ฟังเสียงของคนเอาเหมือง (ทอง)
ตั้งแต่มีเหมือง เกิดความเจริญในพื้นที่ คือมีถนนคอนกรีตและเสาไฟฟ้าเข้ามา นอกจากนี้ชาวบ้านยังได้รับเงินสนับสนุนจากเหมืองในการจัดตั้งกลุ่มอาชีพต่างๆ รวมถึงการพัฒนาโรงเรียน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย เพราะรัฐไม่ได้เข้ามามีบทบาทในการพัฒนาเทียบเท่ากับเอกชน และหากเหมืองปิดตัวลงจริง อาจต้องเสียรายได้
“ผมขอยืนยันและขอสาบานว่า ผมเกิดที่นี่ โตที่นี่ และจะตายที่นี่ ถ้าเหมืองทำผิดจริง ผมจะปิดเหมืองเองไม่ต้อง ให้ใครมาปิด”
เสียงของ "คมสัน ขวัญแก้ว" วัย 43 ปี หัวหน้างานห้องหลอมทอง บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ตัวแทนกลุ่มพนักงานเหมืองทองคำชาตรี ขึ้นพูดบนเวทีหน้าศาลาว่าการจังหวัดพิจิตร ในชุด ยูนิฟอร์มของบริษัทอัคราฯ โดยด้านหลังเสื้อมีข้อความว่า “ผมอยู่ตั้งแต่ทองก้อนแรก และจะอยู่จนก้อนสุดท้าย แต่ไม่ใช่สิ้นปีนี้แน่นอน”
เขาแสดงจุดยืน "คนเอาเหมือง" ชัดเจน พร้อมขอให้พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พิจารณาทบทวนมติ ครม. เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2559 ให้เหมืองแร่ทองคำชาตรี ยุติการดำเนินกิจการเหมืองภายในสิ้นปี 2559
"ผมอาศัยอยู่ในชุมชนรอบเหมืองแห่งนี้มาตั้งแต่เกิด ได้ทำงานตั้งแต่เหมืองเปิดมาเป็นระยะเวลากว่า 15 ปี อยากให้รัฐบาลพิจารณาทบทวนเรื่องการยุติเหมืองใหม่อีกครั้ง เพราะมั่นใจว่า การสั่งปิดเหมืองไม่ใช่ทางออกของการลดความขัดแย้ง" คมสัน ระบุ
พร้อมกับเชื่อว่า การปิดเหมืองความขัดแย้งเกิดขึ้นอีกแน่นอน อีกทั้งจะมีปัญหาตามมาหลายด้าน โดยเฉพาะพนักงานเหมืองโดยส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในบริเวณรอบเหมือง จะต้องย้ายออกไปจากพื้นที่เพื่อหางานใหม่ ครอบครัวเกิดความแตกแยก และจะสร้างผลกระทบในวงกว้าง รวมถึงเรื่องการพัฒนาในตัวจังหวัด
เขาเห็นว่า ตั้งแต่มีเหมือง เกิดความเจริญในพื้นที่ มีถนนคอนกรีต มีไฟฟ้าเข้ามา นอกจากนี้ชาวบ้านยังได้รับเงินสนับสนุนจากเหมืองในการจัดตั้งกลุ่มอาชีพต่างๆ รวมถึงการพัฒนาโรงเรียน จึงเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย เพราะที่ผ่านมาภาครัฐไม่ได้เข้ามามีบทบาทในการพัฒนาเทียบเท่ากับเอกชน
"หากเหมืองปิดตัวลงจริง อาจต้องเสียรายได้ประมาณห้าหมื่นบาทต่อเดือน และต้องไปทำนาแทน เพราะไม่คิดจะทำอาชีพอื่นที่อยู่นอกพื้นที่อีกแล้ว ผมขอยืนยันและขอสาบานว่า ผมเกิดที่นี่ โตที่นี่ และจะตายที่นี่ ถ้าเหมืองทำผิดจริง ผมจะปิดเหมืองเองไม่ต้อง ให้ใครมาปิด
