- Home
- Thaireform
- ในกระแส
- สจล.ยกความเห็นกฤษฎีกาปี 47 เทียบ ยันรับงาน 'แลนด์มาร์คเจ้าพระยา' ได้
สจล.ยกความเห็นกฤษฎีกาปี 47 เทียบ ยันรับงาน 'แลนด์มาร์คเจ้าพระยา' ได้
สจล.เชิญ 'อิศรา' เเจงปมรับที่ปรึกษาโครงการพัฒนาเเม่น้ำเจ้าพระยา ไม่มีใบประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม ยกความเห็นกฤษฎีกา ปี 47 ยันเป็นนิติบุคคลมหาชน มีอำนาจดำเนินงาน ไม่ขัด กม.
กรณีสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำเสนอข่าวสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) รับเป็นที่ปรึกษาโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา และงานศึกษาออกแบบแนวทางป้องกันน้ำท่วมนิคมอุตสาหกรรม 6 แห่ง ซึ่งได้รับการกล่าวอ้างว่า สจล.เป็นสถาบันการศึกษา รับดำเนินการในภาระหน้าที่ดังกล่าว โดยไม่มีใบประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วิศวกร พ.ศ.2542
(อ่านประกอบ:ระอุ!!ร้องสภาวิศวกร สอบ 'สจล.' รับงานออกแบบเขื่อนกั้นนิคมฯ-แลนด์มาร์คเจ้าพระยา)
จนกระทั่ง ล่าสุด สภาวิศวกร ได้เสนอเรื่องต่อคณะกรรมการกฤษฎีกาผ่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะนายกพิเศษแห่งสภาวิศวกร เพื่อตีความการบังคับใช้ พ.ร.บ.วิศวกร พ.ศ.2542 กับสถาบันการศึกษา ในกรณีรับงานที่เข้าข่ายเป็นการประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม เนื่องจากเห็นว่า มีประเด็นทางกฎหมายที่สำคัญ และควรได้รับการพิจารณาวินิจฉัย เพื่อให้เกิดความชัดเจนและเป็นบรรทัดฐานในการดำเนินงาน
(อ่านประกอบ: สภาวิศวกรแถลงส่งกฤษฎีกาตีความ ปม สจล.รับงานไม่มีใบประกอบวิชาชีพ)
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 28 เมษายน 2559 คณะผู้บริหารโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา นำโดย รศ.สุพจน์ ศรีนิล คณะทำงานด้านวิศวกรรมโครงการฯ, นายสรศักดิ์ มั่นศิลป์ คณะทำงานด้านกฎหมาย, ดร.กมล เกียรติเรืองกมลา รองผู้จัดการโครงการฯ,นายกฤษณ์ เจ็ดวรรณะ ผู้ช่วยผู้จัดการโครงการฯ และ ผศ.ดร.อันธิกา สวัสดิ์ศรี โฆษกโครงการฯ ได้เชิญสำนักข่าวอิศรา เข้ารับฟังการแถลงข่าว หัวข้อ สถาบันการศึกษารับงานเป็นที่ปรึกษาของรัฐไม่ได้จริงหรือ เพื่อชี้แจงในประเด็นดังกล่าว ณ ตึกอธิการบดี สจล.
