จาก มช.สู่ สจล. มหาวิทยาลัยรับงานออกแบบ-คุมงานก่อสร้าง ได้หรือไม่?
กรณีสถานบริการวิศวกรรม ซึ่งเป็นองค์กรในกำกับของมหาวิทยาลัย ไม่สามารถให้บริการงานวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมได้ ดังนั้นมหาวิทยาลัยจึงไม่สามารถรับจ้างออกแบบ และควบคุมงานก่อสร้างได้
เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2559 สภาวิศวกรออกแถลงการณ์ กรณีสถาบันการศึกษารับงานที่เข้าข่ายเป็นการประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม (อ่านประกอบ:สภาวิศวกรแถลงส่งกฤษฎีกาตีความ ปม สจล.รับงานไม่มีใบประกอบวิชาชีพ)
โดยสภาวิศวกรพิจารณาเห็นว่า มีประเด็นทางกฎหมายที่สำคัญ และควรได้รับการพิจารณาวินิจฉัยให้เกิดความชัดเจน และเป็นบรรทัดฐานในการดำเนินงาน กรณีมีเรื่องร้องเรียน การไม่มีใบประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และ ไม่ได้เป็นนิติบุคคลสมาชิกของสภาวิศวกร จะรับงานออกแบบรายละเอียดในงานวิศวกรรมควบคุม ได้หรือไม่ (อ่านประกอบ ระอุ!!ร้องสภาวิศวกร สอบ 'สจล.' รับงานออกแบบเขื่อนกั้นนิคมฯ-แลนด์มาร์คเจ้าพระยา )
ปัจจุบันสภาวิศวกร ได้เสนอเรื่องหารือต่อคณะกรรมการกฤษฎีกา ผ่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะสภานายกพิเศษแห่งสภาวิศวกร เพื่อตีความการบังคับใช้พระราชบัญญัติวิศวกร พ.ศ.2542 กับสถาบันการศึกษาในกรณีรับงานที่เข้าข่ายเป็นการประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม
อย่างไรก็ดี กรณีคล้ายๆ กัน ที่หน่วยงานหรือองค์กรของรัฐจัดจ้างมหาวิทยาลัย ในการประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม โดยวีธีพิเศษ จะเข้าข่ายผิดกฎหมาย พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วิศวกร 2542 หรือไม่นั้น
สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบว่า เมื่อปี 2550 กรมบัญชีกลางได้เคยมีหนังสือเลขที่ กค. (กวพ.) 0408.4/08861 ลงวันที่ 14 เมษายน 2550 กรณีสถานบริการวิศวกรรม ซึ่งเป็นองค์กรในกำกับของมหาวิทยาลัย ไม่สามารถให้บริการงานวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมได้ ดังนั้นมหาวิทยาลัยจึงไม่สามารถรับจ้างออกแบบ และควบคุมงานก่อสร้างได้
ในสมัยนั้นนายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ รองอธิบดี ปฏิบัติราชการแทน อธิบดีกรมบัญชีกลาง ได้ทำหนังสือตอบอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยอ้างคณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุ (กวพ.) พิจารณาแล้วเห็นว่า ในการจ้างและออกแบบและควบคุมงานก่อสร้างของทางราชการ ส่วนราชการต่างๆ จะต้องถือปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การออกแบบและหรือควบคุมงานก่อสร้างอาคารของส่วนราชการ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2536 โดยกำหนดให้ส่วนราชการผู้ประสงค์จะดำเนินการออกแบบและควบคุมงานก่อสร้างอาคารของส่วนราชการ ถ้าส่วนราชการนั้นไม่มีหน่วยงานออกแบบก่อสร้าง หรือมีแต่ไม่สามารถดำเนินการออกแบบก่อสร้างได้ ให้มีหนังสือขอความร่วมมือจากส่วนราชการที่มีหน้าที่ในการออกแบบให้ดำเนินการให้ เช่น กรมโยธาธิการ กรมศิลปากร และส่วนราชการอื่นที่มีหน่วยงานออกแบบก่อสร้างอย่างน้อยอีกหนึ่งแห่ง ก่อนที่ส่วนราชการจะไปดำเนินการจ้างเอกชน เป็นผู้ออกแบบหรือควบคุมงาน แจ้งตามหนังสือสำนักนายกรัฐมนตรีที่ นร.0205/ว 44 ลงวันที่ 22 มีนาคม 2536 เรื่องการทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการจ้างเอกชนเป็นผู้ออกแบบและควบคุมงานก่อสร้าง ซึ่งในหลักการในการจ้างออกแบบและควบคุมงานก่อสร้างอาคารดังกล่าวมุ่งหมายถึงการจ้างเอกชนเป็นผู้ดำเนินการ
กรณีตามข้อหารือปรากฎข้อเท็จริงว่า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีฐานะเป็นนิติบุคคลและเป็นส่วนราชการแล้ว ดังนั้นส่วนราชการต่างๆ จึงไม่สามารถจ้างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ดำเนินการออกแบบและควบคุมงานก่อสร้างของทางราชการได้
แต่สามารถที่จะขอความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ตามนัยมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว
สำหรับองค์กรในกำกับของมหาวิทยาลัย (คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบริการวิศวกรรมศาสตร์ เป็นต้น) นั้น เห็นว่า องค์กรในกำกับฯ มีสถานที่ไม่เป็นส่วนราชการและมิใช่นิติบุคคล ซึ่งมีลักษณะเป็นการประกอบวิชาชีพในสาขานั้นๆ และองค์กรดังกล่าวยังอยู่ภายใต้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นส่วนราชการ ดังนั้นส่วนราชการต่างๆ จึงไม่สามารถที่จะจ้างองค์กรในกำกับฯ ออกแบบและควบคุมงานก่อสร้างได้เช่นกัน
กรณีข้อหารือแนวทางปฏิบัติในการให้บริการแก่ส่วนราชการของมหาวิทยาลัย เมื่อปี 2550 จะเทียบเคียงกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ปี 2559 ได้หรือไม่ และสถาบันการศึกษารับงานที่เข้าข่ายเป็นการประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม ทำได้หรือขัดต่อพ.ร.บ.วิศวกร 2542 หรือไม่ เรื่องนี้คงต้องรอลุ้นความชัดเจนจากคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความออกมาในเร็ววันนี้