สจล. เปิดแบบร่างแผนแม่บท 14 กม.พัฒนาริมฝั่งเจ้าพระยา ภายใต้คอนเซ็ปต์ 'นาคนาม'
โครงการพัฒนาริมฝั่งเจ้าพระยา เผยแบบร่างแนวคิดแผนแม่บทระยะทางสองฝั่งรวม 57 กม. และระยะนำร่อง 14 กม.ใช้ระยะเวลาสำรวจและลงพื้นที่แล้ว 4 เดือน เหลืออีก 2 เดือนจะแล้วเสร็จ
วันที่ 8 กรกฎาคม 2559 สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) จัดงานนิทรรศการและรับฟังข้อคิดเห็นโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ครั้งที่ 2 เผยแบบร่างแนวคิดแผนแม่บทระยะทางสองฝั่งรวม 57 กิโลเมตร ณ ลานกิจกรรมใกล้ศูนย์มรดกเจ้าพระยา สะพานพระราม 8 ฝั่งธนบุรี
ผศ.ดร.อันธิกา สวัสดิ์ศรี รองผู้จัดการโครงการฯ กล่าวถึงความคืบหน้าในการดำเนินโครงการว่า วันนี้เป็นการทำประชาพิจารณ์ในรอบที่ 2 โดยจะมีทั้งหมด 3 ครั้ง ซึ่งครั้งที่ 3 จะเกิดขึ้นในเดือนสิงหาคม ส่วนการรับฟังความคิดเห็นในกลุ่มย่อยจะทำอย่างเนื่อง
สำหรับความคืบหน้าหลักของโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ผศ.ดร.อันธิกา กล่าวว่า มีแบบร่างออกมาให้เห็นในรอบแรก และจะนำแบบร่างเหล่านี้ของการออกแบบทางด้านสถาปัตยกรรม ภูมิสถาปัตยกรรม นำกลับไปให้กลับผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย ผู้ได้รับผลกระทบ ยกตัวอย่าง ชุมชนที่อยู่ริมน้ำ สถานประกอบการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม ห้างร้าน หรือรัฐสภา ชุมชนต่างๆ วัด โรงเรียน โรงพยาบาล ที่รูปแบบจะได้รับการยอมรับกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ เพระฉะนั้นนี่ถือเป็นเวทีหนึ่งที่สำคัญเพราะว่าเราจะได้รับฟังไม่ใช่เพียงผู้ที่จะอาศัยอยู่ริมน้ำ แต่ยังได้รับฟังคนทั่วไปด้วยให้ได้รับทราบถึงความคืบหน้าของโครงการ รูปแบบ และรายงานความก้าวหน้า และการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชนว่ามีมากน้อยแค่ไหน ขณะนี้ได้ดำเนินงานไปแล้ว 50 เปอร์เซ็นต์
“สำหรับขอบเขตการดำเนินงานระยะเวลา 7 เดือน ประกอบไปด้วยงาน 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 ประชาสัมพันธ์ และสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน ส่วนที่ 2 งานศึกษาและจัดทำแผนแม่บท ส่วนที่ 3 งานสำรวจและออกแบบรายละเอียด โดยทั้ง 3 ส่วนนี้จะใช้พื้นที่ในการศึกษาแผนแม่บท ระยะทาง 57 กิโลเมตร แบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ฝั่ง คือ ฝั่งธนบุรี 6 เขต ได้แก่ เขตบางพลัด ในระยะทาง 14 กิโลเมตร เขตบางกอกน้อย