นายสรศักดิ์ กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเคยมีความเห็นในเรื่องเสร็จที่ 137/2547 เรื่อง การบังคับใช้ พ.ร.บ.วิศวกร พ.ศ.2542 ถึงนายกสภาวิศวกร ในขณะนั้น พร้อมกับส่งบันทึก เรื่อง การปฏิบัติตาม พ.ร.บ.วิชาชีพวิศวกรรม พ.ศ.2505 (เจ้าพนักงานท้องถิ่นและนายช่าง ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจตรวจพิจารณาและสั่งแก้ไขเปลี่ยนแปลงแผนผังและแบบก่อสร้างตาม พ.ร.บ.ควบคุมการก่อสร้างอาคาร 2479 ต้องเป็นวิศวกรตาม พ.ร.บ.วิชาชีพวิศวกรรม พ.ศ. 2505 หรือไม่)
รวมถึงบันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง แนวทางการดำเนินการของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคตามพระราชบัญญัติวิศวกร พ.ศ. 2542 (การขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมประเภทนิติบุคคล)
โดยความเห็นครั้งนั้นเรื่องการบังคับใช้ พ.ร.บ.วิศวกร พ.ศ.2542 เกี่ยวกับปัญหาการประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมของหน่วยงานรัฐหรือเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานรัฐนั้น คณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็นสรุปว่า การประกอบวิชาชีพวิศวกรรมของเจ้าหน้าที่รัฐและนิติบุคคลมหาชน ซึ่งต้องดำเนินการตามอำนาจหน้าที่กฎหมายกำหนดไว้นั้น เนื่องจากบุคคลเหล่านั้นต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และมาตรฐาน ซึ่งกฎหมายที่ให้อำนาจบัญญัติไว้อยู่แล้ว การดำเนินการดังกล่าว จึงไม่อยู่ภายใต้บังคับของ พ.ร.บ.วิศวกร พ.ศ.2542 และในกรณีที่นิติบุคคลมหาชนจะรับดำเนินงานที่จัดอยู่ในประเภทงานวิศวกรรมควบคุมต่อบุคคลภายนอกนั้น หากการดำเนินงานเป็นไปตามขอบวัตถุประสงค์ของนิติบุคคลดังกล่าวก็ย่อมมีอำนาจดำเนินการได้ โดยไม่ต้องได้รับใบอนุญาตจากวิศวกร
“สจล.ปฏิบัติงานภายใต้ พ.ร.บ.สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง พ.ศ.2551 ซึ่งมีสถานะเป็นนิติบุคคลตามมาตรา 5 และมีอำนาจในการรับงานตามมาตรา 7 เพราะฉะนั้นจึงเป็นนิติบุคคลมหาชน โดยใช้อำนาจกฎหมายมหาชน ที่หน่วยงานรัฐมีอำนาจอยู่แล้ว” คณะทำงานด้านกฎหมาย กล่าว
ด้านนายกฤษณ์ กล่าวเพิ่มเติม เมื่อเกิดเหตุการณ์ลักษณะเช่นนี้ขึ้น โดยทั่วไปแล้วการวิเคราะห์ด้านกฎหมาย จะดูจากลักษณะเหตุการณ์กรณีใกล้เคียงกัน เพื่อนำไปสู่การหาแนวทางปฏิบัติ กรณีนี้คือบันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง แนวทางการดำเนินการของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคตามพระราชบัญญัติวิศวกร พ.ศ.2542 เพราะที่ผ่านมาไม่เคยเกิดประเด็นดังกล่าวขึ้นกับมหาวิทยาลัย เช่นนั้นแล้วความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาจึงเป็นแนวปฏิบัติสูงสุดของหน่วยงาน
“การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเป็นรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐ และเป็นนิติบุคคลมหาชน มีอำนาจตามกฎหมาย เช่นเดียวกัน สจล.ก็เป็นหน่วยงานของรัฐ และเป็นนิติบุคคลมหาชน ซึ่งคำวินิจฉัยของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคไม่ถูกระบุอยู่ในกรอบ พ.ร.บ.วิศวกร พ.ศ.2542 แต่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายขององค์กร เมื่อนำคำวินิจฉัยดังกล่าวกลับมาวิเคราะห์ พบว่า สจล.มีลักษณะเหมือนกัน จึงยืนยัน สามารถให้บริการรับจ้างที่ปรึกษาและบริการวิชาการหน่วยงานอื่นได้”
ส่วนมีการนำเสนอข่าวกรมบัญชีกลางเคยมีหนังสือชี้ว่า สถานบริการวิศวกรรม ซึ่งเป็นองค์กรในกำกับของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ไม่สามารถให้บริการงานวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมได้ ดังนั้นมหาวิทยาลัยจึงไม่สามารถรับจ้างออกแบบ และควบคุมงานก่อสร้างได้ (อ่านประกอบ:จาก มช.สู่ สจล. มหาวิทยาลัยรับงานออกแบบ-คุมงานก่อสร้าง ได้หรือไม่?)
