คุมขายยาทางอินเทอร์เน็ต นายกสภาเภสัชฯ แนะต้องเขียนไว้ในร่างพ.ร.บ.ยาฉบับใหม่ด้วย
นายกสภาเภสัชฯ ห่วงการซื้อขายยาผ่านอินเทอร์เน็ต ยาเถื่อน นำเข้าจากต่างประเทศ กฎหมายบ้านเราก็ยังไม่มีการพูดถึงแม้แต่ตัวอักษรเดียว แนะคุม e-pharmacy ต้องเขียนไว้ในร่างพ.ร.บ.ยาฉบับใหม่ด้วย
ดร.ภก.นิลสุวรรณ ลีลารัศมี นายกสภาเภสัชกรรม ให้สัมภาษณ์ถึงร่างพระราชบัญญัติยา พ.ศ. ...(ฉบับเดือนกรกฎาคม) กับการเปิดช่องให้วิชาชีพอื่น ๆ เข้ามาทำหน้าที่จ่ายยาแทนเภสัชกรว่า ในร่างพ.ร.บ.ยาฉบับใหม่ ได้ให้อำนาจนี้แก่ผู้ประกอบวิชาชีพอื่นไว้ในวงกว้าง ตรงนี้ที่เราเป็นห่วง และหากมีเรื่องนี้เข้ามาถามว่า วิชาชีพอื่นเขาจะมีความรู้เรื่องการจ่ายยาหรือไม่ หลักสูตรมีหรือยัง
"เราอยากให้ประชาชนปลอดภัยการเขียนกฎหมายปลายเปิดให้วิชาชีพอะไรก็ได้ที่ในอนาคตจะเกิดขึ้นมา ซึ่งก็ยังไม่รู้ แต่เราใส่ไปในกฎหมายแล้ว ผมเข้าใจเป็นการมองไกล แต่ถามว่า ของที่อยู่ในพ.ร.บ.ยา ปัจจุบัน 2510 ไม่ยอมแก้ ทำไมไม่มอง"นายกสภาเภสัชกรรม กล่าว และว่า ฉะนั้นขอให้ตัดคำว่า "วิชาชีพอื่น" ซึ่งไม่มีความจำเป็นออก เพราะวิชาชีพอื่นมาขายยา น่าเป็นห่วงเรื่องของความปลอดภัยประชาชน
สำหรับการขายยาผ่านอินเทอร์เน็ต หรือ e- pharmacy นั้น นายกสภาเภสัชกรรม กล่าวว่า การซื้อขายยาผ่านอินเทอร์เน็ต ในกฎหมายบ้านเราก็ยังไม่มี ตรงนี้ต่างหากที่ต้องออกกฎหมายมาคุมอย่างไร เรื่องนี้ทำให้คนตาย อาหารเสริมใส่ยาปลอม ต้องรีบมีกฎหมายออกมารองรับ แต่ร่างพ.ร.บ.ยาฉบับใหม่ ก็ไม่มีแม้แต่ตัวอักษรเดียว เราพูดมา 2-3 ปีแล้วก็ไม่อยู่ในกฎหมายนี้
"ขายยาทางอินเทอร์เน็ตเป็นเรื่องน่าห่วง ทำอย่างไรให้ประชาชนปลอดภัย ไม่มีการเขียนไว้ในกฎหมายเลย การซื้อยาข้ามประเทศคือการควบคุมยาทำไมไม่เขียนลงไป "
ดร.ภก.นิลสุวรรณ กล่าวถึงข่าวที่ระบุให้พยาบาลขายยาได้ หรือพยาบาลมาแทนที่เภสัช มองว่า แทนกันไม่ได้ เพราะพยาบาลไม่มีใบอนุญาตขายยา ข่าวจึงมั่ว พยาบาลจะทำหน้าที่เกี่ยวกับยาที่พยาบาลถนัด ยาที่มีความคาบเกี่ยวเท่านั้น
"คนเปิดร้านยาต้องมีใบอนุญาต คนถือใบอนุญาตอาชีพเดียวคือเภสัช"
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ชำแหละ 9 ปมปัญหาร่าง พ.ร.บ.ยา ‘สภาเภสัชฯ’ ยื่น อย.เร่งแก้ไข -หนุนฉบับ 23 ก.พ. 59 แทน