- Home
- South
- สัมภาษณ์พิเศษ ศูนย์ข่าวภาคใต้
- พล.ต.สิทธิ : ตั้งเซฟเฮาส์ถกพื้นที่ปลอดภัย - จำเป็นไหมคุย "ดูนเลาะ แวมะนอ"
พล.ต.สิทธิ : ตั้งเซฟเฮาส์ถกพื้นที่ปลอดภัย - จำเป็นไหมคุย "ดูนเลาะ แวมะนอ"
แม้จะไม่เป็นข่าวเปรี้ยงปร้างเหมือนช่วงเริ่มต้นของการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่กระบวนการนี้ก็ได้รับความสนใจจากสังคมเสมอ โดยเฉพาะผู้คนในพื้นที่ที่อยากให้ความรุนแรงหมดสิ้นไป จะได้เริ่มต้นนับหนึ่งสันติสุขกันเสียที
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 7 ธ.ค.60 มีการจัดสัมมนาเรื่อง "บทบาทคนนอกพื้นที่กับกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนใต้" ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อสํารวจบทบาทของคนนอกพื้นที่ นักวิชาการ สถาบันการศึกษา ภาคประชาสังคม สื่อมวลชน และผู้กําหนดนโยบายที่ไม่ได้อาศัยอยู่ในพื้นที่ แต่มีส่วนสนับสนุนงานด้านสันติภาพใน ในมิติต่างๆ
ไฮไลท์หนึ่งของการสัมมนา 2 วันที่จัดโดย ศูนย์ศึกษาพัฒนาสังคม คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ และสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล คือการบรรยายและการตอบคำถามของ พล.ต.สิทธิ ตระกูลวงศ์ เลขานุการคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ ฝั่งรัฐบาลไทย
พล.ต.สิทธิ กล่าวทั้งบนเวทีสัมมนา และให้สัมภาษณ์พิเศษกับ "ทีมข่าวอิศรา" ถึงประเด็นที่ทุกฝ่ายให้ความสนใจ ก็คือขั้นตอนการจัดตั้ง "พื้นที่ปลอดภัย" และการพูดคุยกับผู้นำกลุ่มบีอาร์เอ็น นามว่า "ดูนเลาะ แวมะนอ" ซึ่งเชื่อกันว่าอยู่ในปีกที่ไม่ได้ร่วมโต๊ะพูดคุยกับรัฐบาลไทยภายใต้ร่ม "มารา ปาตานี"
เตรียมตั้งเซฟเฮาส์ถก "พื้นที่ปลอดภัย"
พล.ต.สิทธิ เริ่มต้นว่า กระบวนการจัดตั้งพื้นที่ปลอดภัยไม่ได้มีปัญหาหรืออุปสรรค ขั้นตอนสำคัญคือเปิด "เซฟเฮาส์" เพื่อให้ทั้งสองฝ่าย คือ ปาร์ตี้ A (คณะพูดคุยฯฝ่ายรัฐบาลไทย) กับ ปาร์ตี้ B (ผู้เห็นต่างจากรัฐ ใช้ชื่อว่า มารา ปาตานี) ได้ลงพื้นที่จริงและหารือร่วมกัน
"การพูดคุยครั้งที่ผ่านมาเมื่อเดือน ก.ย.ไม่มีอุปสรรคอะไร เป็นการรับทราบข้อคิดเห็นต่างๆ ส่วนเรื่องพื้นที่ปลอดภัย เราต้องการเวลาเพื่อพิจารณาว่าพื้นที่ไหนที่เหมาะสมที่จะประกาศ สุดท้ายเลือกแล้วทุกคนรับทราบ ก็จะออกแถลงการณ์ร่วมว่าพื้นที่ไหนจะได้รับการจัดตั้งเป็นพื้นที่ปลอดภัย เพื่อให้สังคมรับทราบ ตอนนี้เราลงพื้นที่อยู่แล้ว"
