แนวโน้มไฟใต้ เจรจา และโครงสร้าง BRN หลังสิ้น "สะแปอิง บาซอ"
ศิษย์เก่าโรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงหลายระดับ ยืนยันตรงกันว่า นายสะแปอิง บาซอ ที่เชื่อกันว่าเป็นแกนนำสูงสุดของขบวนการบีอาร์เอ็น เสียชีวิตแล้วที่ประเทศมาเลเซีย
ข้อมูลจากฝ่ายความมั่นคงระบุว่า นายสะแปอิง เสียชีวิตอย่างสงบเมื่อวันอังคารที่ 10 ม.ค.60 ที่ประเทศมาเลเซีย หลังจากรักษาอาการป่วยมานาน โดยสาเหตุที่เสียชีวิตเพราะติดเชื้อที่ปอด รวมอายุได้ 81 ปี ครอบครัว ญาติ และคนใกล้ชิดได้ทำพิธีฝังที่กรุงกัวลาลัมเปอร์
นายสะแปอิง เคยเป็นครูใหญ่โรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ จ.ยะลา ซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามชื่อดังและมีนักเรียนมากที่สุดแห่งหนึ่งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เขามีลูกศิษย์ลูกหามากมาย และได้รับการนับหน้าถือตาอย่างมากจากประชาชนในพื้นที่
ศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันของโรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ เตรียมจัดพิธีละหมาดฆอเอ็บ หรือละหมาดศพโดยที่ไม่มีศพ ที่โรงเรียนธรรมวิทยาฯ ในวันจันทร์ที่ 16 ม.ค.นี้เวลา 09.00 น.
นายสะแปอิง หายไปจากพื้นที่หลังเหตุการณ์ปล้นอาวุธปืนครั้งมโหฬารจำนวน 413 กระบอกจากกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 4 ม.ค.2547 ซึ่งหลายฝ่ายเชื่อว่าเป็นปฐมบทไฟใต้รอบใหม่ที่เต็มไปด้วยการสร้างสถานการณ์ความไม่สงบรายวัน
ฝ่ายความมั่นคงไทยเชื่อว่าเหตุปล้นอาวุธปืนในครั้งนั้นและเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมา นับถึงวันนี้ได้ 13 ปีเศษ เป็นการกระทำของบรรดากลุ่มติดอาวุธขบวนการบีอาร์เอ็น ซึ่งมี นายสะแปอิง เป็นแกนนำ และว่ากันว่าเขาเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ
นายสะแปอิง ถูกออกหมายจับ และถูกตั้งรางวัลนำจับเป็นเงินหลายล้านบาทจากฝ่ายตำรวจ เพราะเชื่อว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังสั่งการให้ปล้นอาวุธปืนล็อตใหญ โดยเขาถูกออกหมายจับร่วมกับ นายมะแซ อุเซ็ง เจ้าของแผนบันได 7 ขั้นเพื่อแยกดินแดนออกจากประเทศไทย ซึ่งนายมะแซมีข่าวว่าเสียชีวิตไปเมื่อปีที่แล้ว
สำหรับสถานะของ นายสะแปอิง ในขบวนการบีอาร์เอ็น ซึ่งเป็นองค์กรลับ ไม่เคยเปิดเผยตัวตน และไม่เคยประกาศความรับผิดชอบในปฏิบัติการต่างๆ ที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงสายที่เชื่อว่าองค์กรบีอาร์เอ็นมีโครงสร้างคล้ายพรรคคอมมิวนิสต์ และมีสภาองค์กรนำที่ชื่อว่า DPP คาดว่านายสะแปอิงมีตำแหน่งเป็นเลขาธิการสภาองค์กรนำ ซึ่งถือว่าเป็นตำแหน่งสูงสุดของขบวนการ
อย่างไรก็ดี มีข่าวเมื่อช่วงเดือน ก.ย.59 และมีการนำเสนอผ่านเว็บไซต์สื่อต่างประเทศบางเว็บในเวลาต่อมา อ้างว่ามีการประชุมเพื่อปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ในสภาองค์กรนำ และดัน นายสะแปอิง ขึ้นเป็นประธานบีอาร์เอ็น แต่เจ้าหน้าที่ระดับสูงในหน่วยงานความมั่นคงของไทยไม่ยืนยันข่าวนี้ เพราะมีกระแสข่าวที่ยืนยันได้ว่า นายสะแปอิง ป่วยหนักมานานแล้ว