เขตบางกอกใหญ่ เขตธนบุรี เขตคลองสามเสน เขตราษฏร์บูรณะ ในระยะทาง 43 กิโลเมตร และฝั่งพระนคร 11 เขต ได้แก่ เขตบางซื่อ เขตดุสิต เขตพระนคร ในระยะทาง 14 กิโลเมตร เขตสัมพันธวงศ์ เขตบางรัก เขตสาทร เขตบางคอแหลม เขตยานนาวา เขตคลองเตย เขตพระโขนง เขตบางนา ในระยะทาง 43 กิโลเมตร รวมเป็น 57 กิโลเมตร และมีการศึกษาและวิเคราะห์ด้านการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ฝั่งธนบุรี ประกอบไปด้วยที่อยู่อาศัยชุมชน และศาสนสถาน ส่วนพื้นที่ฝั่งพระนครประกอบด้วยสถานที่ราชการ,สถานศึกษา และศาสนสถาน”
ส่วนร่างแผนแม่บทในระยะนำร่องสองฝั่งรวม 14 กิโลเมตร รองผู้จัดการโครงการฯ กล่าวว่า มีทั้งหมด 12 แผนงาน 238 โครงการ ได้แก่ แผนงานที่ 1 การจัดทำทางเดินริมแม่น้ำ แผนงานที่ 2 การปรับปรุงภูมิทัศน์เขื่อน แผนงานที่ 3 พัฒนาท่าเรือ แผนงานที่ 4 ศาลาท่าน้ำ แผนงานที่5 พื้นที่บริการสาธารณะ แผนงานที่ 6 เส้นทางการเข้าถึง แผนงานที่ 7 พื้นที่แนวคูคลองประวัติศาสตร์ แผนงานที่ 8 พัฒนาพ้นที่ชุมชน แผนงานที่ 9 พัฒนาพื้นที่ศาสนสถาน แผนงานที่ 10 พัฒนาพื้นที่นันทนาการและสวน แผนงานที่ 11 จุดหมายตาริมแม่น้ำเจ้าพระยา และแผนงานที่ 12 สะพานคนเดิน”
ผศ.ดร.อันธิกา กล่าวด้วยว่า มีความคลาดเคลื่อนในช่วงแรกของโครงการที่มีความเข้าใจว่า โครงการพัฒนาริมฝั่งฯ จะทำถนนให้รถวิ่งด้วยความกว้างถึง 19 เมตร และมีสื่อบางสำนักเข้าใจผิด คิดว่าจะทำทางเลียบที่มีความสูงมากเกินไป โดยวัดจากระดับพื้นดินซึ่งเป็นความคลาดเคลื่อน
"วันนี้เราสามารถนำเสนอให้เห็นแบบร่างว่าแท้จริงแล้ว โครงการเน้นเรื่องการพัฒนาพื้นที่ริมฝั่งเจ้าพระยาและการพัฒนาในแต่ละพื้นที่จะเชื่อมโยงกันได้ก็ต้องมีทางเชื่อม ซึ่งทางเชื่อมบางพื้นที่จะเอื้อให้เกิดการก่อสร้างบนน้ำ เพราะจะไม่ไปกระทบเรื่องการเวนคืน ส่วนทางจักรยานและทางเท้าเป็นโหมดที่ทุกคนคนเข้าถึงและเท่าเทียมที่สุด ไม่ต้องใช้พื้นที่มาก 5 ถึง 7 เมตรในความกว้างสามารถรองรับได้ ส่วนแผนแม่บทพื้นที่ 57 กิโลเมตร ในการศึกษาจะดูว่า แต่ละพื้นที่เอื้อที่จะทำในรูปแบบไหนได้บ้างต่อไป"
ด้าน รศ.ดร.สกุล ห่อวโนทยาน ผู้จัดการโครงการ กล่าวถึงประเด็นที่มีการถูกตั้งข้อสังเกตว่าในการทำโครงการมีความเร่งรีบมากเกินไป ว่า เรามีประสิทธิภาพสูงในการทำงานโครงการ ในระยะเวลา 7 เดือนไม่ได้เร่งรีบ ในปัจจุบันนี้งานต่างๆเป็นไปตามเป้าหมายที่โครงการวางไว้ ส่วนที่เหลือเวลาอีก 2เดือน จะสามารถดำเนินงานเสร็จอย่างแน่นอน
สำหรับโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา หรือ Chao Phraya for all ใช้เวลาในการรับฟังความคิดเห็นจากลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย งานศึกษาและจัดทำแผนแม่บทระยะทาง 57 กิโลเมตร และงานสำรวจออกแบบรายละเอียด จากสะพานพระราม 7 ถึงสะพานพระปิ่นเกล้า ระยะทาง 14 กิโลเมตร ทั้งหมด 7 เดือนหรือ 210 วัน เริ่มดำเนินงานตั้งแต่มีนาคม ถึงกันยายน 2559
ปัจจุบันได้ดำเนินงานสำรวจและลงพื้นที่ เป็นระยะเวลา 4 เดือนในพื้นที่ 33 ชุมชน ขณะที่การออกแบบและจัดทำแผนแม่บท ระยะทางยาวรวม 57 กิโลเมตรจากสะพานพระราม 7 ถึงบางกระเจ้า ภายใต้คอนเซ็ปต์ “นาคนาม” (นาค-คะ-นาม) โดยจะมีโครงการนำร่อง 14 กิโลเมตร จากสะพานพระราม 7 ถึงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า
ขณะที่ นายธิติพันธ์ ฉายชีวานนท์ นักรณรงค์ออนไลน์ ชาวชุมชนพรานนก กล่าวว่า การดำเนินโครงการและการสำรวจในระยะเวลา 7 เดือน จะสามารถเข้าถึงประชาชนทุกคนได้จริงหรือไม่ และได้รับความคิดเห็นจากทุกคนจริงหรือไม่ ถ้าหากว่าจะทำเส้นทางปั่นจักรยาน 14 กิโลเมตรจริง ขอถามว่าได้ตรวจสอบประสิทธิภาพและความเป็นไปได้ของการปั่นจักรยานหรือไม่
"ยกตัวอย่าง ตัวผมเป็นคนที่ชอบปั่นจักรยาน ซึ่งปั่นไป 5 กิโลเมตร กลับอีก 5 กิโลเมตร เหนื่อยจะแย่ แต่ถ้าทำทางปั่นจักรยานถึง14 กิโลเมตรเลย จะเกินความจำเป็นหรือไม่ และในพื้นที่คุ้มค่าหรือไม่ที่จะลงทุนไป"
ด้าน พระมหาคมสันต์ กตปุญโณ วัดวิมุตยาราม เขตบางพลัด กล่าวว่า การดำเนินโครงการมีข้อดีข้อเสียอย่างไร ผู้ดำเนินงานต้องระบุอย่างชัดเจน เพื่อให้ประชาชนเลือกว่าจะเอาหรือไม่ สิ่งที่เป็นห่วงอีกหนึ่งเรื่องคือความปลอดภัยของประชาชนและทรัพย์สินที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำ ถ้ามีบุคคลนอกเข้ามาสร้างความวุ่นวายกับความเป็นอยู่ที่เคยสงบอยู่แล้ว ส่วนเรื่องของปัญหาน้ำเสียจะดำเนินการอย่างไร และงบประมาณต้องมีความชัดเจนว่าใช้ไปเท่าไหร่ เพราะมีความกังวลเรื่องขอการใช้จ่ายเงินงบประมาณของประเทศ
อ่านประกอบ:เปิดกฎหมาย เถียงให้รู้เรื่อง! ทำไม สจล. รับงานแลนด์มาร์คเจ้าพระยา เทียบกับ กฟภ.ไม่ได้
สภาวิศวกรแถลงส่งกฤษฎีกาตีความ ปม สจล.รับงานไม่มีใบประกอบวิชาชีพ
สจล.ยกความเห็นกฤษฎีกาปี 47 เทียบ ยันรับงาน 'แลนด์มาร์คเจ้าพระยา' ได้
จาก มช.สู่ สจล. มหาวิทยาลัยรับงานออกแบบ-คุมงานก่อสร้าง ได้หรือไม่?
ระอุ!!ร้องสภาวิศวกร สอบ 'สจล.' รับงานออกแบบเขื่อนกั้นนิคมฯ-แลนด์มาร์คเจ้าพระยา