"ถ้าเกิดเซฟเฮาส์ ฝ่ายตรงข้ามก็จะต้องลงพื้นที่ เราเสนอไป 5 อำเภอ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ทางฝ่ายปาร์ตี้ B เสนอว่าเขามีความพร้อมในขั้นต้น คล้ายๆ คัดเลือกเหมือนกับเป็นการดูท่าทีว่าคนในพื้นที่มีการตอบรับอย่างไร มีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะทำเป็นพื้นที่ปลอดภัยในพื้นที่เหล่านี้ ซึ่งเลือกไว้ 5 อำเภอ"
"ในขั้นต้นเราจะจัดตั้งเซฟเฮาส์ก่อน เซฟเฮาส์เกิดขึ้นก่อนพื้นที่ปลอดภัย เราตั้งเซฟเฮาส์เพื่อให้ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งปาร์ตี้ A และปาร์ตี้ B รวมทั้งคนในพื้นที่มานั่งทำงานร่วมกัน เหมือนกับศูนย์ประสานงาน ทำหน้าที่ชี้แจงรายละเอียดข้อเสนอต่างๆ รับฟังความคิดเห็นจากคนในพื้นที่ว่าพื้นที่ปลอดภัยมันคืออะไร มีความกังวลอะไรบ้างในเรื่องพื้นที่ปลอดภัย สรุปคือเกิดเซฟเฮาส์ก่อน แล้วจะดำเนินการในเรื่องพื้นที่ปลอดภัย เซฟเฮาส์เสร็จประมาณ 1 เดือน เหมือนเป็นการเตรียมความรู้ให้คนในพื้นที่รับรู้ว่าจะมีพื้นที่ปลอดภัยแล้วนะ"
ดำเนินการ 2 เฟส
พล.ต.สิทธิ อธิบายต่อว่า กระบวนการจัดตั้งพื้นที่ปลอดภัย จะมีการทำงานแบ่งเป็น 2 เฟสใหญ่ๆ
"โครงการพื้นที่ปลอดภัยแบ่งเป็น 2 ระยะ หรือ 2 เฟส เฟสแรก คือการดำเนินการเพื่อเตรียมพื้นที่ โดยมีคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุด ประกอบด้วยคนในพื้นที่ อาจเป็นภาคประชาสังคมก็ได้ เป็นผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่นก็ได้ แต่สุดท้ายอาจเป็นกลไกเดิมที่มีอยู่แล้ว คือ สี่เสาหลัก (ผู้นำศาสนา ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น และผู้นำธรรมชาติ) บวกด้วยเยาวชน กลุ่มสตรี โดยคณะกรรมการชุดนี้จะลงไปเปิดเวทีในชุมชน เพื่อถามความต้องการของคนในชุมชนว่าเขาต้องการอะไรบ้าง รวมมาเป็นพื้นที่ระดับอำเภอ ทั้งเรื่องของการพัฒนาว่าต้องการแบบไหน เรื่องการศึกษาจะทำอย่างไร เราจะนำมาทำเป็นโครงการเพื่อเสนอรัฐบาล เพื่อให้ความเห็นชอบมาเป็นพื้นที่ปลอดภัย"
"จากนั้นเข้าสู่เฟสสอง การดำเนินโครงการพื้นที่ปลอดภัย 3 เดือน ก็จะมีการติดตามประเมินผล หลังจากดำเนินการมีเหตุการณ์เกิดขึ้นหรือไม่ หรือไม่มีการก่อเหตุอย่างไร พื้นที่ดีขึ้นไหม โดยมีเป้าหมายที่ทางเราเห็นชอบร่วมกัน (หมายถึงปาร์ตี้ A และ ปาร์ตี้ B) ถ้าสำเร็จ ภายใน 6 เดือนก็จะประกาศเป็นพื้นที่ปลอดความรุนแรง"