นายกฤษณ์ ระบุว่า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ทำไม่ได้อยู่แล้ว เพราะสถานบริการวิศวกรรมไม่มีลักษณะเป็นนิติบุคคล ซึ่งแตกต่างจากกรณีนี้ เนื่องจากรัฐบาลว่าจ้าง สจล. ดำเนินโครงการฯ ซึ่งมีลักษณะเป็นนิติบุคคล มีหนังสือแต่งตั้งตามกระบวนการ แต่จะจ้างคณะไม่ได้ และเราก็ได้ระดมบุคลากรทุกด้านเข้าร่วม เพราะมีเวลาจำกัด แต่หลัก ๆ จะเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ส่วนรายละเอียดในการทำงานจำเป็นต้องให้บริษัทที่ปรึกษาเข้าร่วมด้วย
“สมมติจะไปสำรวจกายภาพพื้นที่ โดยใช้กล้องเซอร์เวย์ ถามว่าต้องให้อาจารย์ไปตั้งกล้องและส่องเองทำไม่ได้ จำเป็นต้องมีลูกน้อง หรือการสำรวจความคิดเห็นก็ต้องมีทีมงานลงพื้นที่เก็บแบบสอบถาม ดังนั้น สจล.จำเป็นต้องมีบุคลากรบางส่วนที่ไม่ใช่จากในองค์กร” ผู้ช่วยผู้จัดการโครงการฯ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สจล.และมข.ได้รับมอบหมายจากกระทรวงมหาดไทย สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร ให้เป็นที่ปรึกษาโครงการฯ ระยะทางยาวรวม 57 กม. จากสะพานพระราม 7 ถึงสุดเขต กทม. และโครงการนำร่อง 14 กม. จากสะพานพระราม 7 ถึงสะพานพระปิ่นเกล้า ระยะเวลาดำเนินการ 210 วัน แบ่งเป็น
งานส่วนที่ 1 ศึกษาและจัดทำแผนแม่บทพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาระยะทางสองฝั่งรวม 57 กม. งานส่วนที่ 2 สำรวจออกแบบรายละเอียดและวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมในขั้นรายละเอียด (EIA) โครงการนำร่อง 14 กม. และงานส่วนที่ 3 งานประชาสัมพันธ์และการมีส่วนร่วมของประชาชน วงเงินว่าจ้างทั้งสิ้น 120 ล้านบาท
...............................................................................
หมายเหตุ: พ.ร.บ.สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง พ.ศ.2551
มาตรา 5 ให้สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ตามพระราชบัญญัติสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เเละสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ พ.ศ.2528 เป็นสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังตามพระราชบัญญัตินี้ เเละเป็นนิติบุคคล
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังมีฐานะเป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐ ซึ่งไม่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการเเผ่นดิน กฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ เเละกฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม เเละไม่เป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณเเละกฎหมายอื่น
มาตรา 7 ให้สถาบันเป็นสถานศึกษาเเละวิจัย มีวัตถุประสงค์ให้การศึกษา พัฒนาประยุกต์องค์ความรู้เเละเทคโนโลยี เเละส่งเสริมวิชาการเเละวิชาชีพชั้นสูง โดยมีภารกิจด้านการสอน วิจัย ให้บริการวิชาการเเก่สังคม เเละทะนุบำรุงศิลปะเเละวัฒนธรรม
ฉบับเต็ม:พ.ร.บ.สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง พ.ศ.2551