ข่าวอาการป่วยของนายสะแปอิง มีมานานหลายปี และเคยมีคนใกล้ชิดประสานไปยัง พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ว่า นายสะแปอิง อยากขอกลับมาใช้ชีวิตช่วงสุดท้ายที่บ้านในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ด้วยเงื่อนไขเรื่องคดีความซึ่งเขาถูกตั้งข้อหาหนัก ทำให้ไม่มีใครรับประกันได้ว่า หากเขากลับมาและต่อสู้คดีในชั้นศาล เขาจะได้รับการประกันตัว และได้อยู่กับครอบครัวตามที่ตั้งใจ ข่าวความพยายามกลับบ้านของนายสะแปอิงจึงเงียบหายไปนับจากนั้น
ประเด็นที่หลายฝ่ายให้ความสนใจหลังทราบข่าวการเสียชีวิตของนายสะแปอิง ก็คือความสูญเสียครั้งนี้กระทบกับองค์กรบีอาร์เอ็นหรือไม่ และจะมีผลอย่างไรบ้างกับสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตลอดจนกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งรัฐบาลไทยเปิดโต๊ะพูดคุยกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐนาม “มารา ปาตานี” ซึ่งมีตัวแทนของบีอาร์เอ็นในปีกที่สนับสนุนการเจรจา เข้าร่วมเป็น 1 ใน 6 กลุ่มเคลื่อนไหวใต้ร่ม “มารา ปาตานี” ด้วย
พล.อ.สำเร็จ ศรีหร่าย อดีตรองแม่ทัพภาคที่ 4 ซึ่งเคยศึกษาโครงสร้างของบีอาร์เอ็นจนได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง กล่าวกับ “ทีมข่าวอิศรา” ว่า การเสียชีวิตของนายสะแปอิง ไม่น่าจะส่งผลต่อสถานการณ์ในพื้นที่ชายแดนใต้ รวมทั้งไม่ส่งผลกระทบกับโครงสร้างบีอาร์เอ็นด้วย เพราะนายสะแปอิงป่วยหนักมานานกว่า 1 ปีแล้ว ข่าวที่ว่ามีการประชุมสภาองค์กรนำบีอาร์เอ็น และดันนายสะแปอิงขึ้นเป็นประธานของขบวนการเมื่อปลายปีที่แล้วก็ไม่น่าจะเป็นความจริง
“เป็นวัฒนธรรมองค์กรของบีอาร์เอ็น เมื่อแกนนำบางท่านชรามาก หรือป่วยหนัก ก็จะไม่ให้รับผิดชอบงานมากนัก ถือเป็นการให้เกียรติกัน และให้เวลาได้พักผ่อนหลังจากต่อสู้มาอย่างยาวนาน” พล.อ.สำเร็จ ระบุ
ขณะที่ จิราภร งามเลิศศุภร นักวิจัยผู้เคยทำวิจัยเรื่อง “เป้าหมายสุดท้ายของบีอาร์เอ็น” มองคล้ายๆ กันว่า การเสียชีวิตของนายสะแปอิงน่าจะส่งผลน้อยกับสถานการณ์ในพื้นที่ ตลอดจนโครงสร้างองค์กรบีอาร์เอ็น เพราะอาการป่วยของนายสะแปอิงเป็นที่รู้กันภายในมานานมากแล้ว และโครงสร้างบีอาร์เอ็นก็มีการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสถานการณ์มาตลอด
พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ อดีตผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการพิเศษภาคใต้ ศูนย์รักษาความปลอดภัย ซึ่งเคยเขียนหนังสือที่ชื่อ “ปฏิบัติการลับดับไฟใต้” กล่าวกับ “ทีมข่าวอิศรา” ว่า การเสียชีวิตของนายสะแปอิง ไม่ได้มีผลต่อบีอาร์เอ็นและสถานการณ์ในพื้นที่ชายแดนใต้อย่างแน่นอน เพราะนายสะแปอิงเพียงแค่ถูกอุปโลกน์ขึ้นเป็นแกนนำบีอาร์เอ็นเท่านั้น และปัญหาที่แท้จริงของสถานการณ์ความไม่สงบก็ไม่ได้มาจากบีอาร์เอ็นด้วย