"สรุปคือความคืบหน้าของการพูดคุยล่าสุด เรามีละเอียดครบแล้ว เหลือแต่ขั้นตอนของอนุมัติหรือความเห็นชอบของคณะพูดคุยฯทั้งสองฝ่าย และมีรายละเอียดเรื่องพื้นที่ปลอดภัย มีประเด็นการพัฒนา การใช้อำนาจคุ้มครองผู้เห็นต่างจากรัฐที่เข้ามาร่วมโครงการ รวมทั้งคนในพื้นที่ที่จะเข้ามาร่วม คนในพื้นที่ต้องได้รับการประกันจากทั้งสองฝ่าย ต้องมีหลักประกันว่าเขาจะปลอดภัย ไม่โดนคุกคามจากทั้งสองฝ่าย ทั้งปาร์ตี้ A ทั้งปาร์ตี้ B สามารถแสดงความเห็นได้อย่างเสรี"
พล.ต.สิทธิ ให้ข้อมูลด้วยว่า สถานการณ์ในพื้นที่ปัจจุบันนี้ถือว่าดีขึ้นมาก มีคนเคยเล่าให้ฟังว่าไปเปิดเวทีในพื้นที่ได้ มีคนกล้าลุกขึ้นมาพูดถึงปัญหาความไม่เข้าใจของคนในชุมชนมากขึ้น หมายความว่าทุกคนรับฟังกันและกันมากขึ้น น่าจะเป็นแนวโน้มที่ดี
จำเป็นไหมต้องคุย "ดูนเลาะ"
ประเด็นอ่อนไหวสำคัญ คือการเปิดช่องทางการติดต่อพูดคุยกับกลุ่มบีอาร์เอ็น ในปีกที่ยังใช้ความรุนแรงอยู่ ซึ่งหลายฝ่ายเชื่อว่ามี นายดูนเลาะ แวมะนอ เป็นผู้นำ แต่ประเด็นนี้ดูเหมือน พล.ต.สิทธิ จะคิดต่างออกไป
"ประเด็นของการพูดคุยในความหมายของผมคือ บีอาร์เอ็นคือคนที่ก่อเหตุอยู่ในปัจจุบันนี้ เราต้องมีคำนิยามว่าบีอาร์เอ็นในหลักวิชาการ และบีอาร์เอ็นในหลักของเอ็นจีโอ คืออะไรกันแน่ คือคนไหน คือใคร แล้วเราทราบไหมว่าคนนี้ใช่หรือไม่ใช่สมาชิกบีอาร์เอ็น แล้วทำไมถึงไม่คุยกับบีอาร์เอ็นกลุ่มเดียว ถามว่าเมื่อก่อนก็คุยกับพูโล เพราะว่าเมื่อก่อนพูโลมีกลุ่มเดียว และมีอิทธิพลมากในพื้นที่ จากนั้นกลุ่มพูโลก็แตก และมีบีอาร์เอ็นขึ้นมาแทนที่ ถามว่าในอนาคตหากบีอาร์เอ็นแตก เราจะไปคุยกับกลุ่มอื่นอีกไหม ท่านนายกรัฐมนตรีบอกว่าให้เรียกมาคุยกับกลุ่มที่ยังเคลื่อนไหวให้ครบทุกกลุ่ม และคุยให้จบ"
"ผมไม่เข้าใจว่าทำไมฝ่ายไทยถึงพุ่งเป้าไปที่ ดูนเลาะ แวมะนอ อาจเป็นด้วยข่าวความมั่นคงว่าดูนเลาะเป็นผู้นำสูงสุดขององค์กรบีอาร์เอ็น แต่ผมต้องเรียนให้ทราบว่าปัจจุบันนี้ไม่มีใครเข้าถึงองค์กรบีอารเอ็นอย่างแท้จริง เพราะฉะนั้นผู้นำสูงสุดเขาเป็นใคร ไม่มีใครตอบคำถามได้ ถ้าถามตัวนายดูนเลาะ อาจจะไม่ใช่ก็ได้"
