ยุทธศาสตร์ (ใหม่) BRN แสวงประโยชน์ "พูดคุย" ปลดปล่อยปาตานีปี 2575
นอกจากข่าวการตั้งประธานบีอาร์เอ็นคนใหม่ คือ นายดูนเลาะ แวมะนอ แทน นายสะแปอิง บาซอ ที่เสียชีวิตไป พร้อมตั้ง นายอดุลย์ มุณี ขึ้นมาแทนนายดูนเลาะในตำแหน่งเลขาธิการบีอาร์เอ็น ควบเก้าอี้เดิมที่นั่งอยู่ คือหัวหน้าฝ่ายการเมืองสภาองค์กรนำของบีอาร์เอ็นแล้ว
สิ่งที่น่าสนใจจากข้อมูลของฝ่ายความมั่นคงก็คือ บีอาร์เอ็นปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์การต่อสู้ใหม่ คือส่งตัวแทนเข้าร่วมโต๊ะพูดคุยกับรัฐบาลไทยอย่างไม่เป็นทางการ แต่ก็มีจุดเชื่อมโยงกับ “สภาองค์กรนำ” (คณะผู้นำสูงสุดของบีอาร์เอ็น) และตั้งเป้าหมายจะปลดปล่อยปาตานี (ปัตตานี) เรียกร้องดินแดนคืนให้สำเร็จในปี 2575
ยุทธศาสตร์นี้คาดว่ามีการปรับเปลี่ยนจากเดิมที่ใช้แผน "บันได 7 ขั้น" ของ มะแซ อุเซ็ง อดีตแกนนำ และผู้ต้องหาคนสำคัญในคดีปล้นปืนซึ่งเสียชีวิตไปแล้ว ซึ่งแผน “บันได 7 ขั้น” มุ่งเน้นไปที่การบ่มเพาะเยาวชนและสร้างความรุนแรงเพื่อเป็นเงื่อนไขให้ต่างชาติเข้าแทรกแซงและปลดปล่อยปัตตานี แต่แผนดังกล่าวนี้ล่วงเลยกรอบเวลาที่ตั้งเป้าไว้ว่าจะประสบความสำเร็จมาเนิ่นนาน
ส่วนยุทธศาสตร์ใหม่ หรืออาจจะเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์เดิม แต่ไม่มีการเปิดเผยมาก่อน คาดว่าได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อแกนนำบีอาร์เอ็นอย่าง นายฮัสซัน ตอยิบ เข้าร่วมโต๊ะพูดคุยกับรัฐบาลไทย เมื่อปี 2556 (รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) แม้จะเป็นการจำยอมเข้าร่วมโต๊ะพูดคุย เนื่องจากทางการมาเลเซียบังคับ ในฐานะเป็นผู้อำนวยความสะดวกกระบวนการพูดคุยฯ จนทำให้แกนนำหลายคน "เสียลับ" ต้องเปิดตัวสู่สาธารณะ
แต่เหตุการณ์นั้นก็กลายเป็นจุดเปลี่ยนให้บีอาร์เอ็นยกระดับตัวเองขึ้นมา อย่างน้อยก็มีตัวตนว่าเป็น “คู่ต่อสู้” กับรัฐบาลไทยในปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และยังได้สื่อสารข้อเรียกร้องทั้งสู่สังคมไทยและประชาคมโลกด้วย
ที่ผ่านมาบีอาร์เอ็นดำรงสถานะเป็น "องค์กรลับ" ซึ่งเป็นรูปแบบการต่อสู้แบบหนึ่ง คือจะไม่เปิดตัวเหมือนองค์กรก่อการร้ายแบบสุดโต่ง, ไม่ไปแทรกซึมเคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่ของคู่ต่อสู้เหมือนสงครามกองโจร แต่ก็มีการบริหารจัดการเป็น "องค์กรจัดตั้ง" ที่พร้อมจะเปิดตัวในอนาคต
โครงสร้างของบีอาร์เอ็น ประกอบด้วย ผู้นำจิตวิญญาณ, ประธานสภาองค์กรนำ คนปัจจุบันคือ นายดูนเลาะ แวมะนอ, มีคณะที่ปรึกษา 4 ฝ่าย คือ ฝ่ายทหาร ฝ่ายการเมือง ฝ่ายเศรษฐกิจ และอูลามา (ผู้รู้ทางศาสนา), เลขาธิการสภาองค์กรนำ ปัจจุบันคือ นายอดุลย์ มุณี ขณะที่สภาองค์กรนำมีแกนนำ 6 คนที่คุมนโยบาย 6 ด้าน (ไม่นับเลขาธิการ) คือ ด้านการทหาร (กองกำลัง) ด้านเยาวชน ด้านการเมือง ด้านการศึกษา ด้านการเงิน และประสานงาน
"สภาองค์กรนำ" มีตัวย่อว่า DPP ผู้เชี่ยวชาญบางคนวิเคราะห์ว่าน่าจะเป็นการจัดองค์กรแบบพรรคคอมมิวนิสต์ที่มี “กรรมการกรมการเมือง” หรือ “โปลิต บูโร” เป็นองค์กรสูงสุด
นอกจากนั้นยังมี "คณะบริหารกลาง" มีตัวย่อว่า DKP บริหารงาน 8 ด้าน ได้แก่ ด้านการทหาร ด้านเยาวชน ด้านการเงิน ด้านการประชาสัมพันธ์ ด้านการศึกษา ด้านสตรี ด้านการปกครอง และการประสานงาน ทั้งหมดนี้จะมีจุดเชื่อมต่อกับระดับปฏิบัติการในพื้นที่ซึ่งครอบคลุุมงานทุกด้าน