ด้านแหล่งข่าวระดับสูงจากกองทัพบกที่คลุกคลีกับสถานการณ์ชายแดนใต้ กล่าวว่า นายสะแปอิงป่วยมานานพอสมควร การเสียชีวิตของเขาจึงแทบไม่ส่งผลอะไรเลยกับบีอาร์เอ็น ส่วนเรื่องการพูดคุยสันติสุขฯกับ “มารา ปาตานี” นายสะแปอิงก็ไม่ได้ยุ่งเกี่ยว ที่สำคัญยังเป็นการพูดคุยแบบ “ผิดฝาผิดตัว” คุยกับคนที่ทางการมาเลเซียจัดมาให้คุย ฉะนั้นการเสียชีวิตของนายสะแปอิง จึงไม่ส่งผลใดๆ กับการพูดคุยด้วย
สำหรับปฏิบัติการความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนใต้นั้น แหล่งข่าวจากกองทัพรายนี้มองว่า สถานการณ์ความรุนแรงจะยังมีอยู่ต่อไป เพราะผู้กุมอำนาจฝ่ายทหาร หรือฝ่ายกองกำลังของบีอาร์เอ็น คือ นายดูนเลาะ แวมะนอ ไม่ใช่นายสะแปอิง และเชื่อว่านายดูนเลาะจะเดินหน้าให้บรรดานักรบก่อเหตุรุนแรงต่อไปเช่นเดิม
แหล่งข่าวจากกองทัพบก ประเมินคล้ายๆ นักวิจัยอย่าง จิราพร ว่า สิ่งที่น่าจับตานับจากนี้ คือการประชุมใหญ่ของสภาองค์กรนำบีอาร์เอ็น ซึ่งต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน และน่าจะมีการหารือเพื่อตั้งผู้นำคนใหม่ หากแกนนำสายนายดูนเลาะ หรือกลุ่มหัวรุนแรงขึ้นมามีบทบาทแทนนายสะแปอิง ก็น่าจะคาดการณ์ได้ว่าสถานการณ์ในพื้นที่จะตึงเครียดต่อไป
อย่างไรก็ตาม มีมุมมองการประเมินสถานการณ์ที่แตกต่างออกไป จากแหล่งข่าวระดับสูงผู้เชี่ยวชาญงานด้านการข่าวซึ่งไม่ใช่ทหาร โดยเขาบอกว่า การเสียชีวิตของนายสะแปอิงจะกระทบกับองค์กรบีอาร์เอ็นอย่างแน่นอน ผลเฉพาะหน้าคือขวัญกำลังใจของคนในบีอาร์เอ็นน่าจะเสียไปพอสมควร เพราะนายสะแปอิงมีตำแหน่งใหญ่ในสภาองค์กรนำ และมีสถานะเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ การสรรหาบุคคลที่เป็นที่ยอมรับเพื่อมารับหน้าที่แทนจึงไม่ใช่เรื่องง่าย
“สถานการณ์แบบนี้ อาจเปิดช่องให้ มารา ปาตานี โดยเฉพาะในฝ่ายของ มะสุกรี ฮารี ซึ่งเป็นตัวแทนของบีอาร์เอ็นบนโต๊ะพูดคุยฯ หาทางแทรกตัวเข้ามามีบทบาทเพื่อโน้มน้าวให้องค์กรบีอาร์เอ็นใหญ่สนับสนุนการพูดคุย ขณะที่ฝ่ายที่นิยมความรุนแรง อย่างฝ่ายกองกำลัง ไม่น่าจะยอม ฉะนั้นแนวโน้มหลังจากนี้จะมี 2 แนวทางที่เป็นไปได้ คือ จะมีการสร้างสถานการณ์เพื่อรักษาขวัญกำลังใจของกองกำลังเอาไว้ เพื่อยืนยันว่าระดับนำยังเป็นเอกภาพและเข้มแข็ง ขณะที่อีกแนวทางหนึ่งอาจมีความพยายามของฝ่ายต่างๆ เพื่อผลักดันคนของฝ่ายตนขึ้นกุมอำนาจในองค์กร”
แหล่งข่าวคนเดียวกัน บอกด้วยว่า สถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ช่วงนี้ที่เงียบๆ ไป ไม่น่าจะเป็นผลจากอาการป่วยหรือเสียชีวิตของนายสะแปอิง แต่น่าจะเป็นเพราะในพื้นที่มีปัญหาอุทกภัยมากกว่า หลังจากนี้ปฏิบัติการความรุนแรงน่าจะเกิดขึ้นอีก และฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องเฝ้าระวังให้ดี
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ : มะแซ อุเซ็ง เจ้าของแผนปฏิวัติ 7 ขั้นตอน แกนนำกลุ่มแยกดินแดนเสียชีวิตแล้ว