"ถามว่าคนที่ใช้ความรุนแรง ใช้กำลัง พูดถึงคนกลุ่มนี้ เป็นคนที่มีศักยภาพ ซึ่งเรามองไปที่บีอาร์เอ็น ถามว่ามีแนวโน้มที่ดีขึ้นไหม ก็มีแนวโน้มดีขึ้น คนกลุ่มนี้เริ่มที่จะให้ความสนใจ ให้ความร่วมมือกับการพูดคุย เพราะเป็นทางออกสุดท้ายแล้วว่าที่ผ่านมาการใช้ความรุนแรงไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ได้ มีแต่ความสูญเสีย ถ้าการพูดคุยด้วยสันติวีธีจะทำให้พื้นที่ได้รับความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ปัญหาต่างๆ ได้รับการแก้ปัญหาร่วมกันมากขึ้น ก็น่าจะเป็นทางออกได้ เพราะการที่เขาออกมายิง ออกมาระเบิด ไม่ได้สื่อว่าเขาต้องการอะไร และคนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด"
ต้องร่วมปฏิเสธความรุนแรง
พล.ต.สิทธิ ชี้ว่า หัวใจสำคัญที่จะพลิกสถานการณ์ไปสู่สันติภาพ คือทุกฝ่ายต้องร่วมกันปฏิเสธความรุนแรง ไม่ว่าจะเกิดจากใครก็ตาม
"เราต้องยอมรับว่ามันมีความรุนแรงเกิดขึ้นจากทั้งสองฝ่าย คือเจ้าหน้าที่รัฐและกลุ่มขบวนการ (หมายถึงขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน) เราอยากให้คนในพื้นที่ออกมาต่อต้านเรื่องการใช้ความรุนแรงจากทุกฝ่าย ในทุกรูปแบบ คืออยากให้ความชอบธรรมมาเป็นคุณค่าที่ถูกต้องในสังคม ต้องช่วยกันปฏิเสธความรุนแรง เพราะเมื่อใดที่มีการออกมาปฏิเสธความรุนแรง ไม่ว่ากลุ่มทางเขา (หมายถึงขบวนการ) หรือทางเจ้าหน้าที่ ก็จะมีการระมัดระวังในการปฏิบัติการทางทหาร"
"จุดเริ่มต้นเรื่องคาร์บอมบ์บิ๊กซี ปัตตานี (เมื่อ 9 พ.ค.60) เราจะเห็นว่ามีภาคประชาสังคม ภาคประชาชน หรือองค์กรระหว่างประเทศออกมาประณามเหตุการณ์ครั้งนั้นอย่างรุนแรง ทำให้การก่อเหตุลดลงอย่างเห็นได้ชัด หลังจากนั้นเหตุใหญ่ๆ ไม่ค่อยมี การก่อเหตุในที่สาธารณะไม่ค่อยมี การก่อเหตุต่อเป้าหมายอ่อนแอก็ไม่ค่อยมี สิ่งนี้คือสิ่งที่คนในพื้นที่เริ่มตระหนัก ถ้าเราออกมาเรียกร้องตรงนี้มากๆ ก็จะทำให้ความรุนแรงขนาดใหญ่ หรือเหตุรุนแรงที่เกิดกับเป้าหมายอ่อนแอลดลงไปเรื่อยๆ"
และนั่นน่าจะเป็นสัญญาณสู่สันติภาพเพื่อสร้างสันติสุขต่อไป ทั้งพื้นที่ปลอดภัยและการพูดคุยเพื่อให้บรรลุข้อตกลงสุดท้าย...ในความเห็นของ พล.ต.สิทธิ!
------------------------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ :
แนวโน้มไฟใต้ เจรจา และโครงสร้าง BRN หลังสิ้น "สะแปอิง บาซอ"
"บีอาร์เอ็น"ในสายตาเจ้าหน้าที่รัฐไทย กับคำฝากจากคนใน "เปิดเทอมเจอกันใหม่"
ฝ่ายมั่นคงอ้าง BRN ตั้ง "ดูนเลาะ" ผู้นำใหม่ - เผยมาเลย์ปรามลดก่อเหตุ "เซฟตี้โซน"
ยุทธศาสตร์ (ใหม่) BRN แสวงประโยชน์ "พูดคุย" ปลดปล่อยปาตานีปี 2575