้กับคนไข้”
ส่วนภก.ปัญจพล เหล่าพูนพัฒน์ ศิษย์เก่าเภสัชมหิดลรุ่น 17 ยืนยันว่า เราต้องชัดเจน “ยาไม่ใช่ขนม” คนไทยมักจะคิดว่า ยาต้องปลอดภัยเพราะได้อย.แล้ว แต่อย.ก็มีเงื่อนไขว่า ต้องใช้อย่างถูกต้องถูกวิธี มิใช่ให้ใช้ยาอย่างอิสรเสรี
“ข้อมูลกระทรวงสาธารณสุขปี 2560 พบการขายยาที่ไม่ใช่ยาสามัญประจำบ้านในชุมชนสูงถึงร้อยละ 67 หรือขายยาผิดประเภท ไม่ถูกกฎหมายอยู่ในร้านชำ โดยร้อยละ 20เป็นการปฏิชีวนะ เราพูดกันถึงเชื้อดื้อยาอนาคตจะไม่มียารักษาแล้ว แต่ร้อยละ 20 หาซื้อได้ในร้านชำ”
เภสัชกรปัญจพล ยังวิพากษ์ถึง ผลกระทบร่างพ.ร.บ.ยา. 2561 ทั้งๆที่มีการพูดถึง disruptive technology พูดถึงไทยแลนด์ 4.0 กันเยอะ แต่ร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่รองรับการเตรียมตัวการเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 E-Commerce หรือ Tele-Pharmacy และไม่มีเรื่องขนส่งยาเลย
“ร่างกฎหมายยาฉบับนี้คุณไม่ตามเทคโนโลยีแล้วล่ะ ใบสั่งยาวันนี้เป็นออนไลน์ได้ หากกลัวคนไข้ปลอมแปลงใบสั่งยา ก็มีเทคโนโลยี Blockchain มีระบบขนส่งที่สามารถสั่งยาเช้าได้เย็นและไปถึงหน้าบ้านได้ แต่เราได้ทำสิ่งเหล่านี้ในร่างพ.ร.บ.ยาหรือไม่ นี่คงเป็นคำตอบ”
ด้านภก.วรวิทย์ กิตติวงศ์สุนทร ศิษย์เก่าเภสัชมหิดล รุ่นที่ 8 มองว่า ร่างพ.ร.บ.ยา หัวใจคือความปลอดภัยของผู้ป่วย และความมั่นคงทางยา แต่กฎหมายฉบับนี้ไม่มีการพูดถึงความมั่นคงทางยาเลย
สุดท้ายรศ.(พิเศษ)ภก.กิตติ พิทักษ์นิตินันท์ ศิษย์เก่าเภสัชมหิดลรุ่นที่ 6 และอดีตนายกสภาเภสัชกรรม แสดงความเห็นถึงการคัดค้านร่างพ.ร.บ.ยา ว่า เป็นอาถรรพ์ พูดทีไรเกิดปัญหาทุกที ตั้งแต่ปี 2549 ที่จะมีการแก้ไขพ.ร.บ.ยา เรื่องใบสั่งยาให้ชัดเจน ก็ทะเลาะกับแพทย์ สุดท้ายวุฒิสภาต้องมาไกล่เกลี่ย หยุดไปพักไม่ได้แก่ และมาเกิดอีกปี 2557 มีการแก้ไขพ.ร.บ.ยา ฉบับกฤษฎีกา บรรยากาศการคัดค้านก็ไม่ต่างจากวันนี้
พร้อมกับเสนอ 3 ทางออกของการเสนอร่างพ.ร.บ.ยา
ทางออกที่ 1 เสนอร่างใหม่เฉพาะส่วนใหม่ที่ต้องการเพิ่ม ตามที่นายกรัฐมนตรีได้ประกาศใช้ ม.44 และส่วนที่เห็นชอบกันแล้ว ส่วนประเด็นขัดแย้งอื่นมาพิจารณาร่วมกันก่อนเสนอปรับแก้ไข เพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกัน
ทางออกที่ 2 เสนอนำร่างฉบับกระทรวงสาธารณสุข (ที่ได้ประชุมร่วมกันระหว่างเครือข่ายวิชาชีพเภสัชกรรม อย. และวิชาชีพอื่นๆ และตกลงร่วมกันเมื่อปี 2557 ในประเด็นที่ขัดแย้ง) และเพิ่มส่วนที่นายกรัฐมนตรีได้ประกาศใช้ ม.44 เสนอไปแทน ซึ่งไม่น่าจะขัดแย้งกัน
และทางออกที่ 3 ปรับในร่างพ.ร.บ.ยา พ.ศ. ฉบับอย.นี้ส่วนที่เป็นบทยกเว้น ซึ่งเป็นประเด็นหลัก ให้ระบุชัดเจนว่า เป็นการยกเว้นเฉพาะกรณีไม่ต้องมาขอใบอนุญาตที่เกี่ยวข้อง (อยู่ในขอบเขตอำนาจกฎหมายยา ) ส่วนเรื่องที่เกี่ยวกับการผลิตยา หรือการจ่ายยาของผู้ประกอบวิชาชีพ ให้ใช้กลไกกฎหมายวิชาชีพในการแก้ไขปัญหา
นอกจากนี้ รศ.(พิเศษ)ภก.กิตติ ยังได้เสนอทิ้งท้ายเรื่องบทกำหนดโทษ ปัญหาของบ้านเราคือความล่าช้าในการตัดสิน เวลาขึ้นศาลบางเรื่อง 10-20 ปี ฉะนั้นเมื่อไหร่เราเอาทุกอย่างเป็นคดีอาญา เรื่องก็ค้างในศาลหมด ซึ่งหากเรื่องใดเป็นโทษปรับ ไม่รุนแรง ให้เป็นโทษปกครองไม่ต้องเข้าคดีอาญา ส่งเรื่องฟ้องศาลกัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
เสียงค้านหนัก! ‘รศ.จิราพร’ แนะอย.ถอนร่างแก้ไข พ.ร.บ.ยา -ปัดฝุ่นฉบับก่อนหน้าแทน
คุมขายยาทางอินเทอร์เน็ต นายกสภาเภสัชฯ แนะต้องเขียนไว้ในร่างพ.ร.บ.ยาฉบับใหม่ด้วย
ชำแหละ 9 ปมปัญหาร่าง พ.ร.บ.ยา ‘สภาเภสัชฯ’ ยื่น อย.เร่งแก้ไข -หนุนฉบับ 23 ก.พ. 59 แทน