แนวทางการต่อสู้ของบีอาร์เอ็น คือ 1.สร้างความรุนแรงสนับสนุนทางยุทธศาสตร์ ไม่หวังผลเอาชนะทางยุทธวิธี 2.สร้างความขัดแย้ง อำพราง สับสน และโฆษณาชวนเชื่อ 3.ปลุกระดมทางการเมือง สร้างโอกาสได้ดินแดนคืน โดยอาศัยแนวทางของมติสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติที่ 1514 (XV) ลงวันที่ 14 ธันวาคม 1960 เรื่อง "การให้เอกราชแก่ดินแดนอาณานิคม" โดยส่วนหนึ่งเนื้อหาระบุถึง “สิทธิในการกำหนดใจตนเอง” หรือ Right to Self Determination ของกลุ่มชนที่ตกเป็นอาณานิคมนั้น ว่ามีเสรีภาพในการตัดสินใจเรื่องสถานะทางการเมือง และดำเนินการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของตนเองได้อย่างเสรี (เงื่อนไขนี้คือสาเหตุที่บีอาร์เอ็นใช้วาทกรรมเรียก "รัฐไทย" ว่า "นักล่าอาณานิคมสยาม" เพื่อให้ปาตานี หรือปัตตานี มีสถานะเป็นดินแดนอาณานิคม จะได้สามารถใช้สิทธิในการกำหนดใจตนเอง หรือ Self Determination ขอทำประชามติเพื่อแยกดินแดนหรือตั้งรัฐใหม่ได้)
4.การเงิน เก็บจากสมาชิก และรับบริจาค (ซากาต) 5.การจัดตั้งเยาวชนผ่านสถานศึกษาของอิสลาม และ 6.การประสานงานและขับเคลื่อน
แนวทางการต่อสู้ทั้ง 6 ข้อนี้ยังดำรงอยู่ แต่ปัจจุบันได้เพิ่มแนวทางการพูดคุยกับรัฐบาลไทย ซึ่งบีอาร์เอ็นจำยอมเข้าร่วมตั้งแต่ปี 2556 และกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขฯในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ แม้บีอาร์เอ็นจะไม่ได้เข้าร่วมอย่างเป็นทางการ แต่ก็รับรู้กรณีที่มีสมาชิกระดับนำเข้าร่วมโต๊ะพูดคุยฯ ใต้ร่ม “มารา ปาตานี” อย่างน้อย 5 คน นำโดย นายมะสุกรี ฮารี ซึ่งได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยฯ และ นายอาวัง ยาบะ (หรือ อาวัง ยาบัต) ที่ได้รับการสนับสนุนให้เป็นประธานมารา ปาตานี
ขณะเดียวกัน บีอาร์เอ็นก็พยายามขยายเครือข่าย และเคลื่อนไหวในต่างประเทศมากขึ้น โดยเมื่อกลางปีที่แล้วมีการประชุมชุดประสานงานที่กระจายอยู่ใน 20 ประเทศ ทั้งในประเทศที่มีมุสลิมเป็นประชากรส่วนใหญ่ในภูมิภาคอาเซียน ตะวันออกกลาง แอฟริกา รวมถึงประเทศที่ไม่ใช่ชาติอิสลาม อย่างบางประเทศในยุโรป และอเมริกาเหนือด้วย โดยการประชุมจัดขึ้นที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย และมีการเตรียมการเข้าสู่โรดแมพกระบวนการสันติภาพ จากโต๊ะพูดคุยเจรจาที่คาดว่าจะเป็นแนวทางที่รัฐบาลไทยจำเป็นต้องดำเนินการต่อไป ไม่ว่าการพูดคุยกับ “มารา ปาตานี” จะประสบความสำเร็จหรือไม่ก็ตาม
ทั้งหมดนั้นเป็นทิศทางและแนวโน้มความเคลื่อนไหวของบีอาร์เอ็น องค์กรจัดตั้งที่ฝ่ายความมั่นคงไทยเชื่อว่าเป็นผู้ที่มีบทบาทหลักในสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ตลอด 13 ปีที่ผ่านมา
ขณะที่ฝ่ายรัฐเองประเมินว่า กระบวนการพูดคุยกับผู้เห็นต่างจากรัฐเป็นแนวทางที่ต้องเดินหน้าต่อไป โดยเฉพาะกับ “มารา ปาตานี” ซึ่งแม้จะไม่ทำให้สถานการณ์ความรุนแรงยุติลงอย่างสมบูรณ์ในแบบที่ฝ่ายรัฐต้องการ แต่ผลก็ทำให้สามารถเปิดตัวแกนนำของบีอาร์เอ็นได้หลายคน และคนเหล่านั้นต้องยอมรับการพูดคุย เช่นเดียวกับแกนนำระดับสั่งการถูกส่งเข้าร่วมการจัดทำข้อตกลงยุติความรุนแรง รวมถึงระดับปฏิบัติอย่าง “อาร์เคเค” ที่ได้รับการส่งสัญญาณให้ร่วมกันสร้างพื้นที่ปลอดภัย จากผลของการพูดคุยระหว่างรัฐบาลกับ “มารา ปาตานี”
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ :
1 กราฟฟิกจากหนังสือพิมพ์คมชัดลึก
2 ภาพจากเว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ
อ่านประกอบ :
"บีอาร์เอ็น"ในสายตาเจ้าหน้าที่รัฐไทย กับคำฝากจากคนใน "เปิดเทอมเจอกันใหม่"