ทำไมต้องค้านร่าง พ.ร.บ.ยา
ทิศทางที่เราควรก้าวไปในระยะยาวๆนอกโรงพยาบาลในอนาคตคือ "การจำกัดการสั่งยาเองและจ่ายยาเองของทุกวิชาชีพ เพราะการสั่งเองจ่ายยาเองจะทำให้ขาดการตรวจสอบและไม่อาจรับประกันความผิดพลาดแม้จะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม"
การแก้ไข พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 มีการคัดค้านกว้างขวางมาหลายรอบ แต่ความดันทุรังในการแก้ในประเด็น "เปิดให้ทุกวิชาชีพสุขภาพสามารถจ่ายยาให้จงได้" นั้น รัฐยังไม่ยอมถอย
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า เนื้อหาที่ดีๆที่ควรมีการแก้ไข พ.ร.บ.ยาให้ทันกับยุคสมัยนั้นก็มีอยู่ เช่น ยกเลิกการจดทะเบียนยาได้แล้วมีอายุตลอดชีพให้ต้องขึ้นทะบียนใหม่ทุก 7 ปี การจะเก็บค่าขึ้นทะเบียน การจะให้อนุญาตใช้ผู้เชี่ยวชาญภายนอกได้ เป็นต้น
ประเด็นที่ดีนั้นไม่มีใครเถียงไม่มีอาจารย์นักวิชาการคัดค้าน แต่มีบางมาตราที่คัดค้านกว้างขวาง เพราะผิดหลักการ ถอยหลังลงคลอง แต่รัฐกลับไม่ฟัง ดันทุรังจะผลักให้ผ่าน สนช.ในยุคนี้ให้จงได้
ประเด็นหัวใจที่รับกันไม่ได้เลยคือ "การเปิดให้วิชาชีพสุขภาพต่างๆสามารถจ่ายยาในสถานประกอบการได้" ซึ่งผิดหลักการคุ้มครองผู้บริโภคและความปลอดภัยทางยา และผิดทิศทางอารยะประเทศ
ทิศทางที่เราควรก้าวไปในระยะยาวๆนอกโรงพยาบาลในอนาคตคือ "การจำกัดการสั่งยาเองและจ่ายยาเองของทุกวิชาชีพ เพราะการสั่งเองจ่ายยาเองจะทำให้ขาดการตรวจสอบและไม่อาจรับประกันความผิดพลาดแม้จะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม"
ดังนั้นภายใต้หลักการที่เราจะต้องพยายามไปให้ถึงนี้ ทุกวิชาชีพที่เปิดสถานประกอบการเอกชนต้องไม่สั่งยาจ่ายยาเอง คือเขียนใบสั่งยาแล้วให้ไปรับยาที่ร้านเภสัชกร ส่วนร้านเภสัชกรก็ไม่มีสิทธิจ่ายยาเอง(เพราะไม่มีคนตรวจสอบเช่นกัน) ต้องจ่ายตามใบสั่งยาเท่านั้น ยกเว้นกลุ่มยาสามัญประจำบ้าน
นี่คือระบบที่ควรจะไปให้ถึง สิบปียี่สิบก็ไม่ว่ากัน
ส่วนการจ่ายยาฉีดยาของพยาบาลหรือวิชาชีพใดๆใน รพ.ทั้งรัฐและเอกชนหรือ รพ.สต.นั้น เป็นสิ่งที่มีกฏหมายและระบบรองรับทำได้อยู่แล้วโดยไม่ต้องแก้ พ.ร.บ.ยา อันนี้อาจเป็นความเข้าใจผิดหรือได้รับข้อมูลที่ผิดๆของบิ๊กฉัตร
พ.ร.บ.ยาเดิม ระบุให้แพทย์ ทันตแพทย์ สัตว์แพทย์ จ่ายยาได้ ซึ่งเป็นระบบที่คุ้นชิน แต่ก็ควรลดลงหรือยุติในอนาคต ส่วนร่างใหม่กลับมีการแก้ร่าง พ.ร.บ.ยา ให้เปิดกว้างให้ทุกวิชาชีพจ่ายยาเองได้ เป็นการถอยหลังลงคลอง อีกทั้งอาจจะเอื้อต่อการจ้างวิชาชีพต่างๆมาขายยาแทนเภสัชกรในร้านขายยาเฟรนชายส์ที่พยายามขยายสาขาทั่วประเทศด้วย
แก้กฏหมายแล้ว ควรทำให้สังคมก้าวหน้าไปสู่อารยะ ไม่ใช้แก้แล้วเอื้อประโยชน์กลุ่มทุน จึงต้องยืนยันคัดค้านการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ยา จนกว่าจะไม่มีประเด็นที่ถอยหลัง
ไม่มีหรอกที่รับร่างไปก่อนแล้วที่มีปัญหาค่อยแก้ทีหลัง ทำไมไม่แก้ให้ถูกต้องให้ดีที่สุดก่อน แล้วจึงนำเข้า ครม.และ สนช.ต่อไป ถ้าร่างดีจริง คงไม่ต้องอาศัยอำนาจสภาเผด็จการในการดันกฏหมายฉบับนี้
รีบๆแบบนี้มันมีเลศนัยชัดๆ
นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ
1 กันยายน 2561