และถ้ามีผลกระทบจริงให้รัฐบาลฟันธงมา พวกผมจะเปิดเอง ไม่ต้องให้รัฐบาลปิด ผมทำงานที่นี่ ถ้ามีผลกระทบจริงผมก็ตายก่อน จะให้ดีอยากให้นายกฯ ลงมาดูด้วยตัวเอง ผมเป็นตัวแทนของพนักงานและชาวบ้านรอบเหมืองที่ไม่ได้มีผลกระทบต่อสารโลหะหนักหรือสภาพทางสิ่งแวดล้อม ผมขอวิงวอนขอให้นายกฯ ลงมาดูทุกเรื่องด้วยตัวเอง และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาฟันธงว่ามาจากเหมืองจริงๆ” หนึ่งในพนักงานเหมืองทอง กล่าววิงวอน ด้วยเสียงที่ดังฟังชัด
ขณะที่ ‘จิรายุ ตันหยงทอง’ วัย 42 ปี ชาวบ้านเขาเจ็ดลูก อำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร ทำงานในตำแหน่งรองหัวหน้าฝ่ายผลิต บ.อัคราฯ
จิรายุ จบแค่ ม.3 ถึงวันนี้มีรายได้จากการทำเหมืองไม่ต่ำกว่า 3- 4 หมื่นบาทต่อเดือน ชี้ว่า การศึกษากับรายได้ ณ ปัจจุบันนี้ กับการรับภาระเป็นหัวหน้าครอบครัว ดูแลภรรยา ลูกอีก 2 คน หากเหมืองปิดจริง แล้วต้องหันไปทำอาชีพค้าขาย ก็ไม่มั่นใจในสภาพเศรษฐกิจของประเทศปัจจุบัน
ส่วนการเยียวยา เขายังเชื่อว่า บริษัทจะเยียวยาตามกฎหมาย แม้ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนใดๆ ออกมาก็ตาม
“ในส่วนของภาครัฐผมคิดว่ามืดมน เพราะลำพังแค่ภาระหนี้สินของรัฐเองก็คงแย่ ถ้าจะมาเยียวยาในส่วนของพวกผมก็คงลำบาก และจะมาดูแลยังไง เพราะพวกที่ตกงานส่วนมากก็มีแต่อายุเยอะๆ ในส่วนของพนักงานที่ตกงานยังมองไม่เห็นว่างานอะไรที่เราจะได้รับตรงนี้”
จากนั้น จิรายุ เล่าถึงประเด็นความขัดแย้งในพื้นที่ว่า เรื่องนี้มีมาตั้งแต่ที่มีการเปิดเหมืองแล้ว คือมีกลุ่มนายทุนเข้ามาเก็บเกี่ยวผลประโยชน์บริเวณรอบเหมืองโดยการซื้อที่ไว้เพื่อจะเก็งกำไร ต่อมาเหมืองจะขยายพื้นที่ โดยมีหน่วยงานเข้าไปดูแลการจัดซื้อที่ดิน ซึ่งไม่ทราบรายละเอียด แต่เชื่อว่า มีผลประโยชน์ตรงนี้เข้ามาเกี่ยวข้องแน่นอน พร้อมกับมองว่า ถ้าข้อเรียกร้องให้ยุติเหมืองเกิดผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม และผลกระทบกับชาวบ้านจริง จะไม่รู้สึกขัดข้องใจที่จะปิดเหมืองเลย
" ก่อนมีเหมืองบรรยากาศดีในระดับหนึ่ง แต่ไม่แน่ใจว่า ด้วยโลกเปลี่ยนไปด้วยหรือไม่ จึงทำให้มีผลกระทบเรื่องความร้อน ส่วนที่เหมืองสร้างผลกระทบในเรื่องฝุ่น เมื่อมีการยื่นเรื่องเข้ามา บริษัทฯ ก็มีมาตรการออกมาเรื่องรดน้ำ ส่วนผลกระทบเรื่องเสียงก็มีการยื่นเรื่องให้บริษัทปรับปรุงเช่นกัน ทางเหมืองก็รับรู้และหยุดทำงานช่วงเวลากลางคืน จะเห็นว่า ที่ผ่านมาบริษัทฯ ก็ไม่เคยนิ่งนอนใจ ตอบรับทุกข้อเรียกร้อง โดยจะมีทีมหรือหน่วยแผนกในการรับเรื่องตลอด"
ส่วน ‘สาลิณี มีเดช’ วัย 20 ปี อาศัยอยู่ตำบลท้ายดง อําเภอวังโป่ง จังหวัดเพชรบูรณ์ กำลังเรียนอยู่ชั้นปี 1 วิทยาลัยอาชีวะศึกษาพาณิชยการพิษณุโลก เธอได้รับทุนเรียนดีแต่ยากจนจากทางเหมือง เทอมละ 15,000 บาท จึงเกิดความกังวลเป็นอย่างมากว่า ถ้าเหมืองปิดลงไปแล้วเธอจะไม่ได้รับทุนการศึกษาต่ออีกหรือไม่
และหากไม่ได้เรียนหนังสือ เธอบอกว่า ฐานะทางบ้านก็คงไม่มีกำลังในการส่งให้เรียนต่ออย่างแน่นอน
