ฝ่ายมั่นคงอ้าง BRN ตั้ง "ดูนเลาะ" ผู้นำใหม่ - เผยมาเลย์ปรามลดก่อเหตุ "เซฟตี้โซน"
มีเอกสารรายงานของหน่วยงานความมั่นคงไทย ระบุว่า กลุ่มบีอาร์เอ็นได้ประชุมแกนนำ และมีมติตั้ง นายดูนเลาะ แวมะนอ ผู้บัญชาการกองกำลัง ขึ้นเป็นผู้นำคนใหม่แทน นายสะแปอิง บาซอ ที่เสียชีวิตไปก่อนหน้านี้
นายสะแปอิง ซึ่งฝ่ายความมั่นคงไทยเชื่อว่าเขาเป็นประธานบีอาร์เอ็น ขณะที่บางกระแสเชื่อว่าเขาเป็นเลขาธิการสภาองค์กรนำ หรือ DPP ของบีอาร์เอ็น เสียชีวิตอย่างสงบที่ประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 10 ม.ค.60 หลายฝ่ายเชื่อว่าความสูญเสียครั้งนี้ทำให้บีอาร์เอ็นหยุดเคลื่อนไหวชั่วคราว ส่งผลให้สถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ดูดีขึ้นในช่วงที่่ผ่านมา
มีข่าวลือหลายระลอกแต่ไม่มีการยืนยันอย่างเป็นทางการ หรืออย่างเป็นเอกสารจากฝ่ายความมั่นคงไทยว่า บีอาร์เอ็นได้ตั้ง นายดูนเลาะ แวมะนอ ขึ้นเป็นผู้นำคนใหม่แทนนายสะแปอิง กระทั่งเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา มีเอกสารอ้างว่าเป็นของฝ่ายความมั่นคงไทย ระบุว่า สมาชิกสภาซูรอ ซึ่งหมายถึงสภาที่ปรึกษา หรือสภาผู้ทรงคุณวุฒิของบีอาร์เอ็น 3 กลุ่ม คือ บีอาร์เอ็น อูลามา, บีอาร์เอ็น คองเกรส และบีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนต จัดประชุมกันเมื่อไม่นานมานี้ที่โรงเรียนปอเนาะแห่งหนึ่งในรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย เพื่อเลือกประธานสภาองค์กรนำคนใหม่
เอกสารรายงานระบุว่า ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์แต่งตั้งให้ นายดูนเลาะ แวมะนอ เลขาธิการสภาองค์กรนำ ขึ้นเป็นประธานบีอาร์เอ็นแทนนายสะแปอิง และตั้ง นายอดุลย์ มุณี ขึ้นเป็นเลขาธิการสภาองค์กรนำแทนนายดูนเลาะ รวมทั้งเป็นหัวหน้าฝ่ายการเมืองของบีอาร์เอ็นด้วย
สำหรับแกนนำบีอาร์เอ็น 3 กลุ่มที่เข้าร่วมประชุมมี 19 คน ซึ่งในเอกสารระบุรายชื่อทั้งหมด แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าบางชื่อเป็นบุคคลที่ร่วมโต๊ะพูดคุยกับรัฐบาลไทย ทั้งในยุครัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และในรัฐบาลชุดปัจจุบัน เช่น นายฮัสซัน ตอยิบ, นายอาวัง ญาบัต รวมทั้ง นายมะ โฉลง ซึ่งก่อนหน้านี้มีข่าวว่าบางคนถูกสั่งลดบทบาทจากสภาองค์กรนำไปแล้ว
อย่างไรก็ดี แหล่งข่าวจากกองทัพ ให้น้ำหนักเรื่องการตั้ง นายดูนเลาะ แวมะนอ ขึ้นเป็นผู้นำบีอาร์เอ็นคนใหม่ เพราะเขามีอิทธิพลสูงสุดในองค์กรบีอาร์เอ็นขณะนี้ และเป็นที่เคารพของบรรดานักรบติดอาวุธที่เคลื่อนไหวในพื้นที่
สำหรับนายดูนเลาะ เป็นอดีตครูใหญ่โรงเรียนญิฮาดวิทยา หรือ ปอเนาะญิฮาด อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี ซึ่งถูกศาลแพ่งมีคำสั่งยึดที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตกเป็นของแผ่นดิน เมื่อปลายปี 58 และคดีสิ้นสุดลงเมื่อเดือน ก.พ.59 เนื่องจากครอบครัวของนายดูนเลาะไม่ยอมยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาต่อศาล โดยนายดูนเลาะถูกออกหมายจับจากทางการไทยในคดีก่อการร้ายและกบฏแบ่งแยกดินแดน มีรางวัลนำจับถึง 1 ล้านบาท
ข่าวการปรับโครงสร้างภายในของสภาองค์กรนำบีอาร์เอ็น มีมาตลอดตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่ถูกตั้งข้อสังเกตว่ามีน้ำหนักน่าเชื่อถือแค่ไหน โดยเมื่อเดือน ก.ย.59 ก็มีข่าวการจัดประชุมใหญ่ของสภาองค์กรนำ และตั้งนายสะแปอิงขึ้นเป็นประธานบีอาร์เอ็น ทั้งๆ ที่นายสะแปอิงป่วยหนัก และเสียชีวิตเมื่อเดือน ม.ค.60 ข่าวดังกล่าวมีเอกสารการประชุมยืนยันด้วย แต่ก็มีข้อสังเกตว่า บีอาร์เอ็นมีสถานะเป็นองค์กรลับที่เคลื่อนไหวผิดกฎหมายไทย และถูกจับตาจากสันติบาลมาเลเซียอย่างเข้มงวด จะมีการทำบันทึกการประชุมจริงหรือไม่
แหล่งข่าวซึ่งเป็นอดีตนายทหารระดับสูงของกองทัพ ซึ่งเคยรับผิดชอบปัญหาชายแดนใต้ ให้ข้อมูลกับ "ทีมข่าวอิศรา" ว่า เมื่อไม่นานมานี้ ทางการมาเลเซียได้เรียก นายดูนเลาะ พร้อมแกนนำบีอาร์เอ็นบางส่วนเข้าพูดคุย และขอให้ลดการก่อเหตุรุนแรงลง โดยเฉพาะใน "พื้นที่ปลอดภัย" หรือ "เซฟตี้โซน" ที่คณะพูดคุยสันติสุขของรัฐบาลไทยกำลังตกลงกรอบการดำเนินการกับ "มารา ปาตานี" ตัวแทนกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ 6 กลุ่มที่เข้าร่วมโต๊ะพูดคุยเพื่อสันติสุข ซึ่งมีมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก
อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวรายนี้ไม่ยืนยันท่าทีของนายดูนเลาะหลังพบกับทางการมาเลเซีย
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 นายดูนเลาะ แวมะนอ (ภาพจากหมายจับของฝ่ายความมั่นคง / สำนักข่าวข่าว กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า )
2 ภาพโรงเรียนปอเนาะ สถานที่จัดประชุมสภาองค์กรนำของบีอาร์เอ็น ตามเอกสารของฝ่ายความมั่นคงไทย
อ่านประกอบ :
แนวโน้มไฟใต้ เจรจา และโครงสร้าง BRN หลังสิ้น "สะแปอิง บาซอ"
"บีอาร์เอ็น"ในสายตาเจ้าหน้าที่รัฐไทย กับคำฝากจากคนใน "เปิดเทอมเจอกันใหม่"