“ทางเหมืองบอกว่าจะไม่ได้ทุน เพราะถ้าเหมืองถูกปิด เหมืองก็แย่เหมือนกัน” สาวน้อยวัย 20 ปี ระบุ และแสดงความเห็นว่า การปิดเหมืองทอง จะทำให้คนเดือดร้อนจำนวนมาก คนจะตกงานจำนวนมาก ครอบครัวจะแตกแยก เด็กในบริเวณนี้ที่ยากจนจะไม่ได้รับทุนเรียนต่อ หรืออาจไม่มีโอกาสเรียนหนังสืออีกเลย
คนสุดท้ายที่ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศราได้พูดคุยด้วย ‘กุลจิรา เพชร์ภักดิ์’ วัย 49 ปี ชาวบ้านดงหลง ตำบลท้ายดง อำเภอวังโป่ง จังหวัดเพชรบูรณ์ ทำมาค้าขายอยู่บริเวณรอบเหมือง ชี้ว่า การปิดเหมืองไม่ใช่แค่กลุ่มพนักงานเท่านั้นที่เดือนร้อน กลุ่มแม่ค้าและกลุ่มแม่บ้านจะได้รับผลกระทบด้วย เพราะรายได้ของแม่ค้า 80% มาจากการขายอาหารให้กับพนักงานเหมือง
เธอระบุว่า ขณะนี้ กลุ่มแม่ค้ายังไม่ได้รับคำตอบเรื่องการเยียวยาจากทั้งฝั่งเหมืองและฝั่งรัฐบาล ทำให้กังวลหนัก เพราะมีภาระเรื่องค่าใช้จ่ายในการส่งเสียลูกเรียนหนังสือ
"อยู่อาศัยบริเวณชุมชนรอบเหมืองมา 49 ปี ไม่เคยเห็นการขัดแย้งในหมู่บ้าน มีแค่กลุ่มคนที่เห็นต่างเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่ไม่มีการทะเลาะเบาะแว้ง ดังนั้น จึงอยากให้รัฐบาลลงมาดูพื้นที่จริง ถ้าปิดเหมืองแล้วจะมีความขัดแย้งจะเพิ่มขึ้นมากกว่า เนื่องจากมีกลุ่มคนเล็กๆกลุ่มหนึ่งที่มีความคิดเห็นทีแตกต่าง นำพาคนนอกพื้นที่เข้ามาปลุกระดมกับชาวบ้านที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ ซึ่งถ้าเหมืองทองปิดตัวลงไป ต้องมีกระทบกระทั่งกับคนกลุ่มนี้แน่นอน"
และเมื่อถามถึงประเด็นเรื่องผลกระทบทางสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่มาจากการทำเหมืองทองนั้น กุลจิรา ให้คำตอบเพียงสั้นทิ้งท้าย “เหมืองเขาดูแลดี”
อ่านประกอบ:กพร.แนะอัครา เตรียมแผนฟื้นฟูตั้งแต่วันนี้ ยันคำสั่งเป็นไปตามนโยบายลดขัดแย้ง
ปชช. 29 หมู่บ้าน-พนง.อัคราฯ แสดงจุดยืน ‘คนเอาเหมือง’ ยื่น นส.ประยุทธ์ขอความเป็นธรรม
แจงให้ชัดอีกรอบ! เหตุผล กพร.ยุติสัมปทาน ‘เหมืองทอง’ สกัด อัคราฯ ดิ้นสู้
ครม.สั่งปิดเหมืองทองคำชาตรี จ.พิจิตร อนุญาตให้ บ.อัคราฯ ขนเเร่ถึงสิ้นปี 59
บ.อัคราฯ ชี้ 'ฟ้องรัฐ' ทางเลือกสุดท้าย ปมถูกปิดเหมืองทอง พิจิตร
กพร.ยันยังไม่พิจารณาต่อ-ไม่ต่ออายุโรงประกอบโลหกรรม เหมืองทองอัครา
ภรรยายื่น ก.อุตฯ ผลชันสูตร ‘ลุงสมคิด’ อดีต พนง.เหมืองชาตรี พบปอดอักเสบคร่าชีวิต
4 กระทรวง ลงพื้นที่เหมืองทอง พิจิตร อีก 2 สัปดาห์ สรุปต่ออายุ บ.อัคราฯ
BOI ยันไม่มีการส่งเสริมกิจการเหมืองทองในไทยตั้งแต่ปี 58
โวยปิดเหมืองทอง พิจิตร-เพชรบูรณ์ ศก.สูญ 4 พันล.-ภาคปชช.เคลื่อนไหวกดดันต่อเนื่อง
ศ.ระพี สาคริก นำทีมแถลง จี้รัฐหยุดต่อใบอนุญาตเหมืองทองทั่วประเทศ